เอกสารโบราณน่าเชื่อฟัง หรือเหลวไหลสิ้นดี?

เกาะลังกาในสมุดภาพไตรภูมิ เลขที่ ๑๐/ก. (พ.ศ. ๒๓๑๙)

ความนำ

ในหอสมุดแห่งชาติมีหนังสือ “ไตรภูมิ” สองฉบับ สมุดข่อยที่มีแผนที่โลกตามที่คนชาวสยามสมัยก่อนรู้จัก, มองเห็น, และเข้าใจ เล่มหนึ่ง (เลขที่ 10/ก.) ระบุปีคัดลอกว่า พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776 ในรัชกาลพระเจ้าตาก) อีกเล่มหนึ่ง (เลขที่ 6) ไม่ระบุปีคัดลอก, แต่จากหลักฐานภายในอาจจะเก่าแก่ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (ค.ศ. 1656-1688)

เราอาจจะสันนิษฐานได้ว่าแผนที่ฉบับนี้ถูกคัดลอกหลายระลอก, และต้นฉบับเดิมน่าจะทำขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 หลักฐานอยู่ที่แผนที่ตอนว่าด้วยเกาะลังกา แผนที่ให้ความสำคัญกับเมือง Kotte (ที่พวกโปรตุเกสมายึดปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16) แต่ไม่ระบุเมือง Kandy ที่เป็นราชธานียุคต่อมา

ดังนี้เราเข้าใจได้ว่าแผนที่ฉบับนี้น่าจะทำขึ้นมาจากข้อมูลได้จากการเดินด้วยตีนและเห็นด้วยตาราวพุทธศตวรรษที่ 21-22

แผนที่นี้มีความผิดพลาดในการวางตำแหน่งเมืองต่างๆ เพราะสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ของผู้สำรวจด้วยตนเอง ในสมัยที่ชาวสยามยังไม่รู้จักหลักการโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ที่ฝรั่งเพิ่งเริ่มคิดในสมัยนั้น

อย่างไรก็ตามแผนที่นี้มีข้อมูลที่น่าสนใจมาก, ดังที่เคยเสนอในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม 2528, ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม 2528 และปีที่ 25 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ 2547

ในบทความนี้ผมสนใจเฉพาะชายฝั่งลังกาตอนใต้ที่แผนที่ระบุชื่อสถานที่ที่ฟังเหลวไหล, เช่น “พระห้ามสมุทร”, “รามสภา”, และ “ปล่องนาค” สถานที่เหล่านี้มีอยู่บนผิวโลกจริงหรือ?

ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตว่า ในฉบับเลขที่ 6 เขียนว่า “พระห้ามสมุทร” แต่ฉบับเลขที่ 10/ก. เขียนว่า “พระมหาสมุทร” ทั้งนี้คงเป็นเพราะฉบับเลขที่ 10/ก. คัดลอกจากฉบับเลขที่ 6, และคัดลอกผิด ดังนั้น “พระห้ามสมุทร” ควรถูกต้องมากกว่า อนึ่งทั้งสองฉบับเขียนว่า “รามสภู” แต่ผมขอแก้เป็น “รามสภา” เพราะปากสิงหลชอบแปลงสระอื่นเป็นอุ-อู เช่น คามิณี เป็นแคมุณู, โรหณะ เป็นรุหุณู เป็นต้น หากผมผิดขอว่ากันทีหลัง ฉบับเลขที่ 6 เขียนปลองนาค, ฉบับเลขที่ 10/ก. เขียนปล้องนาค ที่ผมแก้เป็นปล่องนาค ตามภาษาปัจจุบันคงไม่มีใครเจ็บท้องข้องใจ

เกาะลังกาในสมุดภาพไตรภูมิ เลขที่ ๖ (ราว พ.ศ. ๒๒๐๐?)

สามคำนี้ทำให้ผมปวดขมับมานานแล้ว มันช่างฟังเป็นชื่อสถานที่ในนิยายมากกว่าเป็นของจริง แต่ผมยังศรัทธาความซื่อสัตย์และช่างสังเกตของผู้ทำแผนที่นี้, จึงไม่กล้าด่วนสรุปว่าท่าน “ฝัน”

และแล้ววันหนึ่งผมอ่านหนังสือ Handbook for the Ceylon Traveller (Studio Times Publications, Colombo, 1983) ที่ทำให้ผมตาสว่างขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ไกด์บุ๊กธรรมดาสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป, แต่มีรายละเอียดถี่ๆ เหมาะสำหรับคนที่รักและรู้เรื่องลังกาคดีโดยเฉพาะ

ชายฝั่งใต้เกาะลังกาในสมุดภาพไตรภูมิ เลขที่ ๑๐/ก.
ชายฝั่งใต้เกาะลังกาในสมุดภาพไตรภูมิ เลขที่ ๖
แผนที่ชายฝั่งลังกาสมัยใหม่

เมื่ออธิบายถึงการท่องชายฝั่งทางใต้, หนังสือระบุว่า ในระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีดังนี้ :-

1. ที่ Weligama มีรูปพระโพธิสัตว์ยืนยกพระหัตถ์ซ้ายขวาขนาดใหญ่สลักอยู่ในหน้าผา (พระห้ามสมุทร?)

2. ที่ Dondra มีเทวสถานพระนารายณ์ (รามสภา?)

3. ที่ Dikwella มีปล่องในหน้าผาที่มีน้ำทะเลพุ่งออกมาสูงหลายเมตร (ปล่องนาค?)

ผมอ่านแล้วอยู่ไม่สุข, ต้องไปเดินด้วยตีน, เห็นด้วยตา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ผมไปมาแล้ว, และขอรายงานดังนี้ :-

1. Weligama (สิงหลว่าแวลิกมะ, ปาลีว่าวาลุกคาม คือ “บ้านทราย” เป็นหมู่บ้านชาวประมงอยู่ริมอ่าว ห่างชายหาดประมาณ 500 เมตร มีหน้าผาสลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์ (มหายาน) ยืนสูงประมาณ 3-4 เมตร, ยกพระหัตถ์ซ้ายขวา มุทราไม่ชัด, แต่พออนุมานได้ว่าเป็น “พระห้ามสมุทร” ตามความสำนึกของคนไทย

ชาวบ้านเรียกรูปสลักนี้ว่า “กุษฐราชา” (พระเจ้าขี้เรื้อน), แต่ไม่มีใครอธิบายได้ว่าทำไม

พระโพธิสัตว์ในหน้าผาอ่าวแวลิกมะ

2. Dondra (สิงหลว่าเทวินุวระ, ปาลีว่าเทวนคร คือ “เทพนคร” ปัจจุบันเป็นวัดพุทธตั้งอยู่สุดแหลม เดิมเป็นเทวสถานพระนารายณ์ในนาม “อุปุลวรรณ” แต่โบราณ, เป็นหนึ่งในสี่เทพารักษ์รักษาเกาะลังกา ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พวกโปรตุเกสมามล้างเทวสถานแห่งนี้จนเหลือเพียงเสาหินผุดขึ้นมาจากเนินดิน

เราไม่ทราบว่าพระภิกษุที่ออกแบบต้นฉบับแผนที่นี้ไปแสวงบุญในลังกาก่อนหรือหลังที่โปรตุเกสรุกราน, แต่ท่านคงไม่ถนัดชื่อ “อุปุลวรรณ”, ไกด์ชาวลังกาจึงต้องอธิบายว่า “รามะๆ”, พระคุณเจ้าจึงสรุปในใจว่า “อ๋อนี่ก็คือวังพระรามหรือ “รามสภา” ” ทั้งนี้เป็นการสันนิษฐานแท้ๆ กรุณาอย่าถือเป็นความจริง

วันที่ไปถึง Dondra นั้นเป็นวันอาสาฬหบูชาจึงมีงานเทศกาลวุ่นวายไปหมด ผมได้แต่ชักรูปเสานางเรียง (?) และซุ้มประตู

ป้ายใหม่เหนือซุ้มมกรโบราณนั้นเขียนว่า “ปุราณศรีวิษณุมหาเทวาลย”

3. Dikwella (ผมไม่รู้ความหมาย) เป็นหมู่บ้านชาวประมงปลายแหลม เลยไปประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวไปทางใต้ไปบ้านชาวประมง Kudawella (“หาดสั้น”) อยู่ก้นอ่าว ห่างถนนใหญ่ราว 5 กิโลเมตร หลังหาดเป็นหน้าผาหินทรายสูงราว 30 เมตร ในถ้ำมีปล่องขึ้นไปทะลุข้างบน

(ซ้าย) เสานางเรียงเข้าเทวสถาน, (ขวา) ซุ้มประตูเข้าเทวสถาน

ชาวบ้านเรียกเขาหรือผานี้ว่าหูมมาลัย (“มาลัย” คือ “เขา” หรือ “ผา”, “หูม” คือเสียงโหยหวนที่เกิดเมื่อลมเข้าปล่อง เวลาน้ำทะเลลดระดับ, ลมจะเข้าปล่องดัง “หูม! หูม!” (หรือ “อู้! อู้!”) เวลาน้ำทะเลขึ้นและมีลมหนุนในฤดูมรสุมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้, น้ำก็จะท่วมถ้ำแล้วพุ่งออกมาจากปล่องสูงถึง 7-8 เมตร

ผมไปดูในวันอาสาฬหบูชาที่มรสุมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้กำลังหมดแรง, หูมมาลัยจึงสำแดงฤทธิ์เพียงเล็กน้อย, คือดังอู้! อู้! บ้าง แล้วพุ่งน้ำแค่ 1-2 เมตร แต่เนื่องจากเป็นวันเทศกาลมีชาวบ้านและเด็กๆ มาทัศนาจรจำนวนมาก เด็กๆ ต่างตบมือกันและร้องเสียงดังที่ปากปล่องเพราะเชื่อว่าถ้าเอ็ดตะโรด่าทอพญานาคจะโมโหและเกิดปฏิกิริยา แล้วจริงดังว่า ปล่องร้อง “หูม!” ดังสนั่นแล้วพุ่งน้ำสูง 3-4 เมตรเห็นจะได้, ทำให้เด็กๆ และตายายต่างหนีกระเจิงพลางหัวเราะชอบใจ

“หูมมาลัย” ปล่องนาคกำลังพ่น

ทำไมแผนที่ จึงระบุความรู้เหล่านี้?

พระคุณเจ้าชาวสยามที่ออกแบบแผนที่ฉบับเดิมในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 คงไปลังกาเพื่อบูชา “โสฬสมหาเจดีย์” (คือปูชนียสถานทั้ง 16) ซึ่งล้วนอยู่ตามภาคเหนือและภาคกลางของเกาะ ภาคใต้ของเกาะไม่มีเลย

ปัญหามีอยู่ว่า ทำไมท่านถึงบันทึกรายละเอียดเหล่านี้ในแผนที่ของท่าน? เราไม่มีหลักฐาน, แต่ผมขอสันนิษฐานดังนี้ :-

เมื่อพระคุณเจ้าจะกลับอุษาคเนย์ ท่านต้องอาศัยเรือสินค้า ที่ย่อมออกเดินทางในฤดูที่ลมมรสุมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้กำลังพัด (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เพื่อข้ามอ่าวเบงกอลอย่างรวดเร็วปลอดภัย

แต่ถ้าเรือออกจากเมืองท่าบนฝั่งตะวันตกของเกาะลังกา (เช่น Colombo, Kalutara หรือ Bentota) ก็จะมีปัญหา เพราะลมจะพัดเรือเข้าฝั่งโดยมากจนกว่าเรือจะพ้นเกาะเข้าไปในอ่าวเบงกอล ดังนั้นเรือจะต้องค่อยๆ เลียบตามชายฝั่งโดยหลบค้างคืนตามอ่าวเล็กอ่าวน้อยและปากน้ำต่างๆ หากเกิดพายุเรืออาจจะต้องทอดสมอหลบอยู่หลายวัน

ดังนี้พระคุณเจ้ามีสิทธิ์พบเห็นและสำรวจสิ่งที่น่าสนใจตามอ่าว Weligama, Dondra และ Kudawella ต่อจากนั้นไปชายฝั่งลังกาค่อยเบนไปทางเหนือ, เรือจึงคงพ้นชายฝั่งแล้วแล่นไปในทะเลหลวงตรงไปถึงฝั่งตะวันตกของแหลมอุษาคเนย์

แผนที่แสดงทิศทางลมในอ่าวเบงกอล

ความส่งท้าย

ข้อสันนิษฐานของผมจะผิด-ถูกอย่างไร, ผมไม่รับรอง แต่ขอร้องอย่ามาบอกผมว่า โบราณท่านเพ้อฝัน ไม่รู้เรื่องโลกแห่งความเป็นจริงจึงบันทึกความเหลวไหล โบราณท่านรู้ดี, เป็นคนช่างสังเกต, และบันทึกความอย่างซื่อสัตย์

เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องศึกษาเอกสารโบราณให้ลึกจริงๆ และใช้เวลานาน, ไม่ใช่ด่วนสรุปว่าท่านเป็นเด็กปัญญาอ่อนที่ไม่มีอะไรน่าสนใจจะบอกคนเฉลียวฉลาดสมัยปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2560