ย้าย “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ในพระนิพนธ์กรมพระยาดำรงฯ

ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

เมื่อกล่าวถึง ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือที่คนจีนเรียกว่า “ตั่วเหล้าเอี้ย” แม้จะมีการประดิษฐานที่ศาลเจ้าอื่นๆ แต่ผู้คนส่วนมากมักถึงศาลเจ้าพ่อที่ถนนตะนาว ด้วยเป็นเศาลเจ้าจีนเก่าแก่ที่ผู้คนให้ความศรัทธา และมีชื่อเสียงมาช้านาน

แต่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว ที่ไม่ค่อยเป็นที่เผยแพร่ คือ ก่อนหน้านั้นศาลเจ้าพ่อเสือตั้งอยู่ที่อื่น ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ถนนตะนาวอย่างเช่นปัจจุบัน รายละเอียดเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ความทรงจำ” (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2546)

“ที่จะเล่าเรื่องราชการในตอนปีมะเมียต่อไป พอเลิกไว้ทุกข์แล้ว รัฐบาลก็เริ่มจัดการต่างๆ อันเป็นฝ่ายทะนุบำรุงบ้านเมือง พิเคราะห์ดูรายการที่จัด เห็นได้ว่าดำเนินรัฏฐาภิปาลโนบายตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งนั้น เป็นต้นว่า

เมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ และคลองดำเนินสะดวก บำรุงการทำไร่นา ค้าขายทางฝ่ายตะวันตก ถึงชั้นนี้ก็ให้เริ่มขุดคลองเปรมประชากร แต่หน้าวัดโสมนัสวิหารผ่านทุ่งหลวงไปออกแม่น้ำที่เกาะเกิดแขวงกรุงศรีอยุธยา เพื่อบำรุงการทำไร่นาค้าขายทางฝ่ายตะวันออกอย่างเดียวกัน ในรัชกาลก่อนได้ทำถนนเจริญกรุงให้เป็นทางใช้รถและสร้างตึกแถวทั้งสองฟากทำนองเดียวกัน

แต่ถนนบำรุงเมืองมีตึกและร้านเรือนราษฎรตั้งค้าขายมากอยู่แล้ว สองฟากถนนมิได้เป็นที่ว่างเหมือนอย่างถนนเจริญกรุง การที่ขยายถนนจะต้องรื้อตึกเรือนของเดิมมาก จึงโปรดฯ ให้ว่ากล่าวกับเจ้าของที่ ใครจะปลูกตึกแถวเองตามแบบหลวงก็ได้ หรือมิฉะนั้นก็จะออกเงินพระคลังข้างที่สร้างตึกแถว และจะเก็บค่าเช่าใช้จนคุ้มต้นเงินก่อนจึงคืนให้เจ้าของเดิม

การขยายถนนบำรุงเมืองทั้งนั้นมีเรื่องควรจะเล่าได้เรื่อง 1 คือ เดิมมีศาลเจ้าของพวกจีนเป็นตึกใหญ่อยู่ที่ริมถนนบำรุงเมืองแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “ศาลเจ้าเสือ” กีดทางที่จะขยายถนน จึงพระราชทานที่หลวงแห่งหนึ่งริมถนนเฟื่องนครให้ย้ายศาลเจ้าเสือมาตั้ง และจะสร้างศาลใหม่พระราชทานแทนศาลเดิม

แต่พวกจีนไม่พอใจจะให้ย้าย คิดอุบายให้เจ้าเข้าคนทรงพูดจาพยากรณ์ว่าจะเกิดภัยอันตายต่างๆ จนเกิดหวาดหวั่นกันในหมู่พวกจีนในสำเพ็ง ขอแห่เจ้าเอาใจมิให้คิดร้ายก็พระราชทานให้แห่ตามประสงค์ และเสด็จออกทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ฉันได้ตามเสด็จไปดูแห่ยังจำได้

กระบวนที่แห่นั้นเป็นแห่อย่างเจ๊กมีธงทิวและล่อโก๊เป็นต้น แปลกแต่มีคนทรงเจ้าแต่งตัวใส่เสื้อกั๊กนุ่งกางเกงและโพกหัวสีแดง นั่งบนเก้าอี้หามมาในกระบวนสักสองสามคน บางคนเอาเข็มเหล็กแทงแก้มทะลุเข็มคาหน้ามาให้คนเห็น บางคนบันดาลให้คนหามเก้าอี้เดินโซเซไม่ตรงถนนได้ เมื่อมาถึงพระที่นั่งตรัสสั่งให้ตำรวจเข้าหามเจ้าโซเซ หามไปได้ตรงๆ คนดูก็สิ้นเลื่อมใส

เมื่อเสร็จการแห่แล้วโปรดฯ ให้กรมเมืองประกาศว่า ถ้าเจ้ายังขืนพยากรณ์เหตุร้าย จะเอาผิดกับคนทรง ในไม่ช้าเจ้าเสือเข้าคนทรงอีก แต่คราวนี้ประกาศว่าที่จะโปรดฯ ให้ย้ายศาลไปสร้างใหม่นั้นเป็นการดีนัก เจ้าพอใจมาก ศาลเจ้าเสือยังอยู่ริมถนนเฟื่องนคร [ปัจจุบันถนนเฟื่องนครตั้งแต่สี่กั๊กเสาชิงช้าจนถึงบริเวณวัดบวรนิเวศวิหารมีชื่อว่า ถนนตะนาว] ใกล้วัดมหรรณพ์ฯ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

 


เผยพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2565