บทบาทจีนคณะชาติ ตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เวียดมินห์-ฝรั่งเศส ก่อนสงครามอินโดจีนปะทุ

(ซ้าย) โฮจิมินห์ (ขวา) เจียงไคเช็ก

บทบาทของจีนคณะชาติที่นำโดยเจียงไคเช็ก ในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศสนั้น นับว่ามีความน่าสนใจมาก สะท้อนให้เห็นฐานะของจีนว่าเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของฝ่ายพันธมิตร ที่มีส่วนสำคัญในการเป็นตัวกลางเพื่อยุติความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งอยู่บนฐานแห่งผลประโยชน์ของจีนเป็นสำคัญด้วย

ย้อนกลับไปในช่วงกลาง ค.ศ. 1945 หลังจากโฮจิมินห์และขบวนการชาตินิยมภายใต้ธงของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ทำการต่อสู้กับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ที่สุดพวกเขาสามารถก่อการปฏิวัติในเดือนสิงหาคมเป็นผลสำเร็จ จนสามารถล้มรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่นลงได้ ขณะที่ฝรั่งเศสกลับเตรียมการฟื้นฟูอาณานิคมของตนในอินโดจีนขึ้นอีกครั้ง ทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคยังไม่สิ้นสุด

จากข้อตกลงในที่ประชุมพอทสดัม ในช่วงกลาง ค.ศ. 1945 ได้มอบหน้าที่ให้จีนคณะชาติปลดอาวุธญี่ปุ่นในเขตเหนือเส้นขนานที่ 16 คือ ภาคเหนือของเวียดนาม บริเวณเขตตังเกี๋ย มีเมืองฮานอยเป็นเมืองสำคัญ ส่วนอังกฤษรับหน้าที่ปลดอาวุธญี่ปุ่นในเขตใต้เส้นขนานที่ 16 คือ ภาคใต้ของเวียดนาม บริเวณเขตโคชินไชน่า ลาว และกัมพูชา มีเมืองไซ่ง่อนเป็นเมืองสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเวียดมินห์ไม่มีอำนาจที่เบ็ดเสร็จในเขตใต้เส้นขนานที่ 16 ประกอบกับอาวุธที่ล้าสมัย และไม่มีประสบการณ์ในการรบ จึงต้องพ่ายแพ้ให้กับฝรั่งเศส ที่มีกำลังของอังกฤษและญี่ปุ่น (อังกฤษติดอาวุธให้) สนับสนุน ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงสามารถควบคุมเขตใต้เส้นขนานที่ 16 ได้ในปลาย ค.ศ. 1945 ขณะที่ในเขตเหนือเส้นขนานที่ 16 เวียดมินห์มีอำนาจเข็มแข็ง และยังคงมุ่งมั่นเรื่องเอกราชของเวียดนามและอำนาจปกครองที่มีต่อเขตแดนใต้เส้นขนานที่ 16 รวมทั้งต่อต้านการฟื้นฟูอาณานิคมของฝรั่งเศส

ต่อมา ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพจากเมืองไซ่ง่อนมุ่งสู่เมืองไฮฟอง เมืองท่าใกล้กับเมืองฮานอย เพื่อฟื้นฟูอาณานิคมในเขตเหนือเส้นขนานที่ 16 ในการนี้ฝรั่งเศสและจีนคณะชาติจึงได้เปิดโต๊ะเจรจาระหว่างกันในช่วงวันที่ 3-4 มีนาคม ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสเรียกร้องให้จีนคณะชาติสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าว แต่จีนคณะชาติปฏิเสธการสนับสนุนและต่อต้านการขึ้นบกของกองทัพฝรั่งเศส

ทำไมจีนคณะชาติจึงต้องสนับสนุนเวียดมินห์?

เวียดนามโดยเฉพาะในภาคเหนือเป็นเสมือนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนมานับร้อยนับพันปี เป็นจุดยุทธศาสตร์และเขตอิทธิพลของจีน เฉกเช่นเดียวกับคาบสมุทรเกาหลี ในกรณีของเวียดนามนั้นก็เป็น “หลังบ้าน” ที่เชื่อมเข้าสู่ภาคใต้และตอนในของจีน เช่น มีเส้นทางรถไฟจากเมืองไฮฟองถึงเมืองคุนหมิง และจากเมืองฮานอยถึงเมืองด่งดังซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนจีน

แม้เจียงไคเช็กจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ และขณะเดียวกันเวียดมินห์ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยเหมาเจ๋อตง แต่ด้วยยุทธศาสตร์ของเวียดนามในเขตตังเกี๋ย ซึ่งเป็น “หลังบ้าน” ของจีนคณะชาติ เจียงไคเช็กจำเป็นต้องสนับสนุนเวียดมินห์อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในเวียดนาม และจะได้ทุ่มกำลังสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเต็มที่เพียงด้านเดียว

ภาพถ่ายโฮจิมินห์ในปี 1951 ขณะเยี่ยมชมหน่วยทหารระดับภูมิภาคในจังหวัด Cao Bang ระหว่างสงครามอินโดจีน (Photo by – / VIETNAM NEWS AGENCY / AFP)

แม้ฝรั่งเศสจะแสดงท่าทีต้องการแรงสนับสนุนจากจีนคณะชาติ เพื่อให้มีความชอบธรรมในการฟื้นฟูอาณานิคมของตนขึ้นอีกครั้ง รวมถึงป้องกันไม่ให้พลเรือนฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในเขตใต้เส้นขนานที่ 16 ถูกทำร้ายจากความไม่พอใจของชาวเวียดนามหากฝรั่งเศสดำเนินปฏิบัติการใด ๆ ต่อเวียดมินห์ การเจรจาในช่วงวันที่ 3-4 มีนาคม ค.ศ. 1946 ดังกล่าวนั้น เป็นการเจรจาเพียงแค่สองฝ่าย โดยฝ่ายเวียดมินห์ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งในความเป็นจริง ฝรั่งเศสเปิดโต๊ะเจรจาเพียงเพื่อถ่วงเวลาให้กองทัพขึ้นบกที่เมืองท่าไฮฟอง ซึ่งจะกองเรือจะถึงเมืองไฮฟองในวันที่ 6 มีนาคม สัญญาณบีบบังคับจากฝรั่งเศสนี้ทำให้จีนคณะชาติถึงกับเตรียมกองทัพเพื่อต่อต้านการขึ้นบกของฝรั่งเศส

ขณะที่ฝ่ายเวียดมินห์เองกลับไม่ได้มีใจฝักใฝ่จีนคณะชาติมากนัก และออกจะต่อต้านพอ ๆ กับฝรั่งเศสเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่กองทัพจีนคณะชาติที่เข้ามาปลดอาวุธญญี่ปุ่นนั้นมิได้ประพฤติตนสมอย่างทหารอาชีพ ก่อการปล้นสะดมเสบียงอาหารบ่อยครั้ง ซ้ำจีนคณะชาติยังแทรกแซงการเมืองภายในโดยให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เพื่อแข่งขันอำนาจกับฝ่ายเวียดมินห์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การที่จีนคณะชาติต่อต้านฝรั่งเศสเช่นนี้กลับส่งผลดีต่อฝ่ายเวียดมินห์มิใช่น้อย โดยเวียดมินห์สามารถใช้ท่าทีนี้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาเพื่อบีบบังคับให้ฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของตน หากฝรั่งเศสไม่ยอมรับก็จะเกิดสงครามขึ้น ซึ่งฝรั่งเศสต้องรบกับกองทัพผสมของจีนคณะชาติและเวียดมินห์

ดังนั้น ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1946 การเจรจาสามฝ่ายจึงเกิดขึ้น โฮจิมินห์บีบบังคับให้อีกฝ่ายยอมรับข้อเสนอในเรื่องการลดจำนวนทหารฝรั่งเศสที่ประจำการในเขตเหนือเส้นขนานที่ 16, ระยะเวลาประจำการ, สถานที่ตั้งหน่วยทหาร และการส่งทหารรัฐบาลอาณานิคมของฝรั่งเศส (ที่เคยถูกญี่ปุ่นคุมขัง) กลับไปเมืองไซ่ง่อน ที่สุดฝรั่งเศสจำต้องยอมรับข้อตกลงนี้

สาระสำคัญของข้อตกลงวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1946 คือ ฝรั่งเศสยอมรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามเป็น “รัฐอิสระ” มีอำนาจการปกครองตนเองด้านการทหาร การเงิน และการคลัง แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์อินโดจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสหภาพฝรั่งเศส กำลังทหารของฝรั่งเศส 15,000 นายจะประจำการอยู่ในเขตเหนือเส้นขนานที่ 16 และในแต่ละปีทหารจำนวน 1 ใน 5 จะถอนกำลังออกไปจนหมดภายในระยะเวลา 5 ปี

ขณะที่เขตใต้เส้นขนานที่ 16 ซึ่งอยู่ในการควบคุมของฝรั่งเศสนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจะให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามหรืออยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงจะจัดการเจรจาอีกครั้งในภายหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องสถานะของเขตใต้เส้นขนานที่ 16 และผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านวัฒนธรรม

การที่เวียดมินห์ยอมทำข้อตกลงในครั้งนี้ก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝรั่งเศสและจีนคณะชาติเพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ก่อประโยชน์ให้กับฝ่ายตนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางอันมุ่งมั่นของแต่ละฝ่าย คือ เวียดมินห์ต้องการเอกราชโดยสมบูรณ์ ขณะที่ฝรั่งเศสต้องการฟื้นฟูอาณานิคมขึ้นมาอีกครั้ง ในท้ายที่สุดจึงนำไปสู่สงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1946 เพียง 9 เดือนให้หลังการทำข้อตกลงดังกล่าว


อ้างอิง :

พิชยพรรณ ช่วงประยูร. (กรกฎาคม-ธันวาคม, 2561). จีนคณะชาติกับข้อตกลงวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1946 ระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส. วารสารอักษรศาสตร์. ปีที่ 40 : ฉบับที่ 2.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2564