ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2562 |
---|---|
ผู้เขียน | พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
ใน “ข้าพเจ้ากับเสรีไทยสายจีน” พ.ต.อ. ประสิทธิ์ รักประชา ผู้เขียน ได้บันทึกบทบาทของ “เสรีไทยสายจีน” ซึ่งประกอบด้วยเด็กหนุ่มไทยเชื้อสายจีนล้วนๆ ว่าได้เดินทางลักลอบเข้ามาปฏิบัติการลับในไทยระหว่างช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา 3 ครั้งด้วยกัน ดังนี้
ครั้งที่ 1 จำนวน 5 นาย กระโดดร่มลงบริเวณทิศใต้สถานีรถไฟวัดงิ้วราย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2487 ถูกยิงเสียชีวิตในจุดลงพื้น 2 นาย ถูกจับ 2 นาย และหลบหนีไปได้ 1 นาย
ผู้ปฏิบัติงานชุดแรกนี้ประกอบด้วย
ร้อยเอก หลินเจี้ยนหง ชาวกรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมจงหวาวิทยาลัย ถนนสาทร รุ่นที่ 2 อายุ 26 ปี ร้อยเอก หอเฉินผง เป็นชาวแต้จิ๋ว เกิดในประเทศจีน หลังจากเรียนจบมัธยมแล้วจึงมาเมืองไทย ช่วยบิดาค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ ยังเป็นโสด อายุ 26 ปี ทั้ง 2 คนถูกยิงเสียชีวิต
ร้อยเอก หยุนกัง หัวหน้าหน่วย ลูกชายเจ้าของร้านนาฬิกาจงหอหลง (ตงฮั่วลัง) บางลำพู กรุงเทพฯ เป็นนักเรียนโรงเรียนยุหมิน ถนนสุรวงศ์ ร้อยเอก วุนฮั่นอู่ เมื่ออายุ 12 ปี ไปเรียนหนังสือที่เมืองจีน กลับเมืองไทยเมื่ออายุ 18 ปี เป็นนายทหารสื่อสาร ทั้งสองถูกจับกุม ต่อมาถูกส่งตัวไปควบคุมที่กองตำรวจสันติบาลภายใต้การคุ้มครองของอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส และได้พบกับคณะของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ถูกจับจากชัยนาท
ร้อยเอก สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ เป็นคนเดียวที่สามารถเล็ดลอดหลบหนีไปได้ ปัจจุบัน (บันทึกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2535) อายุ 75 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีครอบครัวเป็นหลักฐานมั่นคง สุขภาพยังดี
ทั้ง 5 คน นอกจากจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแล้วยังเป็นนายทหารรุ่นเดียวกันโดยจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยหวังปู ของกองทัพจีนรุ่นที่ 17
ร้อยเอก สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ เล่าว่า
“หลังจากกระโดดออกจากเครื่องบิน พอเท้าแตะพื้นก็ได้ยินเสียงปืนดังสนั่นไปหมด ทั้งเสียงปืนกล ปืนเล็กยาว และปืนพก ด้วยสัญชาตญาณ ผมรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น จึงสลัดร่มและสัมภาระที่ไม่จำเป็นทิ้งแล้ววิ่งไปตามทิศทางตรงกันข้ามกับเสียงปืน วิ่งอย่างสุดชีวิต ลัดเลาะไปตามป่าละเมาะประมาณชั่วโมงกว่าถึงริมแม่น้ำ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นแม่น้ำนครชัยศรี หยุดซุ่มอยู่ในกอหญ้าคอยสังเกตการณ์รอบบริเวณเห็นเงียบสงบรู้ว่าไม่มีคนตามมา
…………….
เดินจากท่าน้ำเข้าไปในสถานี มีคนพลุกพล่าน สารวัตรทหารญี่ปุ่นเดินตรวจอยู่แต่คงนึกไม่ถึงว่าผมกล้าย้อนรอยกลับมาอีก ผมทำใจดีสู้เสือฟังชาวบ้านพูดคุยกันว่าเมื่อคืนนี้มีแนวที่ห้ามาโดดร่ม ถูกยิงตาย 2 คน ถูกจับอีก 2 คน ผมเกือบคุมสติไม่อยู่ ใครถูกยิงตาย ใครถูกจับ ไม่มีใครรู้จัก รู้แต่เพียงว่าเป็นแนวที่ห้า อนิจจาเพื่อนรัก
……………..
ต่อจากนั้นผมก็ติดต่อกับเครือข่ายของ คุณสงวน ตุลารักษ์ ได้ ทางหน่วยเห็นว่าผมอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัย จึงส่งไปอยู่ปากน้ำโพใกล้บึงบอระเพ็ดซึ่งมีฐานเสรีไทยอยู่ที่นั่น ผมทำภารกิจตามที่หน่วยเหนือมอบหมายมาคือฝึกวิชาวางระเบิดทำลายให้พลพรรคและคอยช่วยเหลือสนับสนุนพลพรรคที่กระโดดร่มลงมาอีกด้วย”
ครั้งที่ 2 หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการส่งหน่วยพลร่มกระโดดลงครั้งแรกที่อำเภอนครชัยศรี อีกประมาณ 2 เดือนถัดมา กองบัญชาการสัมพันธมิตรในอินเดียได้ส่งผู้ปฏิบัติงานคนไทยเชื้อสายจีนอีกหน่วยหนึ่งจำนวน 4 นาย มาขึ้นบกที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยเครื่องบินทะเล ประกอบด้วย
ร้อยเอก หลินสง ชาวกรุงเทพฯ อายุ 26 ปี เคยเป็นครูสอนภาษาจีนโรงเรียนยุหมิน ถนนสุรวงศ์ พูดไทยคล่อง เป็นมือรับส่งวิทยุของหน่วย ร้อยเอก แดง หาญลิ่งฟง ลูกชายเถ้าแก่โรงเลื่อยและโรงน้ำแข็งในจังหวัดอยุธยา รูปหล่อ ร่างกายแข็งแรง พูดไทยชัด ร้อยเอก หม่าเคอะอู่ ชาวกรุงเทพฯ ทางบ้านตั้งโรงรับจำนำและโรงสี ฐานะดี พูดไทยไม่ค่อยได้ เพราะเกิดในเมืองจีน ตอนเป็นหนุ่มมาช่วยพ่อแม่ค้าขายในประเทศไทย ร้อยเอก เก๊าะยีเหยิน เป็นชาวมลายูเชื้อสายจีน ครอบครัวทำการค้าขายใหญ่อยู่ในมลายู ไปศึกษาที่ฮ่องกง แล้วศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ลอนดอน เป็นนักศึกษาปี 3 อาสาสมัครทำงานเป็นล่ามในกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่อินเดีย และเข้าฝึกอบรมการรบในป่าพร้อมกับนายทหารจีน ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วย เพราะความรู้สูง ภาษาอังกฤษดี แต่พูดไทยไม่ได้
ร้อยเอก แดง หาญลิ่งฟง เล่าว่า
“วันที่ 2 พฤษภาคม 2487 พวกผม 4 คนเดินทางจากน่านทะเลศรีลังกาโดยเครื่องบินทะเลเมื่อเวลา 14.10 น. ช้ากว่าหมายกำหนดประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะเครื่องยนต์ขัดข้อง เพื่อความปลอดภัยบินไปทางทิศใต้ก่อนแล้วอ้อมเข้าน่านฟ้ามลายูถึงชายทะเลฝั่งตะวันตกของไทยด้านทะเลอันดามัน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เครื่องบินลงพื้นน้ำห่างจากฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อเวลาหลังเที่ยงคืน พนักงานประจำเครื่องช่วยกันปล่อยแพยาง 3 ลำลงน้ำ พวกเราประจำแพละ 2 คน อีกลำหนึ่งบรรทุกสัมภาระหนักประมาณ 1,000 ปอนด์ผูกติดกันอยู่ท้ายขบวน พวกเราช่วยกันพายเข้าฝั่ง ยิ่งใกล้สว่างคลื่นลมยิ่งจัด
……………..
วันที่ 4 พฤษภาคม ตอนเช้าประมาณ 08.00 น. มีตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน นำชาวบ้านประมาณ 30 คน แบ่งออกเป็น 10 พวก พวกละ 3 คน ต่างมีปืนไรเฟิลขึ้นมาตรวจค้นยิงปืนใส่ พวกเราจึงได้ยิงต่อสู้กัน ร้อยเอก เก๊าะและ ร้อยเอก หม่าถูกยิงหลายนัดถึงแก่กรรม ผมและร้อยเอก หลิน สองคนถูกจับใส่กุญแจมือ ทรัพย์สินในตัวถูกค้นไปหมด นำไปมัดไว้กับต้นมะพร้าวใกล้หมู่บ้าน ทั้งเตะทั้งถีบและตะคอกคำว่าเป็น ‘ชนชาติศัตรู’ เป็น ‘แนวที่ห้า’ จะอธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครฟัง คอยแต่จะเอาปากกระบอกปืนกระแทกหน้าอกพวกเราท่าเดียว พวกเขาไม่รู้เรื่องเสรีไทยเลย ร้อยเอก เก๊าะและ ร้อยเอก หม่า ตายอย่างสมเกียรติลูกผู้ชาย
ผมและ ร้อยเอก หลิน ถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ นำไปขังที่สันติบาลรวมกับพวกที่ถูกจับมาก่อน ดีใจที่รอดตายมาพบพรรคพวกอีก เหตุการณ์ต่างๆ ได้ผ่อนคลายลงเพราะมีคนรู้ว่าพวกเราเป็นใคร”
ร้อยเอก แดง หาญลิ่งฟง และ ร้อยเอก หลิน เป็นอีก 2 คนที่ได้รับความคุ้มครองจากหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าเสรีไทย เป็นอย่างดี
ครั้งที่ 3 เป็นนายทหารจีนลูกไทยชุดสุดท้าย 3 คนที่กระโดดร่มลงในป่าอุตรดิตถ์เมื่อปลายปี 2478 ประกอบด้วย ร้อยเอก วิบูลย์ โลกานุวงศ์ (หลิวหย่งเจียน) ร้อยเอก หวงจื้อหวา และ ร้อยเอก เฉินอุ๋นปอ ทั้งหมดเป็นคนไทยเชื้อสายจีน นักเรียนนายร้อยหวังปู รุ่นที่ 17 การกระโดดร่มลงของคณะนี้ค่อนข้างสะดวกปลอดภัยเพราะมีพลพรรคใต้ดินของเสรีไทยในพื้นที่คอยรับตัว หลังจากซุ่มดูท่าทีในป่า 2 วันก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เช่าบ้านอยู่ที่ตลาดพลู แล้วจัดซื้อเรือมาดมีประทุนแจวล่องกรุงเทพฯ-อยุธยา ขายของใช้ประจำวันบังหน้า ใช้เรือเป็นสถานีวิทยุรับส่งเคลื่อนที่ติดต่อกับหน่วยบัญชาการที่อินเดีย ทำให้ยากแก่ฝ่ายญี่ปุ่นในการค้นหา จนสิ้นสุดสงคราม
นอกจากนี้ กองบัญชาการสัมพันธมิตรยังได้จัดส่งหน่วยทหารจีนลูกไทยที่ผ่านการฝึกการรบแบบกองโจรหน่วยละ 3-5 คน แทรกซึมเข้าประเทศไทยทางภาคพื้นดินตามเส้นทางชายแดนลาวและพม่าอีกหลายหน่วย เพื่อปฏิบัติภารกิจการรบแบบกองโจรเช่นเดียวกัน
โรงเรียนนายร้อยหวังปู
ลูกจีนที่ส่งเข้ามาปฏิบัติการรบแบบกองโจรในไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยหวังปู โดยเฉพาะรุ่นที่ 17
โรงเรียนนายร้อยหวังปูก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2469 สมัย ดร. ซุนยัตเซ็นเป็นประธานาธิบดี มี พลเอก เจียงไคเช็ค (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการ รับสมัครจากเด็กหนุ่มที่จบการศึกษามัธยมปลายโดยใช้ระบบการศึกษาแบบเยอรมัน มีคณะที่ปรึกษาเป็นนายทหารเยอรมัน
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามกับญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2480 ได้มีชายหนุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเลือดรักชาติหลั่งไหลกันเข้ามารับใช้ชาติเพื่อรบกับญี่ปุ่น และมีจำนวนไม่น้อยที่สมัครเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ รวมทั้ง พันตำรวจเอก ประสิทธิ์ รักประชา ก็เป็นหนึ่งในหนุ่มไทยเชื้อสายจีนที่หลบหนีจากประเทศไทยแล้วสมัครเข้าสอบคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ โดยเข้ารับการศึกษาในรุ่นที่ 14 จนจบการศึกษาเป็นร้อยตรีเหล่าทหารราบและเข้ารับราชการในกองทัพบกจีนทำการรบต่อสู้กับญี่ปุ่นตลอดมาจนได้รับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบ
มีการจัดตั้ง “กรมนักเรียนนายร้อยชาวจีนโพ้นทะเล” ขึ้นเป็นการเฉพาะ นับเป็นรุ่นที่ 17 โดยเพิ่มเติมวิชาการข่าวเป็นพิเศษ และได้คัดเลือกบางส่วนไปฝึกเพิ่มเติมกับกองทัพอังกฤษที่อินเดียและศรีลังกา จากนั้นบางส่วนได้ลักลอบกลับเข้าประเทศไทยร่วมมือกับเสรีไทยในประเทศเพื่อบ่อนทำลายกำลังกองทัพญี่ปุ่น
ช้างแดง-ช้างเผือก
การที่มีนายทหารจีนเชื้อสายไทยลักลอบเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อปลายปี 2486 กองบัญชาการสัมพันธมิตรอังกฤษที่อินเดียได้ร้องขอให้กองทัพจีนของเจียงไคเช็คจัดส่งนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการข่าวทหารประมาณ 30 นายไปปฏิบัติงานที่กองบัญชาการยุทธบริเวณอังกฤษที่อินเดียเพื่อส่งเข้าปฏิบัติงานใต้ดินในเอเชียอาคเนย์ ฝ่ายจีนจึงจัดส่งให้ตามคำขอ
นายทหารจีนเหล่านี้ได้เข้ารับการฝึกการรบแบบกองโจรเพิ่มเติมโดยมีครูฝึกเป็นนายทหารอังกฤษ มีวิชากระโดดร่ม การรบในป่า การยังชีพในถิ่นทุรกันดาร การก่อวินาศกรรม ฯลฯ และในเวลาเดียวกันนี้ อังกฤษยังได้ทำการฝึกในลักษณะเดียวกันนี้ให้กับอาสาสมัครเสรีไทยสายอังกฤษในพื้นที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย โดยกำหนดชื่อว่าหน่วย “ช้างเผือก” ส่วนนายทหารจากจีนเรียกว่าหน่วย “ช้างแดง”
เมื่อผ่านการฝึกแล้ว จึงได้จัดส่ง “ช้างเผือก” ร.อ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กระโดดร่มลงที่บ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เป็นชุดแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และหลังจากนั้นอีก 10 วัน ก็จัดส่ง “ช้างแดง” นายทหารจีนชุดแรกจำนวน 5 คน เข้ามากระโดดร่มลงในดินแดนไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2487 โดยที่ทั้ง 2 หน่วยนี้แยกปฏิบัติการเป็นอิสระและไม่ทราบภารกิจของกันและกันตามหลักปฏิบัติการลับ
ไม่มีเสรีไทยสายจีน?
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบันทึกของเสรีไทยจะกล่าวถึงเพียง “เสรีไทยสายอเมริกา-เสรีไทยสายอังกฤษ-เสรีไทยภายในประเทศ” เท่านั้น แม้กระทั่ง “ตำนานเสรีไทย” ของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ก็ไม่มีบันทึกในส่วนของ “เสรีไทยสายจีน” แต่อย่างใด
ก็น่าจะเหตุเพราะกองกำลังจากจีนเหล่านี้เป็นกำลังที่อยู่ในบังคับบัญชาของกองทัพจีนที่มีเจียงไคเช็คเป็นผู้นำ ภารกิจที่กำหนดขึ้นจึงย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศจีนโดยตรง แม้นายทหารที่ถูกส่งเข้ามาปฏิบัติงานลับในไทยส่วนใหญ่จะถือกำเนิดและอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยรวมทั้งสามารถพูดภาษาไทยได้ก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและอเมริการวมทั้งภายในประเทศไทยที่ต่างถือตัวว่าเป็น “คนไทย” และปฏิบัติการทั้งสิ้น “เพื่อประเทศไทย” ด้วยกันทั้งสิ้น
สอดคล้องกับ “ความมุ่งหมายร่วมกันของเสรีไทยในอังกฤษ” จากบันทึก “ทหารชั่วคราว” ของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อครั้งร่วมก่อตั้งขบวนการแล้วบางส่วนสมัครเข้าเป็นทหารกองทัพอังกฤษอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2485 ที่ว่า
“พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษมิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษ แต่ต้องการรับใช้ชาติไทยโดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ”
น่าจะเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมจึงไม่มี “เสรีไทยสายจีน” ในสารบบ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ความเคารพต่อคนไทยเชื้อสายจีนผู้เสียสละเหล่านั้นซึ่งได้ทุ่มเทอุทิศเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น-ชาติผู้รุกรานลดน้อยถอยลงแต่ประการใด
ขอน้อมคารวะ.
คลิกอ่านเพิ่ม :
- ภารกิจ ‘เสรีไทย’ เก็บอาวุธจากร่มยุทธภัณฑ์ สร้างสนามบินลับ ถึงการฝึกทหารเสรีไทย
- กำเนิด “เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ” หน่วยอาสากว่า 300 คน ทำเพื่อเอกราช-อธิปไตยไทย
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์. “เหตุใดจึงไม่มี ‘เสรีไทยสายจีน’” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2565