บางยี่เรือ บางอะไร

อุโบสถ วัดบางยี่เรือเหนือ บางยี่เรือ
อุโบสถวัดบางยี่เรือเหนือ หรือ วัดบางยี่เรือใน ปัจจุบันคือ วัดราชคฤห์วรวิหาร (ภาพจาก http://www.watrajkrueh.com

คำ “บางยี่เรือ” มีปรากฏในจดหมายเหตุเก่าดังนี้ :-

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) :-

“ณ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย เสด็จไปบำเพ็ญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือ, แล้วทรงพระประสาทเลื่อมใสศรัทธาอุทิศถวายเรือขมวดยาปิดทองคำทึบหลังคาสีสักหลาดเหลืองลำหนึ่ง คนพาย 10 คน, พระราชทานเงินตราคนละ 2 ตำลึง และพาเข้าให้บวชเป็นปะขาว.”

“ณ วันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวงลงเรือแห่แต่ฉนวนน้ำเข้าไปพระเมรุวัดบางยี่เรือใน นิมนต์พระสงฆ์ สบสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายพระมหาทานเป็นอันมาก. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงศีล บำเพ็ญพระธรรมแรมอยู่พระตำหนักวัดบางยี่เรือนอก 5 เวน, แล้วให้ทำกุฏิถึง 120 กุฏิ แล้วให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและพระเจดีย์ วิหาร. คูริมพระอุโบสถนั้นให้ขุดลงแล้วปลูกบัวหลวง, ชำระแผ้วถางให้กว้างออกไปกว่าแต่ก่อน แล้วอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายคณะวิปัสสนามาอยู่ ณ กุฏิซึ่งทำถวาย.”

“ณ วันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 เพลา 2 ยามเสือเข้ามากินเขมรชายซึ่งเฝ้าสวนวัดบางยี่เรือ พระเจ้าลูกเธอและเจ้าพระยาจักรี พระยายมราช ข้าหลวง ออกไปวางยาเบื่อเสือกินเมาอยู่ จึงแต่งคนเข้าไปแทงเสือนั้นตาย.”

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความเหมือนกันหมดกับฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เว้นแต่ตรง “วัดบางยี่เรือนอก” เป็น “วัดบางยี่เรือใต้”.

นิราศนรินทร์ : –

“จากมามาลิ่วล้ำ   ลำบาง

บางยี่เรือลาพลาง   พี่พร้อง

เรือแผงช่วยพานาง   เมียงม่าน มานา

บางบ่รับคำคล้อง   คล่าวน้ำตาคลอ”

แต่บางนี้อยู่ที่ไหน

ตำนานพระอารามหลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์ ณ อยุธยา) แต่งและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2466 กล่าวว่า :-

“วัดจันทาราม อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ ริมปากคลองบางยี่เรือ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือกลาง

ตำนานพระอารามหลวงบอกให้เรารู้ว่า “บางยี่เรือ” อยู่ในคลองบางกอกใหญ่

“คลองบางกอกใหญ่” ก็คือคลองที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า “คลองบางหลวง” บางกอกใหญ่ เป็นชื่อที่คู่กับ “บางกอกน้อย” มาแต่เดิม, เพราะคำ “บางกอก” มีเอ่ยถึงมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว. คำ “บางหลวง” อาจมาเกิดขึ้นในสมัยเมื่อมาตั้งกรุงธนบุรีก็ได้. นายนรินทร์ธิเบศร์มหาดเล็กวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้แต่งนิราศนรินทร์ เมื่อเดินทางมาถึงปากคลองก็กล่าวว่า :-

“มาคลองบางกอกกลุ้ม   กลางใจ

ฤาบ่กอกหนองใน   อกช้ำ

แสนโรคเท่าไรไร   กอกรั่ว ราแม่

เจ็บรักแรมรสกล้ำ   กอกร้อยฤาคลาย”

แต่พระยาตรังกวีสมัยเดียวกันกลับเรียก “บางหลวง” (ในนิราศลำน้ำน้อย) :-

“บางหลวงคลองน้ำวิ่ง   วนวง

ขนานขนัดแพพวนเหนียว   หน่วงฝั้น”

มีพื้นที่อยู่พื้นที่หนึ่ง แถวริมคลองบางหลวงหลังวัดกัลยาณ์ ยังมีชื่อเรียกกันว่า “บางหลวง”.

แต่อย่างไรก็ตาม คำ “บางกอกใหญ่” กลับได้เป็นชื่อเขต (อำเภอ) คือ “เขตบางกอกใหญ่” แต่ท้องที่ “บางหลวง” กลับเป็น “แขวงวัดกัลยาณ์”.

“บาง” แปลว่า ทางน้ำ หรือ คลอง.

พึงสังเกต พื้นที่ที่ไม่มีคลองจะไม่มีคำว่า “บาง” เลย, แต่จะเป็น “บ้าน”. เช่น บ้านใหม่, บ้านทวาย, บ้านขมิ้น บ้านหามแห (กาฬสินธุ์), บ้านโคกใหญ่ (สระบุรี) ฯลฯ.

คลองที่มีน้ำชนกันกลางคลองก็เรียก “คลองบางน้ำชน”, คลองที่มีต้นลำภูมากก็เรียก “คลองบางลำภู” คลองที่มีต้นจากมากก็เรียก “คลองบางจาก”, คลองที่มีคนรักกันมากก็เรียก “คลองบางรัก”.

คำว่า “คลองบางยี่เรือ” นี้ถ้าไม่มีตำนานพระอารามหลวงบันทึกไว้อาจไม่มีใครรู้จักแล้วก็ได้ เพราะปัจจุบันเขาเรียกกัน “คลองสำเหร่”, คือเอาชื่อปากคลองด้านใต้มาเรียกปากคลองด้านเหนือด้วย. คลองนี้ด้านใต้ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาคู่กับคลองบางไส้ไก่เหนือสะพานกรุงเทพมาประมาณกิโลเมตรเศษ. ด้านเหนือมาออกคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่.

วัด 3 วัดตรงพื้นที่นี้ได้ชื่อไปจากคลองนี้คือ วัดบางยี่เรือเหนือ, วัดบางยี่เรือกลาง, วัดบางยี่เรือใต้, ที่ขนาบปากคลองจริงๆ นั้นมีเพียง 2 วัดคือ วัดบางยี่เรือกลาง กับวัดบางยี่เรือใต้ วัดบางยี่เรือกลางอยู่ปากคลองด้านเหนือ, วัดบางยี่เรือใต้อยู่ปากคลองด้านใต้, ที่เรียกวัดปากคลองด้านเหนือว่า “วัดบางยี่เรือกลาง” ก็เพราะอยู่กลางระหว่างวัดบางยี่เรือเหนือ กับวัดบางยี่เรือใต้,

วัดทั้ง 3 วัดนี้ปัจจุบันมีชื่อใหม่ทั้งนั้น ปรากฏประวัติย่ออยู่ในตำนานพระอารามหลวงดังนี้ :

วัดราชคฤห์ อยู่คลองบางกอกใหญ่เหนือ วัดจันทาราม เดิมชื่อวัดบางยี่เรือเหนือ. เป็นวัดโบราณเจ้ากรุงธนบุรี, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) สร้างใหม่, ถึงรัชชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชคฤห์”.

วัดจันทาราม อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ ริมปากคลองบางยี่เรือ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือกลาง, พระยาสุรเสนาสร้าง, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดจันทาราม”

วัดอินทาราม อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝังใต้ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือใต้. เป็นวัดโบราณ เจ้ากรุงธนบุรีปฏิสังขรณ์. ถึงรัชชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) ปลัดบาญชีกรมมหาดไทยสถาปนาใหม่, ภายหลังพระราชทานนามว่า วัดอินทาราม.”

วัดราชคฤห์ นั้นปากชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดมอญ”, ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทได้อาราธนาพระมอญมาครอง. ส่วนวัดจันทารามนั้นปากชาวบ้านเรียก “วัดกลาง” เฉยๆ, และวัดอินทาราม ชาวบ้านก็เรียก “วัดใต้” ห้วนๆ เช่นกัน.

จะเห็นว่าแม้เอกสารโบราณด้วยกันก็ยังเรียกไม่ตรงกัน, แล้วอะไรจะถูก.

ถ้าจะถามผม ผมก็ตอบว่า ก็ถูกด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ เพราะมันเป็นคำเรียกคนละสมัย คือเมื่อครั้งยังไม่มีกรุงธนบุรีนั้น เขาเรียกกันตามสายน้ำ. คือแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมันไหล (มาแต่เหนือ) เข้ามาแต่คลองบางกอกน้อยแล้วมาออกปากคลองบางกอกใหญ่, ถ้าคุณลอยเรือมาตามลำน้ำคุณก็จะถึงวัดมอญหรือวัดราชคฤห์ก่อน เพราะอยู่เหนือกว่า จึงเป็น “บางยี่เรือเหนือ” ส่วนวัดอินทาราม นั้นถึงทีหลังเพราะอยู่ใต้น้ำ จึงเป็น “บางยี่เรือใต้”

พอมาตั้งกรุงธนบุรีปุ๊บ คุณแล่นเรือเข้าไป แต่ปากคลองด้านกรุงอยู่ คุณก็จะถึงวัดใต้ก่อน, วัดใต้จึงเป็น “บางยี่เรือนอก” ส่วนวัดมอญนั้นอยู่ลึก-ในเข้าไปอีก จึงเป็น “บางยี่เรือใน”.

วัดจันทารามนั้นไม่มีปัญหา, ไม่ว่าจะมาจากทางไหนก็อยู่กลางทั้งนั้น จึงเป็น “บางยี่เรือกลาง”.

คำ “บาง” ก็แปลไปแล้ว, อยู่แต่ “ยี่เรือ” จะแปลว่าอะไร

ตามเอกสารของทางราชการคือ เขตธนบุรีพิมพ์เผยแพร่นั้นบอกว่า

“ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน ใช้เรือสำเภารับ-ส่งสินค้าในบริเวณใกล้เคียงกับวัดราชคฤห์ มีพระญาติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 2 คน นำเรือสำเภามาจอดอยู่เป็นประจำ จึงเรียกตำบลนี้ว่า ‘บางยี่เรือ’. คำว่า ยี่ แปลว่า สอง. ในสมัยโบราณ มักนิยมเรียกท้องถิ่นหนึ่งๆ ว่า ‘บาง’ จึงเรียกบริเวณแถบนั้นว่า ‘บางยี่เรือ’”.

ประวัติของทางการเขตธนบุรีนี้ ผมขอคัดค้าน ว่าไม่จริง, ไม่ถูก, ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ :-

1. เรื่องพระญาติของพระเจ้ากรุงธนบุรี 2 คนนำเรือสำเภามาจอดเป็นประจำ

ก. ญาติ 2 คนนี้ไม่เคยปรากฏในจดหมายเหตุใดเลย.

ข. แต่ก่อนนี้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก, เรือ-แพย่อมจอดกันเต็มแม่น้ำลำคลอง, เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่เรือ 2 ลำจอดจนเป็นที่สังเกตของผู้คนจนเป็นเหตุให้เกิดคำว่า “ยี่เรือ” ขึ้น.

ค. แถววัดราชคฤห์ไม่เคยมีร่องรอยว่าจะเป็นท่าจอดเรือขนส่งสินค้าเลย, ถ้าหากว่าแถวนี้เป็นย่านเจริญถึงขนาดนั้น คงไม่มีเรื่องเสือเข้ามากินคนเฝ้าสวนที่วัดบางยี่เรือใต้แน่.

2. คำ “ยี่” ไม่เคยมีแปลว่า 2. “ลูก 2 คน” ไม่เคยมีใครพูดว่า “ยี่ลูก”. ยี่ แปลว่า ที่ 2, ลูกคนที่ 2 เรียกลูกยี่ อย่างเช่น “เจ้ายี่พระยา” เป็นต้น เดือนยี่ คือ เดือนที่ 2. ยี่สิบ คือ สิบที่ 2.

3. คำว่า “บาง” เป็นคำเรียกท้องถิ่นก็แต่เฉพาะท้องถิ่นที่มีลำคลองเท่านั้น ถ้าท้องถิ่นใดไม่มีลำคลองก็จะเรียกว่า “บ้าน” ดังตัวอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

เจ้าคุณพระพิพัฒน์ธรรมคณี เจ้าอาวาสวัดราชคฤห์ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เคยมีผู้ใหญ่มาเล่าให้ท่านฟังว่า พื้นที่ตรงนี้เคยมีกองมอญน้อยๆ จะตามกองทัพมาแต่สมัยไหนไม่ทราบ อพยพเข้ามาอยู่, จึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ตามภาษาของเขาว่า “ยิรัว” แล้วคนไทยเราฟังไม่เข้าใจจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ยี่เรือ” เหมือนอย่าง เซอร์ เจมส์บรุค เราก็เรียกเพี้ยนไปเป็น เยสัปรุษ บ้าง เยี่ยมบุกรุก บ้าง อย่างนั้น.

ผมเชื่ออย่างที่พระท่านว่าครับ เพราะ 1. วัดนั้นเป็นหลักฐานอย่างดี แสดงว่าวัดนี้แต่เดิมคงเป็นวัดรามัญนิกายมาก่อน สมเด็จกรมพระราชวังบวรท่านจึงทรงนิมนต์พระรามัญมาครองพร้อมๆ กับวัดตองปุ (วัดชนะสงคราม) และวัดที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี. อนึ่ง คนมอญพม่านั้นจะอพยพไปไหนเขาจะเอาพระไปด้วย เมื่อรัชกาลที่ 1 พระยาทวายอพยพมาอยู่กรุงเทพฯ โปรดให้ไปอยู่แถวคอกกระบือ (แถวยานนาวา) ก็เอาพระมาด้วย. อนุสรณ์ในคราวนี้ก็คือวัดปรกในตรอกบ้านทวาย นั่นไง (ปัจจุบันเรียกตรอกวัดดอน หรือซอยดอนกุศล) ที่ลำปางก็มีอยู่หลายวัดที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งชาวพม่าเข้ามาทำไม้

2. ใครๆ คงจะเคยได้ยินภาษิตมอญที่ว่า “เจี๊ยะเปิงยิๆ…” ซึ่งแปลว่า กินข้าวน้อยๆ นะครับ, ยิ แปลว่า น้อย และ รัว ก็แปลว่า กอง

สุดท้ายนี้ก็ขอแก้คำผิดข้างต้นที่ผมบอกว่า “คลองที่มีคนรักกันมากเรียก คลองบางรัก” คงจะไม่ยังงั้นมั้ง เพราะไม่ว่าคลองไหนๆ คนมันก็รักกันทั้งนั้น แท้จริงแล้วคงจะเป็นว่า มีต้นรักมาก นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2565