เมื่อ “คึกฤทธิ์” ถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง-คนชังเท่าขนาดสนามบิน ก่อนหันมาเขียน “สี่แผ่นดิน”

ภาพถ่าย ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก คึกฤทธิ์ 2528)

ในช่วงทศวรรษ 2490 ดวงการเมืองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองคนหนึ่งที่สร้างสีสันให้กับแวดวงการเมืองไทยหลายยุคสมัย กลับสู่จุดตกอับ และถูกอัปเปหิออกจากงานการเมือง (ชั่วคราว) จน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ถึงกับปรารภว่า “อันตัวข้าพเจ้านั้น คนรักเล็กกว่าผืนหนัง คนชังขนาดเท่าสนามบิน”

การว่างเว้นจากงานการเมืองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ นำมาสู่การเขียนผลงาน “สี่แผ่นดิน” แต่นี่มีนัยยะถึงการสร้างฐานอำนาจใหม่ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ นั่นก็คือการสร้าง “ความเป็นไทย” ขึ้นมา โดยในหนังสือจักรวาลวิทยา : บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2549) บทที่ 4 ของสายชล สัตยานุรักษ์ เรื่อง สี่แผ่นดิน : “ความเป็นไทย”และความหมายทางการเมือง อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ มีรายละเอียดดังนี้

Advertisement

 

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เริ่มเล่นการเมืองอย่างจริงจังภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่มีวัยเพียง 33 ปี การเล่นการเมืองในช่วงแรกนี้นำความสำเร็จมาให้ไม่น้อย คือได้ตำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ได้แก่ ผู้นำพรรคก้าวหน้า เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ และรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ต้องยุติบทบาททางการเมืองทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเป็นทางการ

เข้าใจว่าการเล็งผลเลิศทางการเมือง โดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เป็นเหตุให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์กลายเป็นผู้โดดเดี่ยวทางการเมือง กล่าวคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ คงคาดหมายว่าในสภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์มีอิทธิพลในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอย่างสูงนั้น คณะรัฐประหาร และจอมพล ป. พิบูลสงครามคงจะตัดสินใจยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในไม่ช้า

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์คงคาดหมายว่าตนจะได้รับชื่อเสียงและความนิยมสูงขึ้นมาก จากการลาออกเพื่อประท้วงในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายรัฐบาล ลงมติเพิ่มเงินเดือนให้ตนเองอีกคนละ 1,000 บาท เพราะการลาออกนี้จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ต่อต้านการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

พร้อมกันนั้นก็เป็นการประกาศว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เล่นการเมืองโดยมิได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัว หากการณ์ทั้งปวงเป็นไปดังที่คาดไว้ โอกาสที่จะได้รับตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้นภายหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็น่าจะเปิดกว้างขึ้นมาก

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยื่นใบลาออกในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2492 ปรากฏว่าการลาออกภายหลังจากที่ได้อภิปรายโจมตีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างรุนแรง ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากประชาชนจำนวนมาก ดังที่นพพร บุณยฤทธิ์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ รายวัน ได้เล่าว่า

การลาออกในครั้งนั้นดังเหมือนฟ้าร้อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับประโคมข่าวกันอึงคะนึง…ทำข่าวเรื่องนี้ติดต่อกันอยู่หลายวัน เป็นการลาออกที่ดังระเบิด ประชาชนทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะในเขต 3 ที่คุณคึกฤทธิ์เป็นผู้แทนเท่านั้น ประชาชนในเขตอื่นๆ ก็ได้แห่กันไปที่บ้านซอยสวนพลู ทุกคนไปเพราะความศรัทธา…

...หลายคนถึงขนาดพกเอาทองคำเปลวชนิดที่ใช้ปิดพระประธานในโบสถ์ไปด้วย…เพื่อจะปิดตัวคุณ
คึกฤทธิ์…ชื่อของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในจังหวะนั้น ดังกลบนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ใครๆ ก็พูดถึงแต่คุณชาย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังลาออกจากสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่นาน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็เข้าร่วมในคณะรัฐบาลจอมพล ป. นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจึงอภิปรายโจมตี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นที่ประธานสภาฯ ต้องเรียกตำรวจสภาฯ ให้นำตัวผู้แทนราษฎรคนหนึ่งออกไป เนื่องจากไม่ยอมยุติการอภิปรายตามคำสั่งของประธานสภาฯ

ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเองก็เรียกร้องให้จอมพล ป. ปลด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะเคยถูก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์โจมตีกรณีขึ้นเงินเดือนเช่นเดียวกันแล้ว ยังน่าจะเป็นเพราะการมีบุคคลที่ฝ่ายค้านไม่พอใจอย่างมากร่วมอยู่ในคณะรัฐบาล จะพลอยทำให้สถานะของรัฐบาลซึ่งขาดความมั่นคงอยู่แล้ว ต้องได้รับความกระทบกระเทือนมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งเดือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ถูกบีบให้ลาออก

นับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ของปี พ.ศ. 2492 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ตกอยู่ในสภาวะ “โดดเดี่ยวทางการเมือง” อย่างแท้จริง เห็นได้ชัดเจนจากข้อเขียนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เองที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ภายหลังจากลาออกได้สามวัน ซึ่งพยายามอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงเข้าร่วมในคณะรัฐบาล และกล่าวในตอนท้ายว่า

“ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพลนั้น…และออกมาในลักษณะของการพ่ายแพ้อย่างหนัก…ข้าพเจ้า…เหน็ดเหนื่อยนัก… มีแผลฟกช้ำหลายแห่ง จะต้องขอทุเลาไปประคบแผลเสียสักพัก พอหายดีแล้วก็จะกลับมาสู้ต่อไป แต่จะสู้แบบไหน อย่างไร…ก็ยังเดาไม่ถูก

ข้อเขียนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ในอีกสองวันต่อมาระบุว่า “อันตัวข้าพเจ้านั้น คนรักเล็กกว่าผืนหนัง คนชังขนาดเท่าสนามบิน” ส่วนข้อเขียนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2492 ก็กล่าวว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ถูกคนมองว่า “ทำงานด้วยอารมณ์ หรือคิดสั้น หรือเป็นเด็ก”

ในบทความเรื่องนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้พยายามกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งหนึ่ง นอกจากจะตำหนิตัวเองด้วยข้อความข้างต้น ซึ่งเท่ากับยอมรับผิดแล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อ “ให้คนดีมาทำงานร่วมกันเพื่อบ้านเมือง” และโน้มน้าวว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำลาย “ม่านเหล็กเมืองไทย” ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ “คนดีมีวิชา” ที่มีอยู่จำนวนน้อยเข้ามาร่วมมือกันทำงาน อันมีนัยยะว่า “คนดีมีวิชา” อย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ควรจะมีโอกาสกลับเข้าไปร่วมทำงานกับ “คนดี” ในพรรคการเมืองทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนข้างต้นไม่ได้ช่วยให้สถานะทางการเมือง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ดีขึ้น หนทางที่จะเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งได้ปิดลงแล้วจนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไป ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงต้องเริ่มคิดหาวิธีสร้างฐานอำนาจแบบใหม่ วิธีที่เลือกใช้จะต้องเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้มีสถานะโดดเดี่ยวทางการเมือง ไม่มีฐานอำนาจในกองทัพ และระบบราชการ และปราศจากความมั่งคั่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นวิธีที่จะไม่เกิดอันตรายแก่ชีวิตด้วย เพราะ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ตระหนักว่า “การเล่นอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยนิยมเล่น…ก็เห็นจะได้แก่การเมือง…ผู้เล่นแต่ละคนต้องลงทุนรอนกันคนละมากๆ และหลายคนแล้วที่ต้องลงทุนถึงชีวิต นับว่าแพงเอาการอยู่”

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ นอกจากปัญหาขาดพันธมิตรทางการเมืองแล้ว ยังเกิดจาก “ปัญหาเรื่องเงินบำรุงพรรคนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องหนักใจของผู้ที่มีหน้าที่จะบริหารกิจการของพรรคทุกคน บางคนต้องเป็นหนี้สินเขาล้นพ้นตัวก็มี”

ม.ร.ว. พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ซึ่งเคยเป็นภรรยาของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ แต่ต้องหย่าขาดจากกันในช่วงหลังสงครามได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เวลานั้นเราจน หลังสงครามคุณชายตกต่ำมาก สมัยท่านปรีดีนั่นแหละค่ะ คุณชายไม่มีทั้งงาน ไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งบ้าน”

ในที่สุด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็พบวิธีที่จะสร้างฐานอำนาจ นั่นก็คือการสร้าง “ความเป็นไทย” ที่เน้นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลาง วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่บังเกิดผลในทันที แต่เป็นวิธี “เก็บเล็กผสมน้อย” ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้มีสติปัญญา มีความรู้ และเกิดมาในพระราชวงศ์จักรี

การเขียนสี่แผ่นดิน จึงเริ่มขึ้นใน เดือนตุลาคม พ.ศ. 2494 โดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าปี

หมายเหตุ : จัดย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2565