กำเนิด “เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ” หน่วยอาสากว่า 300 คน ทำเพื่อเอกราช-อธิปไตยไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

ในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 เนื่องด้วยกำลังทหารที่มีจำกัดและเหตุปัจจัยอื่นๆ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงตอบรับตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ แนวทางนี้ย่อมไม่เป็นที่เห็นด้วยจากหลายฝ่าย จึงเกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “เสรีไทย”

ขบวนการ “เสรีไทย” นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยในอังกฤษ

บทความ “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ : นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (นร.สห. ย่อมาจาก “นักเรียนสารวัตรทหาร”) โดยกำพล จำปาพันธ์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2560 อธิบายถึงบทบาทของเสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มต้นช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 ท่ามกลางสถานการณ์สงครามคุกรุ่น

ในช่วงเวลานั้น หลายฝ่ายไม่ได้มองว่าสงครามจะยุติลงในปีดังกล่าว พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ นายทหารสารวัตรใหญ่ที่เข้าร่วมเสรีไทย เข้าปรึกษาหารือกับนายปรีดี พนมยงค์ ว่าขบวนการเสรีไทยต้องมีหน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร (Gurrilla War-fare) ทั้งการรบในป่า การรบในเมือง การใช้อาวุธทันสมัย การทำลายด้วยดินระเบิด มีระเบียบวินัยแบบทหาร และสามารถใช้อาวุธที่ฝ่ายพันธมิตรส่งมาให้ทางอากาศ ไม่ใช่เพียงประชาชนทั่วไปใครก็ได้ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกวิชาทหาร เพื่อใช้ดำเนินงานผลักดันฐานทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทย จากความเชื่อว่า จำต้องเปิดสงครามสู้รบขั้นแตกหัก

จุฬาฯ ในเวลานั้นปิดการเรียนการสอนเพราะภัยสงคราม พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ มองว่า นิสิตชายจุฬาฯ พร้อมและเหมาะสมเข้ารับการฝึก เนื่องจากเป็นยุวชนทหาร ผ่านการฝึกวิชาทหารมาบ้างแล้วตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อได้ไฟเขียวจากนายปรีดีแล้ว พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ จึงเข้าพบหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอธิการบดีจุฬาฯ อนุญาตให้นิสิตไปช่วยราชการคับขันได้ แต่ให้เป็นความสมัครใจ ไม่เป็นการบังคับ

การประชุมนิสิตชายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการส่งสัญญาณกันภายในโดยกระซิบบอกต่อๆ กัน ผู้เข้าร่วมประชุมราว 300-400 คน กำพล จำปาพันธ์ อธิบายไว้ว่า

“นิสิตตัดสินสมัครเข้าร่วมจำนวนมากถึง 300 กว่าคน ทั้งหมดเป็นคนหนุ่มอายุราว 18-23 ปี หลังจากตรวจโรคเสร็จแล้ว มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 298 คน แบ่งเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยรบ 273 คน และหน่วยสื่อสาร 25 คน หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ยังได้ให้การสนับสนุนแก่นิสิต โดยอนุมัติเงินรายได้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตในระหว่างไปปฏิบัติราชการลับนี้ด้วย”

ในการจัดเตรียมพลนิสิตจุฬาฯ ภายใต้ “โรงเรียนนายทหารสารวัตร” นั้น กำพล จำปาพันธ์ อธิบายไว้ว่า

“โรงเรียนนายทหารสารวัตรได้เปิดเรียนเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2488 ในชั้นแรกโรงเรียนนายทหารสารวัตรก็ร่ำเรียนเหมือนอย่างโรงเรียนนายร้อย แต่มีหลักสูตรรวบรัดเพียง 1 ปี มีการสอนการบรรยายในห้องเรียน การฝึกเช้าเย็นเมื่อเรียนผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ก็จัดให้ไปเป็นผู้ฝึกสอนแก่เสรีไทยกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มนายสิบ สห. ที่มาจากนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จำนวนกว่า 397 คน (ภายหลังทั้ง 3 กลุ่มได้รวมตัวกันเป็น “สมาคมเตรียม ธรรมศาสตร์ จุฬา อาสาศึก” เพราะมีความสนิทสนมกันมาแต่สมัยสงคราม)[9]

การเปิดโรงเรียนนายทหารสารวัตรในครั้งนั้น ใช่ว่าจะรอดพ้นสายตาความสังเกตของฝ่ายญี่ปุ่น นายพล นากามูระ (พลโท นากามูระ อาเกโตะ) แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จับตาดูโรงเรียนแห่งนี้อย่างใกล้ชิด แต่ นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี บุณยเกตุ และ พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ก็ได้อาศัยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับญี่ปุ่น จัดทำแผน “ลับ ลวง พราง” ตบตาญี่ปุ่นหลายรูปแบบเป็นต้นว่าได้มีการเข้าพบและพูดคุยอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยทหารสารวัตร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระหว่างสงคราม และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อแม่ทัพญี่ปุ่น ได้มีการเชิญ “หน่วยงิ” ของญี่ปุ่น[10] ให้มาถ่ายทำสารคดีไปเผยแพร่ว่า ไทยกับญี่ปุ่นร่วมวงศ์ไพบูลย์เดียวกันอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย[11] ดังนั้นถึงแม้ว่า นายพล นากามูระจะสงสัยระแคะระคายเกี่ยวกับโรงเรียนนี้อยู่มาก แต่ก็ไม่อาจสั่งปิดโรงเรียนนี้ได้

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488 พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ได้ทยอยส่งนักเรียนนายทหารสารวัตรทั้ง 298 นาย ไปยังค่ายสวนลดาพันธุ์ ตั้งอยู่ที่วัดเขาบางทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าเพื่อไปฝึกภาคสนามสร้างความชำนาญ แต่ที่จริงค่ายสวนลดาพันธุ์หรือค่ายวัดเขาบางทราย ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว โดยมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ทิ้งร่มลงมาไว้ให้ที่บ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง (สมัยนั้นยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงเป็นป่าหนาทึบอยู่) ถูกลำเลียงมาเก็บไว้ที่ค่ายวัดบางทราย เพื่อรอนักเรียนนายทหารสารวัตรอยู่ก่อนแล้ว[12]

นอกจากนี้ยังมีนายทหารอเมริกันหลายนายโดดร่มลงมาอยู่ที่ค่ายนี้โดยมี “พันตรี ฟรานซิส” เป็นหัวหน้า เมื่อนักเรียนนายทหารสารวัตร 298 นายมาถึงค่ายแล้ว การฝึกรบต่อต้านญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง มีการแยกกำลังออกเป็นหน่วยย่อยๆ มีครูฝึกทหารอเมริกันรับผิดชอบควบคุมทุกๆ หน่วย มีการสอนใช้อาวุธทันสมัย ตลอดจนยุทธวิธีการรบโดย พันตรี ฟรานซิสอำนวยการสอนด้วยตัวเอง จนถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงคราม แต่การฝึกของนักเรียนนายทหารสารวัตรยังคงดำเนินต่อมาจนจบหลักสูตรในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 และได้เข้าร่วมพิธีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488[13]

สงครามยุติแล้วก็จริง แต่สงครามก็ได้ทิ้งความวุ่นวายเหลวแหลกเอาไว้ให้ กล่าวกันว่าทหารญี่ปุ่นบางหน่วยดื้อแพ่งไม่ยอมแพ้ตามพระราชโองการของพระจักรพรรดิ โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วประเทศ ชาวจีนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ก่อเหตุจลาจลยิงกันกลางเมืองหลวง นักเรียนนายทหารสารวัตรที่เตรียมไว้รบกับญี่ปุ่น ก็เลยถูกส่งมารบปราบปรามคนจีนที่ก่อความวุ่นวายนี้แทน โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ใช้ชื่อว่า “สารวัตรทหารตำรวจผสม” (สห.-ตร.-ผสม)[14]

บางส่วนก็ทำหน้าที่ประสานงานกับทหารสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย การปราบปรามดำเนินไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เหตุการณ์จึงสงบ นักเรียนนายทหารสารวัตรทั้งหมดจึงได้กลับเข้ากรมกอง และในวันที่ 1 ธันวาคม 2488 นักเรียนนายทหารสารวัตรก็ได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ทำพิธีประดับยศ ณ กรมสารวัตรทหาร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2488[15] หลังจากนั้นนักเรียนทหารสารวัตรกลุ่มนี้ก็ได้สลายตัว บางส่วนกลับเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางส่วนสมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจ อีกส่วนเข้ารับราชการกรมศุลกากร และบางคนก็หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว[16]”

ภายหลังจากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหนังสือที่ ทม.0301/1670 ลงวันที่ 30 เมษายน 2534 อนุมัติให้ใช้สถานที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488[17]

กำพล จำปาพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถานว่า

“วัตถุประสงค์สำคัญของการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 จากเอกสารระบุไว้ว่าเพื่อ “เป็นกุญแจไขประวัติศาสตร์ให้คนทั่วไปทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานเสรีไทย”[20] ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปัญหาความรับรู้ที่มีต่อขบวนการเสรีไทยในการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงทศวรรษ 2500 ถูกมองว่าสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรสายพลเรือนอันมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ ในการต่อต้านลัทธิเผด็จการทหารนิยมของฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม[21]

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 โดยกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับคณะราษฎรและเสรีไทยได้รื้อฟื้นกรณีสวรรคตมาโจมตีฝ่ายปรีดี ปรีดีกับพวกได้พยายามตอบโต้และแย่งชิงอำนาจคืนมาในเหตุการณ์กบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492[22] โดยมีกำลังฝ่ายเสรีไทยและกองพันนาวิกโยธินทหารเรือของ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ เป็นผู้สนับสนุน แต่เพราะขาดการประสานงานที่ดี อีกทั้ง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือไม่ได้ให้การสนับสนุน การก่อรัฐประหารครั้งนี้จึงล้มเหลว ส่งผลทำให้ขบวนการเสรีไทยถูกกวาดล้างอย่างหนักจากฝั่งรัฐบาล[23]

จากวีรบุรุษสงครามก็มาถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายในการเมืองไทย หลายคนจึงปกปิดตัวตนและความเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย จนเมื่อเวลาล่วงเลยมา สถานการณ์การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คลี่คลายและผ่านพ้นไปแล้ว จึงได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นเรื่องราวของเสรีไทยขึ้นมาใหม่ แรกเริ่มเดิมทีแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 ขึ้นในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ นร.สห. 2488 ว่า พล.ต.ต. หม่อมราชวงศ์ยงสุข กมลาสน์ ประธานชมรม นร.สห. 2488 ได้เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2502[24] แต่มาบรรลุผลใน พ.ศ. 2534 ช่วงที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณมาลา เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำหนังสือที่ระลึกควบคู่กับการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห.2488 จึงปรากฏความพยายามที่จะตอบโต้และลบล้างข้อหาบิดเบือนต่างๆ ต่อขบวนการเสรีไทยอันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง…”

อนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 มี ร.ต. อภัย ผะเดิมชิต เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2538 บริเวณนี้นิสิตจุฬาฯ นิยมเรียกกันว่า “ลานหิน” เป็นพื้นที่ซึ่งนิสิตมักใช้นั่งเล่นหรือทำกิจกรรมกันแบบประปราย ชื่ออย่างเป็นทางการของสถานที่นี้คือ “อนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488” 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งและเรียบเรียงใหม่จากบทความ “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ : นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2560


เชิงอรรถ :

[9] อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 23.

[10] ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นขึ้นบกที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และรัฐบาลไทยได้ทำความตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย โดยทำ “สนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” แล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ติดต่อประสานความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2486 นายพล นากามูระได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในไทย ก็ได้เปลี่ยนชื่อเรียกกองทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า “กองทัพงิ” หรือ “หน่วยงิ” (“งิ” แปลว่า “ความชอบธรรม”) โดยมีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่สมาคมพ่อค้าชาวจีนแห่งประเทศไทยที่ถนนสาทรใต้ ฝ่ายไทยก็ได้เปลี่ยน “กองอำนวยการคณะกรรมการผสม” มาเป็น “กรมประสานงานพันธมิตร” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2486 ดูรายละเอียดใน โยชิกาว่า โทชิฮารุ. “หน่วยงิ (กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) กับการจัดซื้อข้าวในประเทศไทย” แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร. วารสารญี่ปุ่นศึกษา. ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (2001), น. 47-63.

[11] อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 28.

[12] เรื่องเดียวกัน.

[13] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 15.

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] กระทรวงกลาโหม คำสั่งทหารที่ 300/14693 เรื่องให้นักเรียนนายทหารสารวัตรเป็นนายทหาร (ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2488).

[16] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 15.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 175.

[18] อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ที่สนามหลวงฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ออกแบบโดย สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นรูปแบบผสมเจดีย์สุโขทัยและอยุธยา

[19] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, น. 176.

[20] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 17.

[21] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535).

[22] ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : อักษรสาส์น, 2532).

[23] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. (กรุงเทพฯ : พีเพรส, 2551), น. 70.

[24] อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 31.

[25] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 18-19.

[26] อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 32.