คำขวัญเพื่อสุขอนามัย เมื่อเกิดโรคระบาด 100 กว่าปีก่อน ฝีมือ “ครูเหลี่ยม”

ครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล

“อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน น้ำคลองต้องคั้น อาหารหวานคาว เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อนๆ อาหารสำส่อน จำไว้ใคร่สอน กินไม่ดีเลย”

คือ สโลแกนเพื่อสุขภาพ อายุ 100 กว่าปี ที่แต่งกันสดๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ยกทีมไปอำนวยการดูแลการระบาดของโรคอหิวาต์ ที่จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่งคือ ครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล หรือ หลวงวิลาศปริวัตร (ปี 2422-2506) ชาวกรุงเทพฯ ครูเหลี่ยมจบการศึกษาแผนกภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้นเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครู หลังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรครู ปี 2438 ถูกส่งตัวมาเป็นครูที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง เวลานั้นมีพระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายหลายพระองค์เป็นศิษย์ เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6), สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ฯลฯ

ครูเหลี่ยมสอนอยู่ 1 ปี ก็ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงธรรมการให้ไปศึกษาวิชาครู ณ ประเทศอังกฤษ ปี 2440 ครูเหลี่ยมกลับจากต่างประเทศ และเข้ารับราชการเป็นครูแปลตำราคำนวณ ประจำกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ต่อมาปี 2441 เป็นครูโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และครูชั้น 7 โรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่ออยู่วัดมหาธาตุ แต่ต้องลาออกจากราชการเพื่อไปรักษาตัว เพราะป่วยหนักเป็นโรคไข้รากสาดน้อย

ปี 2459 จังหวัดนครราชสีมาเกิดอหิวาตกโรคระบาด กรมสาธารณสุข สังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงยกกองไปป้องกันกำจัดโรค การระบาดครั้งนี้เป็นต้นเค้าการระบาดใหญ่ของอหิวาตกโรคในประเทศ ครั้งที่ 1 (ปี 2461-63) ที่การระบาดเริ่มจากพม่ามาที่จังหวัดตากสู่จังหวัดใกล้เคียงจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ แล้วลงมาทางใต้ถึงจังหวัดปัตตานี ทางอีสานถึงอุบลราชธานี มีผู้ป่วย 15,413, ตาย 13,518 คน อัตราตายร้อยละ 71.68

ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ อธิบดี ทรงชวนครูเหลี่ยมให้ร่วมเดินทางไปด้วย ระหว่างปฎิบัติงานปราบอหิวาตกโรคที่จังหวัดนครราชสีมา ครูเหลี่ยมแต่งกลอนขึ้นบทหนึ่งว่า

“อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน น้ำคลองต้องคั้น อาหารหวานคาว เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อนๆ อาหารสำส่อน จำไว้ใคร่สอน กินไม่ดีเลย”

เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์กับประชาชนในดูแลเรื่องสุขอนามัย ซึ่งเป็นที่โปรดของท่านอธิบดี (หลังจากกลับจากจังหวัดนาคาราชสีมา ทรงชักชวนให้ครูเหลี่ยมเข้ารับราชการ ในตำแหน่งผู้แปลประจำกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย) และเป็นที่นิมแพร่หลายของคนทั่วไปมา

เมื่อเทียบกับสโลแกน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ที่ฮิตติดปากในปัจจุบัน ก็นับว่าสาระไม่ทิ้งห่างกันเท่าใด ต่างกันแค่รูปแบบ และเนื้อหาตามสถานการณ์แวดล้อมเท่านั้น

 


ข้อมูลจาก

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิลาศปริวัติ (ครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) ณ เมรุวัดมกุฏกษัติยาราม วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2509

ประเมิน จินทวิมล.”ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”, อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2563