รธน. 2540 ฉายา “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” มาจากไหน?

ภาพประชาชนกำลังรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (THAILAND-POLITICS/DEMO GREEN /AFP)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศนับได้ว่าประเทศไทยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุสำคัญที่ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเกิดจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหาร

การร่างรัฐธรรมนูญหลังจากยึดอำนาจบริหารมาไว้ที่กลุ่มทหารโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่มที่คณะทหารไว้ใจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา แต่ในประวัติศาสตร์มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนั้นคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนถูกขนานนามว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยในหนังสือ ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม ของฐนพงศ์ ลือขรชัย (มติชน, 2564) ได้อธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้


รัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาชน”

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2539 ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้รูปแบบสภายกร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ประกอบด้วยนักวิชาการและประชาชน บนเงื่อนไขว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไปแล้วรัฐสภาไม่อนุมัติ จะให้ประชาชนลงประชามติแทน ในตลอดช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญมีการรณรงค์และกดดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับร่าง ผ่านการแสดงสัญลักษณ์สีเขียว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยที่ผ่านมาซึ่งวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารที่อ้างความชอบธรรมในการจัดการปัญหาทุจริตและคอร์รัปชั่นของรัฐบาลนั้นๆ และป้องกันคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยพยายามให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ และออกแบบองค์กรอิสระต่างๆ ให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาทุจริตเพื่อหลุดพ้นวงจรอุบาทว์ของทหารที่พยายามแทรกแซงทางการเมือง อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะมีเนื้อหาและที่มายึดโยงกับประชาชน คือ

1. มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างสูง

2. มีสภายกร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง

3. มีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และเสรีภาพในทางวิชาการ เป็นต้น

4. มีวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

5. มีองค์กรอิสระในการตรวจสอบรัฐบาล

6. เพิ่มเสถียรภาพให้รัฐบาล โดยมุ่งให้สามารถเกิดรัฐบาลพรรคเดียวได้

7. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ทำให้แนวคิดเรื่องชาติกลับมาเป็นของประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยกสถานะของกษัตริย์ขึ้นไปเหนือการเมืองและเหนือชาติ การดำรงอยู่ของกษัตริย์สูงส่งเสียจนเกือบจะหลุดพ้นจากเรื่องทางโลก โดยเฉพาะการเมืองที่ “สกปรก” กล่าวคือ ความหมายของชาติขยับกลับมาที่ประชาชน ในบริบทที่กษัตริย์ได้อยู่เหนือชาติขึ้นไปอีกระดับ ในฐานะผู้ปกปักรักษา

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ได้ส่งเสริมบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้มีพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ทั้งพระราชอำนาจโดยตรง พระราชอำนาจในการยับยั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ

เพื่อรักษาดุลยภาพของอำนาจในองค์กรอิสระสำหรับควบคุมฝ่ายการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เองก็ได้รับรองให้กษัตริย์เป็นผู้รักษาเสถียรภาพทางการเมืองตามที่สาธารณชนเชื่อ ดังบทบาทที่เกิดในกรณี 14 ตุลาฯ และพฤษภาฯ 2535 หรือในแบบ “ปกเกล้า ไม่ปกครอง”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2565