ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โดยญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอเมริกาที่เข้ามาตั้งกองบัญชาการในภารกิจพิเศษติดตามและจับกุมนายทหารญี่ปุ่นทุกกรมกองโดยไม่ไว้หน้า เพื่อนำมาขึ้น “ศาลทหาร” ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันที่ได้จัดการกับกองทัพนาซีเยอรมนีในยุโรป
ผู้นำญี่ปุ่นระดับหัวหน้าในคณะรัฐบาลชุดสงครามประกอบด้วย นักโทษระดับนายพล 23 คน แม่ทัพนายกอง และนายทหารขั้นหัวหน้าอีก 4,300 นาย ได้รับโทษหนักเบากันแบบทั่วถึง
แล้วสำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นและเยอรมนี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีนำประเทศเข้าร่วมสงคราม และสถานการณ์ของเมืองไทยเวลานั้นเป็นอย่างไร ไกรฤกษ์ นานา เล่าเรื่องราวไว้ใน “ประวัติลับหลัง ‘ท่านผู้นำ’ สงครามมหาเอเชียบูรพาคนผิดไม่ถูก คนถูกไม่ผิด” (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 41 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2563) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขแล้ว ดังนั้นทางฝ่ายไทยก็เปิดการประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อหาทางออกว่า ไทยจะหาทางออกใดในสถานการณ์เช่นนั้นได้ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าหาเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้
แต่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นก็บอกว่า ถ้าทางใดเป็นทางที่สุดของไทยแล้ว ขอให้ไทยทำไปเถิด ญี่ปุ่นจะไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย เมื่อญี่ปุ่นให้สิทธิเสรีภาพแก่ไทยเช่นนั้น นายควงฯ ก็ยังหาทางออกไม่ได้ว่าจะกระทำอย่างไรดี สภาผู้แทนราษฏรก็เกรงว่าไทยจะต้องตกไปเป็นฝ่ายแพ้สงครามไปด้วยกับฝ่ายอักษะประเทศ
เมื่อนายควงฯ ไม่สามารถจะหาทางออกได้เช่นนั้นแล้ว จึงได้รุดไปหานายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้มีชั้นเชิงและกุศโลบายการเมืองอันแยบยล นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้คำแนะนำกับนายควงฯ ว่า ควรจะทำให้สถานการณ์กลับคืนเข้าสู่ก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เพราะการประกาศสถานะสงครามของจอมพล ป. นั้น เป็นการกระทำไปโดยเอกเทศ รัฐสภามิได้รู้เห็นด้วยและเป็นการขัดกับเจตนารมณ์และกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติได้นั้น ก็ต้องประกาศสถานะสงครามที่ จอมพล ป. ประกาศกับประเทศพันธมิตรว่าเป็นโมฆะ [1]
ฝ่ายสัมพันธมิตรติดตามความคืบหน้าทางการเมืองในประเทศไทยอย่างใจจดใจจ่อ ใจหนึ่งก็ต้องการปิดบัญชีฝ่ายอักษระที่เคยเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน อีกใจหนึ่งก็เกรงใจกลุ่มเสรีไทยที่แก้ต่างให้คนไทยตลอดมาตั้งแต่เริ่มสงคราม และทำงานใต้ดินช่วยเหลือสัมพันธมิตรเหมือนคนหัวอกเดียวกัน
เมื่อจอมพล ป. ไหวทันว่าภัยกำลังจะมาถึงตัว ภารกิจแรกที่ต้องกระทำคือ เปิดใจชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อสาธารณชนอันเป็นการแก้ตัวอย่างสุจริตใจ คำชี้แจงนี้จะมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อคนทั้งประเทศและแน่นอนต่อรัฐบาลใหม่ ซึ่งนักการเมืองหลายคนมาจากรัฐบาลชุดสงครามที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน
เพียง 1 สัปดาห์ภายหลังสงครามยุติ จอมพล ป. ก็เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงบรรณาธิการนสพ.ทุกฉบับเปิดอกพูดถึงสิ่งที่ท่านได้กระทำในระหว่างสงคราม
“บ้านหลักสี่
กันยายน พ.ศ. 2488
เรียน ท่านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
ผมขอถือโอกาสส่งจดหมายมายังท่าน หากท่านจะกรุณาอ่านจดหมายนี้ โดยนึกเสียว่าผมเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งแล้ว คิดว่าท่านจะได้บำเพ็ญกรณียกิจของท่านด้วยความเป็นธรรมอย่างยิ่ง ขอได้รับความขอบใจด้วยไมตรีเช่นเคยจากผมล่วงหน้าด้วย
ในความตั้งใจของผมนั้น เมื่อได้ตกลงออกจากราชการแล้ว ก็คิดว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการบ้านการเมืองอีกต่อไป ผมมีเจตนาอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนการดำเนินอาชีพต่อไปของผมไปในทางกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์ โดยไม่คิดเปลี่ยนแปลงอย่างใดอีก เฉพาะอย่างยิ่งผมจะเอาชนะเป็นประวัติการณ์ว่า เมื่อได้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยมาแล้ว ก็ต้องเป็นการออกเรื่อยไปจนตลอดชีวิต มิใช่ลาออกเพื่อเป็นกลอุบายจะหาทางเข้ารับตำแหน่งอะไรอีกในอนาคต จะได้เป็นการเบาใจแก่ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแทนผมต่อไป
………..
ความสำคัญของจดหมายนี้ นอกจากมีข้อความที่ท่านได้อ่านมาแล้ว ยังมีข้อความอีกบางประการซึ่งผมจะขอเขียนสั้นๆ ต่อไปและเป็นข้อความที่สุจริตจริงๆ มิได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการแก้ตัวเลย
บัดนี้ญี่ปุ่นได้ยอมยอมจำนนโดยสิ้นเชิงแล้วและกองทัพสหประชาชาติสัมพันธมิตรก็ได้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว เพื่อทำการปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่น เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ที่ชาติไทยได้บำเพ็ญมาแต่หนหลัง จึงได้กระทำให้ชาติไทยได้รับผลปฏิบัติอย่างดีในเวลานี้ สรรพยุทธภัยได้ผ่านไปแล้ว
บัดนี้ ผมพอที่จะเปิดเผยความจริง ในสถานการณ์ของเราที่ล่วงมาแล้ว…
………..
เมื่อญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ด้วยผลสำเร็จอย่างดงามแก่ฝ่ายเราที่ได้ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว แต่เรามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่เราคาดไม่ถึงว่าญี่ปุ่นจะโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของอเมริกา ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นกับอเมริกากำลังดำเนินการเจรจากันอยู่
เราคิดว่าเมื่อทูตกุรุสุยังพูดอยู่ที่อเมริกาแล้ว ญี่ปุ่นคงยังไม่ทำสงคราม และด้วยเหตุนี้การเตรียมการประจำแนวให้มั่นคงจริงๆ เราก็ต้องการเวลามาก การที่ผมไปตรวจราชการที่ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2848 ก็เพราะเหตุอยากจะร่วมเดินทางกับเสนาธิการทหารบกไปดูแนวต่อสู้ที่ศรีโสภณ ไม่ใช่เพื่อหนีสงคราม หรือเพื่อไปทำสัญญาลับญี่ปุ่นตามข่าวเล่าลือที่โฆษณาชวนเชื่อกันอย่างหนาหูเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ผมเห็นว่าสงครามน่าจะเกิดทางบ้านเราเร็วขึ้น เพราะการเจรจาระหว่างกุรุสุ กับฝ่ายอเมริกาไม่ตกลงกันได้ ถ้าแม้ว่าการเจรจายังคงดำเนินอยู่ ผมจึงได้เชิญ พล.ท.วิชิตสงคราม เสนธิการทหารบกมาประชุมที่วังสวนกุหลาบ เราคาดกันว่า จะเกิดสงครามขึ้น คงจะมีเวลาต่อไปอีกสัก 2-3 เดือนก็ได้ เราก็มิได้ประสานได้สั่งให้เร่งการระดมพลให้เร็วขึ้นอีก แต่เราก็ทำไม่ได้เร็วทันใจ เพราะเวลาญี่ปุ่นจำนวนมากได้เข้ามาอยู่ที่ใกล้เขตแดนของเราทางเสียมราฐในเขมร
ถ้าหากว่าเราจะประกาศเรียกระดมพลทางวิทยุให้เป็นการเปิดเผยก็เกรงว่าญี่ปุ่นจะพรวดพราดเข้ามายึดไทยเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ ทางกรมเสนาธิการทหารบกจึงตกใจให้ระดมพล โดยส่งหมายไปเฉพาะตัวการระดมพล โดยวิธีนี้ถึงแม้ว่าผมจะได้เร่งจัดการเป็นการด่วนที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นวิธีการที่ชักช้ากว่าการระดมพล โดยวิธีประกาศทั่วไป ครั้นแล้วเสนาธิการทหารบกแจ้งว่า อยากจะไปดูทหารทางปราจีนบุรีเข้าประจำแนวรบต่อต้านที่ ศรีโสภณสัก 2-3 วัน
เราได้หารือกันและเห็นว่า ตราบใดที่การเจรจาระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่นยังดำเนินอยู่ ญี่ปุ่นคงจะยังไม่ลงมือรบเป็นแน่ เห็นว่ายังมีเวลาพอ จึงตกลงกันว่า เราจะไปดูการวางทหารที่ศรีโสภณด้วยกัน แล้วจะรีบกลับมาย้ายกองบัญชาการไปอยู่ที่ลพบุรีทันที…
รุ่งเช้าวันที่ 7 ธันวาคม ได้ไปถึงเขาศรีโสภณ ได้ตรวจภูมิประเทศและซ้อมวิธีปฏิบัติการรบ หากญี่ปุ่นจะรุกเข้ามา เสร็จแล้วก็คิดจะกลับ
ต่อจากนั้นเราได้เดินทางกลับและถึงอรัญญประเทศในเวลาค่ำ พอถึง ก็ได้รับโทรเลขให้รีบกลับกรุงเทพฯ ด่วน ผมนึกไม่ออกว่าได้เกิดอะไรกันขึ้นในกรุงเทพฯ ในภายหลังจึงได้ทราบว่า ทูตอังกฤษบอกว่ามีเรือขนส่งทหารญี่ปุ่นมาพลุกพล่านมากทางอินโดจีน ทำให้ผมคิดว่าสถานการณ์สงครามได้เกิดขึ้นแล้ว ผมจึงได้เดินทางกลับเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 8 ธันวาคม
เมื่อผมถึงวันสวนกุหลาบ ก็ได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.อดุลย์เดชจรัสว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้ายึดสงขลา, นครศรีธรรมราช, ประจวบคีรีขันธ์ และปัตตานี ส่วนฝ่ายไทยเราก็ได้ทำการต่อสู้อย่างสุดกำลังตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ นอกจากนั้นสถานทูตญี่ปุ่นต้องการพบผมเพื่อขอโทษที่ได้เข้ามาบุกรุกในประเทศไทย และพร้อมจะเจรจากับฝ่ายไทยด้วยอีกต่อไป
ผมเห็นว่าเป็นการสมควรจะฟังความจากฝ่ายญี่ปุ่นดูบ้าง เพื่อทราบการปฏิบัติของเขา เราได้เข้าไปเจรจากันในห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกันทางคณะรัฐมนตรีก็กำลังประชุมกันอยู่ในห้องประชุมเพื่อฟังผลแห่งการเจรจา ทางญี่ปุ่นได้บอกว่า เขามีความจำเป็นที่จะต้องบุกรุกเข้ามาในประเทศไทยเขาขอโทษ และขอให้ประเทศไทยเลือกปฏิบัติได้ 4 อย่างคือ
1. ให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป
2. ให้ประเทศไทยร่วมรบกับฝ่ายญี่ปุ่น
3. ให้ประเทศไทยร่วมรบ โดยเข้าไปเป็นภาคีในสัญญาไตรีภาคี (THREE POWERS PACTS)
แต่เสียใจจำข้อสุดท้ายไม่ได้ แต่คงจะมีหลักฐานอยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือที่ใดที่หนึ่ง เมื่อผมได้ทราบคำขาดของฝ่ายญี่ปุ่นเช่นนั้นก็ไม่ทราบจะทำอย่างใด นอกจากแจ้งแก่เขาว่า เราเป็นประเทศเล็ก ขออย่ามายุ่งกับเราได้ไหม เขาบอกว่าเขาจำเป็นจะต้องผ่านประเทศไทยไปพะม่า และมะลายู และก็จะทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเลือกเอา 1 ใน 4 แผนที่เขาเสนอมานั้น บอกปัดเขาเท่าใดดูก็ไม่ได้รับประโยชน์
เมื่อถึงที่ประชุมผมก็ได้เล่าถึงผลแห่งการเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นให้คณะรัฐมนตรีทราบ…
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้ตั้งพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พล.ต.ธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายวณิช ปานะนนท์ เป็นผู้ไปเจรจาและร่างสัญยากับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้ตกลงกันได้แล้ว จำได้ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีอนุมติให้ผมสั่งหยุดการรบได้ ผมจึงได้สั่งการไป
อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่า ในเวลานั้นไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏรหากจะรอขอนุมัติจากสภาฯ เสียก่อนที่จะตกลงสั่งการไปการรบคงดำเนินรุนแรงถึงขั้นแตกหักไปเสียแล้ว ในส่วนความคิดของพวกเราที่ทำไปเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงโดยแน่ชัดแล้วว่า ไม่มีใครในพวกเราได้ไปตกลงทำสัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใดกับฝ่ายญี่ปุ่นเลย ในส่วนตัวผมที่ได้ตกลงยอมหลีกให้ญี่ปุ่นผ่านไปเช่นนั้น ก็มิใช่จะเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น หรือได้ตกลงไว้กับฝ่ายญี่ปุ่นแต่อย่างใดก็หาไม่ มีความคิดในทางสันติภาพประจำใจอยู่เสมอ
ผมไม่ต้องการให้ชาติไทยรบกับชาติใดในสงครามนี้ เพราะรู้ดีว่าถ้ารบกับชาติใดเข้าไทยเป็นแหลกหมด เนื่องจากทุกฝ่ายได้ตระเตรียมกำลังกันไว้อย่างมากมายและอาวุธสมัยใหม่ก็รุนแรงยิ่งนัก
…………
ส่วนในการที่ประเทศไทยต้องทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นในภายหลังก็ดี การที่ประเทศไทยต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาก็ดี แต่ก็เป็นกลอุบายเอาใจญี่ปุ่นเพื่อให้เขาเห็นอกเห็นใจ เป็นการหลีกเลี่ยงมิให้ญี่ปุ่นผู้ศัตรูทำการุกรานแก่ประชาชน และเป็นการป้องกันมิให้ญี่ปุ่นทำการปลดอาวุธกองทัพของเราเสีย และเพื่อให้ไทยยังคงมีรัฐบาลเป็นไทยที่มีแก่ใจคิดต่อสู้ญี่ปุ่น และที่สุดเพื่อให้รัฐบาลนี้สามารถสั่งการอยู่ได้ตลอดไปเหล่านี้เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ถ้าประชาชนได้ทราบถึงการปฏิบัติของญี่ปุ่นที่บีบบังคับต่อผมให้ทำสัญญาร่วมรบฉบับต่อมา และบีบบังคับให้ผมประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาด้วยแล้ว เชื่อว่าประชาชนจะรู้สึกเห็นใจผมและรัฐบาลชุดของผมนั้นเป็นที่สุด ถ้าจะบรรยายก็จะเป็นการยืดยาวขอสรุปแต่เพียงว่า ผมได้โต้เถียงกับเขาในทางไม่ทำตามจนแสนจะปวดหัว เรายืนยันทางเดียวว่าเราจะไม่ทำอะไร ฝ่ายญี่ปุ่นที่มาพูดถึงเรี่องนี้ได้แห่กันมาเต็มบ้าน สารพัดจะแห่กันมา มีทั้งนายพล, นายพัน, นักการทูต, ทุกคนส่งเสริมแต่จะให้เราทำตามเขาโต้เถียงกันตั้งแต่บ่าย 2 โมงจนถึง 24 นาฬิกาก็มี
ที่สุดเราต้องยอมทำตาม เพราะเขาบอกว่าถ้าไม่ทำตามพรุ่งนี้บ้าง วันนี้บ้าง เขาจะปลดอาวุธประเทศไทยแน่นอน บอกว่าทางโตเกียวสั่งมาเช่นนั้น บางทีนานวันเข้าก็ขู่มาทางโทรศัพท์ พร้อมกับเตรียมทหารของเขาเริ่มจะทำการตามที่ขู่ไว้กับเราด้วย ผมเห็นว่าเรายอมตามเขาดีกว่า สู้ทนเก็บน้ำตาและเก็บความช้ำน้ำใจไว้ เพื่อแก้มือกันในวันข้างหน้า โดยจะคิดต่อสู้กับฝ่ายญี่ปุ่นตลอดไป จนกว่าเขาจะถูกขับไล่ออกไปให้พ้นจากประเทศไทยในที่สุด หวังยึดเอาความเมตตาอารีจากอังกฤษและอเมริกาเป็นกำลังช่วย
เหตุการณ์ตามความเป็นจริงดังได้เล่ามานี้ เราย่อมเห็นว่า การที่เราเข้ากับญี่ปุ่นก็ดี การประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาก็ดี เหล่านี้อยู่ในลักษณะเป็นกลอุบายให้เราสามารถประทังชาติไว้ เพื่อการต่อสู้ดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้วในระยะต่อๆ มา ซึ่งเป็นผลทำให้ชาติได้รับความปลอดภัยมาจนถึงบัดนี้ ดังที่พี่น้องทุกคนย่อมจะเห็นด้วยตนเองแล้ว
การที่สงครามคราวนี้ได้เสร็จสิ้นลงด้วยดีก็เพราะชาติไทยทั้งชาติได้ทำการต่อสู้ขัดขวางริดรอนกำลังญี่ปุ่นและเตรียมรบกับญี่ปุ่นร่วมกับรัฐบาลตลอดมาทุกคน นับตั้งแต่นรัฐบาลชุดของผมเป็นเวลาได้ 3 ปีเศษ จนถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ กิจการต่างๆ ที่เราได้กระทำมาเพื่อสู้สงครามนั้น บางอย่างประชาชนก็ทราบ บางอย่างประชาชนก็ไม่ทราบ แต่ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะบอกอะไรกันไม่ได้ เมื่อศัตรูกำลังอยู่ในบ้านของเรา
ดังนั้นประชาชนอาจไม่ชอบรัฐบาลบ้างในกรณีที่ประชาชนถูกบังบคับให้ทำการต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งขอย้ำว่ารัฐบาลบอกอะไรไม่ได้ บอกได้แต่ให้ทำตามกันไปก็แล้วกัน
มาบัดนี้เราชนะญี่ปุ่นแล้ว ผมจึงถือโอกาสเล่าให้ประชาชนฟังถึงส่วนที่รัฐบาลของผมได้ทำการต่อสู้ขัดขวางรอนกำลังญี่ปุ่น และเตรียมรบกับญี่ปุ่นว่ามีอย่างไรบ้าง เล่าให้ทราบถึงเหตุผลถึงความเป็นจริงว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง เล่าให้ทราบเหตุผลถึงความว่า เราได้ร่วมทำสงครามจนชาติปลอดภัยมาว่าได้กระทำอย่างไรบ้าง บางทีจะเป็นเหตุหนึ่งที่สำคัญสามารถทำให้ชาติไทยกลับสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดไป และที่หวังที่สุดนั้น หวังว่าผู้ที่เกลียดผมไปบ้างก็จะมีใจกรุณาแก่ผม อันจะเป็นบุญในส่วนตัวผมเองเป็นอันมาก…” [1]
อย่างไรก็ดีภายหลังจอมพล ป.พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งแล้ว 1 ปี ก็เป็นจังหวะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเผด็จศึกญี่ปุ่นได้อย่างราบคาบ แต่เป็นช่วงสมัยรัฐบาลใหม่ของนายควง อภัยวงศ์
การที่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์แห่งญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้นั้น แม่ทัพญี่ปุ่นในเมืองไทยก็ได้มีคำสั่งเตรียมพร้อมทั้งหมด ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากกรณีที่ฝ่ายญี่ปุ่นหวาดเกรงไปว่าเมื่อทางสมเด็จพระจักรพรรดิ์แห่งญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ไปแล้วนั้น ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ก็เตรียมพร้อม ทางฝ่ายกองทัพไทยก็เตรียมพร้อมบ้าง เพราะไม่ว่าทางฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นจะจัดการอย่างไรกับไทย แต่ทางฝ่ายไทยมีความวิตกอย่างยิ่งก็คือ เมืองไทยจะต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามไปด้วยหรือไม่
ในปัญหาเรื่องสำคัญของประเทศดังกล่าวนี้ นายควง อภัยวงศ์ กับ ปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามขบคิดและปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกที่ดีอยู่หลายวันเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของเมืองไทย และได้ขอให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นคนร่างประกาศสงครามเป็นโมฆะ เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศให้ชาวโลกทราบต่อไป
เมื่อได้ทำความตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่นดังกล่าวนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้ชี้เจงถึงสถานการณ์ให้สภาผู้แทนราษฏรได้ทราบ แล้วก็นำร่างคำปราศสถานการณ์สงครามระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาว่าเป็นโมฆะมาอ่านให้ที่ประชุมฟัง เมื่ออ่านจบแล้ว ที่ประชุมสภาฯ ได้มีการปรบมือกันอย่างกึกก้องและมีความเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์และต่างก็พากันกล่าวสรรเสริญนายปรีดี พนมยงค์ ในการที่คิดหาทางรอดปลอดภัยให้แก่ประเทศชาติได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที [2]
โดยนายปรีดีเสนอว่า สมควรที่จะเชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยังเป็นอัครราชทูตอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้ให้นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการเสรีไทยเป็นนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน
การที่เลือกนายทวี บุณยเกตุ ก็เพื่อว่าประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายสหประชาชาติทุกประการ นายทวี บุณยเกตุ ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2488 ทั้งนี้เพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช…
ต่อมาการที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เดินทางมาถึงประเทศไทย ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี 22 นาย ซึ่งเป็นบุคคลที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เตรียมการไว้แล้ว การที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ก็เพราะเห็นว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นุบคคลที่เหมาะสมที่สุดในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งนี้ก็เพราะ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เป็นหัวหน้าเสรีไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่หวังว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ของเมืองไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ได้
ดังนั้น ในรัฐบาลชุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นี้เองจึงได้มีการออกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ช่วยให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลุดพ้นจากความพัวพันในการนำพาประเทศไทยเข้าสู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเข้าข้างญี่ปุ่นอย่างจงใจตามที่อังกฤษกล่าวหา และต้องการให้พิจาณาโทษดังเช่นผู้นำญี่ปุ่นแลผู้นำฝ่ายอักษะ
เนื่องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร หรือฝ่ายสหประชาชาติได้ดำเนินการในเรื่องอาชญากรสงครามโดยทั่วกัน ทางฝ่ายประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายอาชญากรสงคราม ดำเนินการเอาความผิดกับผู้ดำเนินการสงครามด้วย
ในกรณีนี้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เข้าสู่การประชุมปรึกษาของสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งได้มีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทางฝ่ายค้านได้คัดค้านว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังอันขัดต่อหลักกฏหมายและหลักรัฐธรรมนูญในขณะนั้น แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฏรก็ได้ลงมติอนุมัติให้ประกาศให้ใช้เป็นกฎหมายได้
ในทันทีที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้สั่งจับจอมพล ป. พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พระสารศาสน์พลขันธ์, พระราชธรรมนิเทศ, นายสังข์พัฒนโนทัย เป็นต้น ในฐานเป็นอาชญากรสงคราม
ในคดีนี้ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามในที่สุด ศาลฏีกาได้ตัดสินยกฟ้อง ทั้งนี้โดยมีเหตุผลอันมีสาระสำคัญ ก็คือ การกระทำผิดของพวกจำเลยตามที่โจทก์ได้ฟ้องนั้น เป็นการกระทำก่อนวันที่ใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยย้อนหลังตามที่ฟ้องของโจทก์ได้ จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้อง และให้ปล่อยให้จำเลยพ้นข้อหาไป จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับพวกจึงได้พ้นจากข้อกล่าวหาไป [3]
หลังจากพ้นข้อกล่าวหาในความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามแล้ว ใน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) จอมพล ป. ก็ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอีกวาระหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ
ทั้งยังเป็นแกนนำคนสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตรและตัวแทนโลกเสรี โดยมีสหรัฐฯ สนับสุนอย่างออกนอกหน้าให้ต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ อันเป็นสถานการณ์และภัยคุกคามระลอกใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้ง 2 และความรับผิดชอบครั้งใหม่ที่ผลักดันรัฐบาลไทยให้เป็นศูนย์กลางนโยบายสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ [4]
อ่านเพิ่มเติม :
เอกสารประกอบการค้นคว้า :
[1] วิเทศกรณีย์, ไทยกับสถานการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2, ศิลปาบรรณาคาร 2511
[2] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527
[3] สิริ เปรมจิตต์, ชีวิตและผลงาน ของ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, กทม.ฯ 2521
[4] ไกรฤกษ์ นานา, สัมพันธภาพไทย–ญี่ปุ่นในสงครามเปรียบตัวละครเอกตีบทแตก, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 41 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2565