“คาราล” เมืองพีระมิดแห่งเปรู ทวีปอเมริกาใต้ เก่าแก่กว่าพีระมิดทั้งหมดในอียิปต์ !

คาราล นครศักดิ์สิทธิ์ พีระมิด เปรู
คาราล นครศักดิ์สิทธิ์แห่งหุบเขาซูเป (ภาพจาก pixabay.com)

คาราล (Caral) คือเมืองโบราณที่ปรากฏร่องรอยสิ่งปลูกสร้างยุคเก่า ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิด วัฒนธรรมแอนเดียน (Andean culture) ของกลุ่มชนพื้นเมืองตามแนวเทือกเขาแอนดีส โดยเฉพาะกลุ่มที่สืบเชื้อสายกลายเป็นประชากรของจักรวรรดิอินคา (Inca Empire) อันมีศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ประเทศเปรูในปัจจุบัน ดังนั้น คาราลจึงเกิดก่อนอารยธรรมระดับสูงทั้งหมดในทวีปอเมริกา ทั้งอินคา มายา และแอซเท็ก

คาราลถูกค้นพบเมื่อปี 1948 โดย Paul Kosok นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ก่อนมีการศึกษาอย่างจริงจังโดย Ruth Shadi นักโบราณคดีชาวเปรู เป็นการค้นพบทางโบราณคดีซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เปรูและประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา เพราะจากการศึกษาทำให้พบว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความเก่าแก่กว่า 2,900 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 5,000 ปีก่อน เป็นศูนย์กลางทางภูมิปัญญาของทวีปอเมริกา โดยเฉพาะภูมิภาคลาตินอเมริกา และศูนย์กลางทางอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของทวีปอเมริกาทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

Advertisement

ด้วยอายุข้างต้น ถือว่าอารยธรรมแอนเดียนได้พัฒนาไปพร้อมกับอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในส่วนอื่น ๆ ของโลกอย่างเมโสโปเตเมีย อียิปต์ และจีน

คาราลอยู่ห่างจากกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู 182 กิโลเมตร ตั้งอยู่กลางหุบเขาซูเป (Supe Valley) พื้นที่แถบนี้ยังพบชุมชนโบราณอีกหลายแห่ง จึงเรียกรวม ๆ ว่าอารยธรรมคาราล-ซูเป (Caral-Supe) มีที่ตั้งเป็นเนินดินแห้ง เนื้อที่ประมาณ 626 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = พื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสด้านละ 100 เมตร) โดยจุดดังกล่าวอยู่ระหว่างแนวเทือกเขาแอนดีสทางตะวันออกและมหาสมุทรแปรซิฟิกทางตะวันตก

แม้พื้นที่ของคาราลจะเป็นเนินดินแห้ง ๆ แต่ไม่ไกลจากจุดนั้นมีที่ลุ่มเขียวขจีอันอุดมสมบูรณ์ตามแนวแม่น้ำซูเป ซึ่งมองเห็นได้จากที่ตั้งของเมือง เชื่อว่าเป็นแหล่งกสิกรรมหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนของเมืองแห่งนี้ในอดีต

ร่องรอยหลักฐานที่พบในคาราล มีทั้งสิ่งปลูกสร้างจากหินและอิฐ วิหารที่ซ้อนกันหลายชั้นสูงถึง 28 เมตร ลานวงกลมมีแอ่งลึกตรงกลาง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาของคนโบราณ โครงสร้างหินที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นสูง ท่อ/คูระบายน้ำ และฐานของพีระมิดขนาดใหญ่ 6 แห่ง

ด้วยอายุ 5,000 ปี ของเมืองคาราล หากเทียบพีระมิดของเมืองโบราณแห่งนี้กับพีระมิดขั้นบันไดแห่งฟาโรห์โจเซอร์ (Step Pyramid of Djoser) ซึ่งถือเป็นพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์ด้วยอายุราว 4,700 ปี จะเห็นว่าพีระมิดแห่งคาราลมีความเก่าแก่กว่า

บริเวณฐาน วิหาร แห่ง คาราล วัฒนธรรมแอนเดียน
บริเวณฐานวิหารแห่งคาราล วัฒนธรรมแอนเดียน (รูปจาก pixabay.com)

มีชุมชนโบราณถึง 18 จุดถูกค้นพบในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่คาราลมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่าชุมชนอื่น ๆ อย่างชัดเจน ยิ่งพิจารณาจากพีระมิดขนาดใหญ่ นักสำรวจแทบจะสรุปได้ทันทีว่า คาราลเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณโดยรอบ ความโดดเด่นของคาราลอีกประการคือสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายที่กล่าวถึงยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์อย่างน่าเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับอายุเก่าแก่หลายพันปี ถือเป็นงานวิศวกรรมและการออกแบบที่ซับซ้อนและน่าอัศจรรย์

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งไม่ห่างจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าชุมชนโบราณอื่น ๆ มีการติดต่อสัมพันธ์กับคาราลจากบริเวณหุบเขา และเป็นเครือข่ายชุมชนที่ทอดยาวไปถึงบริเวณชายฝั่ง อาณาบริเวณทั้งหมดย่อมเคยเป็นถิ่นฐานของชาวประมงทักษะสูง นักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญ และเกษตรกรกลุ่มใหญ่ที่เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชนวัฒนธรรมแอนเดียนอย่างแน่นอน

เมื่อนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ศึกษา กีปู (Quipu) การบันทึกข้อมูลของกลุ่มชนแห่งอารยธรรมแอนเดียน ทำให้ทราบถึงพัฒนาการและความซับซ้อนทางสังคมของคาราล รวมถึงร่องรอยของสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะลานทรงกลมและพีระมิด ถือเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างหนักแน่นในการสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า คาราลเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” หรือ Sacred City แต่ยังไม่มีคำตอบว่า เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการปกครองด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นทั้งคู่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจใด ๆ

จากการค้นพบทางโบราณคดีที่บ่งชี้พัฒนาการของอารยธรรมและศูนย์กลางของเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่า พร้อมร่องรอยของนวัตกรรมในอดีต เมืองโบราณคาราลจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” โดยยูเนสโก (UNESCO) (คลิกชมภาพเพิ่มเติม เมืองศักดิ์สิทธิ์คาราล-ซูเป)

ปัจจัยที่ทำให้คาราลมีร่องรอยสิ่งปลูกสร้างที่สมบูรณ์อย่างน่าประหลาด นักโบราณคดีเชื่อว่า เป็นเพราะเมืองแห่งนี้ถูกทิ้งจากผู้อยู่อาศัยเดิม ไม่ได้ล่มสลายจากสงครามหรือภัยธรรมชาติ หลังถูกทิ้งร้าง คาราลถูกครอบครองอีกเพียง 2 ครั้ง คือช่วงยุค Middle Formative หรือ Early Horizon เมื่อราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล และอีกครั้งคือยุคที่เกิดรัฐ-อาณาจักรพัฒนาขึ้นในบริเวณนี้ระหว่าง ค.ศ. 900-1400

เนื่องจากที่ตั้งของคาราลค่อนข้างห่างไกลจากเมืองในยุคหลัง และไม่มีสมบัติอย่างทองคำและเงิน มีเพียงกองอิฐ ดิน และหิน เมืองแห่งนี้จึงแทบไม่ถูกปล้นสะดม (เพราะไม่มีอะไรให้ปล้น) รวมถึงไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรยุคหลังมาสร้างครอบทับหรือเกิดชุมชนแห่งใหม่บริเวณใกล้เคียง

ดังนั้น คาราลจึงแทบไม่ถูกรบกวนจากการพัฒนา ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นในบริเวณหุบเขาที่อยู่ต่ำลงไปจนถึงกรุงลิมาทางตอนใต้ ส่วนลุ่่มแม่น้ำซูเปและตอนกลางของหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ก็เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใด ๆ พื้นที่ของนครศักดิ์สิทธิ์อายุ 5,000 ปี จึงถูกรบกวนจากฝีมือมนุษย์น้อยมาก และเป็นเช่นนั้นกระทั่งทีมของ Ruth Shadi เริ่มทำการสำรวจทางโบราณคดีอย่างเต็มรูปแบบ และมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและการท่องเที่ยว แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นบ้าง แต่ล้วนใช้วัสดุท้องถิ่นทั้งสิ้น

ชมวิดีโอ “นครศักดิ์สิทธิ์ คาราล-ซูเป” จาก UNESCO TV / NHK Nippon Hoso Kyokai

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Lonely Planet : Caral

peru.travel : Atrraction Caral, The most ancient civilization in the Americas

UNESCO World Heritage Centre : Sacred City of Caral-Supe


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565