ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาบัญชี ราชสํานัก รัชกาลที่ 7 เมื่อรายจ่ายท่วมรายรับ แก้ปัญหาอย่างไร
พระนิพนธ์เรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2546) ของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 เป็นต้นฉบับพิมพ์ดีด ต่อมา ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงตรวจทานแก้, ทรงละพระนามหรือนามของบุคคลที่มีบทบาทในบันทึกนี้ในบางแห่ง ที่ทรงเห็นว่าควรละ (ผู้อ่านจะเห็นได้จากจุดไข่ปลา) แล้วประทานให้ “ศิลปวัฒนธรรม” เมื่อ พ.ศ. 2542 พิมพ์เผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์
ม.จ.พูนพิศมัย (พ.ศ. 2438-2533) ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่อยู่ใกล้ชิดพระบิดาตลอดเวลา ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เป็นเสนาบดีคนสำคัญใน ราชสำนัก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมา พระนิพนธ์ของ ม.จ.พูนพิศมัย จึงเป็นงานนิพนธ์ของบุคคลที่อยู่ในสถานที่จะบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดีกว่าผู้อื่นที่อาจจะเพียงได้ยินได้ฟัง
ส่วนที่คัดย่อมานำเสนอในที่นี้ เป็นพระนิพนธ์เกี่ยวกับช่วงต้น “รัชกาลที่ 7” ที่ “ราชสำนัก” หารือกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องบประมาณดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เหตุการณ์ในตอนแรก [รัชกาลที่ 7 ] เสวยราชย์ก็คือเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำและการตัดทอนรายจ่ายของประเทศ. มีพิเศษในเรื่องจะตัดทางราชสำนัก ซึ่งค้างมาแต่ในรัชกาลที่ 6 ในตอนก่อนเสด็จสวรรคต
ฉะนั้น ข้อแรกก็ต้องสางบัญชีในราชสำนัก, ได้ความว่ารายจ่ายท่วมรายรับจนมีหนี้อยู่ราว 4-5 ล้านบาท. บัญชีรายจ่ายมีหลักฐานอยู่ว่าเพียงค่าไฟฟ้าส่วนพระองค์ก็เดือนหนึ่งถึง 200,000 บาท และยังมีบ้านข้าราชการบางบ้านที่ใช้เปล่า โดยไม่ต้องเสียทั้งค่าติดและแรงไฟ.
เจ้านายบางพระองค์ที่ทรงขุ่นเคืองว่าในหลวงทรงถูกปอกลอกจนมีหนี้สินอยู่แล้ว, ก็ทรงแนะนำว่าให้ชำระโดยเปิดเผยให้เห็นผิดและชอบ, แต่เด็จพ่อ [สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ] กราบทูลว่า-พวกเหล่านี้ก็เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ๆ อย่างไรก็เคยได้ทำความดีความชอบมาแล้วบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้นควรได้รับความกรุณาให้ได้โอกาสที่จะได้แก้ตัว, เห็นว่าก่อนที่จะให้คนอื่นเข้าไปสะสางบัญชีหรือทำแทน ควรเรียกตัวมาอธิบายว่าบ้านเมืองต้องการตัดทอนรายจ่าย และขอให้เขาไปคิดจัดการตัดรายจ่ายมาให้ได้ตามที่ควร.
สมเด็จพระราชปิตุลาฯ [สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช] ทรงฉุนเด็จพ่อถึงตรัสว่า “กรมดำรงเห็นแก่หน้าบุคคล.”
เด็จพ่อทูลตอบว่า “ไม่ได้คิดเช่นนั้น, แต่เห็นว่าการเอาคนออก 1-2 คนนั้นไม่เป็นการยาก, แต่ควรให้โอกาสแก่ตัวเขาก่อน.”
ตกลงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับเด็จพ่อ, ด้วยเหตุนี้-เจ้าพระยายมราช, พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภและเจ้าพระยาธรรมาฯ จึงได้รับพระราชทานคำชี้แจงและทรงมอบอำนาจให้ไปคิดตัดทอน, เผอิญท่านทั้งสามที่กล่าวนามมาแล้วนี้กลับเข้าไปกราบทูลว่า-ตัดไม่ได้ เพราะไม่มีทางจะตัด. จึงโปรดให้เรียกคนอีกชุดหนึ่งที่รับว่าตัดได้ มีกรมพระกำแพงเพชรฯ และเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์, เข้ามาจัดการ
คนหลังนี้จึงได้เป็นเสนาบดีกระทรวงวังต่อมา
ที่ทำได้สำเร็จก็เพราะเจ้าพระยาวรพงศ์ฯ เป็นคนโผงเผงไม่ค่อยเกรงใจใคร, น่าประหลาดแต่ว่าทวดผู้หญิงของเจ้าพระยาวรพงศ์ฯ เป็นลูกของพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยาวรพงศ์ฯ เป็นชั่วที่ 4 โดยตรงจากพระเจ้ากรุงธนฯ, กิริยาท่าทางห้าวหาญเอะอะเป็นนักเลง, แต่เป็นคนซื่อตรง, คนที่เรียบร้อยก็ไม่ค่อยชอบเป็นธรรมดา
ต่อมาก็ถึงรายจ่ายอีกอย่างหนึ่ง คือบำนาญข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานไว้ในพระราชพินัยกรรม.
สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ [สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์] ตรัสว่า-ไม่ต้องให้, เพราะตามกฎหมายผู้ตายมีแต่หนี้, เมื่อใครจะเอาให้ได้ก็ให้ไปฟ้องศาลเถิด,
แต่ในหลวงตรัสว่า-พระองค์ท่านและพระราชินีก็ไม่มีลูก, ขอแต่มีพอใช้ไปชั่วชีวิตก็พอแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลจะขอตัดจาก 11 ล้านเป็น 6 ล้านท่านก็จะทรงยอม. ส่วนพระราชพินัยกรรมก็อยากจะรักษาคำของพระเชษฐาธิราชไว้, จะปล่อยให้ไปถึงโรงศาลให้เป็นการประจานนั้นไม่ได้. ทรงขอให้เอาเงินส่วนรายได้ของทูลกระหม่อมประชาธิปกฯ แจกไปตามคำสั่งก็แล้วกัน. ขอแต่เพียงว่าจะให้ได้ตามพระราชพินัยกรรมนั้นไม่มีเพียงพอ, ให้จ่ายไปเพียงเท่าที่เขาจะยังชีวิตอยู่ได้ เช่นคนที่ได้เดือนละ 2,000 บาท ก็จะพระราชทานได้เพียง 1,200 แทน. ทุกพระองค์เห็นชอบตามพระราชกระแส.
เขาเล่ากันว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ฉุนจนตรัสว่า “มันจะช่วยใช้หนี้กันไหมเล่า?”
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้กันเพียงผู้ที่เกี่ยวข้อง, ฉะนั้นไม่ช้าก็ได้ยินว่าพวกที่ถูกลดถูกถอนโกรธเคืองว่าทรงลบล้างพระราชพินัยกรรมกันมากมาย และพอถึงเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้ว พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) ผู้เป็นพระญาติทางพระชนนีเองเป็นผู้นำฟ้องยังศาลหลวงก่อนคน แล้วเจ้าพระยารามฯ ก็ฟ้องต่อ. ทุกคนคอยฟังว่าความจะชนะหรือแพ้, ถ้าชนะก็จะเรียกร้องให้ได้เต็มที่กันทุกคน.
มีพระยาอนิรุทธเทวา คนเดียวที่พูดว่า-ถึงจนๆ ท้องแห้งก็ไม่ฟ้อง!
เผอิญศาลตัดสินว่าในเวลาที่ทรงชี้ขาดนั้นเป็นเวลาสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่, เรื่องจึงสงบกันไป.
ในเรื่องนี้ตรงกับสุภาษิตที่ว่า-ทำคุณบูชาโทษ-โดยแท้ทีเดียว.
ในเรื่องราชสำนักนั้น ควรกล่าวได้ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างตรงข้ามหรือที่ฝรั่งเรียกว่า re-action ของรัชกาลก่อนนั่นเอง เหตุด้วยคนโดยมากเห็นอย่างเดียวกันว่าในหลวงพระองค์ก่อนทรงถูกล้อมรอบไปด้วยขุนนางที่รู้จักแต่ความรักตัว, ไม่เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงคลุกคลีอยู่กับเจ้านายพี่น้อง ซึ่งอย่างไรก็จะต้องมีส่วนได้เสียในคำว่า-จักรี-ผูกพันอยู่ด้วย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงหันไปทางเจ้าและกดข้าราชการ โดยฉเพาะในราชสำนัก เพื่อให้เห็นว่าจะเป็นอย่างไรในรัชกาลก่อนอีกไม่ได้
แต่เผอิญเจ้าในรัชกาลที่ 7 นี้, ผิดกันไกลกับเจ้าในรัชกาลที่ 5. กล่าวคือ ทั้งยศศักดิ์และการเล่าเรียนรู้เห็น. เพราะเจ้าในรัชกาลที่ 5 เป็นน้องยาเธอที่ได้ทรงร่วมทุกข์เห็นสุขมากับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง, ได้ทรงเล่าเรียนรู้เห็นมาในเมืองไทยนี้เองด้วยกัน, ครั้นถึงเวลาทำงานก็ต้องรับผิดชอบเต็มสติปัญญาต่างๆ กันตามหน้าที่, ต้องรู้จักทั้งสถานที่และน้ำใจคนมาแต่ทรงพระเยาว์, ก็ย่อมจะต้องเป็นประโยชน์ยิ่งแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอยู่เอง.
ส่วนเจ้านายใน รัชกาลที่ 7 นี้เป็นนักเรียนนอกด้วยกันโดยมาก. ที่ไม่ใช่นักเรียนนอก, ก็เป็นพวกที่ไม่มี education เลย, ความรู้ในเรื่องเมืองไทยจึงไม่มีพอที่จะมีสูงยิ่งกว่าคนสามัญ, ทั้งทางยศศักดิ์ก็เป็นเพียง cousins และหลานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ไม่เคยมีทางที่จะได้ร่วมรู้ร่วมทุกข์หรือสุขกับพระเจ้าแผ่นดินมาเลย.
ส่วนเจ้าที่ดีๆ ก็มีแต่จะหมดไปตามอายุ. แม้ที่เหลืออยู่ก็ต้องระวังรักษาผิว, เพราะ…….และ…….เป็นยักษ์ยืนรักษาประตูอยู่อย่างวัดอรุณฯ จึงไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ ฉะนั้นพวกที่ล้อมรอบในหลวงอยู่เป็นประจำวันก็คือ
- สกุลสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ทั้งหมด
- สกุลกฤดากร คือท่านอมรทัต สมุหราชองครักษ์ และท่านอิทธิ เทพสรรค์ อากิเต๊ก ม.ร.ว.สมัครสมาน ราชเลขานุการในพระองค์
- พวกกรมหมื่นอนุวัตรฯ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่ในวัง อย่างพ่อบ้านทั้งครอบครัว
- ม.จ.ถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ แพทย์ประจำพระองค์
- ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ราชเลขาธิการ
- ม.จ.ประสบศรี จิรประวัติ ราชองครักษ์
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 7 เสด็จมณฑลพายัพครั้งแรก กับการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร
- “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เกือบถูก “รื้อ” เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้ “รัชกาลที่ 7”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 23 กุมภาพันธ์ 2565