ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
องค์พระฝาง เป็น “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” สมัยอยุธยา หล่อด้วยสัมฤทธิ์ เดิมเป็นพระประธาน วัดพระฝาง เมืองอุตรดิตถ์ ก่อนจะมีการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ถึงทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ องค์พระฝาง จากวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เมืองอุตรดิตถ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ) มาไว้ที่กรุงเทพมหานคร
หากต่อมาใน พ.ศ. 2451 รัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งให้นำกลับไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถของวัดพระฝางตามเดิม แต่สุดท้ายก็หาได้มีผู้ใดนำกลับไปตามพระราชประสงค์ไม่ องค์พระฝางจึงยังประดิษฐานอยู่ที่วิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร อยู่จนปัจจุบัน
วัดพระฝาง เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญของฝ่ายหัวเมืองเหนือมาแต่อดีต มีบันทึกว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ของสุโขทัย เคยมานมัสการองค์เจดีย์พระธาตุที่วัดนี้
ต่อมาพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอแห่งกรุงศรีอยุธยา, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้เสด็จไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ที่วัดนี้
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า พระพุทธรูปที่เรียกกันว่าองค์พระฝาง สร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จขึ้นไปที่วัดนี้ ในเดือน 12 จุลศักราช 1102 (พ.ศ. 2283) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชถึง 3 วัน คงจะได้ทรงนำพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นไปประดิษฐานในคราวนั้นด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- แนวคิดเรื่องเขตแดนสมัยใหม่ จากภาพเขียนภายในพระอุโบสถ “วัดเบญจมบพิตร”
- ข้าราชการสยาม ดูหมิ่นดูแคลน “พระพุทธรูปลาว” ชี้ ไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ
- เหตุใดคนโบราณทํา “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูป
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 พฤษภาคม 2560