ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คลองสำโรง เป็นคลองเก่าแก่ มีอายุ 500 กว่าปีขึ้น ด้วยปรากฏความใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่า ครั้งถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. 2034-2072) คลองสำโรง ตื้นเขิน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดลอก นอกจากจะเพื่อการคมนาคม คลองสำโรงยังเป็นเส้นทางเดินทัพไปกัมพูชา
จนเมื่อ พ.ศ. 2380 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์รันราชโกษา (ทัต บุนนาค) แม่กองดำเนินการขุดคลองแห่งใหม่ (คลองแสนแสบ) จากตำบลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร ถึงบ้านบางขนาก เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อใช้เป็นเส้นทางส่งยุทธปัจจัยต่างๆ ในสงครามกับญวน แทน “คลองสำโรง” จึงลดบทบาทด้านนี้ลงไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ สาขาวิชาภาษาเขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายไว้ใน “เส้นทางการเดินทัพไทย-กัมพูชา ก่อนขุดคลองแสนแสบ” (ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2556) ดังนี้
ในสมัยก่อนที่จะมีการขุดคลองแสนแสบ เส้นทางการเดินทัพบกระหว่างกรุงเทพฯ-กัมพูชาใช้เส้นทางใดในการเดินทาง หลักฐานเกี่ยวกับการเดินทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งเสด็จกลับจากเสียมราบ ใน พ.ศ. 2325 ใช้เส้นทางตัดทุ่งแสนแสบ เนื่องจากเป็นเวลาเร่งด่วน [1] ดังปรากฏความใน พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน ว่า
“…เจ้าพญามหากระษัตรศึก ก็ทรงช้างแล้วยกช้างม้ารี้พลคนประมาณห้าพันเสศ ดำเนิรทับมาทางด่านพระจาฤกมาถึงเมืองปราจิน แล้วข้ามแม่น้ำเมืองปราจิน เมืองนครนายก ตัดทางมาลงท้องทุ่งแสนแสบ….”
ในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ได้ยกทัพไปเมืองบันทายเพชรครั้งหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเดินทัพทางใด [2]
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏหลักฐานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการขุดคลองแสนแสบนั้น เส้นทางเดินทัพไปกัมพูชา ต้องไปทางคลองสำโรง เพื่อไปยังแม่น้ำบางปะกง ก่อนที่จะยกทัพทวนน้ำขึ้นไปที่ปากน้ำโยทะกา เพื่อยกทัพไปยังเมืองปราจีนบุรี และเข้าประเทศกัมพูชาต่อไป
ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า กองทัพได้ยกออกจากกรุงเทพพระมหานครเมื่อวันเสาร์เดือน 1 ขึ้น 12 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2376 วันเดียวกันทั้ง 3 ทัพ รุ่งขึ้นเกิดแผ่นดินไหว
เหตุการณ์ครั้งนี้ปรากฏบันทึกในเอกสารเรื่อง “อานามสยามยุทธ” ว่าเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพไปถึงปากคลองสำโรงกำลังจะเข้าคลองสำโรงได้เกิดแผ่นดินไหว ตรงกับที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามอานามสยามยุทธ์ครั้งนี้กินเวลานานถึง 15 ปี
คลองสำโรง เส้นทางการเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา-บางปะกง ก่อนขุดคลองแสนแสบ
การเดินทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาใช้เส้นทางเมืองปราจีนบุรี-เมืองพระตะบอง ซึ่งต้องยกทัพทางเรือจากพระนครไปยังเมืองฉะเชิงเทราเสียก่อน จากนั้นจึงเดินบกไปปราจีนบุรี ประจันตคาม กบินทร์บุรี ฯลฯ ตามลำดับ
แต่เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองฉะเชิงเทรากลับไม่สะดวกมากนัก เพราะต้องเดินทางอ้อมโดยต้องพายเรือย้อนลงไปเข้าคลองสำโรงที่เมืองสมุทรปราการ แล้วตัดไปทะลุแม่น้ำบางปะกงที่ทางใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา จากนั้นจึงพายทวนน้ำขึ้นไปฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการยากลำบากและเสียเวลาในการลำเลียงยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพ
“คลองสำโรง” เป็นคลองโบราณ แต่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่า ครั้งถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คลองสำโรงตื้นเขิน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดลอก ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนว่า
“…๏ ขะณะนั้นคลองสำโรงที่จะไปคลองศีศะจรเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำเจ้าพญาตื้นเรือใหญ่จะเดืรไปมาขัดสน จึ่งให้ชำระขุด ได้รูปเทพารักษ์ 2 องค์ หล่อด้วยทองสำฤทธิ จาฤกองค์หนึ่งชื่อพญาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังกร ในที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน จึ่งให้พลีกรรม์บวงสวงแล้วรับออกมาปลูกศาลเชืญขึ้นประดิศถานไว้ ณะ เมืองประแดง…” [3]
คลองสำโรงในปัจจุบันไหลผ่านพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และบรรจบแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีระยะทางยาวประมาณ 55 กิโลเมตรเศษ
รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางผ่านคลองสำโรงเพื่อไปยังเมืองฉะเชิงเทราและปากน้ำโยทะกา นั้นปรากฏใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ [4] ซึ่งเสด็จไปราชการทัพในศึกเวียงจันท์ เมื่อปี พ.ศ. 2369 แต่ใช้เส้นทางคลองสำโรง เป็นเส้นทางยกทัพไปปากน้ำโยทะกา เช่นเดียวกัน ว่า
วันที่ 1 กองทัพต้องเดินทางจากวังหลวง ผ่านบพิตรพิมุข สามปลื้ม สามเพ็ง (สำเพ็ง) คอกควาย (คอกกระบือ – ยานนาวา) ดาวคะนอง บางคอแหลม บางปะแก้ว บางขมิ้น ปากลัด นครเขื่อนขันธ์ บางยอ พระผะแดง (พระประแดง) พระขนง (พระโขนง) แล้วพักแรม 1 คืน
วันที่ 2 กองทัพผ่าน บางงัว บางกะบัว บางนา จึงจะถึงปากทางเข้าคลองสำโรง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรง และตำบลสำโรงกลาง (เทศบาลเมืองสำโรงใต้) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
(55) สำโรงเรือลุเลี้ยว ระลึกขวัญ เนตรเอย
โรงเล่ห์ลงโรงกัน เกี่ยวก้อย
สองร่วมร่วมสินสรรพ์ สมรส ระคนนา
อยู่ไปยืนเยียวคล้อย คลาดห้องหอโรง ฯ
สำโรงในที่นี้หมายถึงคลองสำโรง ปากคลองสำโรงในปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นจึงผ่านบริเวณที่เรียกว่า สามสิบสองโคก ดังความใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
(57) สามสิบสองโคกเบื้อง เบาราณ มานา
ยลไป่เป็นเรือนชาน ชัฏไม้
คิดโคกคฤหาดล แดสวาท แม่เอย
สนุกนิแผ้วเพียงไล้ แหล่งน้อยนางสงวน ฯ
จากนั้นกระบวนเรือจึงผ่าน “ทับนาง” ซึ่งเป็นชื่อคลอง คือ คลองทับนาง ปัจจุบันบริเวณบ้านทับนางอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการคือ บ้านทับนาง ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ดังปรากฏความใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
(60) ทับนางนิเทศบ้าน บอกจริง ใจนา
คิดพี่ทับอรอิง อ่อนพลิ้ว
เดาะพวงผะผ่าวผิว พานปรัศว์ พี่เอย
ค่อนแม่ข่วนเรียมริ้ว อุ่ยโอ้ทับนาง ฯ
จากนั้นกระบวนเรือจึงผ่านบ้าน “บางพลี” ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ดังความใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
(64) ลิ่วลิ่วลุล่วงบ้าน บางพลี
ศาลเทพสิทธิศักดิ์มี มดท้าว
สรวมไท้เทพอารี อาราธน์ ราพ่อ
ตูบัดพลีบวงจ้าว จุ่งคุ้มภัยสมร ฯ
เมื่อผ่านบางพลีแล้ว จากนั้นกระบวนเรือได้ผ่าน “บ้านเศียรจระเข้” ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “ศีรษะจระเข้” ปัจจุบันคือตำบลศรีษะจระเข้ใหญ่ ตำบลศรีษะจระเข้น้อย อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ดังความใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
(65) ลุเศียรจระเข้เขต คามกาล ก่อนนา
เกรียกเกียรติไกรทองชาญ เชี่ยวแกล้ว
ตัดเศียรจระเข้ขาน นามสืบ ไว้รา
ตัดดั่งตัดสวาทแคล้ว คลาดร้างแรมสมร ฯ
จากนั้นกระบวนเรือได้ผ่าน “หอมสิน” ซึ่งปัจจุบันน่าจะได้แก่ บ้านคลองหอมสิน ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ดังปรากฏความใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
(66) หอมสินศีลแม่พร้อม เพรงปราง มาฤๅ
ศีลสุทธิอัษฎางค์ เดชค้ำ
รังรูปสิริโสภางค์ เพ็ญลักษณ์ เลิศแฮ
หอมรูปหอมรสล้ำ ล่วงบ้านหอมสิน ฯ
จากนั้นกระบวนเรือได้ผ่าน “ปากตะครอง” ซึ่งปัจจุบันน่าจะได้แก่ “ปากตะคลอง” ตำบลท่านสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และบ้านพร้าว ดังปรากฏความใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
(67) ปากตะครองครวญคิดครั้ง คราวสม แม่เอย
ครองพี่ครองนุชชม ชื่นช้อย
โททาบอุทรกลม เกลียวสวาท
เยียวพิโยคยุพคล้อย คลาดแคล้วใครครอง ฯ
(68) บ้านพร้าวดลพร้าวเมี่ยง ยุพมาลย์ แม่เอย
เมี่ยงแม่ปรุงประจงจาน จัดตั้ง
อรรังรสหัตถ์ปาน ปนทิพ รสนา
พบชื่อพร้าวนึกครั้ง เมี่ยงน้องนางปรุง ฯ
ใกล้ถึงปากคลองแม่น้ำบางปะกงจึงพักแรม 1 คืน รุ่งวันที่ 3 แล้วจึงเดินทางต่อ ผ่านบางผึ้ง และท่านสะอ้านซึ่งเป็นสถานที่คลองสำโรงบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง
(72) บางผึ้งผึ้งพวกมิ้ม ฤๅหลวง เล่านา
เมิลไป่พานผึ้งรวง เร่งเศร้า
หวั่นแดเด็ดสวาทดวง เดียวบุษป์ มาลย์แม่
หวาดว่าผึ้งผ่ายเคล้า ดอกแก้วกูสงวน ฯ
(73) ลุถึงถิ่นท่าสะอ้าน ออกนาม
ท่ารดุกอกกะหนาม กะหนากกล้ำ
ค่อนค่อนคิดคะนึงยาม สรงสระ แม่นา
ท่าสะอาดอรเลี่ยนล้ำ เล่ห์แผ้วพูนทอง ฯ
เมื่อผ่านท่าสะอ้านแล้ว ได้เดินทางผ่าน “เขาดิน” ปัจจุบันคือ ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นได้ผ่าน “ทุ่งโพ” ซึ่งน่าจะอยู่ถัดจากเขาดินไปก่อนถึงบ้านสามภูดาษ ปัจจุบันน่าจะได้แก่ ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
………….
บทสรุป
เมื่อพิจารณาเส้นทางการเดินทัพจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองฉะเชิงเทราและปากน้ำโยทะกา ในสงครามครามปราบเวียงจันท์ ดังปรากฏในโคลงนิราศฉะเชิงเทราพระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ จะเห็นว่ากว่าจะเดินทางถึง “บางขนาก” ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 วัน ซึ่งทำให้การเดินทัพต้องล่าช้าเสียเวลามาก ทั้งยังไม่สะดวกแก่การลำเลียงเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์
ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นความยากลำบากต่างๆ ในการลำเลียงยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพ ที่เข้าไปทำสงครามยืดเยื้อในประเทศกัมพูชาเป็นเวลานาน พระองค์จึงโปรดให้ขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางกะปิกับแม่น้ำบางปะกงขึ้น ให้ทะลุที่ “บางขนาก” เพื่อให้เป็นคลองลัดไปยังแม่น้ำบางปะกงและถึงบริเวณบางขนากก่อนถึงปากน้ำโยทะกาได้โดยไม่ต้องอ้อมไปเข้าทางคลองสำโรง แขวงเมืองสมุทรปราการนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- คลองพระโขนง คลอง [หนึ่ง] ที่คนรู้จักมากที่สุดในไทย
- “คลองกระ” (คอคอดกระ) เรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคงสมัย ร.4 ไฉนเปลี่ยนใจสมัย ร.5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2544), หน้า 73.
[2] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับตัวเขียน (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2548), หน้า 28.
[3] พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน เล่ม 1 (หมู่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1) เลขที่ 1 ตู้ 108 มัดที่ 1 ประวัติ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 7/4/2482.
[4] กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์, “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา,” นิราศทัพเวียงจันท์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2544), หน้า 112-131.
บรรณานุกรม :
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ. ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ: รุ่งแสงการพิมพ์, 2539.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบ. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2476.
ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา., พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับตัวเขียน กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2548.
ภูวเนตรนรินทรฤทธิ์, กรมหลวง. “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา,” นิราศทัพเวียงจันท์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2544.
ศิลปากร, กรม. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย, 2534.
________. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเดียร์สแควร์, 2535.
________. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. พระนคร: แพร่พิทยา, 2513.
สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2545.
อานามสยามยุทธ. พระนคร: แพร่พิทยา, 2514.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2565