ภาพปริศนาเจ้าเมืองน่านที่วัดภูมินทร์ ทำไมสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช?

จิตรกรรมฝาผนัง (ด้านทิศตะวันออก) วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ในวงรีสีน้ำเงิน สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (ภาพจาก www.finearts.go.th)

มีผู้สันนิษฐานว่า ภาพเขียนบนหัวเสาด้านทิศตะวันออกของผนังวัดภูมินทร์ คือ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช หรือ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ซึ่ง หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อ ผู้เขียนภาพนี้ด้วยความรักและศรัทธาต่อเจ้าผู้ครองเมืองน่าน คงไม่คิดว่ากาลต่อไปในภายภาคหน้า จะกลายเป็นเรื่องให้ผู้คนได้ขบคิดสันนิษฐานว่า ภาพนี้เป็นภาพของเจ้าเมืองน่านหรือไม่? หากใช่แล้วจะเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดช หรือ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้สืบการปกครองเป็นเจ้าเมืองถัดมา

ข้อสันนิษฐานแรก อาจารย์สน สีมาตรัง ว่าน่าจะเป็น “เจ้าอนันตวรฤทธิเดช” ผู้อุปถัมภ์บูรณะซ่อมแซมวัดครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2410-2417 ตามหลักฐานค่าใช้จ่ายการบูรณะ ปรับปรุง และเข้าใจว่าภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวัดก็คงเขียนขึ้นภายหลังการบูรณะครั้งใหญ่นั้นด้วย [1]

Advertisement

ข้อสันนิษฐานที่ 2 นั้นเป็นการศึกษาครั้งล่าสุดปี พ.ศ. 2546 โดย จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็น “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช” ด้วยลักษณะโครงหน้ายังคล้ายภาพถ่ายเก่าภาพหนึ่งของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ในขณะที่มีพระชันษาราว 50 ปีด้วย และมีหลักฐานที่พบว่าภาพเขียนในอุโบสถวัดภูมินทร์ที่มีเหตุผล และเชื่อได้ว่ามีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้น ในช่วงที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชปกครองเมืองน่าน คือเขียนในช่วงปี พ.ศ. 2445-46 [2]

สรุปแล้วนักวิชาการทั้ง 2 ท่าน ตั้งประเด็นไว้ว่าศิลปินอาจเขียนภาพบุคคล คือเขียนเจ้าเมืองน่าน ในช่วงเดียวกับปี พ.ศ. ที่ตรงกับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ และตรงกับการขึ้นปกครองเป็นเจ้าเมืองน่าน

หากว่าสมมุติฐานเป็นเช่นนั้น ประเด็นสันนิษฐานข้อแรกก็คงต้องตกไป เพราะหลักฐานการเขียนภาพวัดภูมินทร์มีน้ำหนักอยู่ที่ภาพเขียนในวัดได้เขียนขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2445-2446 อันเป็นช่วงปีปกครองเมืองน่านโดย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5) หรือภายหลังที่ศิลปิน “หนานบัวผัน” ได้เขียนภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในช่วงปีที่เจ้าอนันตวรฤทธิเดชปกครองเมืองน่าน

ภาพปริศนาเจ้าเมืองน่าน ที่วัดภูมินทร์ ที่สันนิษฐานว่าเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดช

ปัญหาภาพเขียนดังกล่าวก็ยังหาข้อยุติมิได้ เพราะเราไม่สามารถหาหลักฐานใดที่ชัดเจนว่าศิลปินเขียนภาพเหมือนบุคคล หรือเขียนพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ไม่ว่าจะเป็นการเขียนอักษรกำกับภาพ หรือจารึกใด แม้แต่คำบอกเล่าสืบกันมา

มีการสืบค้นหาภาพถ่ายเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ที่เชื่อว่าน่าจะมีด้วยเหตุมีบันทึกของศาสนาจารย์ดาเนียล แมกิลวารี มิชชันนารีคณะ  เพรสไพทีเรียนชาวสหรัฐอเมริกา ผู้เข้ามาเมืองน่าน ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2416 และครั้งที่สอง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 และได้พบกับเจ้าอนันตวรฤทธิเดชในวันถัดๆ มา [3]

ซึ่งก็หมายความถึงเจ้าอนันตวรฤทธิเดช มีพระชันษา 88 ปี และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นพระอุปราชอยู่นั้น มีพระชันษา 59 ปี ก็หมายถึงว่ามีการถ่ายภาพบุคคลแล้วที่เมืองน่าน เพราะปรากฏภาพถ่ายของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขณะที่ดำรงเป็นพระอุปราช

มีข้อสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีภาพถ่ายเจ้าอนันตวรฤทธิเดชปรากฏ ณ ที่ใด ไม่ว่าจะที่หอจดหมายเหตุ หรือว่าเจ้าอนันตวรฤทธิเดชมีคติไม่ยอมถ่ายภาพด้วยกลัวจะสิ้นอายุขัยไว ซึ่งท่านอายุก็มาก และคงไม่ค่อยสบายใจที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ด้วยเมืองน่านนั้นไกลการคมนาคม การติดต่อโลกภายนอกก็ไม่สะดวกตามยุคสมัยท่าน คือช่วงปีของสมัยรัชกาลที่ 4

มีคำโบราณที่เป็นคติที่สามารถนำมาใช้ได้ก็คือ “ภาพเขียนที่ดีมีคำบอกเล่านับร้อยนับพันอยู่” ดังนั้นเพื่อการค้นหาคำตอบจากภาพเขียน จึงขอตั้งสมมุติฐานไว้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะตั้งข้อสันนิษฐานได้

1. ภาพเขียนนี้เกิดจากโครงสร้างที่เขียนภาพเล่าเรื่องชาดกโดยศิลปิน “หนานบัวผัน” เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามลักษณะคตินิยมและประเพณีนิยม ไม่ได้เขียนภาพตามลัทธิเหมือนจริง (Realism) ในยุโรป แต่จะผสานความรู้สึกนึกคิดตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่ศิลปินมีประสบการณ์

แม้ว่าภาพเขียนดังกล่าวนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาดก แต่ศิลปินก็ไม่ได้เขียนภาพนี้ตามหลักการเขียนภาพเหมือนจริงที่กำหนดแสง เงา และเวลาเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าจะยึดถือการเขียนภาพเหมือนบุคคล (Portrait) เป็นที่ตั้งว่าจะเหมือนใครแค่ไหน หรือเหมาะสมกับอายุอานามของยุคสมัยเจ้าผู้ปกครององค์ใด

2. “หนานบัวผัน” เป็นศิลปินที่มากความสามารถในยุคสมัยนั้น หากสืบค้นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในล้านนาแล้ว ผลงานของ “หนานบัวผัน” ถือว่าเป็นผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าระดับหัวแถว เพราะมีภาพที่เขียนจากใจที่กล้าหาญ มีอุดมการณ์และสมองที่ปราดเปรื่อง สามารถเขียนภาพคนที่สมบูรณ์แบบขนาดใหญ่ สมจริง ทั้งสัดส่วน อารมณ์ละเมียดละไม ในภาพกิริยาท่าทาง

ดังปรากฏที่ภาพ “กระซิบ” ที่หนุ่มพม่ากระซิบกับคู่รักสาวสวยนั้น เป็นภาพที่เรียกว่า “บันลือโลก” ด้วยมีผู้คนในวงการศิลปะรู้จักกันทั่วโลก

ภาพเจ้าเมืองผู้ปกครองน่านผู้นี้ ก็ปรากฏความละเมียดละไมในอารมณ์ผสานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าที่แฝงด้วยความเมตตา ในทีท่ายิ้มอย่างอารมณ์ดี ศิลปินเขียนสายตามองต่ำ ตามคติผู้อยู่เบื้องสูงควรมองที่ต่ำ ดังนั้นลักษณะเด่นของบุคคลที่จะแสดงความเป็นตัวตนของบุคคลนั้น “หนานบัวผัน” คงไม่พลาดที่จะคัดออกมาเขียน คือทรงผมหลักแจว และหนวดเรียวแหลม ดอกไม้สอดประดับติ่งหู พร้อมทั้งเสื้อผ้าคอจีน (หรืออาจเป็นราชปะแตน)

3. ทรงผมหลักแจวนั้นนิยมในช่วงรัชกาลที่ 3-4 ของสยาม และยุคสมัยของ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เป็นยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 ส่วน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ทรงเจริญอายุในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้นภาพถ่ายท่านจึงไม่ปรากฏทรงผมหลักแจว หรือมหาดไทย และภาพถ่ายของท่านก็คงจะใกล้เคียงกับศิลปิน “หนานบัวผัน” เขียนภาพที่วัดภูมินทร์ ส่วนภาพไว้หนวดนั้นเป็นช่วงที่ท่านอายุมากและเป็นความนิยมโดยทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 5

ซ้าย-พระอุปราช (สุริยพงษ์ผริตเดช คาดว่าน่าจะมีพระชันษา 49 ปี) ขวา-ภาพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เมื่อขึ้นปกครองเมืองน่าน

4. การเจาะติ่งหูเป็นวัฒนธรรมเก่าของพม่าที่นิยมในเมืองน่าน (ในอดีต) และก็มีบันทึกเล่าเรื่องในพม่าถึงการทำพิธีเจาะติ่งหูและมวยผมอย่างยิ่งใหญ่ของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ณ เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือพระธาตุมุเตา ซึ่งเป็นเจดีย์สูงใหญ่และสำคัญที่สุดของกรุงหงสาวดี เมื่อพระชันษา 19 ปี ใน พ.ศ. 2075 (เมืองน่านตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าระหว่างปี พ.ศ. 2103-2329) ส่วนอิทธิพลด้านค่านิยม วัฒนธรรม การติดต่อคมนาคม และการปกครองของสยามเริ่มมีบทบาทมากในช่วงปลายสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช และตลอดช่วงสมัยการปกครองของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช

ส่วนภาพเขียนได้ปรากฏว่ามีการเจาะติ่งหู และสอดดอกไม้ประดับ (อาจเป็นดอกไม้ประดิษฐ์) คาดว่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง แต่ก็ไม่ปรากฏภาพถ่ายใดของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ที่มีการประดับดอกไม้ที่ติ่งหู คงมีแต่ภาพท่านทัดดอกไม้ที่หูขณะที่ดำรงเป็นพระอุปราชเท่านั้น

5. ภาพเจ้าเมืองน่านองค์นี้ มือซ้ายถือมีดสั้นกระชับแน่น บ่งบอกความสำคัญว่าเป็นสิ่งของประจำกาย ในกรณีนี้นายแพทย์บุญยงค์ วงค์รักมิตร ผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดน่าน ได้ให้ความกระจ่างว่า “พงศาวดารเมืองน่าน” บันทึกโดย  “แสนหลวงราชสมภาร” ผู้รับราชการสนองทั้ง เจ้าอนันตวรฤทธิเดช และ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้บันทึกว่า

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ได้รับพระราชทานเครื่องยศ (จากรัชกาลที่ 4) เมื่อปี พ.ศ. 2399…“คือทรงประพาศแลกระโจมหัวคำ แท่นแก้ว 5 ชั้น แลเสตฉัตรขาว 7 ใบ แลดาบ หลูปคำ ทวนเขียวคำฝักเขียว 4 เล่ม ปืนชนิดดี 2 บอก กระโถนคำ 1 พานหมากคำ 1 มีดด้ามคำ 1 มปัดตีคำ 2 แถว รูปม้าคำ 1 โต้ะเงิน 1 ใบ เบ้ายาคำ 1” [4]

ส่วน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช มีบันทึกว่าท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (จากรัชกาลที่ 5) เหรียญต่างๆ และเครื่องยศมากมาย และหนึ่งในเครื่องยศนั้นท่านได้ “กระบี่ฝักทองคำ”

ดังนั้นอาจเป็นข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งว่า ภาพเขียนดังกล่าวน่าจะเป็นภาพเขียนของ “เจ้าอนันตวรฤทธิเดช”

6. “หนานบัวผัน” อาจเป็นศิลปินที่ถูกวางตัวให้เขียนภาพที่วัดภูมินทร์โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เพราะช่วงที่เขียนภาพ ณ วัดหนองบัว เป็นช่วงตอนปลายที่เจ้าอนันตวรฤทธิเดชปกครองเมืองน่าน (เขียนภาพประมาณ พ.ศ. 2410-31) [5] จึงมีการสันนิษฐานจากศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ เดวิด เค. วัยอาจ (เป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่าภาพเขียนทั้งวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว เขียนโดยศิลปินคนเดียวกัน) ว่า

อาจจะมีผู้ใกล้ชิดเจ้าอนันตวรฤทธิเดชได้นำเสนอ “หนานบัวผัน” ขณะที่เขียนภาพที่วัดหนองบัว [6] ซึ่งห่างจากวัดภูมินทร์ไปทางทิศเหนือ ระยะทางตามลำน้ำประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นผู้เขียนภาพวัดภูมินทร์ จึงคาดว่าหนานบัวผันคงมีโอกาสได้เข้าเมืองน่าน และพบเห็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดชอยู่บ้าง หรืออาจได้เข้าพบในฐานะที่จะเป็นศิลปินผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ก็เป็นไปได้

อีกประการก็คือ ตำแหน่งเจ้าเมืองน่านในสมัย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมืองน่านเป็นเมืองประเทศราชของสยามประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 4 แม้จะมีระบบศักดินาเช่นสยามประเทศก็ตาม แต่การใช้ชีวิตระหว่างเจ้ากับสามัญชนก็คงไม่ต่างกันมากนัก ดังมีบันทึกจากการสัมภาษณ์ เจ้าธาดา ณ น่าน เชื้อสายเจ้าผู้ปกครองเมืองน่านองค์สุดท้าย ท่านยังชี้ว่าลักษณะความแตกต่างระหว่างเจ้ากับสามัญชนมีน้อยมาก [7]

7. “หนานบัวผัน” เป็นศิลปินที่ผ่านการบวชเรียน เขียนอ่านเป็นอย่างดี และมีโลกทรรศน์ที่นิยมการศึกษา ดังปรากฏภาพเขียนพระสอนลูกศิษย์ทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ (คำว่า “หนาน” หมายถึง “ทิด” ที่สึกมาเป็นฆราวาส) และคงมีวุฒิภาวะสูงในขณะที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ เพราะหากนับอายุของผู้บวชเรียนที่สึกแล้ว และมีประสบการณ์ทางโลกพอควร ก็ควรจะมีอายุต่ำสุดในช่วงที่เขียนรูปวัดหนองบัว คือมีอายุ 25 ปี

ตามที่มีการสืบค้นปรากฏว่า ภาพเขียนที่วัดหนองบัวนั้น ใช้เวลาเขียนรวม 21 ปี [8] ซึ่งก็หมายความว่า “หนานบัวผัน” เขียนรูปที่นั่นแล้วเสร็จอายุก็ 45 ปี และก็หมายถึงไม่ได้มีการเขียนภาพต่อเนื่องจนแล้วเสร็จทีเดียวเหมือนอาชีพการเขียนภาพเป็นหลักเช่นปัจจุบัน หลังจากนั้นอีก 11 ปี “หนานบัวผัน” จึงจะได้เขียนรูปที่วัดภูมินทร์ ซึ่งก็น่าจะมีอายุประมาณ 55 ปี

ช่วงอายุ 55 ปี ของศิลปินที่มากประสบการณ์ ดังปรากฏผลงานภาพเขียนอันทรงคุณภาพบังเกิดขึ้นทั้ง 2 แห่ง ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ถึงคุณลักษณะของศิลปินอย่าง “หนานบัวผัน” ว่าท่านคงได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยมิได้หวังในลาภยศสรรเสริญจากผู้ใด หากแต่จะรังสรรค์ผลงานตอบสนองความรัก ความศรัทธา ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และบุคคลที่มีคุณต่อแผ่นดิน และพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้งมากกว่าสิ่งใด

ดังนั้นท่านคงจะเขียนภาพของ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช จากความทรงจำที่ประทับใจ และศรัทธาในความดีงาม ความสามารถในการปกครองและที่สำคัญ คือ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา และเป็นผู้อุปถัมภ์การบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ครั้งใหญ่

โดยสรุปแล้ว จึงสันนิษฐานว่า ศิลปิน “หนานบัวผัน” เขียนภาพ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ในลักษณะคตินิยม ผสานความสมจริง โดยอาจเขียนจากความทรงจำ ภายในช่วงที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขึ้นปกครองเมืองน่าน ด้วยความรัก ความศรัทธาของศิลปินต่อเจ้าเมืองผู้บูรณะวัดภูมินทร์ในช่วงที่ศิลปินมีชีวิตรับรู้และพบเห็น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สน สีมาตรัง. โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังลานนา. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526), น. 99.

[2] จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน การศึกษาครั้งล่าสุด, ใน เมืองโบราณ ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2546), น. 21.

[3] ประสิทธิ์ พงศ์ประสิทธิ์. นันทบุรีศรีนครน่านประวัติศาสตร์สังคมและคริสต์ศาสนา. (เชียงใหม่ : ฝ่ายประวัติศาสตร์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 2539), น. 5.

[4] แสนหลวงราชสมภาร. พงศาวดารเมืองน่าน. (เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง, 2543), น. 103.

[5] น. ณ ปากน้ำ. วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2529), น. 122.

[6] David K. Wyatt. Siam in Mind. (Chiang Mai : Silkworm Books, 2002), p. 81.

[7] ประสิทธิ์ พงศ์ประสิทธิ์. อ้างแล้ว. น. 35.

[8] น. ณ ปากน้ำ. อ้างแล้ว.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2565