“ทองอยู่ พุฒพัฒน์” อดีตส.ส.เลื่องชื่อ ตำนานโต้โผไฮด์ปาร์ค-อดข้าวประท้วงรัฐบาลจอมพล ป.

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ถูก ตำรวจ จับ
ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ถูกจับกุมกรณีกบฏอดข้าว ตำรวจประคองปีกซ้าย-ขวานำตัวมาศาล (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2561)

บรรดานักการเมืองในยุคแรกของไทย ชื่อของ ทองอยู่ พุฒพัฒน์” คงเป็นที่คุ้นเคย ชายผู้นี้ได้เป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดธนบุรี เป็นผู้พลักดันการก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่วงเวียนใหญ่ และเป็นผู้นำในการอดข้าวประท้วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม 

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม ปี 2442 ที่บ้านหลังวัดอมรินทร์ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเดียวของขุนอินทราวาส (พ่วง พุฒพัฒน์) ข้าราชการกระทรวงกลาโหมกับนางอินทราวาส (สำอาง พุฒพัฒน์)

เมื่อสำเร็จศึกษาวิชาสามัญจบมัธยม 8 ได้เข้าศึกษาวิชาครูมัธยมที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จากนั้นมารับราชการเป็นครู ครั้งสุดท้ายเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศวิหาร

ในการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย เมื่อปลายปี 2476 ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ลาออกจากอาชีพครูมาลงสมัครรับเลือกตั้ง จนได้เป็น ส..จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2476 ครั้นเมื่อครบวาระ 4 ปี ก็ได้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ได้เป็น ส..จังหวัดธนบุรี ครั้งที่ 2

กระทั่งมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2481 เป็นการสิ้นสุดสถานภาพ นับจากนั้นทองอยู่ พุฒพัฒน์ ก็ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีก แต่ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองไทยอยู่เสมอ ภายหลังลงสู่สนามการเมืองระดับท้องถิ่นของเทศบาลนครธนบุรี

ถึงปี 2498 เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งสำคัญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายการฟื้นฟูประชาธิปไตยยินยอมให้มีการเปิดการชุมนุมในที่สาธารณะ ณ สนามหลวง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลได้อย่างเสรี หรือที่เรียกว่าไฮด์ปาร์ค

ไฮด์ปาร์ค ม็อบ วิจารณ์ รัฐบาล ที่ สนามหลวง
บรรยากาศไฮด์ปาร์ควิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สนามหลวง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2561)

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ นับเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาล จนผู้คนตั้งฉายาให้ว่าโต้โผไฮด์ปาร์ค เขาเรียกร้องให้มีการยกเลิกสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภท 2 ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน กระทั่งได้ยกระดับเป็นการอดข้าวประท้วง

เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับการบันทึกโดยหนึ่งในสมาชิกไฮด์ปาร์ค คือ นายบุญยัง สันธนะวิทย์ ในส่วนที่กล่าวถึงทองอยู่ พุฒพัฒน์ มีดังนี้

“‘ไฮด์ปาร์คจะได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ในบ่ายวันเสาร์ วันที่ 27 สิงหาคม พ.. 2498 โดยกำหนดเอาท้องสนามหลวงซึ่งเป็นย่านชุมชน เป็นแหล่งกำเนิดของไฮด์ปาร์คเป็นแห่งแรกของเมืองไทยในที่สุดเวลาแห่งการรอคอยที่เต็มไปด้วยความกระหายนั้นก็มาถึง เมื่อปรากฏว่ามีโต๊ะเก่า ๆ ตัวหนึ่งถูกนำมาวางลงที่มุมสนามหลวง ทางด้านมุมหน้าศาลแขวงพร้อมกับเครื่องขยายเสียงบุคคลที่จะลืมไม่ได้ ในการริเริ่มเรื่องราวที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของไทยครั้งนี้ก็คือนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ อดีต ส..ธนบุรี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด และสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี

แม้ว่าทางการบ้านเมือง โดยเฉพาะตำรวจยุคอัศวินทะนงในขณะนั้น จะประกาศโผงผางออกมาว่า ถ้าเดินขบวนเป็นต้องจับแน่ก็ตาม แต่เมื่อไฮด์ปาร์คซึ่งได้ก่อตัวขึ้น จากคลื่นประชาชนจำนวนนับพัน ที่ท้องสนามหลวงในบ่ายวันที่ 22 ตุลาคม 2498 นั้น เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ไพศาล หลังจากนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ได้พานักพูดจำนวนหลายคนอภิปรายโจมตี ส..ประเภท 2 อย่างดุเดือดแล้วในตอนบ่าย ประชาชนก็พากันเข้าใจได้ดีว่า การมี ส..ประเภท 2 นั่นคือการสูญเสียความเป็นธรรมในการกุมอำนาจทางรัฐสภาจนประชาชนทั่วไปพากันเรียกว่าฝักถั่วในสภา’…

บทบาทของไฮด์ปาร์คในโอกาสต่อมาเริ่มหาวิธีการต่อสู้ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2499 นักพูดไฮด์ปาร์คก็ประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวว่า จะอดข้าวประท้วงเพื่อให้รัฐบาลจอมพลแปลกเลิก ส..ประเภท 2 วิธีการอันนี้ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ โต้โผไฮด์ปาร์คเป็นผู้นำขึ้นมาพาพรรคพวกปฏิบัติ

ปฏิกิริยาในการต่อสู้ดังกล่าวนี้ นักพูดไฮด์ปาร์คได้พร้อมใจกันไปนั่งอดข้าวประท้วงกันที่หน้าทำเนียบตราไก่รัฐบาล จำนวนของผู้อดข้าวประท้วงดังกล่าวนี้ในวันแรกมีจำนวน 23 คนด้วยกันคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ นายพีร์ บุนนาค นายชวน รัตนวราหะ นายสมชาย ขาวนาค นายณรงค์ รัตนะภักดี น..สุรัส มีภักดี และผู้เขียนด้วยเป็นต้น…”

เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์หนักข้อมาขึ้นและเป็นการกระทำที่ชักจะบานปลาย จึงจับกุมและตั้งข้อหาคนกลุ่มนี้ว่าเป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและออกคำสั่งห้ามการไฮด์ปาร์คอีก กรมตำรวจได้กล่าวหากรณีนี้ว่าเป็น “กบฏอดข้าว” และเป็นการกระทำการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์ ต่อมาก็ยังกล่าวหาว่าทองอยู่ พุฒพัฒน์ เป็นสมาชิกองค์การคอมมิวนิสต์

แม้จะถูกคุมขัง แต่คนกลุ่มนี้ยังคงอดข้าวประท้วงต่อมา จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2499 หลายคนล้มเลิกการอดข้าว คงเหลือเพียงทองอยู่ พุฒพัฒน์ ที่อดข้าวประท้วงต่อไปยาวนานถึง 24 วัน กระทั่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในวันที่ 10 มีนาคม ปี 2499 พร้อมกับได้รับอิสรภาพทั้งหมดในวันเดียวกันนั้นเอง

นายบุญยัง สันธนะวิทย์ บันทึกถึงสภาพของทองอยู่ พุฒพัฒน์ ขณะถูกคุมขัง ไว้ว่า

“…ส่วนนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ หัวหน้าคณะอดข้าวนอนแนบอยู่กับที่ เพราะอดข้าวมาสามวันแล้วทุกคนต่างก็พากันเวทนาสงสารสังขารของนายทองอยู่กันมาก เพราะเป็นคนแก่แล้วไม่ควรจะมาทรมานในที่นี้เลย

ขณะที่ วิเทศกรณีย์ (นามปากกา) ได้ลงภาพและบรรยายถึงช่วงขณะนี้ไว้ในหนังสือสารคดีการเมืองไว้ว่า

สำหรับนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ หัวหน้ากบฏอดข้าว ผู้ใช้ระบบอหิงสากรรม เรียกร้องประชาธิปไตยจาก จอมพล ป. เขามาศาลอย่างทุลักทุเล ร่างกายของเขาผ่ายผอมและซูบซีด กำลังวังชาดูอิดโรยเต็มที เขาต้องถูกตำรวจหิ้วปีกทั้งสองข้างเดินขึ้นบันไดศาลอย่างคนจะสิ้นใจ แต่ทว่าจากดวงตาของเขานั้น ยังแสดงความเข้มแข็งอยู่ชั่วนิรันดร์ เขาก็คือ มีความเข้มแข็งไม่น้อยไปกว่ามหาตมคานธี…”

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ถูกจับกุมกรณีกบฏอดข้าว ตำรวจประคองปีกซ้าย-ขวานำตัวมาศาล (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2561)

จากกรณีขบวนการไฮด์ปาร์ค” และ กบฏอดข้าวส่งผลต่อเนื่องให้คนกลุ่มนี้และพรรคพวกของทองอยู่ พุฒพัฒน์ นำคณะเข้าจดทะเบียนพรรคการเมือง ในชื่อ “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” โดยมี ส.. เพทาย โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรค และ ชวน รัตนวราหะ เป็นเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คก็ถูกยุบ และหมดบทบาทไปโดยปริยาย

หลังการปฏิวัติ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ในวัย 58 ปี ปรารภว่าเบื่อหน่ายในทางการเมือง เพราะสู้ไปอย่างไรก็เอาชนะอำนาจไม่ได้ ความสำเร็จในทางโลกเป็นหนทางตันเสียแล้ว จึงตัดสินใจหันเข้าสู่ทางธรรม ออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ อยู่ที่วัดทองธรรมชาติ อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ได้ฉายา นาโค พุทฺธงฺกุโร ภิกขุ บวชนานกว่า 14 พรรษา ในปี 2513 อาพาธด้วยโรคลำไส้ แม้ได้รับการรักษาทุเลาขึ้นบ้าง แต่ก็กำเริบจนถึงมรณภาพในผ้าเหลือง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 2514 สิริอายุได้ 72 ปี 7 เดือน

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ เมื่อตอนบวชเป็น พระสงฆ์
นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2561)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (กันยายน, 2561) “ชีวิตอุทิศแด่ ‘พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และพระนิพพาน’ ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ. 2442-2514)”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 : ฉบับที่ 11.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2565