จาก “วันเสียงปืนแตก” สู่ภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท.

กองร้อยทหารราบเคลื่อนที่ที่ 1 เขตงานพัทลุง ตรัง สตูล ของพคท. (ภาพจาก หนังสือ ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ)

จาก “วันเสียงปืนแตก” สู่ภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท.

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เคยเป็นพรรคที่ถูกกฎหมายและได้ทำงานในสภาฯ แต่ในบริบทสงครามเย็นตั้งแต่สมัยจอมพล ป. สมัยที่ 2 เป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์ก็ถูกกีดกันให้ออกจากการเมือง และเป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย ทั้งยังดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์

แต่ พคท. เคลื่อนไหวแบบ “หลีกเลี่ยงการปะทะเพื่อช่วงชิงสร้างพื้นฐานมวลชน” หรือการเคลื่อนไหวแบบสันติ ทว่าฝ่ายรัฐไทยก็ยังคงปราบปราม พคท. หนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐไทยเป็นการสร้างแรงกดทับและความแค้นให้กับ พคท. สะสมจนระเบิดออกมาในเหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก”

วันเสียงปืนแตก คือ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้หลักฐานจากหนังสือพิมพ์ว่าเป็นวันที่ 8 สิงหาคม หรือ 8-8-08 (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 2552) เป็นกรณีที่ชาวบ้านนาบัวและ พคท. ใช้อาวุธยิงปะทะกับตำรวจในพื้นที่บ้านนาบัว ตำบลเรณู อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นับกันว่าเป็นการใช้อาวุธต่อต้านอำนาจรัฐไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ 

ผลของเหตุการณ์เสียงปืนแตกคือมีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย คือ ส.ต.อ. ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ทั้งยังทำให้ พ.ต.อ. สงัด โรจน์ภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส ฝ่าย พคท. เสียชีวิต 1 ราย คือ นายกองสิน จิตมาตย์ หรือ “สหายเสถียร”

ภาพ พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ จาก Bangkok Post ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 หน้าหลังคำบรรยายใต้ภาพเขียนว่า “พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ มีใบหน้าบิดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวดในโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเช้านี้” (ภาพจาก https://prachatai.com/journal/2009/08/25380)

ในด้านของ พคท. หลังจากเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2508 (เดือนถัดมาจากเหตุการณ์) กรมการเมือง พคท. ได้จัดประชุมที่ดงพระเจ้า อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีมติให้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ในบางจุด นับเป็นหมุดหมายในการเริ่ม “สงครามประชาชน” โดยมีการจัดตั้งพลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย (พล ปตอ.) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” (ทปท.) ใน พ.ศ. 2512 เป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีจุดประสงค์เพื่อท้าทายอำนาจรัฐ

สมาชิก พคท. เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการเข้าป่าของนักศึกษา, ปัญญาชน และผู้ที่คับแค้นรัฐบาลเผด็จการ การทยอยเข้าป่าของกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของรัฐเองที่เป็นเผด็จการ กดขี่ประชาชนมากโดยเฉพาะตามชนบทในภาคอีสาน และมีการควบคุมกิจการต่าง ๆ ของประชาชน 

แม้ว่ารัฐบาลทหารดำเนินการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น แต่ความกดดันนี้เองกลับกลายเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ประชาชนคับแค้นรัฐบาลมากขึ้น และหันไปเข้าร่วมร่วมกับ พคท. เห็นได้จากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความอยุติธรรมจากบางฝ่าย ทั้งยังเกิดการรัฐประหารและจัดตั้งรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมีนโยบายขวาจัด หันกลับมาปราบปรามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศอย่างหนัก ภายใต้ช่วงเวลาที่ผิดยุคผิดสมัย ทำให้เกิดการไหลเข้าป่าเข้าร่วมกับ พคท. ครั้งใหญ่ ของนิสิต, นักศึกษา และปัญญาชน

เมื่อเกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ และเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็มีนโยบายประนีประนอมกับฝ่ายซ้ายมากขึ้น ทั้งยังออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลาฯ กลับเข้าเมือง และยังเป็นต้นแบบของคำสั่ง 66/2523 ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่เปลี่ยนยุทธศาสตร์การสู้รบกับ พคท. ที่ผ่อนปรนจากการปราบปรามทางทหารอย่างเข้มข้น เป็นการผสานไปกับการเมือง 

ในด้าน พคท. เมื่อขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น ก็ทำให้เกิดปัญหาจากความขัดแย้งทางความคิด นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งจากการแบ่งขั้วอำนาจในระบบโลกใหม่ ในกรณีอินโดจีนช่วง พ.ศ. 2522/ค.ศ. 1979 เวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียตสามารถโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงที่เป็นคอมมิวนิสต์สายจีน และตั้งรัฐบาลเฮง สัมริน เป็นรัฐบาลหุ่นเชิด ซ้ำจีนยังทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปีเดียวกัน 

ความขัดแย้งในอินโดจีนระหว่างคอมมิวนิสต์ 2 สาย ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของสมาชิก พคท. ทำให้ พคท. เกิดการแยกตัวออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มโปรจีน, โปรโซเวียต, กลุ่มที่แยกออกไปเพื่อโจมตี พคท. ฯลฯ ความขัดแย้งจากหลากหลายความคิดนี้ทำให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” เกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวของ พคท. และเป็นสาเหตุของการ “ป่าแตก” ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

แม้ว่าจะเกิดการป่าแตกที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการล่มสลายของ พคท. จะเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษดังกล่าว แต่ พคท. ก็ไม่ได้อันตรธานหายไปทันที หลังจากการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 4 ธง แจ่มศรี (สหายธง) ได้ถูกเลือกให้รับตำแหน่งเลขาธิการ พคท. และมีการย้ายศูนย์กลางพรรคอยู่บ่อยครั้ง จากเดิมศูนย์กลางพรรคอยู่สุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2526 สหายธงได้ย้ายศูนย์กลางพรรคมาอยู่ที่ชุมพร และ พ.ศ. 2527 ได้ย้ายเข้าไปในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, และคณะ, 2562, น. 448-449) หลังจากนั้นสมาชิกระดับสูงของพรรคค่อย ๆ ทยอยถูกจับกุมไปเรื่อย ๆ เหลือแค่สหายธงกับสมาชิกอีกไม่มากนัก หลบซ่อนตัวอยู่บริเวณแนวเขาตะนาวศรี

ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ภาพจาก หนังสือ ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ)

การต่อสู้ระหว่างรัฐไทยและ พคท. ครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ตชด. 14 และ ตชด. พลร่มค่ายนเรศวร 8 ราย และกะเหรี่ยงนำทางอีก 1 ราย รวม 9 ราย อ้างว่าได้เข้ามาทำภารกิจพิสูจน์ทราบกองกำลังบริเวณบางกลอย โดยเฮลิคอปเตอร์ และได้ปะทะกับกองกำลังที่ทางการไม่ทราบฝ่าย และได้ติดอยู่ในป่านานถึง 35 วัน โดยมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะ 3 ราย อีก 2 รายไม่ทราบว่าถูกสังหารจากฝ่ายไหน รวมเสียชีวิต 5 ราย

จากการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.ท. โชคดี ชัยยะเจริญ (คุยคุ้ยคน | ติดนรกป่าอาถรรพ์ | 35 วันในป่าบางกลอย, Part 2-3, 2565) หนึ่งใน ตชด. ผู้ปฏิบัติภารกิจนี้ ชี้ให้เห็นได้ว่าการปะทะไม่ได้เกิดเพียงวันที่ 7 สิงหาคม เท่านั้น แต่ใน 4-5 วันให้หลัง ก็ได้เกิดการปะทะอีกครั้ง ซึ่งเป็นการปะทะครั้งใหญ่กว่าวันที่ 7 สิงหาคม เพราะการปะทะครั้งนี้เองทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะ 3 ราย

ในงานฌาปนกิจสหายธง พ.ศ. 2562 คำไว้อาลัยได้เปิดเผยว่า กองกำลังที่ปะทะกับ ตชด. กลุ่มดังกล่าว คือกองกำลังของสหายธง ซึ่งเป็น พคท. กลุ่มสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี สหายธงมองว่าปฏิบัติการครั้งนี้อาจไม่ใช่เป็นเพียงการพิสูจน์ทราบอย่างที่กล่าวอ้าง แต่อาจเป็นภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” หรือการสังหารสหายธงและคอมมิวนิสต์กลุ่มสุดท้ายที่เหลือคนอยู่ไม่มากนัก เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติการในวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันปืนแตก (ในความเข้าใจของคนทั่วไปในขณะนั้น) ทั้งชุดปฏิบัติการของ ตชด. เป็นการคัดคนที่มีประสบการณ์รบอย่างโชกโชน ไม่น่าจะมาทำเพียงภารกิจด้านการข่าว (ส. ชนะ ประชาสงบ, 2562, น. 119-120)

อย่างไรก็ตาม การปะทะครั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ ก็นับได้ว่าเป็น “วันเสียงปืนแตกครั้งสุดท้าย” เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ พคท. ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังตรงกับวันที่ 7 สิงหาคม ที่ถูกนับเป็นวันเสียงปืนแตก ที่ พคท. ได้ใช้อาวุธต่อต้านอำนาจรัฐครั้งแรกอย่างเป็นทางการ และยังเป็นการปิดฉากสงครามประชาชน เพราะกองกำลัง พคท. กลุ่มสุดท้ายก็ทยอยสลายตัวลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงสหายธง

หลังจากเหตุการณ์นี้สหายธงก็ยังคงอยู่ในป่าจนถึง พ.ศ. 2537 ถึงได้ออกจากป่ามา แต่ก็ไม่ได้มอบตัว ต่อมา พ.ศ. 2543 เมื่อมีการยกเลิก พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2493 และได้เปิดเผยตัวครั้งแรกในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2546 และคำไว้อาลัยดังกล่าวก็เป็นการเปิดเผยครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 27 ปี ว่า กองกำลังที่ปะทะกับ ตชด. ในป่าบางกลอย คือกองกำลัง พคท. กลุ่มสุดท้ายของสหายธง หากไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงนี้ อาจจะไม่มีทางได้รู้เลยว่าวันนั้น ตชด. ปะทะกับฝ่ายไหน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เชาวน์ พงษ์พิชิต. ประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565.

โชคดี ชัยยะเจริญ, สัมภาษณ์โดย คงกระพัน แสงสุริยะ, “คุยคุ้ยคน | ติดนรกป่าอาถรรพ์ | 35 วันในป่าบางกลอย Part 2.” YouTube: หนุมคงกระพัน official. https://youtu.be/4gJ6ERs8qi8 (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565).

_____, “คุยคุ้ยคน | ติดนรกป่าอาถรรพ์ | 35 วันในป่าบางกลอย Part 3.” YouTube: หนุมคงกระพัน official. https://youtu.be/2m8pSX2sXxA (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565).

ธิกานต์ ศรีนารา. ความขัดแย้งทางความคิดในขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย ระหว่าง พ.ศ. 2519-2525. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะศิลปศาสตร์, สาขาวิชา ประวัติศาสตร์, 2548.

สมชัย ภัทรธนานันท์. “การสร้างรัฐประชาชาติไทยกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวนาอีสาน: กรณีบ้านนาบัว จังหวัดนครพนม.” ใน เมื่อใดจึงเป็นชาติไทย. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชั่น เอดิชั่น, 2564.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “8 สิงหา 2508 ” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก” (ตอนที่ 1). ประชาไทย. เผยแพร่ 8 สิงหาคม 2552. สืบคนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565. สืบค้นโดย https://prachatai.com/journal/2009/08/25380 (เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 สิงหาคม 2547)

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, และคณะ. ใต้ธงปฏิวัติ: ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากคำบอกเล่าของ ธง แจ่มศรี และสหาย (พ.ศ. 2464-2537). ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565