คติจักรพรรดิราชของพระเจ้ามังระ ขยายปริมณฑลอำนาจ สู่การทำสงครามกับอยุธยา

ราชองครักษ์ที่ประตูตะวันออกของพระราชวังที่เมืองมัณฑะเลย์ ถ่ายโดย Willoughby Wallace Hooper ใน ค.ศ. 1885 (ภาพจาก The British Library)

“คติจักรพรรดิราช” ของ “พระเจ้ามังระ” ขยายปริมณฑลอำนาจ สู่การทำสงครามกับ “อยุธยา” มุ่งเป็น “พระมหาจักรพรรดิ” หรือราชาที่เหนือกว่าราชาทั้งหลาย

เมื่อนำสงครามคราวเสียกรุงไปเปรียบเทียบกับสงครามช้างเผือก และสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก (พ.ศ. 2112) ภายใต้การนำของพระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung พ.ศ. 2094-2124) จะเห็นว่าสงครามทั้งสามครั้งมีความใกล้เคียงกันในด้านพื้นที่การขยายแสนยานุภาพทางการเมืองและการทหารของกษัตริย์พม่าทั้งสองพระองค์

ในกรณี พระเจ้ามังระ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะแสดงความเป็นหนึ่งเหนือกษัตริย์ทั้งหลายในเขตปริมณฑลแห่งอำนาจ (Mandala หรือ Ring of Power) ที่ครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของราชวงศ์ตองอูยุคต้น (The First Toungoo Dynasty) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การที่พระเจ้าบุเรงนองยังได้รับการยอมรับในฐานะสัญลักษณ์หรือตัวแทนของกษัตริย์พม่าที่เหนือกว่ากษัตริย์ทั้งหลายในปริมณฑลใกล้เคียงด้วยประการทั้งปวง คือการเป็นพระมหาจักรพรรดิ (Cakkravartin) หรือราชาที่เหนือราชาทั้งหลาย (Rājādhirāja)

กรณีที่พระเจ้ามังระทรงมีพระราชนิยมที่ดูคล้ายลอกเลียนพระเจ้าบุเรงนอง เช่น ทรงใช้สมัญญานามเดียวกับพระเจ้าบุเรงนอง คือ เซงพยูเชง หรือ พระเจ้าช้างเผือกนั้น ลึกลงไปในพฤติกรรมดังกล่าว คือพยายามแสดงพระองค์ว่าทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิ หรือราชาที่เหนือกว่าราชาทั้งหลาย ในเขตปริมณฑลแห่งอำนาจที่ครั้งหนึ่งพระเจ้าบุเรงนองได้อ้างตัวเป็นใหญ่ ซึ่งปริมณฑลนั้นมีอยุธยาอยู่ด้วย

พระเจ้ามังระ ไม่ได้เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวและพระองค์แรกของราชวงศ์คองบอง (Konbaung) ที่รุกรานอยุธยาไปพร้อมกับการประกาศพระองค์เป็นพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าอลองพญาหรืออลองเมงตะยา (Alaungpaya พ.ศ. 2295-2303) พระราชบิดาของพระเจ้ามังระ ก็เคยกระทำเช่นเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ถึงแม้หลักฐานโดยทั่วไปจะยืนยันว่า พระเจ้าอลองพญาทรงอ้างความชอบธรรมในการรุกรานอยุธยา โดยแสดงตนเป็นพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย แต่หลักฐานในที่หลายแหล่งก็ระบุว่า พระองค์ทรงอ้างตนเป็นราชาธิราชเหนืออาณาจักรอยุธยาด้วย

เช่น ในพระราชสาส์นที่พระองค์มีถึงพระเจ้ายอร์ชที่ 2 แห่งอังกฤษ ก็ทรงอ้างตนว่าเป็นราชาเหนืออาณาจักรต่าง ๆ หลายอาณาจักร รวมทั้งราชอาณาจักรสยาม และพร้อมกันนั้นก็ได้อ้างตนว่าเป็นพระเจ้าช้างเผือกด้วย (Lord of the White Elephant, Red Elephant and Spotted Elephant) นอกจากนี้ความในพงศาวดารพม่ายังระบุว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะยึดครองอยุธยามาเป็นเวลาช้านานแล้ว

การที่พระเจ้าอลองพญาทรงอ้างพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์และพระมหาจักรพรรดิพร้อมกันไป ไม่ถือเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อจารีตและคติความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติในสังคมพม่า เพราะปกติกษัตริย์พม่ามักจะแสดงหรืออ้างพระองค์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเคารพหลายสิ่งพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว อาทิ การอ้างตนเป็นธรรมราชา พระโพธิสัตว์ พระมหาจักรพรรดิ มหาคิรี (Mahagiri) อินทรา (Indra) ฯลฯ นักประวัติศาสตร์พม่าบางคนมีความเห็นไปไกลถึงกับสรุปว่า คติความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์และพระมหาจักรพรรดิไม่ได้มีความต่างในขั้นพื้นฐานแต่อย่างไร

ภาพวาดทหารกองทัพอังวะ สมัยเมืองอมรปุระ ราว ค.ศ. 1813-1880 (ภาพจาก The British Library)

การอ้างตนเป็นพระมหาจักรพรรดิของพระเจ้ามังระ และการส่งทัพไปทำลายกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นพฤติกรรมที่นอกจากจะไม่ขัดต่อพระราชนิยมของกษัตริย์พม่าที่มีมาแต่โบราณแล้ว ตรงกันข้ามกลับจะยังเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของบูรพกษัตริย์อีกด้วย

บาทหลวง Sangermano ผู้เข้ามาพำนักอยู่ในกรุงอังวะและร่างกุ้งระหว่าง พ.ศ. 2326-2349 (ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าปดุงหรือ Bodawpaya) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในจดหมายเหตุเรื่อง The Description of the Burmese Empire ว่า สาเหตุที่พระเจ้ามังระทรงรุกรานอยุธยา เพราะอยุธยาบิดพลิ้วที่จะส่งบรรณาการให้กับพระเจ้าอลองพญา พระราชบิดาตามที่ได้สัญญาไว้

หลักฐานนี้สอดคล้องกับหลักฐานพงศาวดารราชวงศ์คองบอง ที่ระบุว่า ระหว่างที่พระเจ้าอลองพญาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ทางฝ่ายไทยได้ดำเนินกุศโลบายส่งทูตไปยังกองทัพของพระองค์ เพื่อแสร้งทำเป็นว่าจะขอยอมจำนนและจะส่งบรรณาการ แต่หลังจากนั้นก็ถ่วงเวลาเรื่อยไป เพื่อให้กองทัพพม่าต้องเผชิญกับฤดูน้ำหลาก ฝ่ายพระเจ้าอลองพญาทรงเห็นว่าเวลากระชั้นเข้ามา ประกอบกับทรงพระประชวรจึงจำเป็นต้องถอยทัพกลับไป

กล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่พระเจ้ามังระทรงเผชิญมากับพระองค์เอง ในสงครามคราวที่พระเจ้าอลองพญาต้องพบกับความปราชัยครั้งสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ผลักดันให้พระเจ้ามังระทรงตั้งปณิธานแน่วแน่ในการพิสูจน์ความเป็นจักรพรรดิ ด้วยการเอาชัยอยุธยาโดยเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้ การส่งกำลังไปตีกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้ามังระ จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นการกระทำที่มีการเตรียมการระยะยาว เพื่อสนองเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมพม่ามาเป็นเวลาช้านาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตีกรุงศรีอยุธยาเป็นปฏิบัติการหนึ่งของการขยายพระราชอำนาจของพระเจ้ามังระ ในฐานะราชาธิราชสู่ปริมณฑลแห่งอำนาจ (Mandala) ที่ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรีนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2” เขียนโดย ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ (พิมพ์ครั้งที่ 9. สำนักพิมพ์มติชน, 2555.), ***ตัดทอนเอกสารอ้างอิงเพื่อความกระชับ โปรดดูเชิงอรรถในเล่ม***


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2564