17 มกราคม 2502 จอมพลสฤษดิ์ ออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากจีนแดง

จอมพลสฤษดิ์ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จรวจแถว สวนสนาม ทหาร
ภาพประกอบจาก "อนุสรณ์ 50 ปี อสัญกรรม ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 8 ธันวาคม 2556" 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ออก “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 53 ลงวันที่ 17 มกราคม 2502” ส่วนหนึ่งมีเนื้อหาห้ามนำเข้าสินค้าจาก “จีนแดง” ความว่า

“โดยที่ปรากฏว่าสินค้าต่างๆ ที่ผลิตหรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนมากเป็นสินค้าประเภทไม่จำเป็น และมักจะนำเข้ามาด้วยการลักลอบ เป็นการยุ่งยากแก่การกวดขันควบคุม ทั้งเป็นการเสียเปรียบในแง่ดุลยการค้า คณะปฏิวัติจึงเห็นสมควรห้ามมิให้นำสินค้าที่ผลิต หรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้นำสินค้าที่ผลิตหรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือซึ่งมาจากประเทศจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ใดนำสินค้าดังกล่าวนี้เข้ามาในราชอาณาจักร มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร

ข้อ 2 ให้ผู้ทำการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตหรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือที่มาจากประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสินค้าดังกล่าวนี้อยู่ในความครอบครองก่อนวันประกาศนี้ แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บต่อนายอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ทำการจำหน่าย มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการค้าอยู่ ภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันประกาศนี้

ข้อ 3 เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันประกาศนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตหรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือที่มาจากประเทศจีนคอมมิวนิสต์

ข้อ 4 ให้ถือว่าข้อความตามข้อ 2 ข้อ 3 แห่งประกาศนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 5 และ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามที่กฎหมายนั้นได้บัญญัติไว้”

ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศไทยและจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จีนแดง โดยเฉพาะธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรมแผนจีน ซึ่งต้องนำเข้าพืช สมุนไพร ฯลฯ เข้ามาประกอบเป็นเครื่องยาจีน

แพทย์แผนจีนจากทั่วประเทศไทยกว่า 1,000 คน รวมตัวกันทำหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอนำเข้าสินค้าที่เป็นเครื่องยาจีน ทั้งเห็นว่าเป็นประกาศที่ไม่เหมาะสมด้วยกระทบกับชีวิตและสุขภาพของชาวจีนในประเทศไทยกว่า 3,000,000 คน ที่ใช้การแพทย์แผนจีนและยาจีนรักษาอาการป่วยและดูแลสุขภาพ

กระทั่ง นายสหัท มหาคุณ ผู้นำการค้าจีนที่ทรงอิทธิพล ซึ่งเป็นนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทยในเวลานั้น ก็เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อยื่นหนังสือขอผ่อนผันให้กับสินค้าที่เป็นยารักษาและสมุนไพรที่มาจากจีนคอมมิวนิสต์

ที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ก็ต้องยอมผ่อนผันให้

เมื่อ นายเกษม ศรีพยัคฆ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ลงนามใน ประกาศกระทรวงเศรษฐการ เรื่อง ผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าประเภทสมุนไพร และเมล็ดพืชพันธุ์ผักที่ห้ามตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2506

โดยสมุนไพรให้เวลาจำหน่ายภายใน 6 เดือน และเมล็ดพันธุ์ภายใน 3 เดือน และต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่จำหน่ายและคงเหลือต่อทางการในวันที่ 5 ของเดือน

หากเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการผ่อนผันทั้งหมด รัฐบาลยืนยันไม่ให้มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าใดกับจีนคอมมิวนิสต์อีก ธุรกิจในประเทศไทยที่ต้องการสินค้าจากจีนก็จะใช้วิธีลักลอบนำเข้า หรือนำเข้าจากฮ่องกงที่เป็นตัวกลางระหว่างจีนคอมมิวนิสต์-ไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 53 ลงวันที่ 17 มกราคม 2502” ใน, รวมกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ น. 85’

วัฒนา กีรติชาญเดชา. “การค้ายาจีนแผนโบราณกับนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลไทย ที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2493-2518” ใน, วารสารประวัติศาสตร์ 2564. ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ประกาศกระทรวงเศรษฐการ เรื่อง ผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าประเภทสมุนไพรและเมล็ดพันธุ์ผักที่ห้ามจำหน่ายตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53. (2502, 10 มิถุนายน), ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ. เล่ม 76 ตอนที่ 61. หน้า 1-2.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2566