ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้แม้จะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย แต่หากย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน หนึ่งในพรรคขวัญใจคนไทย หรือถ้าจำกัดพื้นที่ลงไปอีกก็คือพรรคขวัญใจคนกรุงเทพฯ ต้องมีชื่อ พรรคประชากรไทย รวมเข้าไปด้วย เพราะครั้งหนึ่งสามารถกวาดคะแนนเสียงคนกรุงไปได้แบบ “แลนด์สไลด์” ทั้งต่อมายังมีตำนาน “งูเห่า” แม้ปัจจุบันสังคมอาจไม่ค่อยคุ้นหูและคนรุ่นใหม่ส่วนมากอาจไม่รู้จัก แต่ พรรคประชากรไทย ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคได้ประกาศเปิดตัว นายปรีชา ใคร่ครวญ หรือที่รู้จักกันว่า “ครูปรีชา” เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดกาญจนบุรี
พรรคประชากรไทย ก่อตั้งโดย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนักการเมืองฝีปากกล้าของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกมาตั้งพรรคของตัวเองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2522 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521
ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน ปี 2522 พรรคประชากรไทยซึ่งมีผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มข้าราชการต่าง ๆ มีเป้าหมายชัดเจนในการดึงคะแนนนิยมจากคนกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะต้องแข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของฐานเสียงเดิม
การหาเสียงของพรรคประชากรไทยจึงอาศัยการสร้างความสนิทสนมกับประชาชน ลงพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างทั่วถึง เน้นการปราศรัยเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคอย่างเข้มข้น โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจ”
ด้วยลีลาการปราศรัยอันเป็นเอกลักษณ์ของนายสมัคร หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นนักพูดที่เก่งกาจ สามารถปลุกผู้ฟังให้มีอารมณ์ร่วมและคล้อยตามไปกับเนื้อหาได้ ทำให้นายสมัครขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงครั้งใดก็มีประชาชนเดินทางมาดูจำนวนมาก เกิดกระแส “ประชากรไทยฟีเวอร์”
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชากรไทยชนะเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ อย่างถล่มถลาย โดยกวาด ส.ส. ไปถึง 29 ที่นั่ง จาก 32 ที่นั่ง เรียกได้ว่า พรรคประชากรไทย “แลนด์สไลด์” ในกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง
แม้จะได้จำนวน ส.ส. กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก แต่พรรคประชากรไทยก็ยังเป็นพรรคเล็ก ไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ถึงอย่างนั้นก็มีบทบาทสำคัญในการเป็น “พรรคตัวแปร” พรรคของนายสมัครจึงมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง
หลังการเลือกตั้งปี 2522 พรรคประชากรไทยทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านทั้งใน รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สมัยแรก มีบทบาทในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ในการขึ้นราคาน้ำมันและปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สุดท้าย พลเอก เกรียงศักดิ์ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง
การเลือกตั้ง 18 เมษายน ปี 2526 พรรคประชากรไทยยังได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ คว้าเก้าอี้ ส.ส. ไปได้ 33 ที่นั่ง และได้ร่วม รัฐบาลพลเอก เปรม สมัยที่ 2 ช่วยให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น
สาเหตุที่แม้พรรคประชากรไทยจะเป็นพรรคเล็ก แต่ครองใจคนกรุงเทพฯ ได้มากนั้น ผศ. ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการ มติชน วีกเอ็นด์ 17 กรกฎาคม 2559 ว่า
“…(พรรคประชากรไทย)…เป็นพรรคที่มีนโยบายรูปธรรมบางอย่าง สมัยที่คุณสมัครเป็นที่นิยม พรรคประชากรไทยก็จะมีสไตล์ของการเป็นพรรคประชานิยมแนวเก่าหน่อย แจกของเลย หรือมีโครงการเช่นป้ายรถเมล์ประชากรไทย, มีข้าวของพรรคประชากรไทย, มีหนังสือพิมพ์ของพรรค ก็คือ เดลี่มิเรอร์ ในยุคหนึ่ง ซึ่งคนที่ชอบพรรคประชากรไทย ก็จะมีลักษณะเป็น ‘สาวก’ คือใช้ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของพรรคเลย เป็นเหมือนชุมชนรูปแบบหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม พรรคประชากรไทยต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง หลังพลเอก เปรม ยุบสภา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2529 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2529 พร้อมกับคะแนนนิยมที่ลดลง หากวัดจากจำนวน ส.ส. กรุงเทพฯ ที่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เหลือ 24 คน จาก 33 คน ในปี 2526 เป็นผลจากความนิยมในรัฐบาลพลเอก เปรมที่น้อยลงจนกระทบกับพรรคประชากรไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ความนิยมในพรรคประชากรไทยลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ เกิดจากการมีพรรคอื่นมาเรียกคะแนนนิยม เช่น พรรคพลังธรรม ของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับพรรคของนายสมัคร ขณะเดียวกันบทบาทของพรรคที่ไม่มีความแน่นอนในหลายครั้งก็ยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่น
เห็นได้จากการเลือกตั้งในปี 2531 พรรคประชากรไทยได้ ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพฯ 20 ที่นั่ง (จาก 31 ที่นั่งทั่วประเทศ) ส่วนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535, กันยายน 2535, กรกฎาคม 2538 และพฤศจิกายน 2539 พรรคได้ ส.ส. ในกรุงเทพฯ ไป 7 ที่นั่ง, 3 ที่นั่ง, 18 ที่นั่ง และ 18 ที่นั่ง ตามลำดับ แม้จะได้เพิ่มกลับมาบ้างในช่วงหลัง แต่ก็ยังน้อยหากเทียบกับช่วงที่ความนิยมในพรรคพุ่งสูงในทศวรรษ 2520
อย่างไรก็ตาม พรรคประชากรไทย ยังได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง เช่น รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531-2533 (รัฐบาลพลเอก ชาติชาย สิ้นสุดในปี 2534 จากการรัฐประหาร แต่พรรคประชากรไทยถอนตัวมาเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ปี 2533 เพราะเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล) รัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2535, รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ปี 2538-2539 และ รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ปี 2539-2540
เหตุการณ์ที่ถือเป็นรอยด่างพร้อยของพรรคประชากรไทยเกิดขึ้นในปี 2540 เมื่อพลเอก ชวลิต ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ จากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ พรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจโหวตสนับสนุนพลเอก ชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ แต่ ส.ส. พรรคประชากรไทย 13 คน ไปร่วมลงชื่อสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
เรื่องนี้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเหมาะสมและความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล นายสมัครไม่พอใจ ส.ส. ในสังกัดอย่างมาก จึงเปรียบเทียบตนเองเป็นเหมือน “ชาวนา” ในนิทานอีสป เรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมางูเห่าก็ฉกชาวนาตาย ส่วน ส.ส. กลุ่มดังกล่าว นายสมัครได้เปรียบเทียบเป็น “งูเห่า”
วันที่ 8 ตุลาคม ปี 2541 พรรคประชากรไทยมีมติขับไล่ ส.ส. กลุ่มงูเห่า 12 คนออกจากพรรค (เดิมมี 13 คน แต่ลาออกไป 1 คน) ส่งผลให้ทั้ง 12 คน สิ้นสุดสภาพ ส.ส. แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. 12 คน ไม่ได้สิ้นสุดลง เพราะมีอิสระที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และมติขับไล่ออกจากพรรคเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ ส.ส. 12 คน ยังคงสถานภาพอยู่ และหาพรรคใหม่สังกัด
หลังเหตุการณ์ “ชาวนากับงูเห่า” ความนิยมของพรรคประชากรไทยก็ลดต่ำลงถึงขีดสุด เมื่อถึงปี 2543 นายสมัคร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคและสัญลักษณ์ของพรรคก็ลาออกจากตำแหน่ง นับแต่นั้นมาพรรคประชากรไทยก็ไม่เคยมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้าสภาอีกเลย เพราะขาด “แม่เหล็ก” ที่จะดึงคะแนนเสียงให้พรรค รวมถึงการแข่งขันทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้พรรคเล็กหลายพรรคอ่อนแอลง
พรรคประชากรไทยยังคงส่ง ส.ส. ลงสมัครรับเลือกตั้งมาโดยตลอด แม้จะไปไม่ถึงเป้าหมายนั่งเก้าอี้ในสภาก็ตาม และหลังนายสมัครลาออก น้องชายคือ นายสุมิตร สุนทรเวช ก็เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา หลังจากนั้นวันที่ 20 เมษายน ปี 2562 นายสุมิตรได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค คณะกรรมการมีมติเลือก ดร.คณิศร สมมะลวน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ย้อนรอย “ยุบสภา 14 ครั้ง” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
- “เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมัคร สุนทรเวช. (2551). การเมืองเรื่องตัณหา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : พี.เพรส.
พุทธชาติ ทองเอม. สมัคร สุนทรเวช เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A3_%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%8A
รายการ มติชน วีกเอ็นด์ 17 กรกฎาคม 2559 เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=XM4Wg54m0PQ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2566