“พฤษภาทมิฬ” จะไม่เกิด หากมีนายกฯ ชื่อ “สมบุญ ระหงษ์” ?

สมบุญ ระหงษ์
พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน, สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ก่อนที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร จะเป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อของ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ เคยถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ซึ่งหากมีนายกฯ ชื่อ “สมบุญ” ก็อาจไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น?

หลังจาก รสช. รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 และมีการจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปี 2535 แล้วนั้น พรรคสามัคคีธรรมได้ 79 ที่นั่ง มาเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วย พรรคชาติไทย 74 ที่นั่ง, พรรคความหวังใหม่ 72 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ 44 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 360 ที่นั่ง

ณรงค์ วงศ์วรรณ ผู้นำพรรคสามัคคีธรรมถูกเสนอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด จึงต้องถอนตัวไป ที่สุด พล.อ. สุจินดา ดำรงตำแหน่งนายกฯ จนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” แต่ในช่วงสั้นๆ ก่อนที่ พล.อ. สุจินดา จะเป็นนายกฯ พล.อ.อ. สมบุญ ถูกเสนอชื่อขึ้นมาก่อน

พล.อ.อ. สมบุญ ระหงส์ คือใคร?

พล.อ.อ. สมบุญ เป็นนายทหารอากาศ ถูกทาบทามให้เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย เนื่องจากเป็นบุคคลในเครื่องแบบที่สามารถเป็นเกราะป้องกันภัยให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองได้ โดยท่านเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนายทหาร รสช. และมีไมตรีที่เป็นมิตรกับนักการเมือง จนถูกเรียกว่าเป็น “มือประสานสิบทิศ”

พล.อ.อ. สมบุญ เล่าเหตุการณ์ในวันที่แกนนำพรรคชาติไทยบุกขึ้นไปหาบนเครื่องบิน (หลังจากบินกลับมาจากประเทศจีน) เพื่อชักชวนมาเป็นหัวหน้าพรรคว่า “ผมคิดว่าเมื่อกลับมาถึง ผมจะตอบว่าไม่รับตำแหน่ง แต่ยังไม่ทันจะลงเครื่อง ก็มีผู้ใหญ่ของพรรคขึ้นมาหาบนเครื่องแล้วขอร้องผมว่า อย่าเพิ่งปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง เพราะถ้าตอบไม่รับจะยุ่ง เนื่องจากข่าวออกไปทั่วโลกแล้วว่าเลือกผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมบอกไปว่าไม่ได้ แต่เขาก็บอกอย่าเพิ่งปฏิเสธได้ไหม เพื่อให้หาเหตุผลที่ดีกว่านี้ก่อน ผมก็ตกลง”

นักข่าวที่มาดักรอสัมภาษณ์ที่สนามบินดอนเมือง จึงได้รับคำตอบจาก พล.อ.อ. สมบุญ ในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ โดยตอบเพียงว่าจะขอหารือกับ “ผู้ใหญ่” ก่อนตัดสินใจ โดยหลังจากปรึกษากับ “ผู้ใหญ่” หลายท่านซึ่งล้วนให้การสนับสนุน พล.อ.อ. สมบุญ จึงตัดสินใจมุ่งเดินสู่ถนนสายการเมือง

แต่ใช่ว่า พล.อ.อ. สมบุญ เพิ่งจะเข้ามาทำงานด้านการเมือง โดยก่อนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย พล.อ.อ. สมบุญ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ช่วยก่อตั้งพรรคสามัคคีธรรม ช่วยรวบรวม ส.ส. เข้าพรรค และเชิญ ณรงค์ วงศ์วรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรค

ณรงค์ วงศ์วรรณ ถาม พล.อ.อ. สมบุญ ว่า “ทำไมไม่เป็นเองล่ะ” พล.อ.อ. สมบุญ ตอบว่า “อยากให้พี่เป็นนายกฯ คนอย่างผมเป็นทหารคำไหนคำนั้น และพี่มี ส.ส. 60 คน ตัวดัง ๆ ทั้งนั้น ที่สุดก็รับปาก” 

นอกจากนี้ พล.อ.อ. สมบุญ ยังต้องการให้พรรคสามัคคีธรรมชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่ 1 จึงขอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคชาติไทยราว 10 คน ย้ายไปสังกัดพรรคสามัคคีธรรม จนทำให้ เสนาะ เทียนทอง แกนนำในพรรคชาติไทย รู้สึก “หงุดหงิด” แต่ท้ายที่สุดก็จำยอมด้วยเงื่อนไขของ พล.อ.อ. สมบุญ

หลังอุบัติเหตุทางการเมืองของ ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ต้อง “แห้ว” ตำแหน่งนายกฯ ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมาว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งนี้

พล.อ.อ. สมบุญ เล่าไว้ว่า “เรื่องใหญ่ เรื่องยาว วันที่ประกาศให้พี่ณรงค์เป็นนายกฯ เจอตูมเดียวเสร็จเลย ทุกคนเอาอีกแล้ว มารุมผมให้เป็นนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคที่สอง แกนนำพรรคชาติไทย สามัคคีธรรมประชุมกันหลายครั้งทั้งที่เรือนรับรองกองทัพอากาศ และหลายที่ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์”

“สุดท้ายผมเข้าไปคุยกับ พล.อ.อ. เกษตร โดยบอกท่านไปว่าถ้าเป็นเท่ากับเห็นแก่ตัว ถ้ารับ ผมก็ไม่สมาร์ท คนจะหาว่าทำเพื่อตัวเอง เพราะที่ผ่านมาก็ให้สัมภาษณ์สื่อ ปราศรัยหาเสียงบนเวทีว่าไม่เป็นนายกฯ แล้วผมจะไปรับทำไม…”

“แต่ก่อนจะจากกัน พล.อ.อ. เกษตร พูดขึ้นมาคำหนึ่งว่า เออ…เอาอย่างนี้ดีกว่า เย็นนี้ไปถามสุจินดาก่อนว่าจะรับตำแหน่งได้หรือไม่ ถ้าไม่รับก็จบ พล.อ.อ. เกษตรก็ไปถาม ผมไม่ได้ไปด้วย พล.อ. สุจินดาเกิดรับขึ้นมา”

เมื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกฯ ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ภายหลังเหตุการณ์นั้น มีการเรียกประชุมที่กองทัพภาคที่ 1 มี พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี และทหารอีก 4-5 คน พร้อมด้วยนักการเมืองอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา, เสนาะ เทียนทอง, สมัคร สุนทรเวช, มนตรี พงษ์พานิช รวมทั้ง พล.อ.อ. สมบุญ

พล.อ.อ. สมบุญ เล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า

“ผมมาถึง เขาก็นั่งกันเต็มไปหมด บอกผมว่าทุกคนลงมติให้ท่านเป็นนายกฯ ผมก็ยืนยันไม่เป็น ผมก็เสนอชื่อคนโน้นคนนี้ แต่ทุกคนติดปัญหาแบบเดียวกันหมด”

“เมื่อดูเหมือนไม่มีทางออก ท่านเสนาะก็พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า พี่สมบุญ ไอ้เกิดเรื่องคราวนี้ก็เพราะพี่นะ ถ้าพี่รับเป็นนายกฯ ซะตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่เกิดเรื่อง พี่ไม่ยอมรับมันจึงเกิดเรื่อง เพราะฉะนั้นคราวนี้พี่ปฏิเสธไม่ได้ ลูกผู้ชาย พี่ไปกราบพระแล้วต้องรับปากจะไม่กลับคำ”

พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน, สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมหมายมุ่งให้ พล.อ.อ. สมบุญ ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ แต่ตัวของ พล.อ.อ. สมบุญ กลับมีท่าทีต่างออกไป ท่านเล่าว่า

“ผมเดินทางไปพบ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่บ้านพักซอยราชครู ก็ยังยืนยันคําเดิมว่าไม่รับตําแหน่ง พร้อมบอกให้ท่านไปจัดการหานายกฯ ส่วนผมจะหลบ เก็บตัวเงียบ”

“ใจหนึ่งก็คิดว่า พล.อ. ชาติชายจะทำสำเร็จ เพราะตอนนั้นทุกคนยังสงสัยจากข่าวที่ออกมา 2 กระแสว่า ได้เป็นกับไม่ได้เป็น…”

“ผมรู้ว่านายกฯ คนใหม่ไม่ใช่ผม แต่ชื่อคนที่จะมาเป็นก็ไม่รู้ เพียงเดาได้จากที่ พล.อ. ชาติชายเชิญมากินข้าวว่ามีใคร 4-5 คน เข้าใจว่าเป็นหนึ่งในนั้น”

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจในการเสนอชื่อนายกฯ คือประธานรัฐสภา ผู้นั้นคือ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งไม่ยอมเสนอชื่อ พล.อ. สมบุญ โดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ได้ ประชาชนไม่ยอมรับแน่ ถ้าเสนอไปมันก็เป็นการสืบทอด เหมือนสมยอมให้กับพวกนี้ได้ทำอะไรต่อไป แล้วเราก็รู้มาด้วยว่าเบื้องหลังหลายคนหวังเรื่องของโปรเจกต์ หวังจะเป็นรัฐมนตรีกัน ยังไงก็เสนอ พล.อ.อ. สมบุญไม่ได้”

โดยมีความพยายาม “วิ่งเต้น” จากฝ่ายการเมืองให้เสนอชื่อ พล.อ. สมบุญ เป็นนายกฯ ให้ได้ โดยยื่นข้อเสนอมอบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ แต่ ดร. อาทิตย์ ตอบว่า “ผมตอบท่านไปว่า ถ้าแบบนั้นมันไม่ได้บริหารประเทศหรอก บ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่ ผมเสนอไม่ได้…”

เมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายชื่อนายกฯ หลายฝ่ายเชื่อว่า “ตัวเต็ง” อย่าง พล.อ.อ. สมบุญ ได้เป็นนายกฯ โดยไม่ต้องสงสัย ขณะที่ พล.อ.อ. สมบุญ เองก็เตรียมตัวพร้อมรอรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ที่บ้านอย่างพร้อมสรรพ แต่ในใจของท่านก็ยังมีความลังเลอยู่ ดังที่ท่านเล่าว่า

“ตอนนั้นผมรอว่าจะเปลี่ยน (ชื่อนายกฯ) สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ เพราะขั้นตอนจากสภาไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ระหว่างทางจะเปลี่ยนได้หรือไม่ แต่ผมมาแต่งชุดขาวก็เกือบทุ่มหนึ่ง (วันที่ 10 มิถุนายน 2535) เพราะอาจารย์ธรรมนูญ (ศ.ธรรมนูญ ลัดพลี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โทร.มาบอกให้แต่งตัวเตรียมรับพระบรมราชโองการ เพราะคำสั่งมาแล้ว”

“ตอนจะขึ้นไปแต่งตัว ภรรยายังถามว่าจะแต่งตัวทำไม ผมบอกผมเห็นอาจารย์ธรรมนูญเขาว่าคำสั่งมาแล้ว ภรรยาก็ยังถามว่าไหนบอกไม่เป็น ผมก็บอกไม่เป็น แต่เกิดเขาบังคับล่ะ ภรรยาก็ถามอีกว่าพี่เชื่อได้อย่างไร ผมก็บอกว่าก็ไม่รู้ ก็เลยต้องแต่งตัวชุดขาวลงมา”

ครั้นเมื่อประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ออกมาแล้ว กลับเป็นเรื่อง “พลิกโผ” เพราะนายกฯ คนใหม่คือ อานันท์ ปันยารชุน

จากเหตุการณ์นี้ ดร. อาทิตย์ ถูกขนานนามว่าเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ด้าน พล.อ.อ. สมบุญ ก็กลายเป็นตำนาน “ชุดขาวรอเก้อ” คือแต่งตัวเต็มยศพร้อมรับตำแหน่งนายกฯ แต่รอจนเก้อที่สุดก็ไม่ได้เป็น

ดร. อาทิตย์ เลือก อานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ ด้วยเหตุที่ว่า “ขอเชิญมายุบสภาให้หน่อย เพราะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น จึงจะยุบสภาได้” แนวคิดของ ดร. อาทิตย์ คือต้องการผู้นำประเทศชั่วคราวเพื่อมายุบสภาให้ประเทศเข้าสู่ภาวะการเริ่มต้นใหม่ทางการเมือง

ดร. อาทิตย์ กล่าวว่า “ผมบอก ดร. ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นว่า ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรอก เพราะบ้านเมืองพังแน่ นองเลือดกันแน่นอน…”

“ก่อนที่ผมจะทูลเกล้าฯ เสนอชื่อคุณอานันท์เป็นนายกฯ ก็มีการคาดการณ์กันว่า พล.อ.อ. สมบุญจะขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งตัวท่านเองก็แต่งชุดขาวตั้งโต๊ะหมู่ มีพานพุ่มดอกไม้ พระบรมฉายาลักษณ์ นักข่าวก็ไปรอกันที่บ้านท่านสมบุญ แต่พอปรากฏว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งคุณอานันท์ ท่านสมบุญท่านก็เดินกลับขึ้นบันไดไปเปลี่ยนเสื้อ ผมเห็นท่านยิ้มนะ ผมว่าท่านคงจะรู้สึกโล่งอกในวินาทีนั้นเหมือนกัน…”

พล.อ.อ. สมบุญ เล่าว่า “ท่าน [ดร. อาทิตย์ – ผู้เขียน] ก็โทร.เข้ามาบอกขอโทษด้วยนะที่ต้องทำอย่างนี้ ผมบอกไม่เป็นไร ตามสบาย ไม่มีปัญหา รู้เหตุผลอยู่แล้ว”

“เมื่อจบเรื่อง คนอื่นตกใจ แต่ผมหัวเราะ เหมือนยกภูเขาออกจากอก คืนนั้นนอนหลับสบาย เช้าผมก็ประชุมสภาตามปกติ รู้สึกว่ามันหมดเวรแล้ว” พล.อ.อ. สมบุญ เล่าทิ้งท้าย

หาก พล.อ.อ. สมบุญ เป็นนายกฯ แทนที่จะเป็น พล.อ. สุจินดา เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ก็อาจไม่เกิดขึ้น ดังที่ เสนาะ เทียนทอง กล่าวไว้ข้างต้นว่า “พี่สมบุญ ไอ้เกิดเรื่องคราวนี้ก็เพราะพี่นะ ถ้าพี่รับเป็นนายกฯ ซะตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่เกิดเรื่อง พี่ไม่ยอมรับมันจึงเกิดเรื่อง…”

แต่หาก พล.อ.อ. สมบุญ เป็นนายกฯ หลังจาก พล.อ. สุจินดา ลาออกไปแล้ว ก็อาจเกิดเหตุการณ์ “มิถุนาทมิฬ” หรือ “กรกฎาทมิฬ” ขึ้นได้ ใครจะรู้เล่า? ดังที่ ดร. อาทิตย์ กล่าวไว้ข้างต้นว่า

“ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรอก เพราะบ้านเมืองพังแน่ นองเลือดกันแน่นอน…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการ ASTV ผู้จัดการ. (2553). อาทิตย์ อุไรรัตน์ ก้าวข้ามวิกฤตชาติ. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์.

ทีมข่าวการเมืองมติชน. (2547). ฉะ แฉ ฉาว. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2564