ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | พอพันธ์ อุยยานนท์ |
เผยแพร่ |
ทศวรรษ 2480 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้อุดมการณ์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนมีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเข้าไปประกอบการผลิต และเข้าควบคุม และสนับสนุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญก็อยู่ในความดูแลของรัฐบาล (รัฐวิสาหกิจ) ตลอดจนมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ลดบทบาทชาวจีนทางเศรษฐกิจ โดยขยายการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น การก่อตั้งและยึดกุมธนาคารพาณิชย์ การผูกขาดอุตสาหกรรมสีข้าว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การผูกขาดกิจการนำเข้า การกระจายและการขนส่งสินค้าบริโภค นำเข้า รวมทั้งสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ ตลอดจนไปถึงอำนาจทางการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมได้มีมากยิ่งขึ้น รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะพึ่งพาตนเองในการผลิต เพราะสินค้าที่เคยสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ภายในประเทศนั้นขาดแคลน เกิดความยากลำบาก ได้เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้ชี้นำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเข้าไปประกอบกิจการต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ ยาสูบ กระดาษ ทอผ้า น้ำตาล เชื้อเพลิง เหมืองแร่
อุตสาหกรรมหลายอย่างรัฐบาลได้ดำเนินการยึดจากชาวต่างชาติ หรือโอนมาจากเอกชน เพื่อดำเนินการต่อรวมทั้งมีการจัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม และตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ในด้านการค้า รัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการผูกขาดการซื้อขาย ทั้งภายในและต่างประเทศ ในช่วงทศวรรษ 2480 รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัทจังหวัด จำกัด (2480) ผูกขาดสินค้าเกือบทุกประเภท บริษัทข้าวไทย จำกัด (2481) ผูกขาดการซื้อสี และส่งข้าวออกนอกประเทศ บริษัทยางไทย จำกัด (2484) ผูกขาดการค้ายางพารา บริษัทเกลือไทย จำกัด (2484) ผูกขาดการซื้อเกลือให้บริษัทจังหวัดสังกัด และส่งเกลือออกนอกประเทศ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด (2487) ผูกขาดสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตต่าง ๆ และเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราของกรมสรรพสามิต
ส่วนการมีบทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลได้เข้ายึดทรัพย์สินและกิจการที่เคยตกอยู่ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรูชาวตะวันตก และส่งเสริมให้มีตั้งธนาคารพาณิชย์ของคนไทยขึ้นแทน เช่น ธนาคารมณฑล (2485) ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (2487) และธนาคารกรุงเทพ (2487) ธนาคารกสิกรไทย (2488) ตลอดจนมีการสนับสนุนให้มีการส่งเสริมร้านค้ารายย่อยของคนไทย
หากประชาชนไม่สามารถรวบรวมทุนจัดตั้งร้านค้ารายย่อยได้ รัฐบาลจะเข้าช่วยเหลือโดยการมีหุ้นส่วนด้วย ส่วนในภาคเกษตรกรรมมีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการซื้อ-ขายและครอบครองที่ดินของชาวต่างชาติ พัฒนาระบบสหกรณ์ [1]
เศรษฐกิจชาตินิยมได้เปิดโอกาสให้มีการก่อตัวของนายทุนกลุ่มใหม่ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเป็นข้าราชการโดยร่วมมือกับพ่อค้านายทุนชาวจีนเป็นสำคัญหรือที่เรียกว่าเป็นการเติบโตทุนนิยมข้าราชการ ชนชั้นนายทุนใหม่เหล่านี้ได้เติบโตภายใต้การคุ้มครองของอำนาจข้าราชการและการเมือง และชนชั้นนี้ได้กลายเป็นพลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยในเวลาต่อมา
ตัวอย่างของความร่วมมือของข้าราชการและนายทุนชาวจีน อาทิ การจัดตั้งบริษัทข้าวไทยต้องอาศัยพ่อค้าชาวจีน เช่น นายมา บูลกุล ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านนี้มาช้านาน เช่นเดียวกับการจัดตั้งและการบริหารกิจการธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลที่ต้องอาศัยพ่อค้าชาวจีนอย่าง นายจุลินทร์ ล่ำซำ นายโลวเตี๊ยกชวน บุลสุข และนายตันซิวเม้ง หวั่งหลี เป็นต้น ในขณะที่คณะราษฎรและรัฐบาลก็ได้ส่งคนของกลุ่มตนเข้าไปบริหารธุรกิจเป็นจำนวนมาก อาทิ นายจรูญ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ดร. เดือน บุนนาค และ นายหลุย พนมยงค์ [2]
เชิงอรรถ :
[1] โปรดดู ผาณิต ทรงประเสริฐ. 2527. “นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2481-2487,” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสมภพ มานะรังสรรค์ (บ.ก.). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2484. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 650-664.
[2] แล ดิลกวิทยรัตน์. 2535. “เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ. 2475-2488,” ใน เอกสารชุดวิชาเศรษฐกิจไทย. สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช. น. 263.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “คณะราษฎรกับเศรษฐกิจไทย” เขียนโดย พอพันธ์ อุยยานนท์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2556 โดยเป็นบทความที่ปรับปรุงและเรียบเรียงจากบทความชื่อเดียวกัน ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมสัมนาทางวิชาการ เรื่อง “จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” 22 มิถุนายน 2555 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2564