ทำไมสหรัฐฯ ไม่ล้ม “สถาบันจักรพรรดิ” ของญี่ปุ่น หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ ญี่ปุ่น ผู้แทน สถาบันจักรพรรดิ ของญี่ปุ่น ลงนาม ใน เอกสารยอมจำนน ในนามของ พระจักรพรรดิ บน เรือรบมิสซูรี ของ สหรัฐอเมริกา 2 กันยายน 1945
มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นขณะลงนามในเอกสารยอมจำนนในนามของพระจักรพรรดิ บนเรือรบมิสซูรี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945

สงสัย! ทำไม สหรัฐอเมริกา ไม่ล้ม “สถาบันจักรพรรดิ” ญี่ปุ่น หลังสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่ 2

ญี่ปุ่นภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา : การดำรงอยู่ของ สถาบันจักรพรรดิ

ภายหลังที่ ญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ สหรัฐอเมริกา ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการเอเชียตะวันออกไกล (Far Eastern Commission) ได้ยึดครองและทำการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายพลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Power: SCAP) ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งและกองบัญชาการของนายพลแมคอาเธอร์

กองทัพของสหรัฐอเมริกาได้เข้ามายังญี่ปุ่นในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 และได้ทำการปฏิรูปญี่ปุ่นในด้านต่างๆ เป็นเวลาถึง 7 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปรับปรุงประเทศให้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และให้ญี่ปุ่นเป็นป้อมปราการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในโลกตะวันออก ในหัวข้อนี้จึงจะอธิบายถึงการดำรงรักษาสถานะของจักรพรรดิให้ไม่ตกเป็นอาชญากรสงคราม

การคงสถาบันจักรพรรดิเป็นประมุขของชาติ

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียต และสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้ดำเนินการกับจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในฐานะอาชญากรสงคราม แต่นายพลแมคอาเธอร์ ได้ต่อต้านการดำเนินคดีต่อองค์จักรพรรดิ และชี้แจงว่าการดำรงอยู่ขององค์จักรพรรดินั้น จะช่วยให้การดำเนินยึดครองและปกครองญี่ปุ่นเป็นไปด้วยความราบรื่น

การที่องค์จักรพรรดิมีบทบาทโดยตรงในการประกาศสงครามเป็นเพราะพระราชประเพณีที่ต้องทรงกระทำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการตัดสินใจเข้าร่วมสงครามเป็นของรัฐบาล และสภาที่ปรึกษาของแผ่นดิน หากองค์จักรพรรดิผู้เป็นศูนย์กลางของประชาชนถูกลงโทษไต่สวน ความโกลาหลและการแก้แค้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของชาวญี่ปุ่นจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นวิธีเดียวที่จะทำให้คนญี่ปุ่นและชาวโลกอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ คือ การปกครองอย่างอะลุ้มอล่วย ให้คนญี่ปุ่นเรียนรู้วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยว่ามีค่ามากกว่าคณาธิปไตย เผด็จการ หรือคอมมิวนิสต์

แทนที่จะต้องคอยใช้กำลังปราบปรามการจลาจลของคนญี่ปุ่นโดยไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นายพลแมคอาเธอร์ จึงเสนอให้ยุติการเรียกร้องให้ลงโทษองค์จักรพรรดิโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้โจเซฟ ซี. กรู(Joseph C. Grew) เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำโตเกียวในระยะก่อนสงครามนั้น ได้เสนอต่อรัฐบาลอเมริกันว่า

“การล้ม สถาบันจักรพรรดิ หรือการทำการไต่สวนใดๆ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป และการสร้างญี่ปุ่น เพราะจะเกิดการจลาจลทั้งทางสังคมและทางการเมืองแน่นอน แม้องค์จักรพรรดิเองจะทรงมีพระราชประสงค์ที่สละราชบัลลังก์ เพราะทรงสำนึกในความรับผิดชอบของพระองค์เองก็ตาม”

นอกจากนั้นองค์จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ทรงต้องการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการเกิดสงคราม และทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์เองด้วย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 องค์จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ได้เสด็จไปพบนายพลแมคอาเธอร์ ที่อาคารดะอิ อิชิ (Dai Ichi Building) ศูนย์บัญชาการของกองบัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร ในกรุงโตเกียว

พระองค์เข้าเจรจากับนายพลแมคอาเธอร์โดยผ่านล่ามในการเจรจา พระองค์ทรงแสดงความรับผิดชอบต่อบทบาทของ ญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มที่โดยกล่าวว่า

“นายพลแมคอาเธอร์ ข้าพเจ้ามาพบท่านเพื่อรับข้อตัดสินจากท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้แทนการยึดครอง ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบต่อการตัดสินใจทางการเมือง และการทหารที่ทำให้ประชาชนญี่ปุ่นก่อสงคราม

นายพลแมคอาเธอร์ ประทับใจอย่างมากในคำกล่าวของจักรพรรดิ ที่พระองค์ทรงแสดงความรับผิดชอบต่อการก่อสงครามของญี่ปุ่น หลังจากการพบครั้งนี้แล้วทั้งสองได้พบกันอีกหลายครั้ง เพื่อปรึกษาข้อราชการต่างๆ นายพลแมคอาเธอร์ ได้กล่าวในหนังสือของเขาว่า เขาค้นพบว่าจักรพรรดิทรงมีความคิดแบบประชาธิปไตย และความร่วมมือจากพระองค์ทำให้การยึดครองประเทศญี่ปุ่นประสบผลสำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2548). ญี่ปุ่นกับมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด

ศิริพร ดาบเพชร. (2556). ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่จากปลายสมัยโทกุงาวะถึงการสิ้นสุดจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สุรางค์ศรี ตันเสียงสม. (2551). ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิพัทธพงศ์ พุมมา. (2553). สหรัฐอเมริกากับการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในช่วงยึดครอง (ค.ศ. 1945-1952): นโยบายและผลกระทบ. วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา

สุรางค์ศรี ตันเสียงสม. (2555). สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น : ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลง. วารสารอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 41, (2)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565