จอมพล ป. กับนโยบายฟื้นฟูบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงทศวรรษ 2490

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตที่ทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2499 (ภาพจาก หนังสือ ทรงพระผนวช จัดพิมพ์โดยโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย พ.ศ. 2542) (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561)

เพียงแค่ 4 ปีแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ต้องเผชิญหน้ากับการก่อกบฏขนาดใหญ่ถึง 3 ครั้ง ทั้งจากทหารในกองทัพบก กองทัพเรือ และเสรีไทย ซึ่งในจำนวนนี้มีอดีตสมาชิกคณะราษฎรอยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ จอมพล ป.​ ยังต้องเผชิญหน้ากับท้าทายอำนาจจากภายในรัฐบาลเอง เนื่องจากการรัฐประหารใน พ.. 2490 นั้น จอมพล ป. ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรัฐประหารแต่อย่างใด

ประกอบกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จอมพล ป. ต้องวางมือทางการเมืองไป ทำให้เมื่อจอมพล ป. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 อำนาจในการควบคุมกองทัพจึงตกอยู่ในมือของบรรดาทหารบกที่ร่วมกับ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการปฏิวัติ โดยเฉพาะ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่หลังการรัฐประหารก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วจนในที่สุดก็ได้เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกบฏบวรเดช 

เมื่อ จอมพล ป. เริ่มตระหนักว่าอำนาจในกองทัพนั้นตกอยู่ในการควบคุมของสฤษดิ์ จอมพล ป. จึงได้เลื่อนตำแหน่ง พล... เผ่า ซึ่งโอนย้ายมารับราชการตำรวจใน พ.. 2490 ให้เป็นอธิบดีกรมตำรวจใน พ.. 2494 เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ดูเหมือนว่าแผนการดังกล่าวของ จอมพล ป. จะไม่ได้ผลสักเท่าใดนัก เมื่อ พล... เผ่า ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำแทน จอมพล ป. ด้วยเหตุนี้ จอมพล ป. จึงต้องพยายามแสวงหาพันธมิตรใหม่เพื่อสนับสนุนอำนาจของตน ซึ่งในที่สุดแล้ว จอมพล ป. ได้เลือกที่จะประนีประนอมและหันไปให้ความร่วมมือกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

นโยบายที่ต้องการแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ จอมพล ป.​ เริ่มต้นการฟื้นฟูหน่วยงานพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการยกย่องเชิดชูและส่งเสริมบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง นโยบายแรกที่ จอมพล ป. ได้เริ่มขึ้นก็คือการสถาปนากรมทหารรักษาพระองค์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่คณะราษฎรได้ยุบหน่วยดังกล่าวลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยใน พ.. 2492 จอมพล ป.​ ได้มีคำสั่งให้สถาปนากรมทหาราบที่ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับสถาปนากองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 ขึ้นเป็นกรมทหารรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย จอมพล ป. ได้ให้เหตุผลในการสถาปนากรมทหารรักษาพระองค์กลับมาอีกครั้งว่าต้องการเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกับต้องการรักษาตำนานของกรมทหารรักษาพระองค์ไว้ [14] ซึ่งในปีต่อมาที่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 หน่วยทหารทั้งสามหน่วยนี้ได้เข้าร่วมในริ้วกระบวนราบใหญ่ [15]

นอกจากการสถาปนากรมทหารรักษาพระองค์กลับขึ้นมาใหม่ จอมพล ป. ยังได้กราบทูลเชิญรัชกาลที่ 9 เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทานกระบี่ให้แก่นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายร้อยตำรวจที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งเดิมทีนั้นพิธีได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อคณะราษฎร์ได้เข้ามาปกครองประเทศ ก็ได้ยกเลิกการพระราชทานกระบี่โดยพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนเป็นการมอบกระบี่โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทน

กระทั่งเมื่อ จอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ 2 จึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นประธานในพิธีสำเร็จการศึกษา และพระราชทานกระบี่ใน พ.. 2491 อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นรัชกาลที่ 9 ยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้ประทานกระบี่ [16]

ในปีถัดมารัชกาลที่ 9 ยังทรงไม่ได้เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทย ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานกระบี่อีกครั้งหนึ่ง [17] กระทั่งในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.. 2492 6 วันหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานและพระราชทานกระบี่ให้แก่นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า [18]

พร้อมกันนี้ จอมพล ป. ยังได้เริ่มต้นฟื้นฟูพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งถูกยกเลิกโดยคณะราษฎร ทั้งพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพยุหยาตราชลมารค อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูพิธีเหล่านี้ไม่ได้กระทำอย่างเต็มรูปแบบ เพียงแต่นำพิธีบางส่วนกลับมาปฏิบัติ แต่พิธีที่สำคัญที่ จอมพล ป. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ พระราชพิธีทรงผนวชของรัชกาลที่ 9 ใน พ.. 2499 ซึ่งพิธีในคราวนั้นรัฐบาลได้นำแบบแผนพระราชพิธีเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชมาใช้เป็นต้นแบบในพิธีคราวนี้ [19] เนื่องจากรัชกาลที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่ทรงผนวชในระหว่างที่ทรงครองราชย์เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 9

พระราชพิธีทรงผนวชในคราวนี้รัฐบาลได้ทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเพื่อทรงลาผนวชกับประชาชน พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ตระเตรียมให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันที่ทรงผนวชไว้ริมสองข้างทางระหว่างทางที่เสด็จฯ แทนการให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากสถานที่คับแคบเกินกว่าที่จะรองรับประชาชนได้ [20]

รัฐบาลได้ทำให้งานพระราชพิธีทรงผนวชในคราวนี้เป็นงานสาธารณะมากกว่างานส่วนพระองค์ด้วยการถ่ายทอดเสียงการประกอบพระราชพิธีผนวชให้ประชาชนได้รับฟัง เสมือนการได้เข้าไปอยู่ร่วมในพิธีดังกล่าวด้วยตนเอง พร้อมกันนี้ จอมพล ป. ยังสั่งให้มีการถ่ายทำภาพยนต์พระราชพิธีดังกล่าวเพื่อนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับชม [21] การเผยแพร่ภาพยนตร์พระราชพิธีทรงผนวชในคราวนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรก ๆ ที่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ถูกเผยแพร่สู่พื้นที่สาธารณะ

จอมพล ป. ได้ยอมให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีบทบาทในทางการเมืองและการทหารเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดให้ทรงประทับแต่ในพระบรมมหาราชวังเพียงอย่างเดียว หรือไม่ยอมให้ใครเข้าเฝ้าฯ พระองค์ แต่ในทางตรงกันข้าม ในยุคที่ 2 ของ จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชกรณียกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งการเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานเปิดงานในพิธีของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน

รวมทั้งทรงเป็นประธานพระราชทานถ้วยรางวัลในการแข่งขันต่าง ๆ เช่น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรและมอบถ้วยการแข่งขันให้กับผู้ชนะในฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [22] การเสด็จฯ ไปทรงเปิดงานวันเกษตร [23] หรือแม้แต่การเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรภาพยนต์ที่โรงภาพยนต์เอมไพร์เพื่อหาเงินสมทบทุนให้การกุศล [24]

พระราชกรณียกิจเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำและต่อเนื่องภายใต้รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามที่พยายามสนับสนุนให้พระองค์ทรงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้งประชาชนและทหาร อย่างไรก็ตาม กิจกรรมเหล่านี้โดยมากมักจัดอยู่ในกรุงเทพฯ…

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ :

[14] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร.0201.4.1/1 กรมทหารมหาดเล็ก (ร.บ. 1 และ 11) ลงวันที่ 26 มกราคม 2492

[15] “กำหนดการ ที่ 11/2493 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสยามินทราธิราช และ พระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พ.ศ. 2493,” ราชกิจจานุเบกษา 52, ตอนที่ 0 ก (9 พฤษภาคม 2493): 1988.

[16] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร.0201.4/26 งานพิธีแจกประกาศนียบัตรและกระบี่ ลงวันที่ 26 เมษายน 2491

[17] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร.0201.4/26 งานพิธีแจกประกาศนียบัตรและกระบี่ ลงวันที่ 22 เมษายน 2492

[18] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร.0201.4/26 งานพิธีแจกประกาศนียบัตรและกระบี่ ลงวันที่ 17 เมษายน 2493

[19] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ​(2) สร 2.1/309คณะกรรมการเตรียมงานในการทรงผนวช ลงวันที่ 15 กันยายน 2499

[20] เรื่องเดียวกัน.

[21] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ​(2) สร 2.1/309 คณะกรรมการเตรียมงานในการทรงผนวช ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2499

[22] “ข่าวในพระราชสำนัก,” ราชกิจจานุเบกษา 70, ตอนที่ 3 (6 มกราคม 2496): 54-55

[23] “ข่าวในพระราชสำนัก,” ราชกิจจานุเบกษา 70, ตอนที่ 4 (3 มกราคม 2496): 177-178.

[24] “ข่าวในพระราชสำนัก,” ราชกิจจานุเบกษา 72, ตอนที่ 33 (3 พฤษภาคม 2498): 1008.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับแผนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม” เขียนโดย เทพ บุญตานนท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2565