ที่มาวาทะพลเอกสุจินดา “ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์” ก่อนนำสู่ “พฤษภาทมิฬ”

พลเอก สุจินดา คราประยูร
พลเอก สุจินดา คราประยูร เมื่อ พ.ศ. 2534 (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน, สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

พลเอก สุจินดา คราประยูร เจ้าของวาทะอมตะ “ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์” เพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ก่อนหน้าปฏิเสธมาโดยตลอด วาทะนี้พลเอก สุจินดากล่าวไว้ ณ วันอำลากองทัพบก ที่ห้องประชุมกองทัพบก และในคราวเดียวกันนั้นก็ถึงกับหลั่งน้ำตาขณะกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้านายทหารอีกด้วย

เส้นทางการเมืองของพลเอก สุจินดาไม่ต่างจากนายทหารยุคก่อน ๆ เท่าใดนัก เริ่มจากการมีบทบาทในตำแหน่งสำคัญ ๆ ของกองทัพบก โดยได้รับการสนับสนุนจากพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อจากตน เมื่อ พ.ศ. 2533 เนื่องจากพลเอก ชวลิตเตรียมความพร้อมจะลงสนามการเมืองไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (นายกรัฐมนตรี) ดังนั้น พลเอก ชวลิตจึงมุ่งหวังที่จะสร้างฐานอำนาจทางการเมืองในกองทัพเพื่อสนับสนุนตน

ในทางหนึ่ง พลเอก สุจินดาจึงถูกมองว่าเป็นทายาทของพลเอก ชวลิต นั่นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ทำให้พลเอก สุจินดามีบทบาทสำคัญทางทหารและทางการเมือง ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก

ทว่า พลเอก ชวลิตไม่อาจเดินบนเส้นทางนักการเมืองได้สะดวกนัก เพราะนักการเมืองคอยวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านกองทัพอย่างเปิดเผย ได้แก่ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง และนายไตรรงค์ สุวรณคีรี ซึ่งล้วนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ดังนั้น พลเอก ชวลิตจึงลาออกจากทุกตำแหน่ง เหลือดำรงตำแหน่งเพียงที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในของสามเหล่าทัพ และกองบัญชาการทหารสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น

ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับกองทัพจึงร้อนแรงตลอดช่วง พ.ศ. 2533-2534 ขณะที่พลเอก ชาติชายไม่สามารถหย่าศึกระหว่างสองฝ่ายได้ จนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่มีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน และมีพลเอก สุจินดาเป็นแกนนำคนสำคัญ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 กระทั่งได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535

พรรคสามัคคีธรรมได้ที่จำนวน ส.ส. มากที่สุด แต่พรรคถูกวิจารณ์ว่าตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจต่อจาก รสช. กระนั้นพรรคสามัคคีธรรมก็ยังเป็นแกนนำสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เดิมทีได้เสนอให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด จึงไม่อาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้เกิดกระแสข่าวให้บุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้ง พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพลเอก สุจินดา

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารของ รสช. ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพลเอก ชวลิตกับพลเอก สุจินดา เนื่องจากมีการมองว่า รสช. รัฐประหารเพื่อให้พลเอก ชวลิตได้การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือเพื่อเพิ่มบทบาททางการเมืองขึ้นอีกครั้ง ส่วนตัวพลเอก สุนทรที่เป็นเพื่อนสนิทของพลเอก ชวลิต แม้พยายามช่วยให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แกนนำ รสช. คนอื่นปฏิเสธ ดังนั้น หลังการเลือกตั้ง พลเอก ชวลิตที่ได้มาเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่จึงเริ่มโจมตี รสช. และโดยเฉพาะพลเอก สุจินดา เพราะหวั่นเกรงว่า รสช. จะครองอำนาจไว้เอง

ในที่สุดด้วยรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องว่างไว้ให้นายกรัฐมนตรีไม่จําเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น พลเอก สุจินดาจึงได้ดำรงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่พลเอก สุจินดาเคยให้คํามั่นต่อประชาชน โดยกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นานจากนั้นพลเอก สุจินดาจึงถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นผู้สืบทอดอํานาจของ รสช. จึงถูกย้อนถามถึงคําปฏิญาณตนของทหารที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” แต่พลเอก สุจินดาอ้างว่าตน “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

วาสนา นาน่วม อธิบายในหนังสือ “บันทึกคำให้การ สุจินดา คราประยูร : กำเนิดและอวสาน รสช.” (สำนักพิมพ์มติชน, 2545) ว่า “…พลเอกสุจินดาถูกมองว่าจำใจต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความจำเป็น จึงทำให้หลั่งน้ำตาอําลากองทัพบก เมื่อต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าเป็นการแสดงละคร”

เหตุการณ์ที่พลเอก สุจินดาหลั่งน้ำตา และที่มาของวาทะ “ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์” นั้น เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535

ช่วงเวลาเช้า พลเอก สุจินดาเดินทางมาที่ห้องประชุมกองทัพบก เพื่ออำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี ขณะนั้นเป็นรักษาการผู้บัญชาการทหารบก (และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในค่ำวันนั้น) ได้กล่าวขอบคุณพลเอก สุจินดา เมื่อกล่าวจบพลเอก สุจินดาจึงได้กล่าวตอบขอบคุณ โดยหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2535 รายงานข่าวในวันนั้นไว้ว่า พลเอก สุจินดาได้ร้องไห้ออกมาขณะกล่าวสุนทรพจน์ ความว่า

“…’ชีวิตของผมมีความสุขที่สุด คือชีวิตที่ได้รับราชการอยู่ในกองทัพบก’ ถึงตอนนี้พล.อ.สุจินดา มีอาการคล้ายกับอะไรจะไปจุกที่ลำคอ นิ่งอิ้ง ‘ผม…’ พล.อ.สุจินดากลั้นใจอยากจะพูดต่อแต่ก็พูดไม่ออก พลันน้ำตาก็เริ่มไหลออกมา มากขึ้น-มากขึ้นจนต้องยกมือขึ้นปาดน้ำตา กระนั้นก็ยังนิ่งอึ้งเช่นเดิม และเมื่อพยายามพูดต่อก็ไม่วายตะกุกตะกัก ‘ว่าผม…’ พล.อ.สุจินดายกผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับน้ำตา

‘ผมไม่เคยหวังจะรับตำแหน่งใด ๆ หรือแม้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก’ น้ำเสียงสั่นเครือ ‘ผมพอใจในสิ่งเดียวคือ รับราชการอยู่ในกองทัพบก แต่ขณะเดียวกัน ผมก็รู้ว่า วันหนึ่งผมต้องจากไป ซึ่งผมตั้งใจไว้ตั้งแต่รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกว่า จะออกจากกองทัพก่อนเกษียณอายุเพื่อเปิดทางให้ผู้อยู่ข้างหลังที่มีความสามารถได้เข้ามาแทนที่’…”

พลเอก สุจินดากล่าวต่อไปว่า

“การที่ผมตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นก็เนื่องจาก ประการหนึ่งก็คือ มั่นใจว่ากองทัพบกนั้นเป็นกองทัพที่มั่นคง นายทหารทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันพร้อมที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อทำให้กองทัพบกมั่นคง เพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มีความเจริญ ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี…ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะความเป็นทหารที่เรามีคติประจำใจว่า เรายอมเสียสละได้เพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความจำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น การเสียชื่อเสียง เสียสัจวาจาก็อาจเป็นความจำเป็น”

ตลอดการกล่าวสุนทรพจน์ของพลเอก สุจินดานั้น น้ำเสียงเต็มไปด้วยความสั่นเครือและสะอึกบ้าง แต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมาเหมือนช่วงแรก และเมื่อกล่าวจบ ลงมาจากเวที พลเอก สุจินดามาทักทายนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพบก จนกลั้นน้ำตาไม่อยู่อีกครั้ง นายทหารติดตามจึงต้องส่งผ้าเช็ดหน้าให้ซับน้ำตา ก่อนจะเดินทางกลับ

ช่วงเวลาบ่าย พรรคความหวังใหม่ของพลเอก ชวลิตได้จัดประชุมเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ได้ออกมาแถลงว่า พรรคความหวังใหม่และพรรคพันธมิตรทั้ง 3 ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านจะร่วมกันต่อต้านหลักการที่ขัดต่อประชาธิปไตย โดยช่วงหนึ่งนายพิศาลกล่าวถึงพลเอก สุจินดาที่เพิ่งหลั่งน้ำตาไป ความว่า

“…ตัวพล.อ.สุจินดามีความไม่พร้อมจะเป็นนายกฯ เพราะปฏิเสธมาตลอดจะไม่รับตำแหน่ง และเมื่อรับตำแหน่งก็มีสีหน้าที่เศร้าหมอง ในวันนี้ก็มีข่าวว่ากล่าวคำอำลาต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ร้องไห้ออกทีวี แสดงว่าไม่เหมาะจะเป็นผู้บริหาร เพราะขาดความกล้า ผมเห็นว่าเป็นคนน่าเห็นใจอยู่…”

ภายหลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบดีว่า พลเอก สุจินดาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ไม่นานก็ถูกโจมตีทั้งในและนอกสภาฯ โดยเฉพาะถูกต่อต้านจากพลตรี จำลอง ศรีเมือง และประชาชนอย่างรุนแรง จนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” นำมาซึ่งการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์นั้น บทบาททางการเมืองของพลเอก สุจินดาก็แทบจะหมดไปโดยปริยาย

วาสนา นาน่วม ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พลเอก สุจินดา เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับการหลั่งน้ำตาเมื่อครั้งนั้น พลเอก สุจินดากล่าวว่า

“…ก็จะเห็นว่าตอนที่เราอำลา ทบ. มันร้องไห้ออกมา โดยที่…ความรู้สึกข้างในมันเกิด ก็เราไม่ได้อยากจะเป็น เราไม่อยากจะนั่น ร้องไห้มันหยุดไม่อยู่ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ยังสงสัยเลย เอ๊ะ มันอะไรกันวะ” 

วาสนา นาน่วม บรรยายบรรยากาศ ณ ตอนสัมภาษณ์ต่อจากนั้นว่า “พลเอกสุจินดาละล่ำละลักกล่าวด้วยเสียงสะอื้นที่หายไปในลำคอที่ทำให้ผู้เขียนตกใจ เมื่อมองไปที่นัยน์ตาของพลเอกสุจินดา มีน้ำตาออกมาคลอเบ้า จนพลเอกสุจินดาต้องก้มหน้าแล้วบอกว่า ‘วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะ’ จนผู้เขียนแปลกใจสวนกลับไปว่ายังไม่หมดเวลาเลย โธ่กำลังมัน แต่ก็ต้องจำใจกลับเมื่อพลเอกสุจินดาขอหยุดแค่นี้” 

วาสนา นาน่วม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพลเอก สุจินดาว่า เป็นนายทหารที่มีความรู้สึกอ่อนไหว และอาจเป็นจริงอย่างที่พลเอก วิโรจน์ แสงสนิท เพื่อนร่วมรุ่นกับพลเอก สุจินดาที่เคยบอกว่า พลเอก สุจินดามีอะไรชอบเก็บความรู้สึกไว้คนเดียว ไม่ให้ใครรู้…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565