“พระนางวิสุทธิเทวี” ขัตติยนารีราชวงศ์มังรายองค์สุดท้าย เป็นใครกันแน่?

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน, สันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูงในล้านนา (ภาพจาก เพ็ญสุภา สุขคตะ: มติชนสุดสัปดาห์, 2565)

ประวัติศาสตร์ล้านนาในเอกสารโบราณเมืองเหนือกล่าวถึงกษัตรีพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อสายพญามังรายองค์สุดท้าย และราชวงศ์มังรายก็สิ้นสุดที่พระองค์ เนื่องจากกษัตริย์ล้านนาองค์ต่อมาล้วนเป็นเชื้อสายจากฝั่งพม่า กษัตรีพระองค์นั้นคือ “พระนางวิสุทธิเทวี” ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2107-2121 ร่วมสมัยกับช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไล่เลี่ยกับที่อาณาจักรล้านนากลายเป็นประเทศราชของพม่าในยุคราชวงศ์ตองอูหรือสมัยพระเจ้าบุเรงนองนั่นเอง

แม้สถานะอันโดดเด่นดังกล่าวจะทำให้ชื่อของพระนางวิสุทธิเทวีถูกจดจำเป็นพิเศษ แต่ตัวตนและอัตถชีวิตที่เหลือของพระนางยังติดด้วยเครื่องหมายคำถามอยู่ว่าความเป็นขัตติยนารีแห่งอาณาจักรล้านนานั้น พระนางมีความสัมพันธ์อย่างไรหรือมีสถานะแบบใดกับเจ้าล้านนาพระองค์อื่น ๆ กันแน่ ทั้งกษัตริย์ล้านนาองค์ก่อนหน้าอย่างพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ (ท้าวแม่กุ) และองค์ถัดมาอย่างนรธาเมงสอ กษัตริย์ล้านนาที่มีบทบาทสำคัญในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา

นักประวัติศาสตร์ไทยจึงเชื่อมโยงหลักฐานที่มีความเชื่อมโยงและอาจช่วยระบุตัวตนของพระนางวิสุทธิเทวีได้ เมื่อการศึกษาประวัติศาสตร์คือการตีความหลักฐานที่มี การค้นพบใหม่หรือการตีความต่างไปจากเดิมย่อมนำมาซึ่งข้อมูลและทฤษฎีใหม่ตามไปด้วย นี่คือเสน่ห์ของศาสตร์นี้ที่การถกเถียงและหาข้อพิสูจน์ยังคงดำเนินต่อไปโดยเราอาจไม่รู้ปลายทางหรือบทสรุปด้วยซ้ำ ดังที่ ศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับพระนางวิสุทธิเทวี ได้นำเสนอหลักฐานประกอบการวิเคราะห์ตัวตนของพระนางไว้ในหนังสือ “พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า” (พิมพ์ครั้งที่ 13 : มติชน, 2561) ดังนี้


 

พระนางวิสุทธิเทวี…ใครกัน?

นักประวัติศาสตร์และนักล้านนาศึกษาส่วนใหญ่ลงความเห็นต้องกันว่าพระนางวิสุทธิเทวี กษัตรีแห่งล้านนา ผู้ครองราชบัลลังก์อยู่นานถึง 14 ปีนั้น เป็นมารดาของมังนรธาช่อ หรือที่หลักฐานพม่าออกนามว่า นรธาสอ (Nawrathasaw) หรือ นรธาเมงสอ (Nawrathaminsaw) ผู้มีฐานะเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ที่พระจ้าบุเรงนองส่งมาปกครองภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางวิสุทธเทวี ข้อสันนิษฐานตามกล่าวในโสดหนึ่งมีที่มาจากจากตีความโคลงบทหนึ่งของโคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ ที่ระบุว่า

ได้แล้วภิเษกท้าว  เทวี
เป็นแม่มังทราศรี  เร่งเรื้อง
เมืองมวลส่วยสินมี  ตามแต่ เดิมเอ่
บ่ถอดถอนบั้นเบื้อง  ว่องไว้วางมวล

นักภาษาศาสตร์ อาทิ ดร. ประเสริฐ ณ นคร และนายสิงฆะ วรรณสัย ถอดความว่า “แล้วอภิเษกมหาเทวี (พระนางวิสุทธิเทวี – ผู้เขียน) ผู้เป็นแม่มังทรา (ซึ่งผู้แปลเข้าใจว่าเจ้าเชียงใหม่ คนถัดไปคือ นรตรามังช่อ หรือนรธาเมงสอ เจ้าเมืองสาวัตถี โอรสบุเรงนอง) ขึ้นเสวยราชย์เหมือนเดิม ให้รวบรวมสินส่วยส่งเหมือนแต่ก่อน ไม่ทรงถอดถอนออก แต่มอบอำนาจให้ปกครองเมืองทั้งสิ้น”

คำว่า มังทรา นี้โดยรากศัพย์น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า เมงตะยา (Mintaya) ซึ่งมีความหมายตรงตามตัวว่า ธรรมราชา คำนี้เป็นสมัญญานาม ใช้ระบุหรือกล่าวนำหน้าพระมหากษัตริย์พม่าโดยทั่วไป เช่น เมงตะยาชเวที (Mintayashweti) ซึ่งหมายถึงพระมหาธรรมราชฉัตรทอง

อย่างไรก็ตามในวรรณกรรมเชียงรายรบเชียงใหม่นี้ ผู้ประพันธ์ใช้คำว่า มังทรา แทนตัวพระเจ้าแผ่นดิน อาทิ เรียกพระเจ้าบุเรงนองว่า มังทรา หรือประกอบพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า มังรายตรา หรือใช้เรียกผู้ปกครองเชียงใหม่ อาทิ เรียกนรตรามังช่อว่า มังทรา ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นต้นเหตุว่า “แม่มังทราศรี” ในโคลงบทที่ 12 อาจหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ ซึ่งย่อมหมายความว่าคำนี้มิจำเป็นต้องหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดไป ขณะเดียวกันก็อาจเป็นได้ว่าหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่พระองค์ก่อน คือท้าวแม่กุ หรือพญาเมกุฏิ (พ.ศ. 2094 – 2107) ก็เป็นได้

ยิ่งไปกว่านั้นในโคลงบทที่ 15 ซึ่งระบุถึงภูมิหลังความเป็นมาของนรตรามังช่อก็มีความตอนใดที่ระบุว่าพระองค์เป็นโอรสของ “พระมหาอัครราชท้าวเทวี” หรือพระนางวิสุทธิเทวีแต่อย่างใด ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่มีหลักฐานอื่นใดไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับภาษาพม่า (Zinme Yazawin) หรือพงศาวดารโยนกจะยืนยันในข้อเท็จจริงว่านรตรามังช่อ หรือนรธาเมงสอ หรือฟ้าสาวัตถีนรภามังค้อย หรือเจ้าเมงซานรธามังคุยผู้นี้เป็นโอรสของพระนางวิสุทธิเทวี

ในทางตรงกันข้าม หลักฐานข้างพม่า อาทิ ยาสะวินฉบับต่าง ๆ มีมหายาสะวินเต๊ะ (Mahayazawinthet) เป็นปฐมยืนยันชัดเจนว่า นรตรามังช่อ หรือนรธาเมงสอเจ้าเมืองเชียงใหม่นี้เป็นพระโอรสของมเหสีคนสำคัญของพระเจ้าบุเรงนอง อันแสดงว่ามิได้มีสายสัมพันธ์ใดเกี่ยวข้องกับพระนางวิสุทธิเทวี ส่วนพระนางวิสุทธิเทวีจะมีความสัมพันธ์ใดกับพระเจ้าบุเรงนองนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัด

หลักฐานในพงศาวดารพม่าอธิบายชัดเจนว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงมีมเหสีสำคัญหรือมเหสีใหญ่ 3 องค์ด้วยกัน ได้แก่

1. พระอัครมเหสี อดุลศรีมหาราชเทวี หรือมีนามเป็นที่รู้จักว่า กะเตงจี มเหสีองค์นี้เป็นสมเด็จพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ โอรสอันเกิดจากมเหสีพระองค์นี้คือผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง คือพระเจ้านันทะบุเรง ซึ่งหลักฐานพม่านิยมเรียกว่า งาสุดายกา ซึ่งแปลว่าผู้อุปถัมภ์เจดีย์ทั้งห้า เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ ออกพระนามพระองค์ใกล้เคียงกับพระนามในภาษาพม่าคือเรียกพระองค์ว่า “พระเจ้าหงษางาจีสยาง”

2. มเหสีจันทาเทวี ซึ่งเป็นพระธิดาพระเจ้าอังวะ

3. มเหสีราชเทวี ซึ่งเป็นธิดาของสตุกามณีแห่งดีมอง มีนามเดิมว่าเชงทเวละ พระนางให้กำเนิดพระโอรส 1 พระองค์ นามว่านรธาสอ ผู้ต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ นรธาสอมีพระอนุชาอีก 1 พระองค์ ซึ่งต่อมาถูกส่งไปครองเมืองเมาะตะมะ

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานในพงศาวดารหรือยาสะวินของพม่ายังระบุชัดว่ามเหสีราชเทวีได้สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2106 ก่อนปีที่พระเจ้าบุเรงนองจะสถาปนาพระนางวิสุทธิเทวี ขึ้นครองนครเชียงใหม่ 1 ปี ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันว่ามารดาของนรตรามังช่อหรือนรธาเมงสอเป็นบุคคลคนละคนกับพระนางวิสุทธิเทวี หากเป็นเช่นนั้นแล้วพระนางวิสุทธิเทวีน่าจะเป็นผู้ใด?

พระนางวิสุทธิเทวีน่าจะเป็นผู้ใดก็แล้วแต่ หลักฐานที่แวดล้อมพระนางล้วนยืนยันว่าพระนางเป็นขัตติยนารีที่สำคัญยิ่งและมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงส่งในราชอาณาจักรล้านนา ถึงแม้ว่าในยุคสมัยของพระนางล้านนาจะต้องตกเป็น “ขัณฑสีมา” ของราชสำนักตองอูที่ครองหงสาวดีก็ตาม หลักฐานในโครงมังทรารบเชียงใหม่ระบุฐานันดรศักดิ์ของพระนางว่า “มหาอัครราชท้าวเทวี”

ขณะที่พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่าเรียก พระนางมหาเทวี (Mahadevi) และพงศาวดารโยนกออกพระนามว่า นางพระยาวิสุทธราชเทวี ทำให้เข้าใจได้ว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้น่าจะมีฐานันดรศักดิ์เป็นอัครมเหสี (มหาอัครราชท้าวเทวี) ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็มีฐานันดรศักดิ์เทียบที่พระราชมารดา (มหาเทวี) ของพระมหากษัตริย์

ในที่นี้ใคร่สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีอาจมีฐานะเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่คือ ท้าวแม่กุ พญาเมกุฏิ ประการแรกนั้นสืบเนื่องจากพระนางถูกระบุถึงในฐานะมหาเทวี ว่าเป็นไปได้ว่าพระนางน่าจะมีตำแหน่งเป็นพระราชมารดากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ประการที่สองเมื่อพิจารณาถึงวัยของพระนางที่ครองล้านนาได้เดียง 15 ปีก็สิ้นพระชนม์จนผู้แต่งโคลงเรื่องมังทรามบเชียงใหม่ ระบุไว้ในโคลงบที่ 13 ว่า

มหาอัครราชท้าว  เทวี
ย้อมหงอกกินปุรี  ก่อมเถ้า

ซึ่งหมายความว่ามหาเทวีย่อมเสวยราชย์ในยามชราภาพ

ประการที่สาม โคลงบทที่ 12 ระบุว่าพระนางเป็นแม่ของมังทราซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ แต่หลักฐานข้างพม่ายืนยันแน่ชัดว่าพระนางมิได้เป็นมารดาของนรตรามังช่อ กษัตริย์เชียงใหม่พระองค์ใหม่ ก็ย่อมเป็นไปได้ว่าพระนางอาจจะเป็นพระมารดาของกษัตริย์เชียงใหม่พระองค์ก่อนคือท้าวแม่กุ ประกอบด้วยวัยของพระนางก็ควรแก่ผู้ที่จะเป็นมารดาได้

ประการที่สี่ การที่พระเจ้าบุเรงนองนำท้าวแม่กุกลับหงสาวดีราชธานี และสถาปนาพระนางวิสุทธิเทวีซึ่งเริ่มชราภาพแล้วครองล้านนาก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าท้าวแม่กุถูกนำตัวไปฐานะตัวประกัน ซึ่งโดยนัยนี้ท้าวแม่กุต้องเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ครองแผ่นดินคนต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าเจ้าแผ่นดินคนใหม่จะไม่คิดแข็งเมือง ด้วยนัยตามกล่าวนี้ท้ายแม่กุจึงอาจมีฐานะเป็นลูกของพระนางวิสุทธิเทวีได้ พม่าเองก็ใช้กุศโลบายเดียวกันนี้กับอาณาจักรอยุธยา โดยนำทั้งพระโอรสและพระธิดาของกษัตริย์อยุธยาไปเป็นองค์ประกันยังกรุงหงสาวดี

นอกจากประเด็นฐานความเป็นมารดาหรือมหาเทวีตามกล่าวข้างต้น ประเด็นที่ตกค้างอีกประเด็นหนึ่งคือสถานะความเป็น “ราชเทวี” หรือมเหสี สวัสวดี อ๋องสกุล ได้สันนิษฐานว่า พระนางวิสุทธิเทวีนี้ เดิมชื่อ พระตนคำ เป็นพระธิดาเจ้าเมืองเกศเกล้า ซึ่งบุเรงนองพาไปหงสาวดี เพื่อเป็นตัวประกันและเรียนรู้วัฒนะรรมพม่า ซึ่งย่อมหมายถึงพระนางได้ตกเป็นมเหสีของบุเรงนองไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนได้ตรวจสอบทำเนียบมเหสีของบุเรงนองตามที่ระบุในพงศาวดารพม่าโดยละเอียดแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีราชธิดาเจ้านางหรือขัตติยานารีที่ออกพระนามวิสุทธิเทวี หรือตนคำเป็นมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง

กล่าวได้ว่าทำเนียบนามมเหสีบุเรงนองตามมีในพงศาวดารพม่าแยกออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ เหล่าพะยาจี (Miphaygyi) หรือมเหสีใหญ่ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 3 พระองค์ดังได้แสดงไว้แล้ว

กลุ่มที่ 2 คือพระยาเง (Miphayange) หรือมเหสีเล็ก หรือบาทบริจาริกา (โกโล๊ะดอ/Koulouto) แต่พงศาวดารพม่าหรือยาสะวินขึ้นทำเนียบระบึนามไว้เพียงผู้ให้กำเนิดพระโอรสหรือพระราชธิดากับพระเจ้าบุเรงนองซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 42 นาง

ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เป็นพระราชธิดาหรือพระราชนัดาของเจ้าประเทศราชต่างแดน อาทิ พระนางสุธรรมโยงอโยงโยง (Yon Ayonyon) จากล้านช้าง พระนางเคงอองคาน (Khin Aung Khan) พระธิดานรบดีเจ้าเมืองนาย พระนางกงมยะชาน (Khin Myet San) พระธิดาเมืองฆ้อง พระนัดดาเจ้าเมืองยองห้วย ราชธิดาพระเจ้าเซงโย (Zinyon) ราชธิดาพระเจ้าโคง (Gon) ราชธิดาพระเจ้าอาจอ (A kyaw) อะเมี้ยวโยง (A Myo Yong-นางผู้เชื่อมั่นในเผ่านพันธ์ตน-ผู้เขียน) ผู้เป็นพระพี่นางในพระนริศกษัตริย์อโยธยา

และในจำนวนทั้ง 42 นาง ที่ได้ขึ้นทำเนียบนี้ได้ปรากฏ “นางผู้เป็นชาวเชียงใหม่ (Zimme) นามว่า เคงเก้า (Khin Kank) ซึ่งให้กำเนิดพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองนางหนึ่งนามว่า ราชมิตร”

อาจเป็นไปได้ว่าพระนางเคงเก้าเป็นหนึ่งในขัตติยนารีของเชียงใหม่ที่ตกเป็นองค์ประกันอยู่ในราชสำนักพม่า ที่พระนางมีนามปรากฏในทำเนียบมเหสีเล็กก็ด้วยพระนางให้กำเนิดพระธิดากับบุเรงนอง ส่วนประเด็นที่ว่าพระนางจะเป็นบุคคลเดียวกันกับพระตนคำหรือไม่ และพระตนคำจะเป็นบุคคลเดียวกับพระนางวิสุทธิเทวีหรือไม่ หรือพระนางเคงเก้าจะเป็นคนเดียวกับพระนางวิสุทธิเทวีหรือไม่ พระนางวิสุทธิเทวีจะเป็นใครก็ตามแต่เป็นหนึ่งในมเหสของบุเรงนองหรือไม่นั้น เห็นจะต้องทิ้งให้เป็นปมปริศนาของผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาศึกษาให้ค้นคว้ากันต่อไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2565