7 มกราคม 2552 : ไมเคิล ไรท ฝรั่งคลั่งสยาม ผู้บัญญัติศัพท์ “อุษาคเนย์” เสียชีวิต

ลายเส้น ภาพ ไมเคิล ไรท ผู้ริเริ่มคำ อุษาคเนย์ ตัวหนังสือ ด้านหลัง เป็น ลายมือ ต้นฉบับ ภาษาไทย ของเขา
ลายเส้นภาพ “ไมเคิล ไรท” ส่วนตัวหนังสือด้านหลังนั้นเป็นลายมือต้นฉบับภาษาไทยของเขา

วันนี้ผู้อ่านส่วนใหญ่คงรู้จักคำว่า “อุษาคเนย์” เพราะใช้กันมาจนคุ้นเคย แต่บางท่านอาจไม่รู้จัก “ไมเคิล ไรท” เท่ากับคำว่า อุษาคเนย์ที่เขาเป็นผู้บัญญัติก็เป็นได้

ไมเคิล ไรทเป็นใคร? หากท่านเข้าไปค้นหาในกูเกิ้ล คำตอบที่ได้ คือเขา “…เป็นนักเขียน นักคิด นักวิจารณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และไทยคดีศึกษา”

มาดูประวัติของ ไมเคิล ไรท กัน

“เมฆ มณีวาจา” นามไทย ไมเคิล ไรท

ไมเคิล ไรท (Michael Wright) เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ในวัยหนุ่ม เขาละบ้านเกิดที่เมือง Southampton เดินทางมาอินเดีย แล้วมา ศรีลังกา ในช่วงเวลา 1 ปีที่ศรีลังกา นอกจากเรื่องทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิถีชีวิต ของคนที่นั่นแล้ว เขายังได้เรียนภาษาบาลีและสันสกฤตด้วย

จากศรีลังกาเขามาประเทศไทย เขาสอนภาษาอังกฤษอยู่พักหนึ่ง พร้อมๆ กับเรียนภาษาไทยไปด้วย ต่อมาเขาจึงเข้ามาทํางานที่ธนาคารกรุงเทพ และได้ทําอยู่จนเกษียณอายุ จากนั้นจึงมาประจําที่บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เมื่อมาใช้ชีวิตในไทยระยะหนึ่ง ไมเคิล ไรท ก็โอนสัญชาติเป็นไทย โดยใช้ชื่อไทยว่า “เมฆ มณีวาจา”

ด้วยความรู้ในภาษาและวรรณคดีไทยจนถึงขั้นอ่านศิลาจารึกได้ เขาเริ่มต้นเขียนบทความครั้งแรกเป็นภาษาไทยลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ (พฤศจิกายน 2522) บทความชิ้นนั้นเป็นการพิสูจน์เรื่อง “ส้วมในสมัยสุโขทัย” โดยเทียบโบราณวัตถุที่พบที่สุโขทัยกับส้วมในศรีลังกา

จากชิ้นนั้น เขาก็เขียนเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และ โบราณคดีลงศิลปวัฒนธรรมติดต่อกันเรื่อยมา บทความจํานวนกว่าสองร้อยชิ้นเหล่านั้น ในปี 2541 และหลังจากนั้นมา ได้ถูกคัดและนํามารวมเป็นเล่มในชุด ศิลปวัฒนธรรม โดยสํานักพิมพ์มติชน

นอกจากนี้เขายังมีงานอื่นๆ อีก เช่น ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม : วิธีอ่าน) จัดพิมพ์โดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2526 และบทความภาษาอังกฤษจํานวนหนึ่งที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ The Nation และวารสารสยามสมาคม

จากผลงานเหล่านี้ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ยกย่องเป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา และเป็นบุคคลผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น โดยกระทรวงวัฒนธรรม

ไมเคิล ไรท อ่านและเขียนตลอดมา จนกระทั่งป่วยและถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ

ผูกศัพท์อุษาคเนย์

งานของเขาเป็นคุณูปการที่เขาสร้างไว้ให้กับสังคมไทย ซึ่งเป็นที่ตระหนักของผู้อ่านทั่วไปและนักวิชาการ ศัพท์คําหนึ่งที่เขาผูกขึ้น คือ อุษาคเนย์เพื่อใช้แทนที่คําว่าเอเชียอาคเนย์นั้น กลายเป็นคําที่ติดอยู่ในภาษาไทย และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว

ซึ่งไมเคิล ไรท เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “อาเซียอาคเนย์ หรือ อุษาคเนย์?” ว่า

การบัญญัติศัพท์นั้นเป็นงานอันตรายและมักไม่ค่อยเป็นมุมไม่ค่อยเป็นบุญเป็นกุศล ทั้งนี้ เพราะคำในภาษาทุกคําย่อมเกิดจากวิญญาณของภาษานั้นๆ โดยอาศัยค่านิยมของมวลชนเป็นพื้นฐาน ใครบัญญัติศัพท์อาจจะดัดจริตได้ง่าย หรือไม่ก็เชยแหลก

คำว่า “หมา” เป็นคําไทยปริสุทธิ์ที่มีความหมายแน่นอน ใครบัญญัติให้เรียกว่า “สุนัข” ต้องนับว่าดัดจริต ดูถูกชาวบ้าน ทําไม เรียกแมวว่า “วิฬาร” ? เนื้อ “หมู” กับเนื้อ “สุกร” ต่างกันตรงไหน? หรือว่าเนื้อ “สุกร” อร่อยกว่า ทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์ มักเห่ “ขนมปังซินมาม่อน” เป็นการเชยไม่เคารพคําไทย “อบเชย”

เมื่อพิจารณาความดัดจริตและความเชยของนักบัญญัติศัพท์ผมจึงไม่กล้าและไม่คิดจะบัญญัติศัพท์

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ผมเกิดรําคาญคํา “อาเซียอาคเนย์” เพราะว่ามันมากพยางค์, ต้องเขียน “อา” ถึงสองครั้ง ในงานเขียนถึงภูมิภาคนี้ผมจําเป็นต้องใช้คํานี้บ่อยมาก จึงคิดอยากย่อให้ต้องเขียนสระอาเพียงครั้งเดียวพอ ในที่สุดผมเขียนว่า “อุษาคเนย์” (เหลือเพียงสี่พยางค์) โดยไม่นึกจะบัญญัติศัพท์เลย ต่อไปนั้นมีคนไทยหลายท่านนิยมใช้คํา “อุษาคเนย์” โดยให้เกียรติแก่ผม ว่าเป็นผู้คิดขึ้นมา

ผมตกใจและไม่ยอมรับ ทําไม?

เพราะถ้าคํา “อุษาคเนย์” ผิดหลักภาษาก็ควรยกให้เป็นความผิดของผม แต่หากคํา “อุษาคเนย์” ถูกหลักภาษาก็เป็นคําของทุกคน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายไมเคิล ไรท หรือใครทั้งสิ้น

เบื้องหลังคํา “อุษาคเนย์”

ผมมิได้เป็นนักภาษาศาสตร์ แต่พอรู้หลักการอย่างหนึ่งที่มีในทุกภาษา นั่นคือ “อย่าเข้าสมาสคําข้ามภาษา” คํา “นครโสเภณี” กับคํา “หญิงงามเมือง” ต่างสมาสสง่างามถูกต้อง โดยคําแรก ประกอบด้วยคําบาลีล้วน คําหลังเป็นไทยล้วน ติเตียนไม่ได้ แต่หากนํามาปนกันก็จะดูขี้เหร่วิปริตไป

ภาษาอังกฤษเกิดโรค “เข้าสมาสข้ามภาษา” บ้าง แต่โดยมากบัณฑิตจะจับทันและ “คุมกําเนิด” ไม่ให้มันแพร่หลาย และโดยมากนักเขียนจะเป็นใจกับบัณฑิต

คําว่า “อาเซียอาคเนย์” (ฝรั่งเศส+สันสกฤต) หรือ “เอเซีย อาคเนย์” (อังกฤษ+สันสกฤต) ต่างเป็นการเข้าสมาสข้ามภาษาอย่างประเจิดประเจ้อ คล้ายกับว่านางแขก “อาคเนย์” ไปได้ผัวฝรั่ง “อาเซีย-เอเซีย” โดยคันธรรพวิวาตะ ผมจึงคิดในใจว่าเราจะจัดสมาศ ให้ดีกว่านี้ไม่ได้หรือ?

คํา “ตะวันออก” ในภาษาตะวันตก

คําในภาษายุโรปต่างๆ ที่หมายถึง “ตะวันออก” เช่น East, Oste, Aus, Asia, Ostra, Ostro, Easter ฯลฯ ล้วนแต่มาจากรากศัพท์อินโด-ยุโรป “Awes-” หรือ “Aus-” ซึ่งตรงกับคํา “อุษา” ในภาษาสันสกฤต

คํา “อุษา” นี้เป็นชื่อนางฟ้าที่มีนิ้วสีชมพู และมีหน้าที่คลี่พระวิสูตรแห่งราตรีกาล, เปิดทางให้สุริยเทพเสด็จขึ้นฟ้า, ประทานชีวิต และความสําราญแก่สรรพสัตว์ที่ค่อยขยตาตื่นจากความหลับใหล

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คํา “อุษา” จึงหมายถึง “ตะวันออก” ไปด้วย

คําว่า “อุษาคเนย์” ผมมิได้คิดขึ้นมา

เพราะคํา “อุษา” และคํา “อาคเนย์” ต่างมีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระเวท และมีในภาษาไทยมาช้านานแล้ว

ผมได้แต่นึกห่วงถึงหลักภาษาสากลที่ว่า “อย่าเข้าสมาสคํา ข้ามภาษา” ขอเพิ่มเติมว่า ในทํานองเดียวกัน “ทวีปเอเซีย” ควร จะเป็น “อุษาทวีป” จะได้ไม่ผิดหลักสมาส และจะได้ตรงกับคํา Asia” ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกันกับ East” และ “อุษา” คือเป็นแดนที่ดวงสุริยาเริ่มทอแสงก่อนที่อื่น

สุดท้าย

สุดท้ายนี้ หากใครรังเกียจคํา “อุษาคเนย์” หรือ “อุษาทวีป” อย่าเดือดร้อน เพราะผมไม่เดือดร้อน ขอชวนท่านโปรดเขียน ท้วงด้วยเหตุผล ชะรอยผมจะได้หายโง่บ้าง

ในขณะเดียวกันขอร้องเพื่อนฝูงที่นิยมคํา “อุษาคเนย์” กับ “อุษาทวีป” กรุณาอย่าให้เกียรติผมมากไปโดยอ้างว่าสองคํานี้ “เป็นของไมเคิล ไรท” ผมมิได้เป็นเจ้าของภาษาไทยและมิได้เป็นคนคิดภาษาสันสกฤตขึ้นมา ผมได้แต่พยายามผูกศัพท์ให้ถูกต้องตามหลัก สมาสสากล

หากว่าผมผูกผิด ก็เป็นความผิดของนายไมเคิล ไรท ที่ผมต้องรับผิดชอบว่าปัญญาอ่อน, ไม่เป็นบัณฑิต หากว่าสองคํานี้ถูกต้อง ก็นับว่าเป็นของนายไมเคิล ไรทไม่ได้ เพราะว่ามันถูกต้องมาตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเกิดใน ค.ศ. 1940 มันถูกต้องอยู่แล้วตั้งแต่สมัย พระเวทเมื่อ 3,000 ปีแล้วที่ผมไม่ทันจะเกิด

หากคํา “อุษาคเนย์” กับคํา “อุษาทวีป” ต่างไม่ผิดหลักภาษาแล้ว ก็ต้องนับว่าเป็นของทุกคนที่รักภาษาที่ถูกต้อง ทุกคนมีสิทธิเอาไปใช้ตามใจชอบโดยไม่ต้องอ้างอิงถึงผม 

หนังสืออ้างอิง :

The American Heritage Dictionary of the English Language (appendix : Indo-European and the Indo-Europeans).

M & J. Stutley, A Dictionary of Hinduism.

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ ไมเคิล ไรท. บมจ. มติชน. มกราคม 2552

ไมเคิล ไรท. ฝรั่งอุษาคเนย์, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2563