กินไก่ กินไข่ ต้านภัย “ไข้หวัดนก” กับนายกทักษิณ ชินวัตร

ภาพซ้าย การแพร่ระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่ฮ่องกง (HONG KONG-HEALTH-FLU / AFP) ภาพขวา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (THAILAND-HEALTH-FLU / AFP)

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2546 ประเทศไทยได้พบกับวิกฤติการแพร่ระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) โดยโรคไข้หวัดนกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนกและสัตว์ปีก ซึ่งทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและตายอย่างรวดเร็ว แต่การรายงานอย่างเป็นทางการว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศไทยคือเดือนมกราคม พ.ศ. 2547

โดยการระบาดแบ่งเป็นสองระลอกดังนี้ การระบาดรอบแรกคือเดือนมกราคม ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2547
มีผู้ป่วยที่มีผลห้องปฏิบัติการยืนยัน 12 ราย และทุกรายเกิดการติดเชื้อระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม พ.ศ. 2547 ส่วนการระบาดรอบที่สองคือเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม พ.ศ. 2547 มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน 5 ราย รวมมีผู้ป่วยทั้งหมด 17 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย

ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดในภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี ปทุมธานี และแพร่กระจายไปอีกหลายจังหวัดอย่างรวดเร็วเกือบ 50 จังหวัด และแพร่กระจายต่อเนื่องไปทั้งปี ซึ่งการแพร่ระบาดครั้งนี้ตรงกับสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การแพร่ระบาดอย่างหนักของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหยุดการแพร่ระบาดของโรคให้ได้ภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลจึงออกมาตราการเอ็กซเรย์อย่างละเอียดทั่วพื้นที่เพื่อป้องกันไข้หวัดนกลามไปติดวัว แมว สุนัข และสัตว์อื่นๆ

ผลกระทบของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งฆ่าไก่รวมกว่า 60 ล้านตัว สร้างความเสียหายให้กับการส่งออกของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะไก่สดแช่แข็งคิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกประสบปัญหาขาดทุนหมดตัวกันเป็นจำนวนมาก

ผู้ติดเชื้อที่เกิดจากสัมผัสสารคัดหลั่งในสัตว์ปีกเสียชีวิต 12 คน นอกจากนี้เสือในสวนสวนเสือ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตาย 30 ตัว หลังกินไก่สดติดเชื้อ และส่งผลให้เจ้าของสวนเสือต้องฆ่าเสือถึง 147 ตัว เพื่อหยุดการแพร่ระบาด

การแพร่ระบาดทำให้รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าปกปิดข้อมูลส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและหยุดบริโภคไก่ การวิพากษ์วิจารณ์ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดโครงการกินไก่เพื่อกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ

ตัวอย่างการสร้างความมั่นใจคือ การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถามหาเมนูอาหารกลางวันว่า “ไม่มีไก่เหรอ” จากนั้นก็มีเมนูอาหารส้มตำ รวมทั้งไก่ย่าง จากร้านนิตยาไก่ย่างมาเสิร์ฟ เป็นต้น

การกระตุ้นเศรษฐกิจจัดขึ้นในนามว่า “มหกรรมกินไก่ไทยปลอดภัย 100%” เพื่อเรียกร้องความมั่นใจให้ประชาชนหันกลับมาบริโภคไก่ ซึ่งงานจัดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 บริเวณท้องสนามหลวง นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมกับคณะรัฐมนตรี และดารานักร้อง อาทิ ธงไชย
แมคอินไตย์ เป็นต้น

จุดสำคัญของงานในครั้งนี้คือ การปรุงอาหารในเมนู “ไข่คว่ำสูตรนายกฯ” และชำแหละไก่เพื่อชุบแป้งทอด รวมทั้งกิจกรรมการหย่อนไข่ไก่จำนวน 9 ฟอง ในหม้อไข่พะโล้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้ครบ 10,000 ฟอง พร้อมแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาร่วมงาน และบันทึกลงกินเนสส์บุ๊กด้วย (Guinness Book of World Records) โดยในงานมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นพิธีกร นอกจากนี้ในงานได้ให้สื่อมวลชนนำภาพไปเผยแพร่เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน

โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เราไม่สนใจว่าต่างประเทศจะซื้อไก่เราหรือไม่ ผมสนใจอย่างเดียวว่าคนไทยต้องไม่ถูกทำให้ตกใจโดยใช่เหตุ และไก่ที่ขายในประเทศไทยต้องปลอดภัย ถ้าเราทำอย่างถูกต้อง ปรุงเกิน 70 องศาไปแล้วปลอดภัย ไม่ใช่ 100% แต่ล้านเปอร์เซ็นต์”

ผลของ “มหกรรมกินไก่ไทยปลอดภัย 100%” ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนหันกลับมาบริโภคไก่อีกครั้ง และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าต่างๆ ว่ารัฐบาลไทยสามารถแก้ไขวิกฤตครั้งนั้นได้

 


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการมติชน. (2550). 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : มติชน

พรรคเพื่อไทย. (2564). 7 กุมภาพันธ์ 2547 ทักษิณ “กินไก่โชว์” สร้างความมั่นใจ กู้วิกฤตไข้หวัดนก
เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/pheuthaiparty

MATICHON ONLINE. (2564). กลุ่มแคร์ แชร์อีเวนต์ในตำนาน ‘กินไก่ไทยปลอดภัย 100%’ โชว์ภาวะผู้นำ รบ.ทักษิณ ท่ามกลางวิกฤตไข้หวัดนก. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th

พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ. (2553). ไข้หวัดนกจะกลายสายพันธุ์สู่คนได้หรือไม่. เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/

Positioning. (2549). Big event. เข้าถึงได้จาก https://positioningmag.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565