เสนาบดีสยาม สมัย ร.3 ไม่เชื่อกองทัพอังกฤษชนะพม่าได้ บอกเป็นความคิดเพ้อฝัน!

อังกฤษ โจมตี ย่างกุ้ง ของ พม่า
กองทัพอังกฤษโจมตีนครย่างกุ้งในปี 1824 (ภาพเขียนในสมัยศตวรรษที่ 19 โดย J. Moore [Public domain], via Wikimedia Commons)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “อังกฤษ” รุกคืบเข้ามาในภูมิภาคนี้ แต่ “เสนาบดีสยาม” ไม่เชื่อว่า “อังกฤษ” จะมีแสนยานุภาพมากพอที่จะเอาชนะ “พม่า” ได้ 

“วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 5 ธันวาคม ในเวลาบ่าย ข้าพเจ้าได้พบกับท่านพระคลัง และได้พูดจากันเป็นเวลานาน พระคลังได้ถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับคำแปลภาษาสยามของจดหมายจากท่านผู้สำเร็จราชการ ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบให้ไปถวายแล้วนั้น ท่านพระคลังได้ถามข้าพเจ้ามากมายและได้ให้จดคำตอบหลายข้อของข้าพเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์และรายชื่อหัวเมืองพม่าที่กองทัพฝ่ายเรายึดครองได้ ซึ่งชื่อเหล่านี้ในภาษาสยามดูจะออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจนไม่ได้

ท่านพระคลังดูเหมือนจะไม่เชื่อข่าวเกี่ยวกับชัยชนะของกองทัพอังกฤษ ซึ่งท่านคิดว่าคงเป็นชัยชนะชั่วคราว และท่านเห็นว่าการที่กองทัพเราหวังจะเข้ายึดครองอังวะ (Ava) หรือจะเอาชนะพวกพม่าให้ได้นั้นเป็นความคิดเพ้อฝันมากกว่า”

ทั้งหมดคือข้อความของ ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ ทูตประจำราชสำนักพระเจ้ากรุงสยาม กล่าวในจดหมายรายงานถึง อาร์. ฟูลเลอร์ตัน เอสไควร์ ผู้ว่าราชการ ฯลฯ เกาะปรินซ์ ออฟ เวลส์ (เกาะปีนัง) ลงวันที่ 22 ธันวาคม 1825 (พ.ศ. 2368) เนื้อความว่า เสนาบดีสยาม ไม่เชื่อว่าอังกฤษจะเอาชนะพม่า

กองทัพอังกฤษโจมตีนครย่างกุ้งในปี 1824 (ภาพเขียนในสมัยศตวรรษที่ 19 โดย J. Moore [Public domain], via Wikimedia Commons)

สงครามระหว่างอังกฤษและพม่า ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่างปี 1824-1826 (พ.ศ. 2367-2369) เริ่มต้นจากความขัดแย้งบริเวณชายแดนเขตยะไข่ทางตะวันตกของพม่า กับเขตจิตตะกองที่อยู่ในความยึดครองของอังกฤษ เนื่องจากชาวยะไข่บางส่วนที่ลี้ภัยไปอยู่ในพื้นที่ยึดครองของอังกฤษหลังพม่ายึดครองอาณาจักรของตนได้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 พยายามโจมตีกองทัพพม่าเพื่อกอบกู้เมืองคืน ทำให้กองทัพพม่าตอบโต้โจมตีกลุ่มชาวยะไข่ลึกเข้าไปถึงเขตเบงกอลอยู่หลายครั้ง เป็นเหตุให้อังกฤษอ้างได้ว่าตนถูกรุกราน จึงใช้กำลังโต้กลับ และสามารถใช้กองเรือยึดย่างกุ้งได้โดยแทบไม่ต้องใช้กำลังทหารในปี 1824

แต่พม่าไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ก่อนพม่าจะสูญเสียนายพลคนสำคัญ (บัณฑุละ, Bandula) ภายหลังจึงยอมทำสนธิสัญญาแห่งยันดาโบ (Treaty of Yandabo) ในเดือนกุมภาพันธ์ 1826 เพื่อยุติสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าในยกแรก

ต่อมาเกิดสงครามระหว่างอังกฤษและพม่าขึ้นอีก กระทั่งท้ายที่สุดพม่าก็ต้องสูญเสียเอกราชให้อังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สาวิตรี สุวรรณสถิตย์, ผู้แปล. เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551

“Anglo-Burnese Wars.” Encyclopedia Britannica. Encyclopædia Britannica, inc. 16 Mar. 1999. Web. 19 Apr. 2017 https://global.britannica.com/topic/Anglo-Burmese-Wars


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2561