เผยแพร่ |
---|
จักรพรรดิกวงซวี่-ประมุขแห่งจักรวรรดิจีนที่ยิ่งใหญ่ จักรพรรดิเมจิ-ประมุขแห่งเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง นอกจากเป็น “ประมุข” ของประเทศ ทั้งสองยังมีสิ่งอื่นที่เหมือนกัน เช่น มีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก, บ้านเมืองในยุคของทั้งสองพระองค์ ถูกชาติมหาอำนาจรุกรานกดขี่, และทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นผู้นำการปฏิรูประเทศเหมือนกัน เพียงแต่ว่าประเทศหนึ่งล้มเหลว ประเทศหนึ่งสำเร็จ
ถ้าเช่นนั้นอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จและล้มเหลว ในการปฏิรูประหว่างจีน-ญี่ปุ่น
เริ่มมาดูกันจากชีวิตวัยเยาว์ มารดาจักรพรรดิกวงซวี่ (ค.ศ. 1871-1908) เป็นน้องสาวแท้ๆ ของพระนางซูสีไทเฮา พระนางให้กวงซวี่ครองราชย์ตั้งแต่ยังไม่เต็ม 4 ขวบ เพราะสามารถชักจูงได้ง่าย เลี้ยงดูแบบใช้อำนาจ สร้างภาพให้น่าเกรงขาม เพื่อให้เชื่อฟังคำสั่ง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่า จักรพรรดิกวงซวี่ “กลัวไทเฮามากจนจนพูดติดอ่าง เมื่อไทเฮาถามก็ยืนตัวสั่น พูดจาอ้ำอึ้ง” ซ้ำร้ายพวกขันทีที่คอยดูแลกวงซวี่ก็ไม่เคารพพระองค์ และมักเก็บเรื่องเล็กน้อยของกวงซวี่ไปทูลฟ้องซูสีไทเฮา นั่นทำให้พอโตขึ้นจึงขลาดความมั่นใจ และขี้ขลาด
มารดาจักรพรรดิเมจิ (ค.ศ. 1852-1912) เป็นนางสนมคนหนึ่งในบรรดานางสนมหลายสิบคนของจักรพรรดิโคเม เมจิประสูติที่บ้านเล็กๆ นอกพระราชวัง ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลบะกุฟุกำลังต่อสู้กับรัฐบาลอย่างหนัก ขณะที่จักรพรรดิโคเม พระบิดาผู้อ่อนแอของพระองค์ถูกฉุดกระชากให้อยู่ตรงกลางของการต่อสู้ ทำได้เพียงให้ตัวเองอยู่รอด
ชีวิตวัยเด็กของเมจิที่ลำบากยากแค้น ทำให้เมจิเป็นเด็กขี้ขลาด ครั้งหนึ่งในที่ซามูไรที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลบะกุฟุกับฝ่ายโชกุน เสียงปืนใหญ่ดังสนั่นไปทั้งวัง เมจิที่อายุ 12 ปี ตกใจจนเป็นลม แต่เมจิในวัยเยาว์ได้รับการเลี้ยงดูอุ้มชูของเหล่าซามูไร จึงโตขึ้นมากล้าหาญเด็ดเดี่ยว เป็นนักรบที่แข็งแกร่ง
หากมองในเรื่องการศึกษา กวงซวี่ที่เกิดหลังเมจิ 19 ปี ขยันหมั่นเพียรกว่าเมจิมากมาย พระนางซูสีไทเฮาก็ยอมรับว่าพระองค์ “รักการเรียนมาก” ตำราเรียนสำคัญของนักปราชญ์จีนอย่างยิ่งขงจื๊อ กวงซวี่ได้ศึกษาอย่างเต็มที่ หากเทียบกับเมจิ พระองค์คงเป็นได้แค่ “เด็กประถม” ต้องยอมรับว่ากวงซวี่เป็นผู้รอบรู้มากความสามารถ และพากเพียรอย่างยิ่ง
แต่เมจิกลับมีคุณสมบัติที่โดดเด่น ในความตื่นตัวและยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างรวดเร็วจนน่าตะลึง บนโต๊ะทำงานของพระองค์มีตำราที่ขาดไม่ได้คือ “การตั้งปณิธานของชาติตะวันตก” และ “หลักการปกครองฝรั่งเศส” พระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างให้เห็นก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตัดผมสั้นซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น, กำหนดให้ใส่สูทแบบตะวันตกเป็นเครื่องแต่งกายอย่างเป็นทางการ, ทรงนำทุกคนให้ดื่มนมวัว กินเนื้อวัว (ด้วยอิทธิพลของศาสนาพุทธ เดิมคนญี่ปุ่นไม่ค่อยกินเนื้อ)
กวงซวี่ทรงสนใจใคร่รู้เรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตะวันตกไม่ยิ่งหย่อนกว่าเมจิ หนังสือ “ซูสีกับกวงซวี่-เกมการอยู่รอดในวังจีน” โดยไอแซค เทย์เลอร์ ฮีดแลนด์ระบุว่า ตอนเด็กกวงซวี่ชอบเล่นฝรั่งมาก นาฬิกา, เครื่องเล่นแผ่นเสียง ฯลฯ นานวันความชื่นชมของกวงซวี่ก็พัฒนาเป็นเรือรบ ปืนใหญ่ และวิทยาการอื่นๆ กวงซวี่ยังสร้างทางรถไฟลัดเลาะไปในพระราชวังต้องห้าม สั่งโรงงานต่อหัวจักรและตู้รถไฟเล็กๆ ชักชวนเหล่านางในนั่งรถไฟ กวงซวี่รู้จักตะวันตกแค่เพียงผิวเผิน และยังอยู่ในเกมการต่อสู้ที่ซับซ้อนเมื่อต้องปะทะกับซูสีไทเฮา ก็เหมือนถูกมัดมือมัดเท้า
วิสัยทัศน์ที่แตกต่างของจักรพรรดิทั้งสองสามารถวัดได้จากการจัดส่งคนไปศึกษาดูงานต่างประเทศ
24 กรกฎาคม ค.ศ. 1887 กวงซวี่ลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งให้ฟู่อวิ๋นหลงและคณะรวม 15 คนไปศึกษางานดูงานที่ยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ พระองค์ขอให้เหล่าขุนนางศึกษาลักษณะภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิสำคัญ, อาวุธยุทโธปกรณ์, หน่วยงานที่ผลิตอาวุธ และจุดประสงค์ของการไปศึกษาดูงานครั้งนี้เพียงแค่ “จดบันทึกอย่างละเอียด เผื่อใช้ในการตรวจสอบ”
หลังจากญี่ปุ่นเริ่มการปฏิรูปเมจิไม่นาน ก็ส่งคณะทูตมี อิวะคุระ โทะโมะมิ ผู้นำรัฐบาลและมหาเสนาบดีฝ่ายขวาเป็นผู้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ยุโรปและอเมริกา พระองค์มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ “ศึกษาสรรพวิทยาจากโลกกว้าง” อาทิด้านระบบการเมืองการปกครอง กฎหมาย การทูตของแต่ละประทศ เมื่อคณะของอิวะคุระกลับประเทศก็เร่งนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม
การสั่งสมความรู้และวัฒนธรรมตกเป็นรากฐานของการล้มล้างรัฐบาลบะฟุกะ และการให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นแรงผลักดันที่ทำให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ รัฐบาลใช้เงินกว่า 200 ล้านตำลึง เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชน ถึงปลายยุคเมจิประชาชนกว่า 95% ของประเทศได้รับการศึกษา นอกจากนี้ระหว่าง 45 ปีที่ครองราชย์เมจิเสด็จประพาสต่างเมืองถึง 96 ครั้ง ไปมาทั่วทุกหนแห่งในประเทศ บ้างก็เพื่อปลอบขวัญกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล, เพื่อแสดงพระมหากรุณาธิคุณให้ประชาชนรับทราบ, เพื่อตรวจตรากองทัพเสริมขวัญกำลังใจ
ขณะที่ซูสีไทเฮานำงบประมาณของกองทัพเรือไปซ่อมแซมต่อเติมพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน จักรพรรดิเมจิกลับกินอยู่อย่างมัธยัสถ์ มอบพระราชทรัพย์ 1 ใน 10 ส่วนไปใช้ในการสร้างเรือรบทุกปี หลังจากญี่ปุ่นได้รับเงินค่าปฏิกรรมสงครามก้อนใหญ่จากจีนตามสนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ รัฐบาลถวายเงิน 20 ล้านเยนแด่พระองค์ ตอบแทนที่ยอมประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์เพื่อพัฒนากองทัพเรือจนมีชัยชนะ
11 มิถุนายน ค.ศ. 1898 จักรพรรดิกวงซวี่ มีพระราชโองการประกาศใช้ระบบการปกครองแบบใหม่ “ปฏิรูประบบราชการเพื่อความเข้มแข็งของชาติ” ตั้ง 4 องคมนตรี (ถานซื่อถง, หลิวกวงตี้, หลินซวี่, หยางรุ่ย) มามีส่วนร่วมในการปฏิรูป คังโหย่วเหวย-ขุนนางนักปฏิรูปและที่ปรึกษาของกวงซวี่ดีใจจนออกนอกหน้า คณะปฏิรูปดูเหมือนมีหน้ามีตา มีตำแหน่ง แต่กลับไม่มีผลงาน ความจริงพวกเขามีหน้าที่เพียงจัดฎีกาของขุนนางและราษฎร เรียบเรียงออกมาให้พระองค์อ่านได้สะดวกขึ้น
ระหว่างนั้นก็เกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่หกกรมของฝ่ายพิธีการ เห็นคำร้องของหวังจ้าวรุนแรงเกินไป จึงไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถือเป็นการขัดพระราชโองการที่จักรพรรดิกวงซวี่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนสามารถถวายฎีกาได้ พระองค์พิโรธมากออกคำสั่ง “ปลด” หวยถ่าปู้และขุนนางหกกรมที่เกี่ยวข้อง หวยถ่าปู้มีแซ่เดียวกับซูสีไทเฮา เมื่อเกิดเรื่องจึงเข้าเฝ้าเพื่อรายงานทันที
14 มิถุนายน ค.ศ. 1898 ซูสีไทเฮาส่งสัญญาณเตือนที่ทำให้จักรพรรดิกวงซวี่สะท้าน พระนางอ้างว่า “ควบคุมอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม” ขับไล่เวิงถงเหอ ขุนนางที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และมือขวาของกวงซวี่ออกจากราชการ ริบป้ายตราตั้งทั้งหมดคืน
21 มิถุนายน ค.ศ. 1898 คังโหย่วเหวยเขียนฎีกาถวายกวงซวี่เพื่อกระตุ้นเตือนพระองค์ว่า “ขอให้ฝ่าบาทยึดหลักการของซาร์ปีเตอร์แห่งรัสเซีย และยึดกฎหมายแบบจักรพรรดิเมจิแห่งญี่ปุ่น” คังโหย่วเหวยเข้าใจสถานการณ์ที่ซูสีไทเฮามีอำนาจเหนือจักรพรรดิกวงซวี่ จึงตั้งใจใช้ชื่อของซาร์ปีเตอร์บอกกวงซวี่ต้องมีความเด็ดขาด วางความชอบธรรมไว้เหนือครอบครัว
แต่ว่าจักรพรรดิกวงซวี่ไม่เหมือนจักรพรรดิคังซีที่รู้จักวางแผนกำจัดขุนนางเผด็จการอย่างอ๋าวป้ายตั้งแต่มีพระชนมายุ 14 พรรษา และไม่อำมหิตเหมือนจักรพรรดิยงเจิ้งที่กวาดล้างผู้เป็นปรปักษ์จนหมดสิ้น กวงซวี่เป็นผู้นำแค่เพียงในนาม ที่ติดกับดักคำสอนคร่ำครึที่ว่า “ความกตัญญูต่อบุพการี”
ในช่วงของการปฏิรูปอู้ซวีของจีน ประมาณ 100 กว่าวัน จักรพรรดิกวงซวี่ออกพระราชโองการเกี่ยวกับการปฏิรูปไปกว่า 180 ฉบับ ที่ปลุกประชาชนสะดุ้งตื่นจากการหลับลึก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่สร้างปรากฎการณ์เป็นวงกว้างอันเนื่องมาจากความเห็นพ้องของหน่วยงานการปกครองหลายส่วน บัณฑิต, ขุนนาง, ประชาชนต่างชื่นชมกับพระราชโองการที่ออกมาว่าเปรียบเสมือนลมฝนใหญ่ที่จะชะล้างความฉ้อฉลที่สั่งสมมานับร้อยปี นำความสุขสมบูรณ์สู่คนจีน 400 ล้านคน แต่ในความจริง พระราชโองการกว่าร้อยฉบับที่ออกมา กลับไม่มีฉบับใดที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใกล้ตัวของราษฎร
ระเบียบปฏิบัติบางอย่างทั้งบางอย่างของการปฏิรูปยังส่งผลกระทบในแง่ลบต่อประโยชน์ของประชาชน เช่น เพื่อให้ถนนในปักกิ่งเรียบร้อย มีคำสั่งห้ามวางหาบเร่แผงลอยบริเวณหน้าประตูเฉียนเหมิน พ่อค้าแม่ค้าต้องย้ายไปอยู่บริเวณเลียบแม่น้ำตะวันตก ทำให้ถนนที่เคยคึกคักเงียบและวังเวง, ปรับวัดวาอารามให้เป็นโรงเรียนตามแบบศาสนาและวิธีของฝรั่ง, ปฏิรูประบบการเข้ารับราชการ จากแบบเดิมเป็นการอภิปรายทางด้านปกครองแบบกระทันหัน ผู้สอบไม่มีเวลาปรับตัวเตรียมตัว ฯลฯ
ระยะเวลา 3 เดือนเศษของการปฏิรูป พระราชโองการมามายที่ออกจากประตูวังไปแล้ว จึงไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ในที่สุด ขณะที่การปฏิรูปก็ล้มเหลว จักรพรรดิกวงซวี่มีพระชนมายุ 27 พรรษา ถูกกักบริเวณในตำหนักอิ๋งไถเสมือนเป็นนักโทษอยู่ถึง 10 ปี
ค.ศ. 1868 หลังจากจักรพรรดิเมจิปฏิรูปอำนาจการปกครองครองใหม่ ได้ยกเลิกการถือครองที่ดินแบบศักดินาแล้วใช้วิธีแบ่งเขตการปกครอง ที่ดินจึงได้รับการปฏิรูปและนำนโยบาย “ความเท่าเทียม 4 กลุ่ม” มาใช้ นอกจากนี้ยังปฏิรูปภาษีที่ดิน ยกเลิกอำนาจในที่ดินของเหล่าเจ้าขุนมูลนายในระบบเดิม ทำให้ภาคการผลิตเฟื่องฟู วัฒนธรรมเปิดกว้าง ประชาชนมองเห็นความสำคัญของการปฏิรูป ทำให้กิจกรรมต่างๆ ในทุกภาคส่วนดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน
แน่นอนว่า รัฐบาลเมจิก็มีพลาดเช่นเดียวกัน แต่พวกเขาสรุปประสบการณ์มาเป็นบทเรียนได้ทันเวลา เนื่องจากกระแสการเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกมีมากเกินไป นโยบายของญี่ปุ่นที่จะทำให้ประเทศเป็นยุโรปก็ต้องพบกับอุปสรรคเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนวัฒนธรรมตะวันตกอย่างขาดสติ หรือมีแนวคิดผิดๆ ที่จะเปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นจักรวรดิยุโรป เปลี่ยนคนญี่ปุ่นเป็นคนยุโรป และหนักข้อถึงกับสนับสนุนการแต่งงานระหว่างคนญี่ปุ่นกับยุโรป ฯลฯ
แต่แนวปฏิบัติในการปฏิรูปของจักรพรรดิเมจิคือการยืมประสบการณ์ของประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรปและอเมริกามาปรับใช้ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบต่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ปัญหาความล้มเหลวการปฏิรูปในจีน นอกจากตัวจักรพรรดิกวงซวี่เองแล้ว ข้างกายพระองค์ยังมีนักเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างซูสีไทเฮา อีกประการหนึ่งก็คือ ประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่นมาก ที่ญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีนั้น จีนอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้นเพื่อให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
ข้อมูลจาก
หวังหลง-เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง-แปล, ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา, สำนักพิมพ์มติชน 2559
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2564