ภารกิจ ‘เสรีไทย’ เก็บอาวุธจากร่มยุทธภัณฑ์ สร้างสนามบินลับ ถึงการฝึกทหารเสรีไทย

ค่ายเสรีไทย จังหวัดสกลนคร (ภาพจากหนังสือ ตำนานเสรีไทย)

ขบวนการเสรีไทยเริ่มภารกิจ ‘กู้ชาติ’ ตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกไทยเลยก็ว่าได้ คนสำคัญที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างชัดเจนก็คือปรีดี พนมยงค์ นับแต่ปี 2484 ที่ญี่ปุ่นบุกไทย ขบวนการเสรีไทยก็ทำภารกิจมาโดยตลอด แต่เป็นในทางการพูดคุย ติดต่อ และเจรจากับหลายส่วนหลายองค์กร กว่าจะทำภารกิจในแบบยุทธการทางทหารก็ล่วงเข้าปี 2487 จวบจนสิ้นสงคราม

เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรมั่นใจว่าขบวนการเสรีไทยจะสามารถช่วย ‘ตลบ’ ญี่ปุ่นได้ จึงดำเนินการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ประการสำคัญคือการฝึกฝนทหารให้เสรีไทย จากนั้นเสรีไทยกลุ่มนั้นก็จะเดินทางกลับสู่ไทยเพื่อจัดตั้งหน่วยหรือกองกำลังขึ้นมาเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นต่อไป

Advertisement

เสรีไทยได้รับการฝึกฝนจากกองบัญชาการในอินเดีย เมื่อสำเร็จจึงทะยอยเดินทางสู่ไทย เสรีไทยสายอังกฤษเดินทางเข้าสู่ไทยเมื่อปลายปี 2486 แต่ก็ต้องเข้ามอบตัวและอยู่ภายในความคุ้มครองของพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ต่อมาในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2487 เสรีไทยสายอังกฤษอีก 6 คน ที่มี ป๋วย อึ้งภากรณ์ (ยศพลตรี) เป็นหัวหน้าชุด ได้กระโดดร่มลงที่ชัยนาทและนครสวรรค์ตามลำดับ แต่สุดท้ายต้องอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจเช่นเดียวกัน

เครื่องบินดาโกตาของฝ่ายสัมพันธมิตรส่งอาวุธให้เสรีไทยที่สนามบินลับจังหวัดเลย (ภาพจากหนังสือ ตำนานเสรีไทย)

เสรีไทยสายอเมริกาเดินทางเข้าสู่ไทยเมื่อเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ปี 2487 บุกตะลุยป่าเขาจากทางตอนใต้ของจีน ผ่านลาวเพื่อเข้าสู่ไทย แต่ก็ต้องอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจอีกเช่นกัน ต่อมาเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น อเมริกาส่งเสรีไทยกระโดดร่มลงที่จังหวัดแพร่ เพื่อติดต่อกับพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ในการประสานงานร่วมกับปรีดี พนมยงค์ เพื่อความเป็นเอกภาพของขบวนการเสรีไทย ซึ่งในขณะนั้นพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ก็ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเรียบร้อยแล้ว

ปลายปี 2487 ปฏิบัติการของเสรีไทยเริ่มเป็นรูปร่างมากขึ้น สามารถติดต่อทางวิทยุกับศูนย์ปฏิบัติการฝ่ายสัมพันธมิตรในอินเดียได้ จากนั้นจึงส่งเสรีไทยเข้ามาเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กระโดดร่มลงที่ดอยอินทนนท์หรือใช้เรือดำน้ำส่งคนขึ้นฝั่งที่ตรัง

เข้าปี 2488 การปฏิบัติงานและการประสานงานทั้งภายในและภายนอกเริ่มเป็นระบบมากขึ้น ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาสนับสนุนขบวนการเสรีไทย โดยมาทิ้งร่มลงตามจุดต่าง ๆ ที่ได้นัดหมายกันล่วงหน้า ซึ่งการทิ้งร่มนี้มักมีคนอังกฤษ อเมริกัน หรือไทยเดินทางเข้ามาพร้อมกันด้วย โดยปรีดีได้สั่งการให้เสรีไทยภายในประเทศในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบในภารกิจเหล่านี้

การทิ้งร่มยุทธภัณฑ์มีหลายพื้นที่ ในพื้นที่ที่ยากลำบากก็มีการทิ้งร่มลงบนยอดเขาภูกระดึง อุดม บุญประกอบ แกนนำเสรีไทยสำคัญคนหนึ่งต้องเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นไปยังภูกระดึง ไต่เขาขึ้นไปนำอาวุธลงมาด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อได้อาวุธมาแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อหน่วยเสรีไทยที่ขอนแก่นอย่างมาก

เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทำตราช้างเผือกปลอมเพื่อลวงญี่ปุ่น (ภาพจากหนังสือ ตำนานเสรีไทย)

สุจิต โรจนชีวะ อดีตครูโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลได้บันทึกการรับอาวุธจากร่มยุทธภัณฑ์ไว้ว่า “…ปลายเดือนมีนาคม 2488 ข้าพเจ้าและนายอำเภอเมืองสกลนครพร้อมพรรคพวกราว 7-8 คน ไปพบนายเตียงที่บ้านราดกระเชอ เลยพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ขึ้นไปหลังเขาภูพาน เพื่อรับร่มสิ่งของมาจากฝ่ายสัมพันธมิตร มีสิ่งของ-อาวุธทางเครื่องบิน บี 24 เวลา 23.00 น. พวกเราคอยรับร่มอยู่กลางทุ่งนาชื่อ ‘ทุ่งหนองพอก’ ต่างก็กระวนกระวายอยากจะเห็นเครื่องบินและร่มที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินนั้นจะมีลักษณะอย่างไร…ต่างคนต่างนอนคอยใช้คันนาเป็นหมอน ผ้าข้าวม้าเป็นผ้าห่มเพราะอากาศหนาว เมื่อเครื่องบินบินผ่านทุ่งนาจะทิ่งร่มจำนวน 16 ร่ม พวกเราก็ช่วยกันเก็บ…หนักมากต้องใช้คนหาม 4 คนต่อ 2 คอนเทนเนอร์ขนขึ้นรถยนต์ไปเก็บไว้ในถ้ำ…กว่าจะเก็บร่มและสิ่งของเสร็จก็สว่างพอดี…”

ท้าวอุ่น ชนะนิกร ชาวลาวที่ทำงานร่วมกับเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร แกนนำคนสำคัญของเสรีไทยภาคอีสาน บันทึกถึงวิธีรับอาวุธจากการทิ้งร่มนี้ว่า

“การรับอาวุธนั้นมีเครื่องบินสี่เครื่องยนต์มาทิ้งให้ตามวันเวลาที่พวกเรานัดหมาย แต่สถานที่นัดพบนั้นจะต้องอยู่ห่างจากหน่วยของเราหลายสิบกิโลเมตร การรับและเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์เขามาทิ้งให้นั้นก็ไม่ใช่ของง่าย ๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อเขาทิ้งลงนั้น ร่มจะพาอาวุธยุทธภัณฑ์ไปลงที่ไหนก็ได้ตามกระแสลมจะพัดพาไป บางร่มก็ค้างอยู่บนต้นไม้ ซึ่งพวกเราจำเป็นต้องรวบรวมเอามันมาให้ได้หมด แล้วขนไปเก็บซ่อนไว้ในถ้ำของพวกเราก่อนจะสว่าง

ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งคือ การทำลายร่มชูชีพ เนื่องจากร่มชูชีพนั้นไฟไม่ไหม้ พวกเราจึงต้องขุดหลุมฝังมันให้เรียบร้อยก่อนจะนำเอาอาวุธไปเก็บได้ และในขณะที่เรากำลังขาดแคลนเสื้อผ้ากันอย่างมากอยู่นั้น การทำลายผ้าร่มชูชีพอันสวยงามจึงเป็นการทรมานจิตใจกันน่าดู

ขอให้ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกเอาเองเถิดว่า ในเมื่อเครื่องบินแต่ละเครื่องทิ้งอาวุธยุทธภัณฑ์ลงให้ประมาณ 150 ร่ม และแต่ละครั้งพวกเขาจะมาพร้อมกันสองหรือสามเครื่อง การจะตามไปเก็บเอาร่มสี่ร้อยร่มฝังดินให้หมดก่อนแล้วจึงขนอาวุธยุทธภัณฑ์สามสี่ร้อยลังไปเก็บไว้ในถ้ำให้แล้วเสร็จภายในคืนเดียว ท่ามกลางความืดกลางป่า มันไม่ใช่ของง่าย ๆ เลย อีกอย่างหนึ่ง ขณะที่เราทำงานกันอย่างเร่งรีบนั้น จิตใจของพวกเราก็กลัวว่าพวกญี่ปุ่นจะมาพบเราเข้าอีกด้วย แต่พวกเราที่ทำงานกันมาด้วยความเรียบร้อยทุก ๆ ครั้ง…”

นอกจากจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จากทางอากาศแล้ว ยังมีการขนส่งมาทางน้ำผ่านเรือเข้ามาในอ่าวไทย มีเรือศุลกากร 17 ในการควบคุมของหลวงบรรณกรโกวิทไปคอยรับอาวุธ แล้วนำส่งต่อไปยังกองบัญชาการที่มหาวทิยาลัยธรรมศาสตร์

สนามบินลับแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กำลงลำเลียงยุทธภัณฑ์ (ภาพจากหนังสือ ตำนานเสรีไทย)

การฝึกฝนการทหารให้กับเสรีไทยในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่ท้าวอุ่น ชนะนิกร บันทึกไว้ว่า

“พวกเสรีไทยได้ระดมพลพรรคด้วยการเรียกเอาชายหนุ่มจากทุก ๆ หมู่บ้านในบริเวณนั้นให้มาฝึก หากผู้ใดขัดขืน ไม่ยอมเข้าฝึกให้ถือว่าเป็นศัตรูและให้ใช้มาตรการเด็ดขาด คือยิงทิ้ง แล้วการฝึกอบรมก็พยายวงกว้างออกเรื่อย ๆ ถึงบรรดาข้าราชการ พลเรือน ตั้งแต่ข้าหลวงและหัวหน้าหน่วยราชการต่าง ๆ ประจำจังหวัดหรืออำเภอนั้น ๆ อย่างไรก็ดี อาจเป็นเพราะการขาดการโฆษณาชวนเชื่อหรือการขาดคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้งจากเจ้าหน้าที่เสรีไทยก็ไม่ทราบ จึงปรากฏว่ามีหลายคนไม่ยินยอมร่วมมือกับคณะเสรีไทย ดังนั้น เพื่อรักษาความศักดิ์และความเด็ดขาดของคำสั่ง บรรดาหนัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยจึงได้จัดตั้งศาลทหารขึ้น แล้วพยายามหาผู้ต้องหารว่าขัดขืนคำสั่งมาลงโทษให้ได้…”

อย่างไรก็ตาม เสรีไทยนอกจากจะมีทหารและตำรวจแล้ว ประชาชนธรรมดา นิสิต นักศึกษา ครู ข้าราชการ ฯลฯ ก็มาเข้าร่วมเช่นเดียวกัน ในหน่วยที่จัดตั้งขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น หน่วยหลังวัดเขานางทราย จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จเพราะมีเสรีไทยจำนวนนับพันคน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีการศึกษา ทั้งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาหมาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทหารเรือนาวิกโยธิน โดยมีพลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพเป็นผู้ควบคุม

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการฝึกฝนการทหารให้กับเสรีไทยนั้นเป็นไปอย่างเร่งรีบ ประกอบกับครูฝึกขาดความชำนาญจึงเกิดอุบัติเหตุในการฝึกอยู่เสมอ เช่น หน่วยอุบลราชธานี ครูฝึกทำปืนกลมือทอมป์สันรัวกระสุนไปรอบทิศทาง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 18 คน

สุจิต โรจนชีวะ บันทึกถึงการฝึกอบรมเสรีไทยในสกลนครไว้ว่า นอกจากจะทำการศึกษาอาวุธต่าง ๆ แล้ว ยังทำการฝึกอบรมทั้งวิชาการสงคราม ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ทั่วไป รวมถึงการแผ่อำนาจของญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้าอบรมล้วนแต่เป็นครูจากหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด บุคคลสำคัญในการผลักดันคือเตียง สิริขันธ์ โดยสุจิต โรจนชีวะเข้าฝึกที่ค่ายหนองหลวง บันทึกชีวิตในค่ายว่า “…รู้สึกเงียบเหงาเพราะอยู่ในค่ายตลอดเวลา ไม่ได้ออกจากค่ายไปไหนเลย เพราะค่ายห่างจากหมู่บ้าน 600 เส้น…เราเป็นทหารกองโจรกู้ชาติจึงต้องทนต่อความยากลำบาก…”

ภารกิจของเสรีไทยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การก่อสร้างสนามบินลับ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรขอให้ขบวนการเสรีไทยสร้างสนามบินในภาคอีสานอย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อรับเครื่องบินดาโกตา C-47 สำหรับลำเลียงคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อทำให้การติดต่อและการขนส่งสะดวกมากขึ้น

เสรีไทยในภาคอีสาน ภายใต้การควบคุมของ เตียง สิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี, จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม, ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด และอุดม บุญประสพ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและเลย โดยได้เลือกบริเวณ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอโนนหัน จังหวัดเลย เป็นพื้นที่สร้างสนามบินลับ แต่ภายหลังปรากฏว่า เสรีไทยสามารถสร้างสนามบินลับได้เพิ่มอีกหลายสนามบิน เช่น

สนามบินค่ายวงแหวน และสนามบินเกือกม้า จังหวัดสกลนคร, สนามบินค่ายนาโปง และสนามบินค่ายป่าปาก จังหวัดนครพนม, สนามบินกุดเชียงหมี สนามบินเดชอุดม สนามบินเขมราฐ และสนามบินสุวรรณวารี จังหวัดอุบลราชธานี, สนามบินนาคู จังหวัดมหาสารคาม, สนามบินภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ, สนามบินโนหัน จังหวัดเลย, สนามบินจังหวัดตาก และสนามบินท่าตะกร้อ จังหวัดเพชรบุรี

สนามบินลับจังหวัดเลย (ภาพจากหนังสือ ตำนานเสรีไทย)

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เสรีไทยที่ได้เดินทางไปในหลาย ๆ จังหวัดเพื่อช่วยจัดตั้งหน่วยขึ้นนั้น ได้บันทึกถึงการสร้างสนามบินในจังหวัดตากว่า “เราได้สร้างสนามบินขึ้น 2 แห่ง แห่งหนึ่งที่บ้านโป่งแดงและอีกแห่งหนึ่งเป็นสนามบินเล็กอยู่ในเขตของกองพลพรรคที่ตำบลนาโบสถ์…เนื่องด้วยในเขตที่เรากระทำการนี้ มีทหารญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก การงานทั้งหลายที่เรากระทำก็ต้องลงมือด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เป็นที่น่าเสียใจที่ต้องกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ค้นพบสนามบินที่ตำบลบ้านโป่งแดง อันเป็นเหตุให้เราใช้สนามบินแห่งนั้นไม่ได้ ส่วนในบริเวณค่ายของเรานั้นญี่ปุ่นได้พยายามส่งจารชนเข้ามาตรวจสืบหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ…”

จากการที่เสรีไทยสร้างสนามบินลับได้จำนวนมากในระบะเวลาอันสั้น โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 2488 เป็นผลให้การลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จากฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำมาให้แก่ขบวนการเสรีไทยมีจำนวนมากขึ้น และการส่งคนของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาช่วยฝึกอาวุธให้แก่เสรีไทยก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งที่เป็นชาวอังกฤษและอเมริกัน

เสรีไทยตั้งหน่วยขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายให้มีจำนวนประมาณ 80,000 คน จะทำหน้าที่ร่วมกับกองทัพไทยในการสู้รบกับญี่ปุ่น เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดฉากการรุกใหญ่เพื่อปลดปล่อยไทยจากการยึดครองของญี่ปุ่น

ปลายเดือนพฤษภาคมปี 2488 นั้น การฝึกเสรีไทยยังไม่สมบูรณ์ตามเป้าหมายที่จะทำการรบอย่างมีประสิทธิภาพ ปรีดี พนมยงค์จึงติดต่อไปยังฝ่ายสัมพันธมิตรว่า ญี่ปุ่นเริ่มสงสัยท่าทีของไทยมากขึ้น ถึงเวลาที่เสรีไทยจึงจำเป็นต้องต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย เหตุที่ตัดสินใจเช่นนี้เพราะว่า ในช่วงเวลานั้นสงครามใกล้สิ้นสุดเต็มที และการลุกขึ้นสู้กับญี่ปุ่นจะเป็นทางเดียวที่ทำให้มั่นใจได้ว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรจะไม่ถือว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้สงครามเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน

สอดคล้องกับบันทึกของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ที่ว่า “…หลวงประดิษฐ์รู้สึกว่าญี่ปุ่นอาจจะยอมแพ้เร็วกว่าที่คาดหมาย ทำให้เกรงว่า คณะพลพรรคของเราจะไม่มีโอกาสปฏิบัติงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อโลกว่า เราได้ร่วมมือกระทำการรบพุ่งอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าเราจะไม่ได้รับความนับหน้าถือตา และทำการสำเร็จเพียงพอในการกอบกู้บ้านเมืองของเรา…”

ทว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรขอให้ระงับการกระทำใด ๆ ก่อนถึงเวลาอันเหมาะสม จึงไม่เกิดการสู้รบระหว่างเสรีไทยกับญี่ปุ่น กระทั่งญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคมปี 2488 ภารกิจรบพุ่งจึงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงใกล้ยุติสงครามนั้น จำนวนเสรีไทยที่พร้อมทำการสู้รบกับญี่ปุ่นนั้นมีไม่น้อยกว่า 40,000 คน


อ้างอิง :

อัญชลี สุขดี. (2525). ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488). วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, หม่อมเจ้า. (2558). บันทึกลับของพันโทอรุณ เสรีไทย 136. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์.

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (2558). ขบวนการเสรีไทยกับวีรกรรมกู้ชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

________. (2546). ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ : ยูโรปา เพลส.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2563