เสื้อนอกจีน 5 กระดุม 4 กระเป๋า ทำไมมี 2 ชื่อ

ภาพถ่าย เจียงไคเช็ค และ เหมาเจ๋อตง ใส่ ชุดเหมา หรือ ชุดจงซาน
ซ้าย-เจียงไคเช็ค ขวา-เหมาเจ๋อตง ในชุดเหมา หรือชุดจงซาน

หลังจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนในปี 1949 พลเมืองชายและผู้นำรัฐบาล มักใช้ “เสื้อคลุมติดกระดุม 5 เม็ด แขนยาว คอตั้งมีปกพับลง มีกระเป๋า 4 ใบ” ประธานเหมาเจ๋อตงเป็นคนหนึ่งที่ใช้เสื้อดังกล่าวเป็นประจำ เมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะเขามักสวมเสื้อดังกล่าวเป็นตัวเก่งที่ใส่ประจำ คนส่วนใหญ่ในโลกรู้จักและเรียกมันว่า “ชุดเหมา”

แต่ “ชุดเหมา” ที่ว่านั้นที่แท้จริงคือ “ชุดจงซาน” ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่ออีกชื่อหนึ่งของซุนยัตเซ็น

ซุนยัตเซ็น (ซุนจงซาน) ผู้นำคนสำคัญในการปฏิวัติซินไฮ่เพื่อล้มล้างราชวงศ์แมนจู และการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912) และเป็นผู้นำรูปแบบการแต่งกายประจำชาติรูปแบบใหม่ ด้วย “ชุดจงซาน” ที่ดูทันสมัย เรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอยดี และยังคงมีความเป็นจีน (ที่มิใช่แบบราชสำนักชิงหรือสังคมศักดินา)

ชุด “ซุนจงซาน” ดัดแปลงมาจากชุดที่เจ้าหน้าที่องค์การโคมินเทิร์นของสหภาพโซเวียตมักสวมใส่ และจากหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายพบว่า ซุนยัตเซ็นเริ่มใส่ชุดดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ. 1923 อันเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตที่เขาแสวงหาความร่วมมือกับสหภาพโซเวียตเพื่อปราบขุนศึกภาคเหนือ

ต่อมาผู้นำระดับสูงของพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างพากันสวมชุมดังกล่าว อันสะท้อนนัยทางการเมืองว่า ทั้งสองพรรคต่างอ้างตนเป็นผู้สืบทอดปณิธานของ ดร. ซุนยัตเซ็น

แต่ภายหลังดูเหมือนชุดจงซานจะอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่า นอกจากนี้ผู้นำอย่างโฮจิมินห์-นักปฏิวัติชาวเวียดนาม คิมจองอึน-ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน ก็นิยมชุดจงซาน

เมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป ผู้นำจีนรุ่นต่อๆ ไม่ว่าจะเป็นเติ้งเสี่ยวผิง, หูจิ่นเทา, สีจิ้นผิง ฯลฯ เริ่มหันมาใส่สูทแบบฝรั่งบ่อยขึ้น แต่ในวาระสำคัญของพรรค หรือของประเทศ ชุดจงซาน หรือชุดเหมา ยังต้องมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่, สำนักพิม์ชวนอ่าน, พิพม์ครั้งแรก ตุลาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2565