ผู้เขียน | หนุ่มบางโพ |
---|---|
เผยแพร่ |
โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ นักมวยดังจากบ้านท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าของฉายา “ยอดมวยเตะ” เป็นนักชกที่มีชื่อเสียงรุ่นเดียวกับ สุวรรณ นิวาสะวัต นักมวยพระนครจากสำนักสวนกุหลาบ เจ้าของฉายา “เอลโมมีฤทธิ์” (เอลโมเป็นชื่อดาราพระเอกภาพยนตร์สมัยนั้น ซึ่งยังเป็นภาพยนตร์เงียบ) ทั่งคู่ต่างขับเคี่ยวกันมาตลอดในสมัยนั้น
ภักดี สวนรัตน์ หรือ “พันเมือง” เล่าเรื่องการพบกันระหว่างนายโพล้งกับนายสุวรรณไว้ว่า
“…โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ อีกคนหนึ่งที่วงการมวยสมัยนั้นจะต้องกล่าวชื่อถึงเขาอยู่เสมอ เพราะโพล้งเปนยอดมวยเตะคล่องซ้ายขวายากจะหาตัวจับได้ นักมวยกรุงเทพฯ ขนาดรุ่นเดียวกัน น้อยคนที่จะขันอาสาต่อกรกับโพล้ง จะมีอยู่คนหนึ่งที่เคยเปนคู่ขับเขี้ยวกันมาหลายครั้ง เปนยอดมวยทรหด และมีอาวุธหมัดขวาหนักอย่างร้ายกาจ เขาผู้นั้นคือสุวรรณ นิวาสวัต ซึ่งเคยชกกับแอ ม่วงดี เจ้าตำหรับมวยลวดลายแห่งยุคมาหลายครั้งเหมือนกัน แอชกดีมากในสองยกแรก ทำเอาสุวรรณบอบช้ำแทบว่าจะพาตัวไปไม่รอด แต่สุวรรณนั้นทรหดเหลือเกิน พยายามป้อนหมัดให้แอ ม่วงดี หลับได้ในยกท้ายๆ ทุกครั้งไปเหมือนกัน
คราวที่สุวรรณมาพบกับโพล้ง เลี้ยงประเสริฐอีกเช่นกัน โพล้งรับประทานหมัดขวาของสุวรรณ นิวาสะวัติลงไปแอ่นขาเป๋ไปเป๋มา แต่สุวรรณก็ไม่พ้นถูกโพล้งเตะสลบในปลายยกทุกทีอีกเหมือนกัน นายโพล้ง เลี้ยงประเสริฐจึงถูกยกย่องเปน ‘ยอดมวยเตะ’ ที่เกรียงไกรสุดของยุคมวยคาดเชือก…”
แต่ในการพบกันคราวหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นคราวแรกที่ทั้งสองขึ้นชกด้วยกัน ผู้ใช้นามปากกาว่า “ปู่มวย” เล่าไว้ว่า
“ก่อนหน้าจะถึงวันชกกันระหว่างสุวรรณ นิวาสวัต นักมวยทรหดของพระนครกับนายโพล้ง เลี้ยงประเสริฐ นักมวยอุตรดิตถ์ ข่าวเล่าลือเกี่ยวแก่อิทธิฤทธิ์ของนักมวยกรุงเทพฯ ทำให้นายโพล้งไม่มีความสบายใจเลย เพราะนายโพล้งเห็นแก่ตาตนเองเมื่อ 2-3 วันก่อนว่า สุวรรณนี้แข็งแกร่งทรหดอย่างร้าย ประจักษ์พยานคือลูกตุ้มเหล็กหนักๆ นายโพล้งลองยกดูไม่ขึ้น แต่นายสุวรรณเหนี่ยวเพียงมือเดียวเท่านั้น ลูกตุ้มเหล็กลอยขึ้นมาอย่างง่ายดาย
นอกจากนั้น นายสุวรรณคนนี้เปนพวกมวยนักเรียนเสียด้วย การชกกันบางทีจะต้องใช้ญิวญิตสูเข้าช่วย นายโพล้งฟังคนโน้นพูดคนนี้พูดแล้วไม่สบายใจเลย”
และเมื่อถึงวันชก
“อันแรก นายโพล้งยังไม่ชก เขาเอาเท้าแหย่ไปที่โคนขานายสุวรรณก่อน ฝ่ายนายสุวรรณนั้นแกค่อนข้างช้า ติดจะอืดอาดแต่หลักดีนัก สุวรรณเหวี่ยงหมัดแบบบ๊อกซิ่งมาทีหนึ่ง นายโพล้งยกศอกขึ้นรับ แล้วเอาเท้าเตะโคนขาอีกที นายสุวรรณเสียท่าเลยนั่งพับเพียบลงไป เสียงคนดูโห่เกรียว แต่นายสุวรรณหน้าแดงก่ำ เขารุกไล่นายโพล้งไปติดมุม นายโพล้งขัดใจจึงเอาหมัดกระแทกขากรรไกรไปทีหนึ่ง นายสุวรรณล้มลงนั่งแปะบนพื้นอีก คราวนี้ลุกขึ้นไม่ทัน กรรมการจึงนับ 1 ถึง 6 พอลุกขึ้นมาได้ นายโพล้งดีดด้วยเท้าเต็มเหนี่ยวถูกซอกคอพาดขากรรไกร ทนอย่างร้าย! นายสุวรรณพุ่งตัวเข้ามาอีกราวกับว่าจะกินเลือดนายโพล้งให้ได้ในวันนี้…
ยกที่ 2 ฉากการต่อสู้ดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้น นายโพล้งระดมเท้าซ้ายเท้าขวา เตะกราดเปนการใหญ่ แต่ยกนี้สุวรรณรู้หลักเสียแล้ว เขาปล่อยให้นายโพล้งเตะมา เขาเก็งมือคอยจับ พอได้ทีเขาบิดปลายเท้าเสีย นายโพล้งร้องโอ้ยเบาๆ ในลำคอ ชักเท้ากลับแทบไม่ทัน ต่อจากนั้นก็เพิ่มความระวังตัวขึ้นมาก ในอันนี้สุวรรณเสียท่าอีก ถูกนายโพล้งเตะขากรรไกรฟันหลุดเลือดกบปาก แต่ความเปนมนุษย์ทรหดของเขา ทำให้สุวรรณกลืนฟันและเลือดหายหมดลงไปในลำคอ ภาพดุเดือดและน้ำใจทรหดของสุวรรณ สามารถทำเอาโพล้งป้อแป้ไป ในปลายยกนี้เอง สุวรรณจับปลายเท้าของโพล้งไว้ได้อีก คราวนี้เขาบิดเสียจนโพล้งตัวโก่ง พอกรรมการเข้ามาห้าม ก็มีคนดูเห็นนายโพล้งนั่งกับพื้นสังเวียน เส้นเสียทำให้เดินไม่ได้ กรรมการจึงจับมือนายสุวรรณ นิวาสวัตชะนะเทฆนิคเกิลน๊อคเอ๊าท์ไปในยกนี้เอง
เมื่อชกกันเสร็จแล้ว นายโพล้งได้ค่าถูกบิดเท้า 100 บาท และนายสุวรรณ นิวาสวัตผู้ชะนะเพราะบิดเท้าเก่งได้รางวัล 120 บาท แต่กว่านายโพล้งจะเดินได้เปนปกติก็กินเวลาอยู่หลายวันทีเดียว”
นี่เป็นอีกหนึ่งตำนานคู่ปรับแห่งวงการมวย โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ vs สุวรรณ นิวาสะวัต
อ้างอิง :
สมพงษ์ แจ้งเร็ว. “นักมวยเก่าเล่าขานตำนานมวย คณะเลี้ยงประเสริฐ บ้านท่าเสา,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับมีนาคม 2564, น. 124-127
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2565