เมื่อ ลวปุระ-ลพบุรี ถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพบุกทำลายจนมีสภาพเป็นป่า

พระปรางค์สามยอด เมือง ลพบุรี ลวปุระ
พระปรางค์สามยอด เมืองลพบุรี

เมื่อกล่าวถึง “ลวปุระ” หรือ “ลพบุรี” เมืองโบราณสำคัญในภาคกลางของประเทศไทยที่มีการทับซ้อนของวัฒนธรรมที่หลากหลายยาวนาน นับเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมแบบทวารวดี

จากนั้นจึงได้เปลี่ยนแปลงสู่วัฒนธรรมแบบร่วมกับอาณาจักรกัมพูชาโบราณสมัยพระนคร ร่องรอยทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และศิลาจารึก ล้วนบ่งชี้ว่าเมือง “ลพบุรี” มีการผลัดเปลี่ยนอย่างฉับพลันในช่วงรอยต่อนั้น

แม้ว่าจะมีการพบศิลาจารึกที่ศาลสูง (ศาลพระกาฬ) เมืองลพบุรี ของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มาเป็นเวลานานแล้ว และมักจะมีการกล่าวอ้างอยู่บ้างในตำนานต่าง ๆ ของล้านนาที่แสดงถึงความทรงจำในเรื่องเหล่านี้

ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานกันว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งเมืองพระนครศรียโศธรปุระน่าจะเคยยกทัพมาตีเมืองลพบุรี จากนั้นจึงผนวกลพบุรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาโบราณสมัยพระนคร แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการทำสงครามแต่อย่างใด [1]

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการค้นพบศิลาจารึก Ka.18 หรือ K.1198 ในประเทศกัมพูชา เนื้อความในศิลาจารึกหลักนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตีเมืองลวปุระ หรือลพบุรี แล้วทำลายเมืองจนลพบุรีกลายเป็นป่า

บทความเรื่องนี้จึงเป็นการนำหลักฐานสำคัญในศิลาจารึกดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างสมัยทวารวดีกับสมัยที่อาณาจักรกัมพูชาสมัยพระนครเข้ามาปกครองเมืองลพบุรี ว่ามีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีหรือไม่อย่างไร

เมืองลวปุระ : เมืองสำคัญในกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี

ลพบุรีปรากฏร่องรอยหลักฐานการอาศัยอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ [2] ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามา ลพบุรีจึงมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐที่มีวัฒนธรรมร่วมแบบทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย เช่น นครปฐม อู่ทอง คูบัว ฯลฯ โดยเฉพาะตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-14 ปรากฏชื่อในหลักฐานร่วมสมัยว่า ลวปุระ [3]

นอกจากหลักฐานทางด้านศิลปกรรมและโบราณคดีที่พบแล้ว ในบริเวณจังหวัดลพบุรียังปรากฏหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ภาษาสันสฤต และภาษามอญโบราณ เช่น จารึกซับจำปา จารึกเสาธรรมจักร ฯลฯ อันแสดงให้เห็นว่าชุมชนดังกล่าวน่าจะเป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีการใช้ภาษามอญเป็นภาษาราชการ

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 15 อิทธิพลทางวัฒนธรรมของกัมพูชาสมัยพระนครมีมากขึ้นและส่งอิทธิพลมาถึงดินแดนลพบุรีด้วย ดังเช่น ปราสาทปรางค์แขก ที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 [4] สะท้อนให้เห็นถึงการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมของกัมพูชาสมัยพระนครเข้ามาในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยโดยเฉพาะที่ลพบุรีได้อย่างชัดเจน ก่อนหน้าที่จะมีการขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามาในเวลาต่อมา

ปรางค์แขก เมืองลพบุรี

น่าสังเกตว่าหลังพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นไป ไม่ปรากฏศิลาจารึกของกษัตริย์ในพระราชวงศ์อื่น หรือรัฐอื่นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากจารึกของอาณาจักรกัมพูชาสมัยพระนคร แสดงว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15 ดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอาจมีรัฐหรือราชวงศ์อื่นปกครองอยู่ เช่น รัฐศรีจนาศะ ซึ่งมีรายพระนามกษัตริย์ปรากฏอย่างแน่นอน ในจารึกศรีจนาศะ เป็นต้น

แม้กระนั้นรัฐเหล่านี้ก็อาจจะมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรกัมพูชาโบราณด้วย อย่างไรก็ตาม หลังพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา รัฐเหล่านี้อาจจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาสมัยพระนคร [5]

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทำลายเมืองลวปุระ

ในพุทธศตวรรษที่ 16 กษัตริย์กัมพูชาโบราณได้ขยายอาณาเขตไปจนครอบคลุมตอนเหนือของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งได้แก่บริเวณอีสานใต้ของไทยในปัจจุบัน และเป็นดินแดนเดิมของอาณาจักรเจนละบก หลักฐานทางด้านศิลาจารึกที่พบในประเทศไทยหลายหลักแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกัมพูชาโบราณซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร กับบริเวณตอนเหนือของเทือกเขาพนมดงรักได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะกษัตริย์ของอาณาจักรกัมพูชาโบราณพระองค์หนึ่ง เชื่อกันว่าน่าจะทรงมีเชื้อสายมาจากราชวงศ์ทางเหนือของเทือกเขาพนมดงรัก ก่อนที่จะเสด็จไปแย่งชิงราชสมบัติในเมืองพระนคร แล้วสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณโดยมีพระนามว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1”

รัชกาลนี้เองที่อาณาจักรกัมพูชาโบราณซึ่งมีราชธานีอยู่ที่พระนครศรียโศธรปุระขยายอำนาจอิทธิพลทางการเมืองเข้ามายังฟากตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี (สฺรุกโลฺว หรือ โลฺวทยปุระ) [6]

ดังปรากฏหลักฐานสำคัญที่พบใหม่คือ ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18) [7] ศิลาจารึกนี้มีทั้งที่เป็นภาษาเขมรโบราณ และภาษาสันสกฤต ระบุว่าจารึกขึ้นเมื่อมหาศักราช 924 ตรงกับพุทธศักราช 1545 ในข้อความจารึกในส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤต มีความที่สำคัญตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพมาตีเมืองละโว้ (จารึกเรียกว่า “ลวปุระ”) ว่า

กาเลยโทไษรฺ ลวปูรฺ อรณฺยํ ปฺรนษฺฏรูปา หตสรฺวโศภา | วฺยาฆราทิภิรฺ วฺยาลมฤไคะ ปฺรกีรฺณา ศฺมศานภูเมรฺ อปิ ภีมรูปา ||

คำแปล

เพราะความเสื่อมแห่งกลียุค เมืองลวปุระ (ลพบุรี) กลายเป็นป่า

ปรากฏความพังพินาศไปทั่ว ความงดงามทั้งหมดมลายหายไป

เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าทั้งหลายมีเสือโคร่ง เป็นต้น

ดูน่ากลัวยิ่งกว่าป่าช้าที่เผาศพ [9]

ศาลพระกาฬ เมืองลพบุรี

ศิลาจารึกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในเวลานั้นเมืองลวปุระ หรือเมืองละโว้ถูกกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพเข้ามาโจมตีและสามารถทำลายเมืองลวปุระจนกลายเป็นป่า บ้านเมืองถูกทำลายจนมีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยอยู่

เนื้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักนี้ มีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบโดยเฉพาะที่เมืองละโว้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันต่อเนื่องระหว่างอาณาจักรกัมพูชาโบราณกับรัฐซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานในจารึกของอาณาจักรกัมพูชาโบราณหลักอื่น ๆ ซึ่งพบในบริเวณเมืองลพบุรี เช่น จารึกที่ศาลสูง หลักที่ 1-2 (หรือจารึกหลักที่ 19-20) จารึกด้วยตัวอักษรเขมรโบราณพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นภาษาเขมรโบราณ [10] ซึ่งกล่าวถึงพระราชโองการของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ว่า

“…ศักราช 944 ขึ้น 14 ค่ำ เดือนภัทรบท อาทิตยวาร พระบาทกัมรเตงกำตวนอัญศรีสูรยวรรมนเทวะ บันทูลพระนิยมนี้ให้บุคคลทั้งหลายถือเป็นสมาจารให้ทำตาม

ณ สถานตบัสวี (ดาบส) ผองนั้น พระที่บวชเป็นภิกษุมหายาน สถวีระ ซึ่งบวชจริงนั้นอยู่ถวายตบะแด่พระบาทกัมรเตงกำตวนอัญศรีสูรยวรรมนเทวะ

ผู้ซึ่งเข้ามาในตโปวนาวาสนั้นแม้ทำกังวล (ความเดือดร้อน) ไม่ได้ให้ตบัสวี (ดาบส) โยคี ทั้งหลายสวดมนตร์ถวายตบะแด่พระบาทกัมรเตงกำตวนอัญศรีสูรยวรรมัน เทวะให้จับนำเข้าสภาฟังคดีที่ควรตัดสินอย่างเคร่งครัดที่สุด…” [11]

ศิลาจารึกศาลสูง หลักที่ 1 ที่กล่าวมานี้พบที่ศาลสูง แสดงให้เห็นว่าปีมหาศักราช 944 ตรงกับพุทธศักราช 1565 เมืองลพบุรีได้ถูกผนวกเข้าในพระราชอำนาจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แล้ว สอดคล้องกับจารึก K1198 (Ka.18) ที่กล่าวถึง พ.ศ. 1545 ที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1  ตีเมืองลวปุระ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมืองลพบุรีในเวลานั้นมีการนับถือศาสนาหลายศาสนาปะปนกัน ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และศาสนาพุทธ ซึ่งน่าจะเป็นศาสนาสำคัญดั้งเดิมของเมืองลพบุรี จึงมีการเน้นย้ำว่าพระสงฆ์ที่บวชในศาสนาพุทธนั้นทั้งฝ่ายมหายานและสถวีระ (เถรวาท) ต้องถวายตบะแด่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ด้วย

นอกจากนี้ศิลาจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี (ศิลาจารึกหลักที่ 21) ซึ่งน่าจะจารึกขึ้นในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เช่นเดียวกันก็ได้กล่าวถึงขุนนางของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 กัลปนาที่ดินกับคนใช้และของต่าง ๆ ถวาย “พระกัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทวะ” หรือ “พระนารายณ์” และมีข้อความที่กล่าวถึงชื่อเมืองลพบุรีโดยตรงว่า

“…วารนั้น โขลญพลกัมรเตง และโขลญที่อยู่ประจำวิษัย (เมือง) นี้ ประทวนไปยังโฉลญตำรวจวิษัย…พระกัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทวะอยู่นั้น ผลอันบูชาพระกัมรเตงอัญ ซึ่งได้ทำบูชาเราให้…เป็นธรรม (หน้าที่) ของโขลญพลขอให้รักษาไว้ซึ่งกัลปนาของเรา

นั้นพระในเมืองละโว้ (สฺรุกลฺโว) ซึ่งมีนักระบำ นักจำเรียง กัลปนานักระบำ 1 คน นักจำเรียง (นักร้อง) 1 คน นักดีด 1 คน นักสี 1 คน บำเรอแด่พระกัมรเตงอัญบรมวาสุเทวะทุกวัน…” [12]

จากหลักฐานในด้านศิลาจารึกต่าง ๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมืองลวปุระ ซึ่งเป็นเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้ถูกกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โจมตีและทำลายเมืองจนเสียหาย

หลังจากนั้นเมืองลวปุระได้ปรากฏชื่อในจารึกว่า “สฺรุกโลฺว” หรือ “เมืองละโว้” โดยได้กลายเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 1545

สอดคล้องกับหลักฐานที่กล่าวถึงชื่อขุนนางที่อุทิศกัลปนาให้กับศาสนสถานในเมืองละโว้ เช่น โขลญพล โขลญวิษัย รวมทั้งโฉลญตำรวจวิษัย ซึ่งน่าจะเป็นขุนนางของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งปกครองเมืองละโว้อยู่ในเวลานั้น…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

[1] โปรดดูรายละเอียดใน สายชล วรรณรัตน์. “ละโว้ก่อนสมัยอยุธยา,” ใน ประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2524), น. 29-30.

[2] ธิดา สาระยา. (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของประเทศสยาม. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538), น. 140.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 144.

[4] รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2548), น. 97.

[5] ศานติ ภักดีคำ, ความสัมพันธ์วรรณคดีไทย-เขมร. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2550), น. 32.

[6] ยอร์ช เซเดส์. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 2 จารึก ทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. (พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2504), น. 17-19.

[7] ผู้เขียนจะแปลศิลาจารึกหลักนี้มานำเสนอในโอกาสต่อไป

[8] Bhattacharya Kamaleshwar. “The Present State of Work on the Sanskrit Epigraphy of Cambodia,” in Sanskrit in Southeast Asia : The Harmonizing Factor of Culture. (Bangkok : Sanskrit Studies Centre Silpakorn University, 2001). p. 128.

[9] ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขสิริ ที่ได้กรุณาให้คำปรึกษาช่วยเหลืออย่างยิ่งในการแปลจากภาษาสันสกฤต

[10] ยอร์ช เซเดส์. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 2 จารึก ทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. น. 12-16.

[11] ผู้เขียนแปลใหม่บางส่วนตามคำอ่านใน กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), น. 161-163.

[12] ผู้เขียนแปลใหม่บางส่วนตามคำอ่านใน กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 3. น. 255-256.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมื่อ ‘ลวปุระ’ หรือ ‘ลพบุรี’ ถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทำลาย ‘กลายเป็นป่า'” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2564