ย้อนรอย “ยุบสภา 14 ครั้ง” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นายก นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา การเมือง เลือกตั้ง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ภาพ : เครือมติชน)

“ยุบสภา” หรือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินการทางการเมือง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมดขณะนั้นพ้นจากสมาชิกภาพไปพร้อมกันก่อนครบวาระ สาเหตุหลักๆ ของการ “ยุบสภา” มี 3 ข้อ คือ 1. ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติ 2. ความขัดแย้งในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 3. วิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งตั้งแต่มีการเลือกตั้งจนถึงล่าสุดคือเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีการ ยุบสภา 14 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 11 กันยายน 2481
พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา นายกฯ ยุบสภาเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติประจำปีของรัฐบาล ไม่ผ่านที่ประชุมสภาฯ ด้วยคะแนน 45 ต่อ 31 จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หารือเรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่าสถานการณ์โลกยังไม่มั่นคง และรัชกาลที่ 8 กำลังจะเสด็จนิวัติพระนคร รัฐบาลจึงควรอยู่บริหารราชการต่อ นายกฯ จึงออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา

ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ตุลาคม 2488
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกฯ ยุบสภาจากเหตุ 2 ประเด็น เหตุแรกคือ สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2485) ทำให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งแต่ พ.ศ. 2481 (ครบกำหนดลงในปี 2485) แต่มีการขยายอายุสมาชิกสภาพออก 2 ครั้ง (ครั้งละ 2 ปี) ตาม พ.ร.บ. ขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2485 และ พ.ศ. 2487 เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งระหว่างสงคราม ทำให้ ส.ส. ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร

ส่วนเหตุที่ 2 คือ รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ. อาชญากรสงครามเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ บรรดาสมาชิกได้อภิปรายอย่างรุนแรง และลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการบางมาตราของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

ครั้งที่ 3 วันที่ 12 มกราคม 2519
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯ ยุบสภาเนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ประกอบกับจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 14 มกราคม 2519 นายกฯ จึงประกาศ “ยุบสภา” เสียก่อน

ครั้งที่ 4 วันที่ 19 มีนาคม 2526
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ยุบสภาเนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างมากในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งประชาชนและ ส.ส. มีความเห็นที่แตกต่างกันไป หากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ตามวิธีการใหม่ อาจเกิดความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง รวมทั้งบรรยากาศทางการเมืองที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มต่างๆ ทั้งในและนอกรัฐสภา ท้ายสุดจึงนำสู่การยุบสภา

ครั้งที่ 5 วันที่ 1 พฤษภาคม 2529
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ยุบสภาโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐบาลออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ออกใช้บังคับ แต่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นปัญหาสืบเนื่องจากความแตกแยกในพรรคการเมืองบางพรรคในสภาฯ หากให้สภาฯ ชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไป จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการประเทศ

ครั้งที่ 6 วันที่ 29 เมษายน 2531
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ยุบสภาเนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐบาลเวลานั้น มี ส.ส. 100 คน) ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศ ท้ายสุดจึงนำสู่การ ยุบสภา

ครั้งที่ 7 วันที่ 30 มิถุนายน 2535
นายอานันท์ ปันยารชุน นายกฯ ยุบสภาเนื่องจากเป็น นายกฯ และคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ แทน พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกฯ และอดีตหัวหน้า รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ที่ยึดอำนาจในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รัฐบาลนายอานันท์จึงเข้ามาเพื่อใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งและจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จากนั้นได้ ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ครั้งที่ 8 วันที่ 19 พฤษภาคม 2538
นายชวน หลีกภัย นายกฯ ยุบสภาก่อนที่จะมีการลงมติ เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ หนึ่งในประเด็นใหญ่ครั้งนั้นคือ การออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ก่อนลงมติ 1 วัน (18 พฤษภาคม 2538) พรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค มีมติให้สมาชิกพรรคงดออกเสียง และให้รัฐมนตรีลาออก

ครั้งที่ 9 วันที่ 28 กันยายน 2539
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ ยุบสภาเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 18-20 กันยายน เรื่องสัญชาติของนายบรรหาร ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหารลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายบรรหารก็ประกาศผ่านสื่อว่าจะลาออกภายใน 7 วัน หากก็เปลี่ยนใจประกาศ ยุบสภา แทน

ครั้งที่ 10 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2543
นายชวน หลีกภัย นายกฯ ที่เข้ามาหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ผลงานของรัฐบาลไม่เป็นดังที่คาดหวัง ขณะเดียวกันสมาชิกพรรคฝ่ายค้านทยอยลาออกจนเกือบหมด กดดันให้ต้องยุบสภาคืนอำนาจสู่ประชาชน

ครั้งที่ 11 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549
นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ประกาศยุบสภาเนื่องจากเกิดการชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และกล่าวหาว่าใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจครอบครัว การชุมนุมขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ทั้งส่อเค้าว่าจะมีการปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการฉวยโอกาสจากผู้ไม่ประสงค์ดี ที่มีแนวโน้มถึงขั้นจลาจล

ครั้งที่ 12 วันที่ 10 พฤษภาคม 2554
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ประกาศยุบสภาเนื่องจากปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย, ปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เกิดเป็นกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ จึงตัดสินใจประกาศ ยุบสภา

ครั้งที่ 13 วันที่ 9 ธันวาคม 2556
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยุบสภา หลังมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนกดดัน คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. 2556 สถานการณ์การชุมนุมส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ และรุนแรงขึ้น สุดท้ายจึงตัดสินใจยุบสภา

และล่าสุดคือ ครั้งที่ 14 วันที่ 20 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศยุบสภา

ส่วนสถิติการรัฐประหารมี 13 ครั้ง โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไทยทั้งหมด 29 คน มีเพียง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียว ที่ไม่ถูกรัฐประหาร, ไม่ต้องลาออก, ไม่ต้องยุบสภา และเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

แดนไชย ไชวิเศษ. การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย, สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา. พฤษภาคม 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2566