ทำไม “ตุ๊กตาหินอ่อน” ยุครัชกาลที่ 5 จัดแสดงเพียง 44 ปี ในวัดพระแก้ว ก่อนจะหายไป?

ภาพรูปแกะสลักหินอ่อน ที่ลานวัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจาก นสพ. ปี 1893 (ภาพจากเอกสารเก่าต้นฉบับของสะสม อ.ไกรฤกษ์ นานา)

ทำไม “ตุ๊กตาหินอ่อน” ยุครัชกาลที่ 5 จึงจัดแสดงอยู่เพียง 44 ปี ภายในวัดพระแก้ว ก่อนจะอันตรธานหายไปจากที่นั่น?

ถาม : เรียนถามอาจารย์ ทำไมรูปแกะสลักหินอ่อน ที่ถูกค้นพบใหม่ ถึงหายออกไปจากลานวัดพระแก้ว ในสมัยหลังค่ะ?

ตอบ : ภายหลังจัดแสดงอยู่เพียง 44 ปี ก็ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ครับ เอกสารเก่าของชาวต่างชาติที่เคยพบเห็นรูปศิลาหินอ่อน ยุครัชกาลที่ 5 นับเป็นหลักฐานเก่าที่น่าเชื่อถือที่สุดของผู้ที่เคยพบเห็น “ตุ๊กตาหินอ่อน” และได้บันทึกข้อมูลเอาไว้

ภาพรูปแกะสลักหินอ่อน ที่ลานวัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจาก นสพ. ปี 1893 (ภาพจากเอกสารเก่าต้นฉบับของสะสม อ.ไกรฤกษ์ นานา)

ผมพบข้อมูลชิ้นสุดท้ายยืนยันไว้ในปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) ว่านาย Frank G. Carpenter นักเดินทาง ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ Carpenter’s World Travels ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1926 ความว่า…

“บนลานวัดพระแก้วโดยรอบพระอุโบสถ ใกล้ๆ ศาลาราย โดยเฉพาะที่เชิงบันไดขึ้นพระมหาเจดีย์ ข้าพเจ้าเห็นรูปปั้นหินอ่อน รูปผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ในลักษณะท่าทางต่างๆ กัน ที่จำได้ มีจักรพรรดิฝรั่งเศส ชาวดัทช์และเสนาบดีญี่ปุ่น ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าว่า ทางรัฐบาลสยาม ซื้อมาจากนักแกะสลักชาวอิตาเลียน มันแปลกมากที่มีของเหล่านี้อยู่ในพระอารามหลวง ที่จริงก็เป็นเรื่องปกติ ที่จะเห็นของแปลกๆ ในกรุงเทพเสมอ”

ปกใน หนังสือเดินทางรอบโลกของนาย Carpenter ว่าพบเห็นรูปศิลาหินอ่อน ครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1926 (ตันรัชกาลที่ 7) (ภาพจากเอกสารเก่าต้นฉบับของสะสม อ.ไกรฤกษ์ นานา)

จึงนับว่าเป็นข้อมูลชิ้นสุดท้าย กล่าวถึงรูปศิลาหินอ่อนเหล่านั้น ซึ่งเคยตั้งอยู่จนถึงสมัยต้นรัชกาลที่ 7 (เสวยราช์ พ.ศ. 2469) หรือ 44 ปี โดยประมาณ จากจุดเริ่มต้น เมื่อถูกตบแต่งไว้โชว์ในงานฉลองพระนคร 100 ปี (พ.ศ. 2425 /ค.ศ. 1882) ที่วัดพระแก้ว สอดคล้องกับ “คำยืนยัน” ของมกุฎราชกุมารนิโคลัส แห่งรัสเซีย ผู้เคยได้รับข้อมูลว่า “มันถูกจัดแสดงไว้ที่นั่น สำหรับงานฉลองเมืองหลวง ก่อนที่จะถูกนำออกไปจัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น” (อ่านเพิ่มเติม : อึ้ง! หลักฐานใหม่ รูปแกะสลักหินอ่อนที่ลานวัดพระแก้ว บันทึกโดยมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ.1891)

นสพ. ILLUSTRATION ของฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 31 October 1891 ลงภาพวาดตุ๊กตาแกะสลักหินอ่อนจำนวนมาก ที่ลานวัดพระแก้ว ในงานฉลองสมโภช สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อได้ทรงรับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร

พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ ก็คือ “พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร” ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ใน พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ณ หมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (ที่ตั้งในปัจจุบัน) หลังจาก พ.ศ.2469 (ต้นรัชกาลที่ 7) ก็ไม่มีใครพูดถึงรูปตุ๊กตาหินอ่อนอีกเลย เป็นที่สันนิษฐานว่า ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร ซึ่งเพิ่งเปิดขึ้นใหม่ๆ ต่อมาอีกไม่กี่ปีก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาจมีการเคลื่อนย้ายวัตถุโบราณอีกครั้ง แต่ไม่มีการยืนยันครับ

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565