“พรรคคอมมิวนิสต์สยาม” แรกเริ่มการเคลื่อนไหวลัทธิมาร์กซในสยาม ก่อนถึงยุค พคท.

ภาพหน้าปกหนังสือ "ร้อยบทเพลง ร้อยดวงจิตนักปฏิวัติ"

เมื่อมีการพูดถึง “คอมมิวนิสต์” ในประเทศไทย ก็จะต้องอ้างถึง “พคท.” หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ พคท. ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และชาวไทยก็ไม่ใช่ผู้เคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์หรือลัทธิมาร์กซในประเทศนี้ตั้งแต่แรก

ปัญญาชนกลุ่มแรกในสยามที่สนใจแนวคิดแบบสังคมนิยมตามลัทธิมาร์กซ เช่น พ.ท. พระสารสาส์นพลขัณฑ์ (ลอง สุนทานนท์), หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล. เดช สนิทวงศ์) แต่แนวคิดนี้ในสมัยนั้นไม่ได้มุ่งหวังเพื่อการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการตื่นตัวแนวคิดของลัทธิมาร์กซผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น บทความ “โซชลิสต์คืออะไร” แปลโดยหลวงเดชสหกรณ์และการออกหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” เมื่อ พ.ศ. 2465 ที่มีเป้าหมายกระตุ้นความคิดของเหล่ากรรมกร ดังนั้น จะเห็นภาพว่ามีความเคลื่อนไหวในสังคมต่อแนวคิดนี้มาไม่นานหลังจากลัทธิมาร์กซจากยุโรปแพร่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก

การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสยามนั้นไม่ได้เกิดจากการผลักดันของชาวไทย แต่เกิดจากการดำเนินงานของชาวจีนและชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในสยาม ชาวจีนคนแรก ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ในสยามคือ ทำจีนซำ หรือ ถ่ำจันซาม ซึ่งเคยถูกทางการสยามจับกุม เมื่อ พ.ศ. 2468 เนื่องจากเขาได้ออกหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาประณามอังกฤษและญี่ปุ่น แต่สดุดีระบอบสาธารณรัฐและลัทธิบอลเชวิก (ลัทธิมาร์กซสายรัสเซีย) นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าเขากับพวกได้ตั้งชมรมขึ้นมาชมรมหนึ่งมีสมาชิกมากกว่า 100 คน ชมรมนี้ตั้งเพื่อศึกษา รวบรวมชาวจีนกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นคณะเดียวกัน กระทั่งเขาถูกขับออกจากสยามเมื่อ พ.ศ. 2469

นอกจากนี้สยามยังได้เนรเทศชาวจีนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์หลายคน เช่น เกซิมเทียมและลิ้มจักชวน ครูฝ่ายภาษาจีน โรงเรียนซำหมินที่หาดใหญ่ และชาวจีนอีกหลายคนก็ถูกตรวจสอบและพบหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์และพบหนังสือที่มีเนื้อหานิยมระบอบสาธารณรัฐ แต่มีความเป็นไปได้ว่า ชาวจีนเหล่านี้เป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งหัวก้าวหน้า ไม่น่าจะใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน

แต่เมื่อเหตุการณ์ในประเทศจีนเข้าสู่จุดแตกหักระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคก๊กมินตั๋ง อิทธิพลจากลัทธิมาร์กซได้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นในสยาม ซึ่งมีผลส่วนหนึ่งมาจากชาวจีนคอมมิวนิสต์ที่อพยพเข้ามาในสยามมากขึ้น ชาวจีนได้จัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับลัทธิมาร์กซขึ้นมา เช่น พรรคชาวจีนโพ้นทะเล พรรคปฏิวัติใต้ดิน องค์กรปฏิวัติฝ่ายซ้ายหัวเฉียว องค์กรชาวจีนโพ้นทะเลห้าวหน้าในสยาม และองค์การปฏิวัติรักชาติ เป็นต้น และนำไปสู่การตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยามขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2471 โดยถูกเรียกจากทางการสยามว่า “คณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนสาขาประเทศสยาม” ซึ่งประสบผลสำเร็จในการเผยแพร่ลัทธิในหมู่กรรมกรจีน นักหนังสือพิมพ์จีน ครูและนักเรียนในโรงเรียนจีน แต่เป้าหมายยังคงอยู่ที่การให้การสนับสนุนพรรคคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนมากกว่าการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเรื่องใด ๆ ในสยาม

ต่อมามีการจัดการประชุมองค์กรสากลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2472 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้คอมมิวนิสต์ทั่วโลกดำเนินการให้มีการปฏิวัติปลดแอกประชาชนในแต่ละประเทศ นั่นหมายถึงการมอบหมายให้คอมมิวนิสต์ในสยามที่เป็นชาวจีนและชาวเวียดนาม ให้เริ่มการเคลื่อนไหวในสยามอย่างจริงจังแทนการดำเนินการสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศจีนและเวียดนาม

คณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนสาขาประเทศสยามเห็นว่า ศัตรูของสังคมสยามคือจักรพรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส รวมถึงระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายต่อต้านและโค่นล้มจักรพรรดินิยมและระบอบกษัตริย์นี้ แล้วมุ่งหวังจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นแทน โดยได้ออกประกาศและใบปลิวโจมตีรัฐบาลสยาม แต่ชาวจีนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ถูกกวาดล้างและถูกจับกุมหลายคน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ชาวเวียดนามในสยามก็เป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวลัทธิมาร์กซด้วย แต่ในตอนแรกก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับชาวจีน คือการเคลื่อนไหวใด ๆ มีเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศแม่ของตนเอง ชาวเวียดนามใช้สยามเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิมาร์กซแก่ชาวเวียดนามอพยพเพื่อก่อตั้งองค์กรเคลื่อนไหวสนับสนุนการปลดแอกเวียดนามจากฝรั่งเศส และใช้สยามเป็นศูนย์ใหญ่เพื่อฝึกวัยรุ่นหนุ่มสาวให้กลับไปเคลื่อนไหวในเวียดนาม โดยชาวเวียดนามเหล่านี้มักอาศัยรวมกลุ่มกันในแถบจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง

เหงวียนอายกว็อกหรือโฮจิมินห์ ชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวในสยามได้เคยเข้าร่วมการประชุมองค์กรสากลที่ 3 แล้วได้กลับมาสยามเพื่อแจ้งมติของคอมมิวนิสต์สากลให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสยามทั้งชาวจีนและชาวเวียดนามทราบ จากนั้นจึงได้ประสานความร่วมมือระหว่างชาวจีนกับชาวเวียดนาม อันจะนำไปสู่การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม โดยโฮจิมินห์ได้วิเคราะห์สังคมไทยว่า

“สยามเป็นประเทศศักดินาและกึ่งเมืองขึ้น ด้วยเหตุนี้ สยามยังไม่อาจทำการปฏิวัติสังคมนิยมได้โดยตรง แต่แค่ต้องทำการปฏิวัติประชาธิปไตยนายทุนแบบใหม่ก่อน หลังจากบรรลุหน้าที่โค่นล้มศักดินาและจักรพรรดินิยมแล้ว อาศัยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต และพลังที่ปฏิวัติทั่วโลก สยามสามารถก้าวตรงสู่ระบอบสังคมนิยม โดยไม่ต้องผ่านระยะพัฒนาระบอบทุนนิยม”

จากนั้นโฮจิมินห์ได้เป็นประธานจัดการประชุม ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2473 ที่โรงแรมตุ้นกี่ หน้าหัวลำโพง เพื่อจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามที่มุ่งให้เกิดการปฏิวัติในสยามโดยตรง เรียกว่า “สมาคมคอมมิวนิสต์สยาม” มีจุดมุ่งหมายเพื่อโค่นล้มระบอบศักดินาและจักรพรรดิ นำไปสู่การสร้างรัฐกรรมกรชาวนาแห่งสยาม จึงถือได้ว่าสมาคมคอมมิวนิสต์สยามเป็นการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามขึ้นอย่างเป็นทางการ


อ้างอิง : 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2550, เมษายน). ประวัติการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่  28 : ฉบับที่ 6.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2562