เบื้องหลัง “จำลอง” ชวน “ทักษิณ” เล่นการเมือง กับพรรคพลังธรรมช่วงขาลง ก่อนตั้งทรท.ผงาดนายก

ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย จำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรม

เบื้องหลัง “จำลอง ศรีเมือง” ชวน “ทักษิณ ชินวัตร” เล่นการเมือง กับ “พรรคพลังธรรม” ช่วงขาลง ก่อนตั้ง “ไทยรักไทย” ผงาดนายกฯ

ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปลายปี 2537 จู่ ๆ ก็มีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รมว. การต่างประเทศ คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จัก

เพราะชื่อของ “ทักษิณ” เป็นที่รู้จักเฉพาะแวดวงธุรกิจ ฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังรุ่งโรจน์และรุ่งเรืองเท่านั้น จึงเป็นเรื่องสร้างความฮือฮาให้กับวงการเมืองอย่างมาก

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการชักชวนทักษิณก้าวสู่ถนนการเมืองคือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หรือ “มหาจำลอง” อดีตหัวหน้า พรรคพลังธรรม

“ช่วงนั้นมีการปรับ ครม. ในรัฐบาลชวน 1 ผมตัดสินใจปรับ น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ รมว. การต่างประเทศ และ พ.อ. วินัย สมพงษ์ รมว. คมนาคม สมัยนั้น ซึ่งเป็นโควตาพรรคพลังธรรมออกจากตำแหน่ง เพื่อแลกกับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคุณทักษิณ”

พล.ต. จำลอง บอกเล่าความหลังในการตัดสินใจดึงทักษิณเข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยยอมเสียโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีไปถึง 2 ตำแหน่ง

ไม่มีใครรู้เหตุผลว่าทำไม?

มหาจำลองที่ภาพลักษณ์เป็นคนถือศีล กินเจ ถึงไปดึงเอานักธุรกิจที่มีแนวทางชีวิตต่างกันสุดขั้วเข้ามาเป็นรัฐมนตรี และก็คงไม่มีใครคิดว่า “เทียบเชิญ” ของ พล.ต. จำลอง ครั้งนั้น จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

“หลายคนนึกไม่ถึงว่า ผมจะไปเชิญ พ.ต.ท. ทักษิณ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพราะขณะนั้นท่านเป็นนักธุรกิจใหญ่ ที่กำลังรุ่งโรจน์ ในตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จํากัด (มหาชน) แต่ผมตัดสินใจแล้วว่า ต้องการความดี เด่น และดังของคุณทักษิณ มาช่วยบ้านเมือง…”

ภาพถ่าย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ช่วงเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535
พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 (Photo by FRANCIS SILVAN / AFP)

เมื่อตัดสินใจ พล.ต. จำลองก็เดินเข้าไปพบ ทักษิณ ชินวัตร ที่บริษัทชินวัตรฯ ที่สี่แยกราชวัตร

“วันที่ผมไปเชิญคุณทักษิณมาเล่นการเมือง นึกแล้วยังเสียใจอยู่เลย เพราะผมแต่งตัวเชยมาก (อมยิ้ม) ใส่ชุดม่อฮ่อม ที่ไม่มีคอ คล้ายเสื้อชาวนา กางเกงขาก๊วย ขึ้นไปที่ตึกชินวัตร แถมยังใส่รองเท้าแตะที่ตัดมาจากยางรถยนต์อีกด้วยนะ มาถึงก็ขึ้นไปพบท่านที่ห้องทำงาน โดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ท่านก็ดีให้พบ ให้ความเป็นกันเอง ผมบอกว่า อยากให้มาช่วยบ้านเมืองกันหน่อย ต้องการความดี เด่น ดัง ในตัวคุณทักษิณเท่านั้นนะ ไม่ต้องการอย่างอื่นเลย ถ้าเห็นด้วย ผมจะเสนอให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ”

ทักษิณนั่งฟังนิ่ง ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอในทันที โดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ขอผมปรึกษากับครอบครัวก่อนครับ”

จากนั้น พล.ต. จําลองก็ลากรองเท้าแตะและชุดม่อฮ่อมออกจากตึกชินวัตร เพื่อกลับไปรอฟังคำตอบ

“ผมรอฟังคำตอบอยู่หลายวันโดยไม่มีวี่แววว่าคุณทักษิณจะติดต่อกลับมา ตอนนั้นผมอดคิดไม่ได้ว่า คงเป็นเพราะเราเป็นหัวหน้าพรรคกระจอก ๆ ไปเชิญคนที่มีเงินเข้ามาเป็นลูกพรรค ใครเขาจะมาอยู่ด้วย บ้าจังเลย ผมต่อว่าตัวเอง”

เมื่อเวลาล่วงเลยมาประมาณ 4-5 วัน พล.ต. จำลอง ก็ได้รับคำตอบ

“ตกลงพี่ ได้หารือกับครอบครัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว…”

ปลอดโปร่ง โล่งใจ

ส่วน “เหตุผล” ที่ตัดสินใจเลือกทักษิณ พล.ต. จำลอง เล่าว่า “การเมืองไทยขณะนั้นยังไม่หยั่งรากลึก ยังไม่มั่นคง เมื่อยังไม่มั่นคง ต้องได้ผู้นำที่มีความคิดของตัวเอง ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นคนที่สร้างความหวังให้ประชาชน ที่สำคัญคือสามารถปฏิบัติได้จริง ที่เรียกกันว่า เป็นผู้นำแบบ ‘Charisma’ (พรสวรรค์ ความสามารถพิเศษ) ไม่ใช่แบบแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน แล้วจับมาเป็นผู้นำ ดูแล้วมันชาชิน เบื่อหน่าย เลยคิดว่าถ้าได้ผู้นำแบบนี้ คนถึงจะมีความหวัง ซึ่งคุณทักษิณ ก็อยู่ในเกณฑ์นี้”

การที่ พล.ต. จำลองกล้าเดินเข้าไปพบทักษิณ และมอบตำแหน่งรัฐมนตรีให้นั้น เป็นเพราะ “ความคุ้นเคย” แต่เก่าก่อน ด้วยความที่บ้านของ พล.ต. จำลอง อยู่ใกล้กับตึกชินวัตร เวลาว่าง ๆ เมื่อมีโอกาส ทักษิณมักจะไปนั่งคุยเรื่องบ้านเมืองกับ พล.ต. จำลองเป็นประจำ

ทำให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองแนบแน่นมากขึ้น!!

“มีวันหนึ่งท่านไปที่บ้านผม นั่งคุยกันไปมา ท่านบอกว่าอยากจะตั้งพรรคใหม่ เพราะสามารถทำอะไรได้ตามใจเราทุกอย่าง แต่แทนที่ผมจะห้าม และชวนมาอยู่พรรคพลังธรรม ผมยุให้ท่านตั้งพรรคใหม่ ท่านก็คงงง ๆ นะตอนนั้น แต่ที่สุดก็ไม่ได้ตั้ง ผมเลยไปชวนมาอยู่พรรคพลังธรรม”

ทักษิณ ชินวัตร หาเสียง
ทักษิณ ชินวัตร หาเสียงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 (Photo by CHAIWAT SUBPRASOM / AFP)

ขณะนั้นพรรคพลังธรรมมี สส. ทั้งหมด 47 คน (จากการเลือกตั้งเมื่อ 13 กันยายน 2535)

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของพรรคพลังธรรม ที่การปรับ ครม. แต่ละครั้งจะมีการรื้อใหม่ทั้งหมด โดยไม่ยึดหลักความอาวุโสทางการเมือง

ด้วยสาเหตุนี้จึงเปิดทางให้คนนอกพรรคอย่างทักษิณ สามารถเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้

“พรรคพลังธรรมไม่ยึดติดว่าต้องผ่านขั้นนี้แล้วเป็นขั้นโน้น โบราณไป จะเห็นได้ว่าคุณสุดารัตน์เข้ามาไม่นานก็ได้เป็นเลขาธิการพรรค ตั้งแต่อายุยังน้อย หลายคนก็เป็นแบบนี้ เราดูที่ประสิทธิภาพ ดูความสามารถของคุณทักษิณเป็นหลัก จะไม่คำนึงว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกพรรค”

หลังผลักดันให้ทักษิณเข้ามาเป็นรัฐมนตรีและเป็นสมาชิกพรรค พร้อมกับมอบเก้าอี้หัวหน้าพรรคให้ทักษิณดูแลแทนในวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 2538 ภายหลังรัฐบาลชวน 1 ประกาศยุบสภา

ครั้งนั้น พล.ต. จำลองยังเสนอให้ทักษิณลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 2 กรุงเทพมหานคร พื้นที่เดิมของตัวเอง ผลก็คือ พรรคพลังธรรมภายใต้การนำของทักษิณ ได้ สส. 23 คน

ทั้งที่การหาเสียงครั้งนั้น มีการนำบริษัทที่มีชื่อเสียงในการประชาสัมพันธ์เข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ แต่ผลตอบรับกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง

จุดนี้ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คิดมาก

“ท่านก็พูดกับผมว่า ได้ทำอย่างเต็มกำลังแล้ว ซึ่งท่านก็เทียบเคียงว่าตอนที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคได้ สส. 47 คน พอตอนที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคได้ 23 คน ผมก็บอกท่านไปว่าที่เราได้ สส. แค่นี้ เพราะเราเคร่งครัดแบบพลังธรรม ได้ สส. มา 23 คน ก็มหัศจรรย์แล้ว เพราะเป็นพรรคที่ทำตามอุดมคติ ไม่ใช้เงินหาเสียง ไม่พูดปดมดเท็จ เกรี้ยวกราดหยาบช้า ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช้วิชามาร”

นั่นคือ “คำปลอบใจ” ที่มีให้ต่อทักษิณ!!

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคชาติไทย “บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคพลังธรรมถูกเชื้อเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล

ทักษิณได้รับตำแหน่งรองนายกฯ รับผิดชอบงานด้านจราจร (20 กรกฎาคม 2538-14 สิงหาคม 2539) พร้อมประกาศแก้จราจรในเมืองหลวงในเวลา 6 เดือน แต่ล้มเหลว

ห้วงเดียวกับที่พรรคพลังธรรมเกิดความแตกแยกภายใน และกระแสความนิยมก็อยู่ในช่วง “ขาลง”

“แม้หลายคนบอกมาว่าพลังธรรมโตเร็วเกินไป ถ้ามาช้าหน่อยจนสังคมพร้อมกว่านี้ก็จะดีกว่านี้ แต่มันช่วยไม่ได้ ถ้าไม่เกิดวันนั้น ก็คงไม่มีวันนี้ แต่เมื่อเราทำเต็มที่ ทั้งผมและคุณทักษิณ คำตอบออกมาว่าสังคมส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่”

“มีคำจากนักการเมืองบอกมาถึงผมอยู่เสมอว่า การเมืองมันต้องมีเชื้อโรค ถ้าไม่มีเชื้อโรคแล้วมันจะตาย แต่สำหรับผม มองว่าต้องไม่มีเชื้อโรค บ้านเมืองถึงจะอยู่ได้”

เมื่อรู้ว่าถึง “ทางตัน” ทักษิณตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 แต่ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ เพราะคนในพรรคขอร้อง

แล้วผลการเลือกตั้งออกมา พรรคพลังธรรม ได้เพียง 1 เสียง คือคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

เส้นกราฟแห่งความสำเร็จในอดีต เวลานี้ “ดำดิ่ง” ลงจนหลุดกระดาน

พล.ต. จำลองจึงตัดสินใจเชิญคุณหญิงสุดารัตน์ และทักษิณ เข้าพบที่อาคารมูลนิธิพลังธรรม

“ผมบอกว่าคงจบเพียงแค่นี้ เพราะได้คุณสุดารัตน์มาแค่คนเดียว แต่เป็นการจบอย่างสวย เพราะเราทำมาอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องมาโดยตลอด ไม่มีอะไรที่จะตำหนิได้เลย บรรยากาศของสังคมไทยก็เป็นแบบนี้ ผมเลยบอกทั้ง 2 คนไปว่า ผมนึกมานานแล้วว่าสักวันหนึ่งมันต้องเป็นแบบนี้และมัน ก็เป็นจริง ๆ”

การพบปะพูดคุยกันครั้งนั้น ทั้งทักษิณและคุณหญิงสุดารัตน์ต่างนิ่งเงียบ สีหน้าเคร่งเครียด ไม่ยอมพูดจาอะไร มีแต่ พล.ต. จำลองเพียงคนเดียวที่ออกความเห็น

ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินจากกันไป!!

กระทั่ง 14 กรกฎาคม ปี 2541 ทักษิณประกาศตั้งพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้น และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ชวน หลีกภัย พูดคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร
ชวน หลีกภัย (ซ้าย) พูดคุยกับหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ทักษิณ ชินวัตร (ขวา) ระหว่างการดีเบตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 20 ธันวาคม 2543 เป็นงานแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ณ ปี 2548 พล.ต. จำลอง ยังมองว่า ทักษิณยังมีความเป็น “พลังธรรม” อยู่ในตัวอย่างเข้มข้น คือขยันทำงาน กล้ารับผิดชอบ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ มีความเป็นผู้นำสูง

“แต่ผมมองว่าลักษณะของพรรคไทยรักไทย ต้องแตกต่างจากพรรคพลังธรรม ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ จะให้เหมือนกันเลยไม่ได้ เพราะต้องรวบรวมคนจากหลายกลุ่มหลายฝ่าย ที่สำคัญวัฒนธรรมแต่ละพรรคมันต่างกัน”

เหล่านั้นคือความทรงจำที่แสนอบอุ่นของคนใส่เสื้อม่อฮ่อม ลากรองเท้าแตะ ไปชวน “เศรษฐี” คนหนึ่งลงมาสู่ปลักโคลนทางการเมือง!!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2548 เขียนโดย ภมรศรี ไพบูลย์รวมศิลป์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2564