ค่าจ้างมือปืน-หลังฉากรัฐประหาร 2534 จากปากทูตเมียนมา พล.อ.สุนทร อธิษฐานกับเจดีย์ชเวดากอง

ภาพประกอบเนื้อหา - ทหารพร้อมรถถังในเหตุกาณ์รัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 (Photo by PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา (พม่า) ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาเป็นไปอย่างหลากหลาย แต่หลังผ่านยุคขยายอาณาจักรแบบโบราณไปแล้ว กล่าวโดยรวมได้ว่าทั้งสองประเทศต่างเป็น “เพื่อนบ้าน” ที่ดีต่อกัน ไปมาหาสู่กันโดยมีเอกอัครราชทูตเป็นสื่อกลาง เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญในแต่ละประเทศ ต่างฝ่ายต่างมีความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับเบื้องหลังเหตุการณ์โดยเฉพาะเรื่องทางการเมืองและรัฐประหารในช่วงหนึ่งซึ่ง ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์หลังม่านผ่านปลายปากกาเช่นกัน

ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย ทำหน้าที่เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยระหว่างพ.ศ. 2529-2535 รวมระยะเวลา 6 ปี 3 เดือน จากการบอกเล่าของบุคคลสำคัญในสังคมและการเมืองไทยต่างบอกเล่าว่า ท่านสามารถทำหน้าที่ในแวดวงการทูตได้อย่างดี แม้ว่าภูมิหลังเดิมของท่านจะเคยเป็นนายทหารที่นอนกลางดินกินกลางทรายบุกบั่นในภารกิจมาหลายปี

เรื่องราวตลอดการทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศ ถูกถ่ายทอดอยู่ในหนังสือ “บันทึกทูตเมียนมาร์ จากลุ่มอิรวดีสู่เจ้าพระยา” บอกเล่า บทบาทและเรื่องราวของ ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย ที่มีต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าเกร็ดเรื่องราวหลังฉากเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยรวมถึงการรัฐประหาร เมื่อ พ.ศ. 2534 ไปจนถึงเหตุการณ์จราจลในไทยหลังการรัฐประหารดังกล่าว

ในช่วงเริ่มต้น ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย บรรยายสภาพทางสังคมและการงานในประเทศไทยว่า

“ตั้งแต่มาประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ผมสังเกตว่าที่นี่มีมือปืนรับจ้างที่รับงานกำจัดศัตรูคู่แข่งทางธุรกิจหรือทางสังคมด้วยราคาจ้างเพียง 500-1,000 บาท เคยมีกรณีคู่แข่งทางการเมืองย่านปริมณฑลถูกกระหน่ำยิงพรุนไปทั้งรถและคนด้วยปืนกล หรือไม่ก็โดนขว้างระเบิดมือจนแหลกเป็นเศษเล็กเศษน้อย”

ด้วยเหตุนี้ทำให้การทำหน้าที่อันต้องดูแลรับผิดชอบบุคคลสำคัญไม่ว่าจะสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในเมียนมาเอง หรือเหตุการณ์ใดก็ตาม ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย จึงกระทำอย่างระมัดระวัง เห็นได้จากการบรรยายการรับตัวรัฐมนตรี 2 รายในคณะรัฐบาลอู เส่ง วิน หลังเหตุการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ช่วง ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ก็เป็นไปอย่างรอบคอบ

เมื่อ พ.ศ. 2534 รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประสบปัญหาช่วงกระแสต่อต้านภายในพรรคตนเองและยังมีเรื่องไม่ลงรอยกับกองทัพไทย ช่วงเวลานั้น ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย บอกเล่าว่า พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น เดินทางเยือนนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 (ก่อนรัฐประหาร 1 วัน)

เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเล่าว่า วันนั้นก็เดินทางไปยังสนามบินกองทัพอากาศเพื่อส่งพลเอกสุนทร เพื่อเดินทางตามปกติ

“ถือเป็นระเบียบปฏิบัติตามปกติในแง่ของการเยือนเพื่อกระชับมิตรจากกองทัพที่ทูตทหารจะเดินทางไปส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพออกเดินทางเยือนเมียนมาร์ ไม่ใช่เอกอัครราชทูต แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราดีเยี่ยมเป็นพิเศษ ดังนั้น หากมีเหตุผลสำคัญใดๆ ที่ต้องหารือ ผมก็มักเดินทางไปด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผมมักไปโดยมีท่านทูตทหารร่วมอยู่ด้วยเสมอ”

ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วน เล่าว่า เช้าวันนั้นก็มีพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเดินทางมาส่งด้วยเช่นกัน สถานการณ์ทุกอย่างดูเป็นปกติ ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย ยังเอ่ยปากนัดหมายตีกอล์ฟกับพลเอกสุจินดา

จากการบอกเล่าในหนังสือของ ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย การเดินทางเยือนย่างกุ้งครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายหารือแนวทางความร่วมมือในพื้นที่ชายแดน และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพให้แน่นแฟ้น ในตารางกิจกรรมมีการเยี่ยมชมและสักการะพระเจดีย์ฉ่วยดะโก่ง (ชเวดากอง)

วันต่อมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 กองทัพไทยก่อรัฐประหารโดยไม่มีการนองเลือด ฯพณฯ อู นยุ่น ส่วย เล่าว่า หลังรัฐประหาร 3 วัน พลเอกสุนทร จัดงานเลี้ยงรับรองโดยมีบุคลากรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนายทหารระดับสูงจากกองทัพมาร่วม

“ขณะที่ผมเตร่ไปพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ พลเอกสุนทรก็เรียกผมเข้าไปหา

ท่านถามว่า ‘ท่านทูต จริงหรือเปล่าที่มุมหนึ่งของพระเจดีย์ฉ่วยดะโก่งสามารถอำนวยให้คำอธิษฐานทุกประการเป็นจริงขึ้นมา? ช่วยอธิบายให้บรรดานายพลของผมฟังหน่อย’

ท่านกล่าวต่ออีกว่า ‘ตอนที่ผมอยู่ในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 22 ผมเดินทางไปสักการะพระเจดีย์ฉ่วยดะโก่งแล้วอธิษฐานขอให้ความปรารถนาของผมเป็นจริง (ท่านไม่ได้ระบุว่าปรารถนาอะไร) เมื่อผมยึดอำนาจในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 23) ทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จโดยสันติ’

ผมได้แต่อธิบายต่อท่านไปว่า ผู้คนในท้องถิ่นเชื่อถือกันว่ามุมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระเจดีย์มีพลานุภาพบันดาลให้คำอธิษฐานเป็นจริง

(คลิกอ่านเรื่ิองรัฐประหาร พ.ศ. 2534 จากเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม ในเฟซบุ๊ก

หรือคลิกอ่านเพิ่มเติม : การเมืองไทยสมัยชาติชาย จากเปรม-บ้านพิษณุโลก-รถโมบาย สู่รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534)

ในเรื่องของความเชื่อในท้องถิ่นนั้นย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ละรายย่อมมีแนวคิดต่อเรื่องเหล่านี้แตกต่างกัน แต่สำหรับเจดีย์ชเวดากองแล้ว คำว่า “ชเว” แปลว่า ทอง ส่วน “ดากอง” เป็นชื่อเมืองอันหมายถึง มังกร คำว่า “ชเวดากอง” หมายถึง ทองแห่งเมืองดากอง

ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายเรื่องพระธาตุชเวดากอง ว่า เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมียนมา 1 ใน 5 มหาสถานสำคัญสูงสุดของประเทศ ที่มาที่ไปของเจดีย์ชเวดากอง ในทางศิลปะ ถูกจัดในสมัยหลังพุกาม เป็นศิลปะมอญในสมัยหงสาวดี

ตำนานเกี่ยวกับพระธาตุพูดถึงสมัยพุทธกาล ตำนานว่าไว้ว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุ 8 เส้นของพระพุทธเจ้า ที่พ่อค้า 2 รายคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ปฐมอุบาสกอัญเชิญมาบรรจุไว้

ที่ผ่านมา มักมีคำร่ำลือเกี่ยวกับที่มาของทองหุ้มพระธาตุว่าเป็นทองที่ (ถูกขโมย) มาจากกรุงศรีอยุธยา แต่ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลนี้ไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนสมมติฐานนี้ ขณะที่ตำนานเรื่องการบูรณะสำคัญหลายครั้งระบุถึง พระนางชินสอบู บูรณะโดยถวายทองเท่าน้ำหนักของพระองค์หุ้มพระธาตุ

หากสังเกตที่จารึกมอญขนาดใหญ่ (ดร.สุเนตร คาดว่า จารึกอยู่ในด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์) เป็นจารึกของพระเจ้าธรรมเจดีย์ เขียนถึงตำนานทองส่วนหนึ่งที่หุ้มเจดีย์มาจากพระนางชินสอบู พระราชทานทองน้ำหนักเท่าตัวให้ตีเป็นแผ่นแล้วนำไปติดกับเจดีย์ หลังจากนั้น พระเจ้าธรรมเจดีย์ (ลูกเลี้ยง) ถวายทองหนัก 3 เท่าของน้ำหนักตัวไปหุ้มเจดีย์ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนเรื่องธรรมเนียมการถวายทองของชนชั้นเจ้านายที่มีมาก่อนกรุงแตก

หลังจากการรัฐประหาร การบริหารถูกย้ายมาสู่รัฐบาลรักษาการโดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ที่เข้ามามีพลเอกสุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี การขึ้นสู่ตำแหน่งครั้งนี้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อต้านและจลาจลในเวลาต่อมาซึ่งต่อมาเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นปรากฏการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจากทูตเมียนมา ในช่วงเวลานั้น บันทึกในหนังสือระบุว่า

“คนไทยซึ่งอ้างว่ามีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยมักบอกว่านี่คือแนวปฏิบัติปกติเพื่อให้การเรียกร้องบางประการของตนบรรลุผล แม้ว่าบ่อยครั้งจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ตาม หลังจากชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องของตนเองแล้วความสงบก็จะฟื้นคืนกลับมา

อย่างไรก็ตาม คราวนี้อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ส่งผลให้เกิดการจลาจลทำลายข้าวของและจุดไฟเผาสถานที่ต่างๆ ในขณะที่ประชาชนก็ถูกคุกคามมากขึ้น…

การชุมนุมประท้วงปกติธรรมดาขยายตัวเป็นความรุนแรง และกลายเป็นอันตรายต่อพลเมืองทั่วไป เมื่อทั้งทางผู้ประท้วงคือพลตรีจำลองและพลเอกสุจินดาต่างก็ไม่ยอมประนีประนอมใดๆ”


อ้างอิง:

หม่อง ส่วย แต๊ด. บันทึกทูตเมียนมาร์ จากลุ่มอิรวดีสู่เจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ.2562