สืบที่มาคติ “จักรพรรดิราช” แบบไทย ๆ ราชาเหนือราชา แต่ยกจีนเป็น “พี่ใหญ่”

จิตรกรรม พระราชประวัติ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ใน ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดสมณโกฎฐาราม พระนครศรีอยุธยา
จิตรกรรมพระราชประวัติ “ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สืบที่มาคติ “จักรพรรดิราช” แบบไทย ๆ ว่าด้วยราชาเหนือราชา แต่ยกจีนเป็นพี่ใหญ่ อนุญาตการ “จิ้มก้อง”

แนวคิด “จักรพรรดิราช” หรือราชาเหนือราชาทั้งปวง เป็นคติความคิดทางการเมืองเพื่อการกระชับอำนาจและสร้างสิทธิ์โดยชอบ (อาญาสิทธิ์) ของชนชั้นนำไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ แนวคิดยุคจารีตนี้พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในรัฐขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกก็ปรากฏคติดังกล่าวด้วยชื่อเรียกแตกต่างกันไป อยู่ที่การนิยามหรือการอธิบาย

สำหรับรัฐไทยยุคจารีตรับเอาคติดังกล่าวจากหลักฐานในคัมภีร์ทางศาสนาทั้งฮินดูและพุทธจากชมพูทวีป โดยเฉพาะฉบับพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกา (ศรีลังกา) ที่กล่าวถึง “จักรวาติน” หรือพระจักรพรรดิผู้เป็นกษัตริย์ปกครองมวลมนุษย์ เป็นชุดความเชื่อหลักที่เข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้กษัตริย์ดินแดนนี้ต่างเคลม (claim) ตนเองในฐานะ “พระจักรพรรดิราช” ทั้งกษัตริย์พุกามในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ตลอดจนกษัตริย์อยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 17

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดจักรพรรดิราชจะถือกำเนิดเพื่อการเมืองและศาสนา แต่รัฐไทยในอดีตที่รับแนวคิดนี้มาได้ปรับใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยืดหยุ่น จนเกิดลักษณะเฉพาะตัวขึ้น โดยมีตัวแปรสำคัญคือ “จีน” มหาอำนาจที่มีอิทธิพลในภูมินี้มาอย่างยาวนาน ดังที่ เอนก มากอนันต์ ผู้ค้นคว้าและขยายมุมมองเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชของไทยอย่างลึกซึ้ง ได้เสนอไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย” (พิมพ์ครั้งที่ 2 : มติชน, 2562) ดังนี้


 

“จงกั๋ว” ความสัมพันธ์ระบบบรรณาการ กับแนวคิด “จักรพรรดิราช” แบบไทย

ในความสัมพันธ์ที่รัฐจารีตสยามเคยมีกับเหล่าเมืองประเทศราช ในกรอบความสัมพันธ์ในรูปรัฐบรรณาการ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประมุขรัฐแฝงไว้ด้วยความหมายสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำในด้านฐานันดรศักดิ์ (Hierarchical Status) หรือที่ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ให้คำจำกัดความว่าผู้น้อยหรือผู้ต่ำศักดิ์กว่าต้อง “เคลื่อนเข้าหา”

เป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะมองว่า ความสัมพันธ์ระบบรัฐบรรณาการในรัฐจารีตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บรรดาเมืองประเทศราชต้องถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ถวายส่วนวัตถุดิบพื้นเมือง หรือกำลังคน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนน้อมของเจ้าประเทศราชที่แสดงต่อราชาธิราช โดยยอมโอนอ่อนสวามิภักดิ์ยกย่องกษัตริย์สยามในฐานะ ราชาธิราช (King of King) และมองราชธานีสยามในฐานะศูนย์กลางแห่งจักรวาล ว่าเป็นจารีตที่มีความคิดเบื้องหลังมาจากคติ “จักรพรรดิราช” เพียงอย่างเดียว

ความคิดความเชื่อทางศาสนาที่ชนชั้นนำไทยนำมาปรับใช้กับรูปแบบการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ในหมู่รัฐจารีตนั้น มีการนำมาปรับใช้ตามความต้องการให้สอดคล้องกับสภาพสังคมการเมืองภายใน และแรงขับดันจากภายนอก ชนชั้นนำเลือกลักษณะความคิดความเชื่อต่าง ๆ มาปรับใช้เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐอยุธยาในฐานะเจ้าปริมณฑลทางอำนาจของตน ที่บรรดารัฐจารีตต้อง “เคลื่อนเข้าหา” อ่อนน้อมต่อความเหนือกว่าของเจ้าผู้ปกครองอยุธยาเป็นศูนย์รวมของความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งเหนือบ้านเมืองอื่นใด

แต่แท้จริงแล้ว ความคิดเรื่อง “พระเจ้าจักรพรรดิราช” ในอุดมคติทั้งความเชื่อในพุทธศาสนาหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีลักษณะ “เคลื่อนออกไป” (เสด็จไปเอาเมือง) มากกว่าที่จะรอให้กษัตริย์หรือรัฐต่าง ๆ “เคลื่อนเข้าหา” ในฐานะที่ผู้ที่ประกาศตนเป็นจักรพรรดิราชต่างเสด็จออกนอกอาณาจักร แผ่พระบรมเดชานุภาพ โดยอาศัยกำลังรบออกสู่แว่นแคว้นหรือบ้านเมืองที่เจ้าผู้ปกครองแข็งข้อ มิยอมโอนอ่อนสวามิภักดิ์

หรือในทางอุดมคติ การแผ่พระบรมเดชานุภาพก็เพื่อไปสั่งสอนเจ้าประเทศราชให้ตั้งอยู่ในเบญจศีล ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม โดยพระจักรพรรดิต้อง “เคลื่อนออกไป” พร้อมแสนยานุภาพตามกำลังอำนาจก่อน จนเป็นเหตุให้เหล่ากษัตริย์ในแว่นแคว้นทวีปต่าง ๆ ต้องออกมาถวายบังคม

ภาพประกอบเนื้อหา – ริ้วขบวนกองทัพพยุหยาตรา จากสมุดไทย ชุดกระบวนพยุหยาตราทัพ

ในทัศนะของผู้เขียน มองว่า จารีต “การเคลื่อนเข้าหา” ของเหล่าประเทศราชหรือรัฐต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะได้รับอิทธิพลจาก ระบบรัฐบรรณาการ (Tributary Relation) หรือจิ้งกัง, จิ้มก้อง (Cheng-Kung) มาจากจีนไม่น้อย

การที่อาณาจักรต่าง ๆ ซึ่งติดต่อกับจีน ยอมรับความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการนั้น ก็เพราะว่าจีนเป็นราชอาณาจักรใหญ่ที่มีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจมาก มีทรัพยากรมากมายหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดการค้าระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันจีนเป็นแหล่งรับซื้อสินค้ารายใหญ่จากอาณาจักรอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นอาณาจักรต่าง ๆ จึงยอมรับความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการในการติดต่อกับจีน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ซึ่งการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอาณาจักรต่าง ๆ ในสมัยก่อนดำเนินการภายใต้ระบบการทูตบรรณาการ ดังที่สืบแสง พรหมบุญ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าในระบบบรรณาการ ไว้ตอนหนึ่งว่า

“การได้รับอนุญาตให้ค้าขายโดยตรงกับจีนภายหลังการถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นสิ่งดึงดูดใจ (ประเทศทั้งหลาย) อย่างมาก เราสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าในคณะทูตส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าร่วมอยู่ในคณะด้วยเสมอ ซึ่งพวกพ่อค้าเหล่านี้มีจุดประสงค์สำคัญที่จะแสวงหาสิทธิพิเศษต่าง ๆ ทางการค้า”

ดังจะเห็นได้ว่าสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัฐไทยมีความพยายามที่จะขอความรับรองจากจีนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การค้าระบบบรรณาการระหว่างจีนกับอาณาจักรที่ห่างไกลจากจีน อย่างรัฐจารีตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองภายในเหมือนในเกาหลี ญวน และแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกของจีน แต่มีความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนเพียงแต่ในนามเท่านั้น

จีนได้รับอิทธิพลด้านความคิดจากลัทธิขงจื้อว่า จีนเป็นศูนย์กลางของอำนาจและอารยธรรมโลก ท่ามกลางดินแดนอื่น ๆ ที่มีความเจริญด้อยกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนเป็นดั่ง “อาณาจักรกลาง” หรือ “จงกั๋ว” (Middle kingdom) ซึ่งเป็นชื่อที่จีนใช้เรียกตนเอง เช่นเดียวกับอินเดียเรียกตนเองว่า “มัธยมประเทศ” หรือ “อาณาจักรกลางของโลก”

นอกจากนั้น ลัทธิขงจื๊อยังได้แสดงถึงความคิดเรื่อง “ราชาองค์เดียว” ขงจื๊อได้กล่าวว่า “บนสวรรค์ไม่มีพระอาทิตย์สองดวง บนพื้นพิภพย่อมไม่มีกษัตริย์สององค์”

ดังนั้นในฐานะที่จงกั๋วเป็นรัฐศูนย์กลาง มีกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุด มีวัฒนธรรมสูงสุด ซึ่งอาณาจักรอื่นที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่าต้อง “เคลื่อนเข้าหาสวามิภักดิ์” เพื่อแสวงหาความเปลี่ยนแปลงและความเจริญรุ่งเรือง โดยอาณาจักรเหล่านั้นจะต้องยอมรับความเป็นใหญ่เหนือกว่าของจีนและต้องส่งบรรณาการมาถวายจักรพรรดิจีนตามที่กำหนดจึงจะมีสิทธิ์ติดต่อกับจีนได้

และจีนในฐานะอาณาจักรใหญ่กว่าก็จะให้ความช่วยเหลือคุ้มครองอาณาจักรเล็ก ๆ เหล่านี้ รวมทั้งให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับบรรดารัฐจารีตที่ห่างไกลจะเป็นหน้าที่ที่รัฐต่าง ๆ ต้อง “เคลื่อนเข้าหา” แต่ก็ปรากฏหลักฐานอยู่หลายโอกาสที่จีนต้อง “เคลื่อนออกไป” หลังจากการทวงความภักดีกับรัฐเหล่านั้นในรูปแบบทวงบรรณาการ ดังสงครามระหว่างจีนกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรีเป็นตัวอย่าง

ความคิดเรื่องตนเป็นศูนย์กลางของชนชั้นนำไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาน่าจะได้รับอิทธิพลจากระบบบรรณาการกับจีนไม่มากก็น้อย

……..

จะสังเกตได้ว่าความสัมพันธ์ในหมู่รัฐจารีตมีทั้งลักษณะที่ “เคลื่อนเข้าหา” และ “เคลื่อนออกไป” จากความคิดเรื่องพระจักรพรรดิราช

การเคลื่อนออกไปของกษัตริย์คือการเสด็จออกนอกแว่นแคว้น ทั้งทางสัญลักษณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในทางปฏิบัติจากการเสด็จออกนอกแว่นแคว้น เพื่อแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ ก็เฉพาะกรณีที่ปรากฏว่าเจ้าประเทศราชคิดแข็งข้อจนเสียพระเกียรติยศ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของระบบรัฐการปกครองอยุธยา

ส่วนความคิดเรื่องการ “เคลื่อนเข้าหา” น่าจะเป็นการผสมผสานความเชื่อแบบจีนในเรื่องจงกั๋ว หรือปรัชญาขงจื้อในเรื่องการเคารพ “ผู้ใหญ่” โดยมีลักษณะที่ผู้น้อยหรือผู้ต่ำกว่าต้อง “เคลื่อนเข้าหา” ผู้มีศักดิ์สูงกว่า

ในทางสัญลักษณ์เป็นการสำเหนียกถึงบุญญาธิการของกษัตริย์อยุธยาในฐานะพระจักรพรรดิ ส่วนในทางปฏิบัติการแสดงออกด้วยความจงรักภักดีโดยการส่งเครื่องบรรณาการ เป็นการประกันถึงความปลอดภัยของรัฐที่มีอำนาจด้อยกว่าจากการรุกรานของรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า

ความคิดเรื่องการ “เคลื่อนเข้าหา” ในทัศนะชนชั้นนำไทยสมัยอยุธยาฐานะผู้กระทำถูกจำกัดไว้เฉพาะรัฐใหญ่อย่างจีนเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นในทัศนะของชนชั้นนำรัฐต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ชาติตะวันตก หรือแม้แต่ลังกาศูนย์กลางพุทธศาสนาในมุมมองชนชั้นนำอยุธยา ต่างเป็นรัฐที่มีหน้าที่เคลื่อนเข้าหาสยาม

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของสยามกับจีนในการค้าระบบบรรณาการ ส่งผลอย่างมากต่อความคิดเรื่อง “จักรพรรดิราชแบบไทย ๆ” การค้าระบบบรรณาการกับจีนส่งผลให้ชนชั้นนำไทยสมัยอยุธยาไม่ได้คิดว่าตนเป็นรัฐศูนย์กลางโลกตั้งแต่ต้น แต่ยังมีรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่าตนทั้งทางกำลังอำนาจ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่ชนชั้นนำไทยต้องพึ่งพิงอย่างจีนมาตั้งแต่ก่อนสถาปนาอาณาจักรอยุธยา

ดังจะเห็นได้จากการส่งทูตบรรณาการไปจีนราชวงศ์หยวน (มองโกล) ในสมัยสุโขทัย และการส่งคณะทูตบรรณาการไปนานกิงราชวงศ์หมิงในสมัยอยุธยาตอนต้น ความสัมพันธ์แนบแน่นในระบบรัฐบรรณาการกับจีนส่งผลให้เกิดตำนานต่าง ๆ รวมไปถึงมุขปาฐะที่ถึงกับอ้างว่าปฐมกษัตริย์อยุธยาอย่างพระเจ้าอู่ทองเป็นเจ้าชายจีนพระองค์หนึ่งที่อพยพหนีราชภัยมาจากจีน

จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (จูตี้) [ภาพจาก ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, 2560]
การค้าระบบบรรณาการกับจีนส่งผลอย่างมากต่อโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย แม้จีนจะไม่ใช่บริเวณ “มัธยมประเทศ” หรือศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองตามความเชื่อพุทธศาสนา แต่จีนคือศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ชนชั้นนำไทยจำต้องปฏิบัติสวนทางกับอุดมคติการเป็นพระจักรพรรดิในปริมณฑลทางอำนาจของตน

การยอมตน “เคลื่อนเข้าหา” จีนที่เป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในทัศนะของชนชั้นนำไทย แม้ชนชั้นนำไทยในสมัยก่อตั้งอยุธยาจะสามารถพิชิตเมืองพระนครหลวง กรุงสุโขทัย มลายู แต่จีนถูกแยกไว้เป็นรัฐ “ผู้ใหญ่” ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อกษัตริย์อยุธยามาช้านาน จนกลายเป็นโบราณราชประเพณีที่ชนชั้นนำไทยรับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการ “จิ้มก้อง” “เชิญหอง” จักรพรรดิจีน มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ซึ่งต่างอย่างมากต่อทัศนะชนชั้นนำพม่า ที่พยายามสถาปนาอำนาจเป็นเจ้าปริมณฑลเช่นเดียวกับสยาม แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับจีน กำหนดปริมณฑลทางอำนาจทับซ้อนกับจีน (สิบสองปันนา) และปฏิเสธอำนาจจีนจนเกิดสงครามกันหลายต่อหลายครั้ง เช่น ในสมัยพระเจ้ากุบไลข่าน (Kublai Khan) ราชวงศ์หยวนของจีน ส่งทูตมาทวง “ก้อง” ณ เมืองพุกาม แต่พระเจ้านรสีหปติ (Narathihapate พ.ศ. 1797-1830) ปฏิเสธความสัมพันธ์กับจีนแล้วประหารชีวิตทูตจากจีน

จะเห็นได้ว่าลักษณะจักรพรรดิราชแบบไทย ๆ มีการปรับใช้จนมีลักษณะเฉพาะสูงมาก แม้จะพยายามสำแดงฐานะราชาเหนือราชาด้วยกันในหมู่รัฐจารีต แต่ก็ยอมตนเคลื่อนเข้าหาจักรพรรดิจีนตามเหตุและผลความจำเป็นเรื่องเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ส่งผลอย่างมากในการที่รัฐและกษัตริย์จะดำรงฐานะเจ้าปริมณฑลในหมู่รัฐจารีตอยู่ได้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2565