เอเชียผงาด! “สงครามรัสเซีย – ญี่ปุ่น” พลิกโฉมหน้ามหาอำนาจทางทะเล

ทหาร ญี่ปุ่น ปะทะ ทหาร รัสเซีย ใน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ปี 1904
กองทหารญี่ปุ่นปะทะกับทหารรัสเซีย, ปี 1904 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1904-1905 นอกจากเป็นสงครามขนาดใหญ่ครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว ยังเป็นสงครามที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติ “ตะวันออก” หรือ “ชาติเอเชีย” ชาติแรกที่สามารถยัดเยียดความปราชัยให้แก่ชาติมหาอำนาจตะวันตกจากทวีปยุโรป ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง

สงครามนี้เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง รัสเซีย กับ ญี่ปุ่น ที่แข่งขันกันขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สืบเนื่องจากรัสเซียพยายามขยายอำนาจเข้าไปในจีนซึ่งกำลังอ่อนแอและถูกประเทศมหาอำนาจแทรกแซงแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนญี่ปุ่นซึ่งปฏิรูปประเทศจนมีกองทัพสมัยใหญ่อันแข็งแกร่งก็ไม่อาจนิ่งดูดายต่อผลประโยชน์ทับซ้อนในภูมิภาคของตนได้เช่นกัน

ชนวนเหตุแห่งสงคราม

ก่อนสงครามกับรัสเซีย ญี่ปุ่นสร้างความประหลาดใจให้แก่นานาชาติมาแล้วกรณีปัญหาความขัดแย้งกับจีนเรื่องดินแดนเกาหลีซึ่งนำไปสู่ สงครามจีน-ญี่ปุ่น (Sino-Japanese War) ระหว่าง ค.ศ. 1894-1895 จีนภายใต้ราชวงศ์ชิงและการสนับสนุนจากรัสเซียพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่นที่ริเริ่มนำเรือรบหุ้มเกราะสมัยใหม่ 12 ลำ มาใช้เป็นครั้งแรก พวกเขาสามารถจมเรือรบจีนไป 5 ลำ ขณะที่กองเรือญี่ปุ่นแทบไม่เสียหายใด ๆ

หลังเหตุการณ์นั้น รัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส เข้ามาแทรกแซงเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งดังกล่าว นำไปสู่ข้อตกลงในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยจีนต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ญี่ปุ่น ยกเลิกระบบบรรณาการและยอมรับความเป็นเอกราชของเกาหลี ส่วนญี่ปุ่นได้สิทธิ์ในการผนวกเกาะไต้หวัน หมู่เกาะเพสคาดอร์ และคาบสมุทรเหลียวตง

แม้ข้อตกลงนี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องสละการยึดครองเมืองท่าพอร์ต อาเทอร์ (Port Arthur) ของจีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของคาบสมุทรเหลียวตง แต่ชัยชนะนี้นับเป็นการประกาศให้ชาติตะวันตกรู้แล้วว่าไม่ควรมองข้ามชาติเอเชียอย่างพวกเขา

ค.ศ. 1897 รัสเซียประสบความสำเร็จในการเช่าพอร์ต อาเทอร์ เมืองท่าทาเลียนวัน (Talienwan) และน่านน้ำโดยรอบจากจีน รวมถึงสิทธิ์ควบคุมพื้นที่เส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีน (Chaiese Eastern Railway) และการสร้างทางรถไฟระยะกว่า 1,520 กิโลเมตร จากจีนผ่านแมนจูเรียไปยังเมืองท่าวลาดิวอสตอค (Vladivostock) ของรัสเซีย ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberian) ของรัสเซียจึงถูกปรับให้ตัดผ่านแมนจูเรียไปบรรจบกับทางรถไฟสายตะวันออกของจีนก่อนตัดไปสิ้นสุดที่เมืองท่าวลาดิวอสตอค

ข้อตกลงดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้ชาวจีนที่ต่อต้านการแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตก จนนำไปสู่เหตุการณ์กบฏนักมวย (Boxer Rebellion) รัสเซียจึงใช้โอกาสนี้เข้ายึดครองแมนจูเรียในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1900

การครอบครองแมนจูเรียสร้างความกังวลแก่ญี่ปุ่นถึงผลประโยชน์อันจะเสียไปหากรัสเซียสามารถควบคุมจีนและเกาหลีได้ในอนาคต แต่ญี่ปุ่นยังไม่กล้าต่อต้านรัสเซียอย่างเปิดเผย พวกเขาพยายามคานอำนาจรัสเซียด้วยการทำสนธิสัญญาพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่น (Anglo-Japanese Alliance) ใน ค.ศ. 1902 เพื่อให้อังกฤษกีดกันรัสเซียหากมีการแผ่อำนาจออกจากบริเวณเมืองท่าวลาดิวอสตอคและพอร์ต อาเทอร์ และหากประเทศใดสนับสนุนรัสเซียในสงครามกับญี่ปุ่น อังกฤษจะเข้าข้างญี่ปุ่นทันที

สนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่นทำให้รัสเซียยอมทำข้อตกลงกับญี่ปุ่นในปีเดียวกันนั้น โดยจะยอมถอนทหารออกจากแมนจูเรียภายใน 18 เดือน แม้ระยะแรกรัสเซียถอนกำลังบางส่วนไปแต่โดยดี แต่เมื่อถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1903 พวกเขากลับปฏิเสธที่จะถอนกำลังที่เหลือต่อ โดยอ้างว่าสถานการณ์ในแมนจูเรียยังไม่สงบ พร้อมกันนั้นก็เสริมกำลังที่พอร์ต อาเทอร์และน่านน้ำแปซิฟิก

การกระทำของรัสเซียถูกญี่ปุ่นประท้วงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เป็นผล ญี่ปุ่นจึงประกาศตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียในวันที่ 5 กุมพาพันธ์ ค.ศ. 1904 และ 3 วันต่อมา กองเรือรบญี่ปุ่นภายใต้การบัญชาการของ นายพลโทโง เฮฮะชิโร (Togo Heihachiro) เปิดฉากสงคราม โดยส่งเรือประจัญบานยิงตอร์ปิโดจมกองเรือรัสเซียที่พอร์ต อาเทอร์ การโจมตีอย่างไม่คาดฝันนี้ทำลายเรือรบรัสเซียไป 3 ลำ สร้างความตื่นตะลึงแก่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียเป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงเชื่อว่าอย่างไรเสียญี่ปุ่นก็ไม่กล้าเปิดสงครามก่อน

10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับรัสเซียอย่างเป็นทางการ 6 วันต่อมารัฐบาลรัสเซียก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเช่นกัน

นายพลโทโง แห่ง ญี่ปุ่น บนปก TIME
นายพลโทโง บนปก TIME, ปี 1926 (ภาพจาก Wikimedia Commons / Time Magazine)

ความน่าสนใจของสงครามนี้คือ รัสเซียในขณะนั้นมีกองทหารประจำการที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือมีกำลังพล 1,350,000 นาย แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ส่วนตะวันออกไกลมีกำลังทหารราว 98,000 นาย และทหารท้องถิ่นอีก 24,000 นาย อาวุธปืนใหญ่เกือบสองร้อยกระบอก กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคแมนจูเรีย ชายฝั่งแปซิฟิก และภูมิภาคไบคาล กองเรือตะวันออกของรัสเซียประกอบด้วยเรือรบ 63 ลำ เรือประจัญบาน 7 ลำ และเรือลาดตระเวน 11 ลำ แต่ส่วนใหญ่ชำรุดและปืนใหญ่ประจำป้อมก็ล้าสมัย

ฝ่ายญี่ปุ่นประกอบด้วยกำลังพล 375,000 นาย ปืนใหญ่ 1,140 กระบอก ปืนกล 147 กระบอก เรือรบ 80 ลำ ซึ่งเป็นเรือประจัญบาน 6 ลำ และเรือลาดตระเวน 20 ลำ พิจารณาจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่ารัสเซียไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามทันทีเมื่อเทียบกับความพร้อมสรรพกำลังของฝ่ายญี่ปุ่นที่สามารถโถมทั้งหมดเข้าสู่สมรภูมิได้ทันที รัสเซียจึงหลีกเลี่ยงการปะทะอย่างเต็มกำลังเพื่อรอกำลังเสริมจากแผ่นดินตอนในให้ส่งมายังแนวหน้า

ชาติตะวันตกส่วนใหญ่รวมถึงซาร์แห่งรัสเซียดูจะเชื่อมั่นว่าอย่างไรเสียรัสเซียก็จะมีชัยเหนือญี่ปุ่น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 คล้ายไม่ได้เอาพระทัยใส่สงครามนี้เท่าใดนักในระยะแรก เพราะทรงปล่อยให้เสนาบดีจัดการสะสางปัญหาสงครามตะวันออกไกลโดยไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่ง รัสเซีย
พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2

การปิดล้อมพอร์ต อาเทอร์ และยุทธนาวีช่องแคบสึซิมะ

ยุทธนาวีที่พอร์ต อาเทอร์ เริ่มขึ้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และจบลงวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1904 กองเรือญี่ปุ่นสามารถปิดล้อมเรือรัสเซียไม่ให้แล่นออกสู่ทะเลได้ ก่อนญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่เมืองอินชอน (Inchon) ในเกาหลี พวกเขาประสบความสำเร็จบนภาคพื้นทวีปในสมรภูมิสำคัญ เช่น ศึกแม่น้ำยาลู (ฺBattle of the Yalu River) สงครามที่หนานชาน (Battle of Nanshan) ฯลฯ ในที่สุด ญี่ปุ่นก็สามารถรุกคืบสู่เมืองต้าเหลียน (Dalian) ในคาบสมุทรเหลียวตงซึ่งกลายเป็นฐานที่มั่นในการส่งกำลังไปสนับสนุนการปิดล้อมพอร์ต อาเทอร์

ชัยชนะอันต่อเนื่องสร้างความหึกเหิมให้แก่กองทัพญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ประกอบกับกองทัพเรือรัสเซียต้องสูญเสียเรือรบ 2 ลำ ขณะพยายามฝ่าการปิดล้อมพอร์ต อาเทอร์เพื่อหนีออกจากอ่าว ทำให้ทหารรัสเซียขวัญเสียอยู่ไม่น้อย กลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1904 ด้วยสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีของฝ่ายรัสเซีย พระจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ตัดสินพระทัยส่งกองเรือจากฐานทัพทะเลบอลติกมาเสริมกำลังในแนวรอบตะวันออก

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1904 กองทัพญี่ปุ่นตัดสินใจโหมบุกทางภาคพื้นทวีปอีกครั้งในยุทธการที่เหลียวหยาง (Battle of Liaoyang) เพื่อเข้าไปสนับสนุนการปิดล้อมพอร์ต อาเทอร์ ความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บัญชาการกองกำลังประจำป้อมพอร์ต อาเทอร์ตัดสินใจยอมแพ้โดยไม่รอคำสั่งจากผู้บัญชาการระดับสูงของรัสเซีย เมืองท่าแห่งนี้จึงถูกยึดครองในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1905

ระหว่างการพิชิตทั้งทางบกและทางทะเลโดยญี่ปุ่น กองเรือของรัสเซียจากทะเลบอลติกต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยระยะทางกว่า 29,000 กิโลเมตร อ้อมแหลมกู๊ดโฮปปลายสุดขอบทวีปแอฟริกาเพื่อมายังพื้นที่สงครามในตะวันออกไกล สนธิสัญญาระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษทำให้ราชนาวีรัสเซียไม่สามารถใช้เส้นทางลัดอย่าง คลองสุเอซ (Suez) ได้ เพราะจุดดังกล่าวอยู่ในการดูแลของอังกฤษ การเดินทางอ้อมโลกนี้จึงใช้เวลานานถึง 9 เดือน

เมื่อทราบสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี คาบสมุทรเหลียวตง และแมนจูเรีย นายพลรัสเซียเลือกใช้ช่องแคบสึชิมะ (Tsushima) เป็นทางผ่านเพื่อมุ่งไปยังเมืองท่าวลาดิวอสตอคก่อนเริ่มสงครามตอบโต้ญี่ปุ่น เส้นทางเดินเรือของรัสเซียอยู่ในการคาดการณ์ของญี่ปุ่นอยู่แล้วเพราะช่องแคบสึชิมะอยู่ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นถือเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดหากรัสเซียจะไปยังเมืองท่าวลาดิวอสตอค ญี่ปุ่นจึงจัดกำลังเรือรบปิดช่องแคบคอยเรือรัสเซีย รัสเซียเองรู้ดีว่าช่องแคบนี้เป็นจุดอันตรายที่สุด แต่พวกเขาต้องเสี่ยง…

27-28 พฤษภาคม ค.ศ. 1905 เกิดยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ กองเรือของญี่ปุ่นและรัสเซียซึ่งตอนนี้มีกำลังพอ ๆ กันมีโอกาสเผชิญหน้ากันโดยตรงครั้งแรก เรือรบรัสเซียเกิดความสับสนยุทธวิธีการแปรขบวนเรือเป็นรูปตัวยู (U) ของญี่ปุ่น และการเดินทางอันยาวนานทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทั้งกระสุนปืนจำนวนมากของรัสเซียเกิดด้านเอาเสียดื้อ ๆ กองเรือรัสเซียจึงถูกระดมยิงจนต้องเสียเรือรบไปหลายลำ นายพลรอเจสต์เวนสกี ผู้บัญชาการกองเรือได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการสั่งการ เขาตัดสินใจยอมแพ้เพราะตระหนักแก่ใจแล้วว่าถึงสู้ต่อไปก็มีแต่จะสูญเสีย

พื้นที่พิพาท สมรภูมิ ใน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
พื้นที่พิพาทและสมรภูมิใน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (ภาพจาก Wikimedia Commons)

การรบครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับรัสเซีย เรือรบถูกจมไป 8 ลำ ที่เหลือถูกปลดอาวุธไม่ก็ถูกยึดไป ทหารรัสเซียเสียชีวิต 5,000 นาย ผู้บัญชาการและทหารอีกกว่า 6,000 นายถูกจับเป็นเชลย มีเพียงเรือตอร์ปิโด 2 ลำ และเรือลาดตระเวนลำเดียวเท่านั้นที่หลบหนีไปถึงเมืองท่าวลาดิวอสตอคได้ ส่วนญี่ปุ่นเสียเรือตอร์ปิโด 3 ลำ ทหารเสียชีวิต 117 นาย

แม้จะพ่ายแพ้อย่างยับเยิน แต่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมุ่งมั่นที่จะทำสงครามต่อด้วยการเสริมกำลังพลจำนวนมากผ่านเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องและกระแสต่อต้านจากประชาชนทำให้ทรงระงับการส่งกำลังรอบใหม่เพื่อสะสางปัญหาภายในประเทศ ญี่ปุ่นเองที่เริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการทำสงครามจึงแสดงท่าทีพร้อมเจรจาสันติภาพ สหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) เป็นตัวละครใหม่ที่เข้ามาประสานการเจรจานี้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1905

สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระบุให้จีนได้แมนจูเรียคืน รัสเซียจะถอนกำลังทั้งหมดออกจากแมนจูเรีย แต่บริเวณที่เส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีนที่เชื่อมต่อกับสายทรานส์-ไซบีเรียยังอยู่ในการควบคุมของ รัสเซีย ทั้งนี้ รัสเซียยอมรับว่าเกาหลีเป็นเขตอิทธิพลของญี่ปุ่นและถอนสิทธิการเช่าพอร์ต อาเทอร์ รวมถึงเกาะซาคาลิน และให้เกาะซาคาลินอยู่ในการครอบครองของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ชาติตะวันตกยำเกรงตั้งแต่นั้น เหตุการณ์นี้พลิกโฉมหน้ากองทัพเรือญี่ปุ่นให้กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลเช่นเดียวกับกองทัพเรืออังกฤษตั้งแต่นั้นจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น จึงกลายเป็นสงครามครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจยุโรปพ่ายแพ้ต่อประเทศในเอเชีย ความปราชัยครั้งนี้ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในตะวันออกไกลและเปิดทางให้ญี่ปุ่นกลายเป็นจักรวรรดิแห่งตะวันออกที่ทรงอำนาจที่สุด แต่ยังบ่อนทำลายความมั่นคงของราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรัสเซียและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการปกครองใหม่ในเวลาต่อมา…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน), นาวาตรี. (2475). สงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย. กรุงเทพฯ : หน้าวัดราชบพิธ ถนนเฟื่องนคร.

อนันต์ชัย เลาหะหันธุ. (2551). สงครามรัสเซีย – ญี่ปุ่น : จุดเปลี่ยนของจักรวรรดิรัสเซีย. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ปีที่ 30) ฉบับที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

HISTORY.COM (AUG 8, 2022) : Russo-Japanese War (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565