ทำไมจอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ตจว. ของรัชกาลที่ 9?

รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด (ภาพจาก “84 พรรษาแห่งภูมิพลังแผ่นดิน” กรมศิลปากร)

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 อูนุได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชให้เสด็จฯ เยือนสหภาพพม่าเพื่อทรงเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก “ฉัฏฐสังคายนา” ซึ่งจัดโดยรัฐบาลพม่าในช่วงเดือนพฤษภาคม สำหรับจอมพล ป. แล้ว คำกราบบังคมทูลเชิญนั้นเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งต่อรัฐบาลไทยที่จะได้กระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 9 กลับทรงปฏิเสธที่จะเสด็จฯ เยือนพม่าตามคำกราบบังคมทูลเชิญ เนื่องจากเป็นคำกราบบังคมทูลเชิญจากนายกรัฐมนตรี [อูนุ] ไม่ใช่จากประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของประเทศ ด้วยเหตุนี้คำกราบบังคมทูลเชิญของอูนุจึงไม่ใช่การกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ อย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริว่า ถ้าจะให้พระองค์เสด็จฯ เยือนพม่าอย่างเป็นทางการ บาอูซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่าก็ต้องกราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จฯ เยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลพม่า ซึ่งพระองค์ก็ทรงยินดีที่จะเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกดังกล่าว [1]

ขณะที่จอมพล ป. เองก็ต้องการใช้การเสด็จฯ เยือนพม่าในคราวนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศของตน รัชกาลที่ 9 จึงทรงตระหนักดีว่าพระองค์สามารถใช้เรื่องนี้ต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลได้ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสด็จฯ เยือนพม่าตามความต้องการของรัฐบาล ดังส่วนหนึ่งจากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ความว่า

“ยังไม่ได้เสด็จประพาสในประเทศไทยเอง ซึ่งก็ควรจะเสด็จทั้ง 3 ภาค คือทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางเหนือ และทางใต้ แม้ฝรั่งเองก็ได้ปรารภกับพระองค์ว่าควรเสด็จทางภาคอีสาน ทรงเห็นว่าแม้ว่าจะยังไม่ได้เสด็จประพาสในประเทศไทย จะเสด็จต่างประเทศก็ได้ ถ้ามีการเตรียมการหรือวางโครงการไว้แล้วว่าจะเสด็จประพาสในประเทศไทย รัฐบาลควรดำริในเรื่องนี้ แต่เมื่อยังไม่มีการเตรียมการที่จะเสด็จประพาสในประเทศไทย ก็ทรงเห็นว่ายังไม่เหมาะที่จะเสด็จไปต่างประเทศ” [2]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2498 จอมพล ป. และคณะรัฐมนตรีได้ตอบสนองพระราชประสงค์ดังกล่าวของรัชกาลที่ 9 ทันที โดยจอมพล ป. ได้สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่างแผนการเสด็จฯ เยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูร้อนที่จะมาถึง

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2498 บาอู ประธานาธิบดีสหภาพพม่าได้ส่งสาส์น กราบบังคมทูลเชิญรัชกาลที่ 9 และพระราชินีเสด็จฯ เยือนพม่าอย่างเป็นทางการ เพื่อทรงร่วมงานสังคายนาพระไตรปิฎกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยในสาส์นกราบบังคมทูลเชิญนั้นรัฐบาลได้ชี้แจงว่าการเสด็จฯ เยือนพม่านั้นไม่ใช่เพียงเรื่องการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการพุทธศาสนาด้วย เพื่อแสดงให้แก่ชาวโลกได้เห็นว่าประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ได้แก่ ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และศรีลังกา ได้ร่วมกันทำการจนสำเร็จลุล่วง [3] อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปฏิเสธการเสด็จฯ เยือนพม่าอีกครั้ง โดยทรงให้เหตุผลว่าต้องเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเวลาเดียวกัน [4]

ทว่าในบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ที่ทรงมีถึงจอมพล ป. หลังจากเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้น ได้อธิบายสาเหตุแท้จริงที่รัชกาลที่ 9 ทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จฯ เยือนพม่าและเข้าร่วมงานสังคายนาพระไตรปิฎก ว่าเป็นเพราะสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ไม่โปรดให้เสด็จฯ ไปทรงร่วมงาน เนื่องจากพระไตรปิฎกที่สังคายนาได้ทำเป็นคำเขียนแล้ว จึงไม่ควรมีการสังคายนาหรือประชุมสวดอีก นอกจากนี้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรกราบบังคมทูลกับรัชกาลที่ 9 ว่าการสังคายนาที่พม่าจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นของพม่า ไม่ใช่ของสากล แต่พม่าพยายามจะให้ถือเป็นสากล [5]

ด้วยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงต้องการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ก่อนจะเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. เริ่มต้นเตรียมการเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดทันที ซึ่งกำหนดการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดก็ถูกร่างขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยกำหนดให้พระองค์เสด็จฯ เยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือในฤดูแล้ง พ.ศ. 2498

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จฯ เยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์ทรงขอให้รัฐบาลจัดแผนการเสด็จฯ ไปยังบางจังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ สุพรรณบุรี ราชบุรี นครนายก และชัยนาท เป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการทันทีพร้อมอนุมัติเงินจำนวน 260,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ และค่าพระกระยาหาร [6]

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนภาคกลางเป็นครั้งแรก ประชาชนจำนวนมากต่างรอเข้าเฝ้าฯ ตลอด 2 ข้างทางที่ขบวนเสด็จผ่าน เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และสนทนากับพระมหากษัตริย์ของพวกเขาโดยตรง นอกจากจะคอยเข้าเฝ้าฯ แล้วประชาชนจำนวนมากยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายของต่างๆ แด่พระองค์ ซึ่งรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเงินแก่ผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อรัชกาลที่ 9 โดยตรงแทนที่จะยื่นเรื่องผ่านส่วนราชการ

จากความสำเร็จในการเสด็จฯ เยือนภาคกลางที่ประชาชนจำนวนมากต่างพร้อมใจกันมาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ เยือนภาคกลาง ประชาชนจำนวนมากต่างมาเข้าเฝ้าฯ รอรับเสด็จ พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ทั้ง 2 พระองค์ อย่างไรก็ตาม การเสด็จฯ เยือนครั้งนี้ รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์บนเหรียญให้แก่ประชาชนที่ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแทนเงิน [7] การเสด็จฯ เยือนในครั้งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ร้องทุกข์ของประชาชนดังที่ผ่านมา โดยที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีชาวบ้านร้องเรียนต่อรัชกาลที่ 9 ถึงการถูกข้าราชการท้องถิ่นกลั่นแกล้ง ทันทีที่พระองค์ทรงได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดสืบสวนและแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวให้เรียบร้อย [8]

นอกจากพระราชกรณียกิจภายในประเทศแล้ว การเสด็จฯ เยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน พ.ศ. 2498 รัชกาลที่ 9 ทรงพบกับกระต่าย โดนสโสฤทธิ์ และผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งเดินทางข้ามชายแดนมาเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 9 และพระราชินีขณะที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ เยือนจังหวัดหนองคาย [9]

การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประชาชนครั้งนี้ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนให้แก่พระองค์ แต่สำหรับจอมพล ป. แล้วการสนับสนุนการเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดอาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบตัวเขาในหมู่ราษฎรได้แล้ว กลับกลายเป็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมของเขากำลังถูกท้าทายจากบทบาทใหม่ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน

เชิงอรรถ :

[1] USNA, Review of the Political Situation in Thailand and Implementation of U.S. Politics and Objectives, May 17, 1952, 792.00/5-1752, RG 59.

[2] หจช., (3) สร.0201.20.1.1/14 การไปเยี่ยมสหภาพพม่าของนายกรัฐมนตรี, 14 กันยายน พ.ศ. 2498.

[3] หจช., (3) สร.0201.65/3 นายกรัฐมนตรีพม่าเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพม่า, 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2498.

[4] หจช., (3) สร.0201.65/3 นายกรัฐมนตรีพม่าเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพม่า, 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2498.

[5] หจช. (3) สร.0201.65/3 นายกรัฐมนตรีพม่าเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพม่า, 9 มิถุนายน พ.ศ. 2498.

[6] หจช., (3) สร.0201.65/4 การเสด็จพระราชดําเนินประพาสภายในประเทศ, 25 สิงหาคม พ.ศ. 2498.

[7] หจช., (3) สร.0201.65/4 การเสด็จพระราชดําเนินประพาสภายในประเทศ, 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] เรื่องเดียวกัน.

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก เทพ บุญตานนท์. ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกและศรัทธาและภักดี,  สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2565