ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2527 |
---|---|
ผู้เขียน | ธรรมเกียรติ กันอริ |
เผยแพร่ |
ครูเหลี่ยม เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2422 บิดาเป็นขุนชื่อ ขุนพิมล สารไกร (ดิส) ตระกูลของครูเหลี่ยมเป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่เดิมเป็นพราหมณ์อยู่ ณ ตำบลเสาชิงช้า ขุนศรีวินข้าราชการตำแหน่งโหรประจำราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นตระกูล ดังนั้นกาลต่อมาคนในสกุลนี้จึงได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 ว่า วินทุพราหมณกุล
การศึกษาชั้นต้นของครูเหลี่ยม เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2431 ที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม หลังจากนั้นได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โดยลำดับ ท่านได้เรียนภาษาไทยและอังกฤษควบกันมาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ครั้นเมื่อเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังก็ได้เลือกเรียนแผนกภาษาอังกฤษ อันมีครูฝรั่งสอน พอล่วงมาถึง พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้น ครูเหลี่ยมจัดได้ว่าเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนดังกล่าว
เหตุที่ต้องใช้คำว่าครูเหลี่ยม “จัดได้ว่าเป็นนักเรียนรุ่นแรก” ก็เพราะท่านจะได้เข้าเรียนมาแต่แรกเลยก็หาไม่ นักเรียนรุ่นแรกจริง ๆ มีเพียง 3 นายคือ นายนกยูง (ต่อมาเป็นพระยาสุรินทราชา บิดาของหม่อมกอบแก้ว อาภากร และ ดร.มยูร วิเศษกุล) นายบุญรอด (ต่อมาเป็นพระยาภิรมย์ภักดี ผู้เป็นต้นกำเนิดเบียร์ไทยตราสิงห์) และนายสุ่ม แต่เมื่อนายบุญรอดและนายสุ่ม สองในสามของนักเรียนครูรุ่นแรก มิได้มีจิตพิสมัยต่อการเรียนวิชาชีพครู พากันลาออก โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์จึงต้องเปิดรับสมัครเข้าเรียนในชั้นเดียวกับนายนกยูงอีกครั้ง ชั้นนี้จึงมีนายสนั่น (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) นายสด (หลวงสังขวิทยวิสุทธิ์) นายเหม (พระยาโอวาทวรกิจ) และนายเหลี่ยม (หลวงวิลาศปริวัตร)
นักเรียนครูรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2438 ครูเหลี่ยมจึงรับราชการเป็นครูภาษาอังกฤษของโรงเรียนราชกุมาร อันมีศิษยานุศิษย์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจนถึงเจ้าฟ้า โดยที่ศิษย์กับครูมีวัยไล่เลี่ยกัน ครูเหลี่ยมจึงสนิทสนมกับเจ้านายหลายพระองค์มาแต่นั้น ตกปลายปีเดียวกันนี้ ครูเหลี่ยมได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงธรรมการให้ไปศึกษาวิชาครู ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับคนอื่น ๆ ได้แก่ นายสนั่น (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) นายนกยูง (พระยาสุรินทราชา) นายโห้ (พระยาเทพศาสตร์สถิตย์) นายชิดหรือเฉลิม (เจ้าพระยาพลเทพ) และนายทศกับนายศิริ แพ่งสภา แต่สองนายที่ออกนามข้างหลังนี้กลับมารับราชการทางตุลาการ
ครูเหลี่ยมได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเบอโรโรด ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนที่เรียนดีเยี่ยมทั้งวิชาคำนวณและภาษา ตลอดจนเป็นนักกีฬาที่สามารถ เป็นที่ยอมรับนับถือของเพื่อนและครูบาอาจารย์ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ครูเหลี่ยมได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าพร้อมกับนักเรียนไทยอื่น ๆ ณ พระราชวังบัคกิงแฮม
ระหว่างที่เรียนที่อังกฤษนั้น ครูเหลี่ยมเป็นคนที่มุมานะมากจนสุขภาพจิตเสื่อมโทรม และคืนวันหนึ่งระหว่างดูตำราอยู่จนดึก เพื่อน ๆ ที่กลับมาจากเที่ยวได้แอบเข้ามาโยนผ้าคลุมโป๊ะไฟฟ้า จึงทำให้ครูเหลี่ยมตกใจสุดขีดและสุขภาพจิตเริ่มเสียมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ครูเหลี่ยมได้สำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 18 ปี ในปี พ.ศ. 2439 นั้นเอง จากนั้นจึงเดินทางกลับไทยเป็นนักเรียนนอกที่หนุ่มฟ้อมาก กลับมาแล้วยังคงเป็นข้าราชการกระทรวงธรรมการต่อไป โดยสอนที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ระหว่าง พ.ศ. 2440-2441 พ้นจากนี้จึงลาออกราชการเพราะป่วยด้วยโรครากสาดน้อย เมื่อหายป่วยแล้วมิได้รับราชการอีก ได้ก้าวมาสู่วงการประพันธ์และงานศิลปะทั้งถ่ายรูปและการดนตรี ขณะเดียวกันก็มิได้ทิ้งงานวิชาการ จึงได้รับสอนพิเศษตามสถาบันต่าง ๆ เช่น สอนวิชาภาษาอังกฤษและคำนวณที่โรงเรียนนายเรือ เป็นต้น
ครั้นล่วงมาถึง พ.ศ. 2460 ครูเหลี่ยมจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งตามคำชักชวนของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ อธิบดีกรมสาธารณสุข (ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย) มีตำแหน่งเป็นผู้แปลประจำกรมและเขียนคำโฆษณาให้การศึกษา เรื่องสุขศึกษาแก่ประชาชน ระยะนี้เอง ครูเหลี่ยมได้พบรักและสมรสโดยมีชีวิตครอบครัวเป็นสุขสืบมา ชีวิตทางราชการของครูเหลี่ยม ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์โท มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิลาศปริวัตร รับราชการอยู่ 13 ปี จึงลาออกรับบำนาญเมื่ออายุ 51 ปี
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นักเขียนนักค้นคว้ารุ่นผู้ใหญ่ ได้เล่าความทรงจำเกี่ยวกับครูเหลี่ยมไว้เป็นบางตอน (จาก 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า) ว่า “ท่านผู้นี้แต่งตัวนุ่งกางเกงสักหลาดลาย ๆ รัดหัวเข่า ถุงเท้าสปอร์ตรองเท้าผ้าใบ ใส่หมวกแก๊ป มีกล้องถ่ายรูปคล้องคอ ขี่จักรยานมาในชุดนี้เสมอ”
“ท่านผู้นี้มาทีไรเป็นเฮฮากันเสมอ หลวง (เกลี้ยง) และอาจารย์ที่กลับจากนอกบอกข้าพเจ้าว่า ถ้าจะให้ครูเหลี่ยมหยุดนิ่งอยู่กับที่ละก็ เขียนโจทย์เลขอะไรยาก ๆ (เป็นวิชาคำนวณขั้นสูงสุด) ไปปิดไว้ที่เสาให้ครูเหลี่ยมเห็น ท่านต้องไปอ่านโจทย์แล้วคิดคำนวณอยู่ในใจเป็นเวลานานร่วมชั่วโมงสองชั่วโมงจนได้คำตอบแล้วจึงไป อาจารย์ที่นั่งคุยกันเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ครูเหลี่ยมเมื่ออยู่อังกฤษนั้นเรียนเก่ง มีหัวทางคำนวณจนฟุ้งซ่าน จนถึงฉีกหนังสือพวกคณิตศาสตร์ต่าง ๆ และเขียนโจทย์บ้าง ปิดไว้ที่ฝาผนังรอบห้อง อาจารย์ฝรั่งมาเห็นเข้าก็ตกลงกันว่าไม่ควรให้เรียนต่อไป เลยให้กลับเมืองไทย
ข้าพเจ้าได้เห็นครูเหลี่ยมและได้ฟังเรื่องครูเหลี่ยมเป็นครั้งแรกที่สามัคยาจารย์สมาคม ดูเป็นคนเรียบร้อยไม่เห็นมีอะไรผิดปกติเลย ต่อมาได้เห็นครูเหลี่ยมแต่งตัวขี่จักรยานแบบเดียวกันนั้นตามถนนหลายครั้ง ถ้าจะว่าแปลกก็แปลก เพราะไม่มีใครแต่งตัวอย่างนั้นเลย”
บางตอนจาก 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า ได้กล่าวถึงที่อยู่และงานของครูเหลี่ยมอีกว่า
“จำได้คลับคล้ายคลับตลาว่าที่บ้านท่านดูเหมือนจะอยู่แถวโบสถ์พราหมณ์จัดเป็นร้านถ่ายรูป และข้าพเจ้าก็เคยไปถ่ายรูปด้วย นอกจากถ่ายรูป ท่านยังแต่งหนังสือให้ชื่อ กล่อมครรภ์ พนันชม พรหมจารีย์ ฯลฯ และแปลเรื่อง ชี ให้ชื่อว่า สาวสองพันปี ซึ่งเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น”
ขุนวิจิตรมาตรากล่าวในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ถึงความสัมพันธ์ของท่านทั้งสองว่า
“ครั้งท้ายที่สุด ท่านไปช่วยศรีกรุงแปลตำราใหม่เกี่ยวกับหนังพูดตอนนี้ได้พบและคุยกับข้าพเจ้าทุกวัน คราวหนึ่งท่านเล่าถึงที่ไปอยู่อังกฤษ พวกนักเรียนฝรั่งพากันอิจฉาท่านว่า รูปร่างหน้าตาเหมือนเทวดากรีก ท่านเลยไม่ถูกกับพวกฝรั่ง และดูเหมือนว่าถูกแกล้งต่าง ๆ ความจริงเท่าที่ข้าพเจ้าสังเกตดู ถึงท่านจะมีอายุแล้วหน้าตาผมเผ้าของท่านก็งามไปข้างฝรั่ง อย่างที่ว่าเหมือนเทวดากรีกจริง ๆ
ครูเหลี่ยมมีอารมณ์สนุกและชอบทำอะไรขัน ๆ เช่น ร้องเพลงฝรั่งแบบโอเปอราให้ข้าพเจ้าฟัง มีออกท่าทางขึงขังอย่างฝรั่งด้วย หนังสือที่แต่งบางเล่มก็เป็นเรื่องตลกขัน ๆ เช่น เรื่องศรีทนนชัย มีเป็ดขันลิงไข่ หนังสือพวกกล่อมครรภ์ ออกจะเป็นหนังสือโป๊ เข้าใจว่าเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า สยิว ส่วนเรื่องสาวสองพันปี เป็นเรื่องแปลสำนวนเรียบ ๆ ตามธรรมดา”
ถ้าจะกล่าวว่าครูเหลี่ยมเป็นศิลปินผู้ทรงศิลปวิทยารอบด้านก็คงกล่าวได้ไม่ผิดนัก ความรอบรู้เช่นนี้มีหลักฐานอย่างหนึ่งนอกเหนือจากบรรดาผลงานทั้งปวงแล้ว นั่นคือ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้เป็นหลานได้เล่าไว้ในหนังสือ วิลาศปริวัตรานุสรณ์ ตอนหนึ่งว่า
“คุณตาเหลี่ยมเคยเล่าว่า คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เคยทรงเขียนภาพล้อรูปบรรณาธิการสำราญวิทยาผ่าท้อง มีหนังสือตำรับตำราไหลออกมาไม่จบสิ้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านทรงไว้ที่ใด และเมื่อใดแน่”
นิมิตร นามชัย เล่าถึงความสามารถนอกเหนือจากงานประพันธ์ของครูเหลี่ยมใน โลกนักเขียน ฉบับแนะนำตัว เรื่อง “ครูเหลี่ยม ผู้เขียนความไม่พยาบาทนวนิยายล้อเลียนเล่มแรกของไทย” ว่า
“ครูเหลี่ยมยังมีความถนัดในด้านดนตรีอย่างหาตัวจับยาก สามารถเล่นเครื่องสายได้ทุกชิ้น และสำหรับเครื่องดนตรีฝรั่งก็ช่ำของในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือการสีไวโอลินของครูเหลี่ยมนั้นไม่เลวเลย แม้จะอยู่ในวัยที่ชราแล้วก็ยังไม่ทิ้งเรื่องดนตรี เมื่อใดที่ไม่มีเครื่องดนตรีอยู่กับมือก็ร้องเพลงเล่นเป็นที่เบิกบานใจ
ทุก ๆ คนที่มีโอกาสได้พบและรู้จักครูเหลี่ยม จักต้องยอมรับว่านักประพันธ์เอกผู้นี้ มีความรู้และความรอบรู้อย่างเยี่ยมยอด และเป็นความรู้ที่ไม่มีวันจางไปจากความทรงจำเพราะได้รับการฝึกฝนอยู่เสมอ แม้กระทั่งเมื่อมีอายุเข้าวัย 80 แล้ว ครูเหลี่ยมก็ยังอ่านและเขียนหนังสือทุกวัน ซึ่งมักจะทำในตอนกลางคืนล่วงไปจนกระทั่งรุ่งสาง วิชาการที่ท่านสนใจและช่ำของเป็นที่สุด คือวิชาคำนวณและภาษา ไม่ว่ายากง่ายอย่างไร เป็นรู้หมด สำหรับคำศัพท์ภาษาอังกฤษนั้น ความรู้ของครูเหลี่ยมลึกซึ้งลงไปถึงรากเหง้า”
นักเขียนนักอ่านรุ่นเก่า นอกจากจะรู้จักครูเหลี่ยมในฐานะผู้ประพันธ์นวนิยายไทยแท้เรื่องแรกแล้ว ยังรู้กันต่อไปว่าท่านผู้นี้เป็นนักเขียนเรื่องโป๊รุ่นแรกด้วยเช่นกัน แต่อีกเหลี่ยมมุมหนึ่งของประวัติชีวิตท่านผู้นี้ แสดงให้เห็นว่าท่านมิได้ตกอยู่ในปลักโลกีย์วิสัยและหมกมุ่นในบ่วงกามดังที่แสดงไว้ในวรรณกรรมสยิวนั้นเลย และนอกจากรู้วิชาทางโลกแล้ว ท่านยังศรัทธาในพระพุทธศาสนาศึกษาบวชเรียนและเขียนอ่านด้านพุทธธรรมด้วย ดังจะเห็นว่า ท่านได้อุปสมบท ณ วัด มหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ. 2466 และไปจำพรรษายังวัดตรังคภูมิพุทธาวาส อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีฉายาระหว่างบวชว่า “พระติกโกโน” …
อย่างไรก็ตาม แม้จะมิได้มีใครถามว่าท่านใช้ธรรมะในชีวิตประจำวันอย่างไร ครูเหลี่ยมก็ได้ให้ชีวิตจากการประพฤติปฏิบัติเป็นการตอบปัญหาโดยหมดจดงดงามว่า ท่านครองตนแม้จะในฐานะผู้ครองเรือนก็อุดมด้วยความสันโดษ, ปราศจากความต้องการทรัพย์สิน ชื่อเสียง อำนาจ เป็น อยู่ และตายโดยชอบ ท่านจึงตายอย่างไม่ตายสำหรับผู้ที่เห็นหรือรับรู้จรรยาชีวิตของท่าน
แต่สำหรับคนที่ไกลออกมาและอยู่ในชั้นหลัง ๆ หากเขาได้ศึกษาประวัติการเริ่มต้นของนวนิยายไทย เขาย่อมจะรู้ได้เองว่า ชีวิตของครูเหลี่ยมในทางวรรณกรรม ได้อยู่ในเกราะกำบังของกาลเวลาแล้วโดยมั่นคง…ครูเหลี่ยมได้ใช้นามปากกาต่าง ๆ กันถึง 17 นาม…คือ ก.ก., เกลือแก้ว, แก้วกุ้ง, ขุนทอง, นกกระทุง, นกน้อย, นกโนรี, นายถลกคนที่ 2, นายสำราญ, ปากกาแก้ว, แมลงมุม, แมวยุโรป, ศรีทนนไชย, สุริวงษ์ส่องฟ้า, หงษ์ทอง, หรั่งเจี๊ยบ และเอดิเตอร์
เหตุที่ใช้นามปากกาของท่านมากถึงเพียงนี้เพราะท่านเป็นนักเขียนประเภทคนเดียวแต่รอบด้าน และเมื่อออกถลกวิทยา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2443 นั้น (นิตยสารรายเดือนนี้ออกระหว่าง พ.ศ. 2443-2448) ท่านเขียนคนเดียวเช่นกับเมื่อเป็นบรรณาธิการสำราญวิทยา
หนังสือถลกวิทยา เป็นนิตยสารที่มีความหมายต่อประวัติวรรณกรรมไทยอย่างน้อยก็สองประการ คือ ประการแรก เป็นแหล่งกำเนิดนวนิยายไทยเรื่องแรก คือ ความไม่พยาบาท ประการที่สอง เป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์นวนิยายแปลประเภทลึกลับผจญภัยเรื่องแรก คือ ลงงานแปลเรื่องของเซอร์ เฮนรี่ ไรนเดอร์ แฮก การ์ด ดังที่นกโนรี ผู้แปลให้ชื่อพากย์ไทยว่า สาวสองพันปี
การเกิดขึ้นของนวนิยายไทยเรื่องแรก คือ ความไม่พยาบาท สืบเนื่องจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นักเรียนร่วมรุ่นของครูเหลี่ยม ได้ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ ลักวิทยา ขึ้นมา เมื่อ พ.ศ. 2443 อันเป็นปีเดียวกับที่ครูเหลี่ยมออกถลกวิทยา และในลักวิทยานี้เอง พระยาสุรินทราชา (นายนกยูง วิเศษกุล) เพื่อนร่วมรุ่นของครูเหลี่ยมเช่นกัน ได้แปลนวนิยายอังกฤษเรื่อง วันเดตตา ของมารี คอเร็ลลี โดยใช้นามปากกาในการแปลว่า แม่วัน
เนื้อหาของเรื่องความพยาบาทโดยสรุป คือ เป็นเรื่องรักสามเส้าของชายสองหญิงหนึ่ง โดยที่ชายทั้งสองเป็นเพื่อนรักกันมาก่อน คือ ฟาบิโอ โรมานี่ กับกิโด เฟอร์รารี ต่อมาฟาบิโอได้แต่งงานกับนินนาหญิงสาวรูปงามจนมีบุตรสาวด้วยกัน หากภายหลังเกิดอุบัติเหตุที่ฟาบิโอหายไปแล้วมีคนเข้าใจว่าตาย กระทั่งฟาบิโอมารู้ภายหลังว่านินนาภรรยาของตนมีกิโดเป็นชายชู้มาก่อนที่ตนจะหายไปอีก จึงเกิดความอาฆาตแค้นประเภท “ลูกผู้ชายนั้นฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้” โดยเหตุนี้เลยมีใจพยาบาท และทำทุกอย่างจนบรรลุความพยาบาทนั้น
และนี่คือที่มาของความไม่พยาบาท ซึ่งครูเหลี่ยมแต่งขึ้นในทางตรงกันข้าม มีฉาก, เรื่องราวและชีวิตจิตใจของคนไทย จึงเป็นนวนิยายพันธุ์ไทยมิใช่พันทางเรื่องแรกแต่นั้นมา ทั้งนี้มีคำโฆษณาจากใบแทรกเกี่ยวกับเรื่องนั้นเป็นอักขระเดิม ดังนี้
“เรื่องความไม่พยาบาท สำหรับจับใจผู้อ่านไทย สำหรับเปนตัวอย่างผู้แต่งไทย เปนเรื่องชั่ว ๆ ดี ๆ ยวนใจจริง เชื่อได้ ไม่ต้องพึ่งฝีปากและความคิดฝรั่ง เพื่อความสนุกสนานไพเราะ เปนสมบัติอันดีในความ, ในสำนวน, ในน่ากระดาษ, 730 น่า, มีรูปถ่ายและหมายเหตุ ปกแข็งงดงาม เรื่องยาวกว่าเรื่องความพยาบาท ราคาเท่ากัน ทั้งแบ่งเปน 2 เล่ม”
บุญช่วย สมพงษ์ เขียนเล่าเกี่ยวกับหนังสือความไม่พยาบาทในหนังสือวิลาศปริวัตรานุสรณ์ว่า
“เป็นหนังสือที่ท่านประพันธ์ขึ้นเอง ไม่ได้แปลหรืออาศัยเค้าโครงจากนวนิยายต่างประเทศ เค้าของเรื่องเป็นไทยแท้ นักอ่านสมัยนั้นนิยมกันมาก กล่าวกันว่าเรื่องความไม่พยาบาทนี้ ท่านแต่งขึ้นเพื่อ Match กับความพยาบาท ของแม่วัน เพราะท่านเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นเดียวกัน
ในเรื่องความพยาบาทนั้นเค้าโครงตลอดเรื่อง เป็นเรื่องของความพยาบาทและแก้แค้นกันอย่างเผ็ดร้อน หรืออีกนัยหนึ่ง เวรระงับด้วยการจองเวร เป็นอุดมคติอันรุนแรงของชาวอิตาเลียนและชาวเกาะดอร์ริกันในยุคนั้น แต่เรื่องความไม่พยาบาทนั้น เค้าโครงตลอดเรื่องยึดหลักพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง คือ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร กล่าวคือ ในท้องเรื่องเมียมีชู้ สามีซึ่งเป็นพลเอกใช้สรรพนามว่า ‘ข้าพเจ้า’ ในท้องเรื่อง ไม่จองเวรตอบ ผลที่สุดก็ชนะใจชายชู้และภรรยาของตนเอง และให้ประสพสันติสุขในที่สุด”
ครูเหลี่ยมหรือหลวงวิลาศปริวัตร ได้เปิดฉากนวนิยายไทยเรื่องแรกด้วยความไม่พยาบาทให้ไว้เป็นมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่าในทางความคิดริเริ่ม เพื่อให้แบบฉบับอัน “เชื่อได้ ไม่ต้องพึ่งฝีปากและความคิดฝรั่ง เพื่อความสนุกสนานไพเราะ เปนสมบัติอันดีในความ ในสำนวน”
นักเขียนรุ่นหลังโดยเฉพาะผู้ประพันธ์นวนิยายไทยปัจจุบันควรได้ศึกษาแบบอย่างเจตนารมณ์เช่นนี้ มิฉะนั้นแล้ว งานหลายชิ้นของนักเขียนนวนิยายไทยบางคนหากแปลเป็นฝรั่งบ้าง พวกเราอาจได้อายที่ฝรั่งจับได้ว่าลอกเลียนเขาจากเรื่องใด ๆ ทั้งที่ไม่เคยยอมบอกให้คนไทยรู้มาก่อน
เหลี่ยมจากวรรณกรรมจำรัสของผู้สร้างวรรณกรรมไทยเมื่อเกือบร่วมศตวรรษที่ผ่านมานี้ เท่าที่แลเห็นเหลี่ยมบางเหลี่ยมแม้ว่าจะดูงามตาชื่นใจนัก กระนั้นก็ยังไม่เป็นการที่น่าเพียงพอหรือพึงยินดี จึงตั้งใจและหวังว่า ท่านผู้รู้ทั้งในบัดนี้และบัดหน้าที่มีอินทรีย์อันแก่กล้ากว่าผู้เขียนซึ่งกระทำได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังที่ปรากฏแล้วนี้ จักได้ช่วยกันศึกษา เจียรไนงานของครูเหลี่ยมและนักเขียนท่านอื่น ที่ร่วมยุคและสมัยเดียวกัน
ให้เป็นที่วิลาสอันงามและปริวัตรผันแปรมีพัฒนาการไปมิได้สิ้นสุด
อ่านเพิ่มเติม :
- คำขวัญเพื่อสุขอนามัย เมื่อเกิดโรคระบาด 100 กว่าปีก่อน ฝีมือ “ครูเหลี่ยม”
- พระยาโอวาทวรกิจ ครูรุ่นแรกของสยาม จากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และนักโต้วาทีไร้เทียมทาน
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ครูเหลี่ยม เปิดฉากนวนิยายเรื่องแรกด้วย ‘ความไม่พยาบาท'” เขียนโดย ธรรมเกียรติ กันอริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2527
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565