อภิปรายไม่ไว้วางใจแผลงฤทธิ์ นายกฯ บรรหาร ถูกกดดันลาออก-ชิงยุบสภา

บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 (Photo by STR / AFP FILES / AFP)

นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 21 (พ.ศ. 2538-2539) มีเส้นทางการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 ที่พรรคชาติไทยสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้ โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ย้อนกลับไปก่อนการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำรัฐบาลคือพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 (พ.ศ. 2535-2538) ได้ถูกฝ่ายค้านนำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีชุดนายชวน หลีกภัย ทั้งคณะ โดยเฉพาะกรณีการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01

ปัญหาการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีผู้รับผิดชอบ คือนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกโจมตีว่ามีการจัดสรรแบ่งผันปลประโยชน์ที่ดินให้กับคนรวย เป็นผลให้นายชวน หลีกภัย ตัดสินใจที่จะตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

เมื่อถึงสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ในการบริหารประเทศรัฐบาลต้องประสบพบกับวิกฤตต่างๆ ทั้งความชอบธรรมของคณะรัฐมนตรี ปัญหาเศรษฐกิจ โดยจุดพลิกผันของรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แกนนำฝ่าค้าน ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยเพียงคนเดียว

การอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานตั้งแต่วันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 มีการกล่าวหาและตั้งข้อสงสัย 13 ประเด็น อาทิ การแปลงสัญชาติ (กล่าวหาว่านายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นคนจีนไม่ใช่คนไทย), การหนีภาษีขายที่ดินให้ธนาคารแห่งประเทศไทย, รับเงินสนับสนุนจากนายราเกซ สีกเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ, กรณีคัดลอกวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2539 เป็นวันลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยก่อนการลงมติไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการเรียกประชุมและมีมติให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ลาออกพรรคร่วมรัฐบาล อันประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน จะไม่ยกมือไว้วางใจให้ แต่นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ต่อรองขอลาออกภายใน 7 วันแทน

ผลของการต่อรองทำให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเสียงไว้วางใจ 207 เสียง ต่อเสียงไม่ไว้วางใจ 180 เสียง โดยระหว่างนั้นมีข่าวการสรรหาตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีทั้ง พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ที่ปรึกษาพรรคชาติไทย และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา

กลยุทธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล อันประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ทำการสนับสนุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่จะทำการลาออก

ทว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ได้ลาออกตามที่กล่าวอ้าง แต่โต้กลับทางการเมืองใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาขึ้นในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนถัดไป

และปลายปีนั้นเอง พรรคความหวังใหม่ชนะการเลือกตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อจากนายบรรหาร ศิลปอาชา

 


อ้างอิง :

Workpointtoday. (2563). ย้อนอดีต ชวน-บรรหาร ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วอยู่ไม่ได้ จบด้วยยุบสภา. เข้าถึงได้จาก https://workpointtoday.com/mp-14/

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org

กอง บก. มติชน. (2550). 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565