“เจียร์ พระตะบอง” สิ้นชีพจากการต่อสู้บนสังเวียน มูลเหตุเลิกชกมวยคาดเชือก

แพ เลี้ยงประเสริฐ กับ สมถวิล โชคอำนวย ชก มวย มวยคาดเชือก
ภาพประกอบเนื้อหา - นายแพ เลี้ยงประเสริฐ (ซ้าย) กับ นายสมถวิล โชคอำนวย (ขวา) มวยจากสุราษฎร์ธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2564)

มูลเหตุของการยกเลิกชก “มวยคาดเชือก “มาจากการต่อสู้ระหว่าง นายแพ เลี้ยงประเสริฐ กับนายเจียร์ พระตะบอง หรือที่เรียกกันว่า เจียร์ แขกเขมร

“พันเมือง” เขียนไว้ใน “เล่าเรื่องพี่น้องสกุลเลี้ยงประเสริฐฯ” ว่า

“แพ เลี้ยงประเสริฐ เปนคนที่มีร่างกายสูงใหญ่กำยำกว่าพี่น้องทุกคนในสกุลเดียวกับเขา ฉะนั้นแพจึงได้คู่ชกบ่อยที่สุดกับนักมวยฝีมือดีในรุ่นหนักด้วยกัน แต่แพพ่ายแพ้ยาก มีแต่คว้าชัยชนะมาไว้เกือบทุกครั้ง…ชื่อเสียงของแพ เลี้ยงประเสริฐ จึงเลื่องลือไปไกลถึงเมืองพระตะบอง ประเทศเขมร เจียร์ แขกขะแม ครูมวยเขมรครัว อยากจะลองดีแพ เลี้ยงประเสริฐ จึงด้นดั้นเดินทางมาจากเมืองเขมร ขอเปรียบคู่ชกกับแพแบบท้าทายกันทีเดียว…

คุณพระชลัมจึงเปิดโอกาสจัดมวยคู่นี้ให้พบกันในรายการวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 อย่างกระชั้นชิด โดยจัดให้คุณหลวงพิพัฒพลกายเปนกรรมการห้ามมวยบนเวที และการชกได้ดำเนินมาโดยนักมวยเขมรชกมีชั้นเชิงสูงกว่าในยกต้น ๆ ยกสามแพป้อนหมัดเข้ากกหูเจียร์เขมรครัว แล้วเตะตามด้วยอาวุธเท้างาม ๆ หลายครั้ง เจียร์จึงกลับเปนรองเรื่อยมา

ในยกสี่ แพประจงหมัดใส่ถูกที่ซอกคอ นักมวยเขมรเซซุนไม่เปนขบวน ตามเตะเข้าอีกสองสามครั้งที่บริเวณเหนือท้องน้อย เจียร์ถูกเตะหนักทนไม่ไหว ล้มลงนับสิบให้พี่เลี้ยงนำลงเปลหามกันลงไป แต่เจียร์บอบช้ำนัก และอาการกลับทรุดลงมาก จึงต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลในคืนวันนั้น พอรุ่งขึ้นเช้าก็ได้ข่าวแพร่สบัดไปทั่วกรุงว่า เจียร์ตายเสียแล้ว เพราะถูกเตะจนกระเพาะปัสสาวะแตก”

อย่างไรก็ตาม เรื่อง เจียร์ พระตะบอง ตายเพราะถูกเตะจนกระเพาะปัสสาวะแตก ครั้งขึ้นชก “มวยคาดเชือก” นั้น ไม่ตรงกับคำให้การของนายแพ โดยเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว ขึ้นไปครอบครูและหัดมวยกับนายแพ และนายโพล้ง เลี้ยงประเสริฐ ผู้เป็นพี่ชายนั้น ทั้งสองร่วมกันเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า

นายแพเป็นรองตั้งแต่รูปร่าง นายเจียร์นั้นใหญ่กว่านายแพมาก ชนิดนิ้วโป้งกับนิ้วก้อย บนเวทีคราวหนึ่งนายเจียร์รุกเป็นการใหญ่ จนนายแพไปติดเชือกกั้นเวทีตรงมุม นายโพล้งเห็นได้จังหวะจึงตะโกนบอกนายแพว่า “หนุมานถวายแหวน” อันเป็นไม้ตายของสำนัก พอนายเจียร์โถมเข้ามา นายแพก็ถีบเข้าที่ท้องน้อยจนนายเจียร์ตัวงอมาข้างหน้า นายแพจึงใช้หมัดคู่เสยเข้าซอกคอ (ที่เรียกว่า “หนุมานถวายแหวน”) ทำให้นายเจียร์ชะงัก จากนั้นนายแพก็ใช้มือซ้ายเหนี่ยวคอนายเจียร์เข้ามาพร้อมกับชกด้วยหมัดขวาอัดเข้าที่อกอีกหลายหมัด จนนายเจียร์ทรุดลง

ดังนั้น นายเจียร์ไม่ได้ถูกเตะจนพ่ายชกถึงตาย แต่ถูกหมัดคู่ “หนุมานถวายแหวน” จน “Knock out” หมดสติหน้าคว่ำลงกับพื้นเวที ผู้ตัดสินนับถึง 10 และชูมือนายแพให้เป็นผู้ชนะ

เมื่อปรากฏว่านายเจียร์ตาย วันรุ่งขึ้นตำรวจก็มาจับนายแพเข้าห้องขัง ฝ่ายตำรวจนครบาลพยายามดำเนินคดีนายแพให้ถึงที่สุด ทำรายงานผลการสอบสวนเตรียมยื่นฟ้องต่อศาล แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจรายงานนั้นและรับสั่งระงับคดีไว้ เพราะการกระทำของนายแพไม่ส่อถึงการเจตนา และได้กระทำไปตามวิถีทางของการต่อสู้

ต่อมา นายแพถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระพ้นจากข้อหาฆ่าคนตาย และนายแพได้รับรางวัลการชกเพียงหนึ่งร้อยบาทเท่านั้น เหตุการณ์นี้นับเป็นเรื่องเกรียวกราวที่สุดในประวัติศาสตร์การชกมวยของยุค

จากการที่นายแพชกนายเจียร์จนตายนี้เอง กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า มวยคาดเชือก เป็นการโหดร้ายรุนแรงมากเกินไป จึงออกประกาศห้ามไม่ให้มีการชกแบบนี้อีกต่อไป และให้มาสวมนวมแบบมวยฝรั่งแทน

อาจถือได้ว่า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2471 เป็นวันสุดท้ายของการชกมวยคาดเชือก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมพงษ์ แจ้งเร็ว. “นักมวยเก่าเล่าขานตำนานมวย คณะเลี้ยงประเสริฐ บ้านท่าเสา,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2564, น. 124-127


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2565