สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลที่มีเมรุ มีสัปเหร่อ มีบริการเผาศพ ?!?

สถาบันบำราศนราดูร เมรุ
(ซ้าย) คลินิกที่ศิริราชพยาบาล ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2483-2503 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries) (ขวา) เมรุเผาศพ โรงพยาบาลบำราศนราดูร (ภาพจาก ก้าวสู่ 1 ศตวรรษงานป้องกันควบคุม)

โรงพยาบาลทั่วไปมีหน้าที่ดูแลรักษาให้ผู้ป่วยพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่นอกจากหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ครั้งหนึ่ง “สถาบันบำราศนราดูร” เคยมี “เมรุ” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงพยาบาล และให้ “บริการเผาศพ” แก่ผู้ป่วยที่เสียชีวิต

บริการดังกล่าวมีมาตั้งแต่เมื่อครั้ง สถาบันบำราศนราดูร ยังเป็น “โรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท” และ “โรงพยาบาลบำราศนราดูร”

Advertisement

เหตุที่โรงพยาบาลมีเมรุเผาศพในรั้วโลกนั้น หนังสือ ก้าวสู่ 1 ศตวรรษงานป้องกันควบคุม บอกไว้ว่า

“เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อ เมื่อมีผู้ป่วยตาย ทางวัดก็ไม่อยากรับเผาศพ จึงต้องสร้างเมรุเพื่อเผาศพไว้ในบริเวณโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2529 โรงพยาบาลบำราศถูกมอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยเอดส์ เมื่อมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องใช้เมรุเผาศพทั้งวันทั้งคืน จนมีคำพูด ‘เผาทั้งวันทั้งคืน เผาจนเตาแตก’ เมรุเผาศพถูกรื้อทิ้งในปี พ.ศ. 2532”

หัน นาคประกอบ (ภาพจาก เอดส์…ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ฯ)

ขณะที่บทสัมภาษณ์ นายหัน นาคประกอบ อดีตเวรเปลตั้งแต่ครั้งเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท และย้ายมาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร จนกระทั่งเกษียณอายุ ซึ่งจับพลัดจับผลูมาเป็นผู้ดูแลเมรุเผาศพคนสุดท้าย ในหนังสือ เอดส์…ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ จากโรงพยาบาลบำราศในอดีต บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“ปี 2498 อหิวาระบาดหนักมาก ศพเยอะ ถูกส่งไปเผาที่วัดสะพานอยู่ตรงราชวิถี เป็นการจ้างเผา ซึ่งเป็นที่มาของเมรุเผาศพที่บำราศเลย ผมเป็นลูกจ้างประจำก่อน ทำทุกอย่างตั้งแต่ดินยันฟ้า ตัดหญ้า เวรเปล เวรโทรศัพท์ จิปาถะ อยู่ตั้งแต่โรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท…”

นายหันได้อธิบายว่า ภาพเมรุ หรือเตาเผาศพ ข้างต้นนั้นว่า “เตา [เผาศพ] แรกสร้างพร้อมโรงพยาบาล ภาพนี้เป็นเตาอันที่ 2 เพราะเตาแรกเผาจนแตก ศพเยอะน่ะ…”

เม่ื่อ “สถาบันบำราศนราดูร” ที่เป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อ ตั้งแต่สมัยที่เป็น “โรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท” และ “โรงพยาบาลบำราศนราดูร” เมื่อมีผู้ป่วยเสียชีวิต ทางวัดก็ไม่อยากรับเผาศพ โรงพยาบาลจึงต้องสร้าง “เมรุ” เพื่อเผาศพเอง จบครบในที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ. เอดส์…ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ จากโรงพยาบาลบำราศในอดีต, สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, มิถุนายน 2561

มณี สุขประเสริฐ. ก้าวสู่ 1 ศตวรรษงานป้องกันควบคุม, สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ธันวาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2565