พระยาโอวาทวรกิจ ครูรุ่นแรกของสยาม จากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และนักโต้วาทีไร้เทียมทาน

พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน)

ในตอนบ่ายของวันอาทิตย์วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478 คุณหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ทำหน้าที่เป็นประธานในการแข่งขันโต้วาทีซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกตามนโยบายส่งเสริมศิลปะทางการโต้วาทีและการกล่าวสุนทรพจน์ ภายหลังการรื้อฟื้นตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีหลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่งอธิบดีตั้งแต่ พ.ศ. 2477. [1]

หัวข้อของการโต้วาทีครั้งแรกนั้นคือเรื่อง “ร้อนดีกว่าเย็น” โดยมีเจ้าคุณโอวาทวรกิจ เป็นผู้เสนอ และมีรองอำมาตย์โทวิเชียร ฉายจรรยา เป็นฝ่ายค้าน.

สำหรับผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอนั้นได้แก่ นายกิมฮวย มลิทอง และนายสิน เฉลิมเผ่า, ขณะที่หลวงวิลาศปริวัตร (“ครูเหลี่ยม”) และนายมงคล รัตนวิจิตร (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร) เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน.

ก่อนหน้านั้น ได้มี “แจ้งความกรมศิลปากร” โดยหลวงวิจิตรวาทการ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 เรื่อง “ให้รางวัลการแข่งขันโต้วาที”. แจ้งความฉบับดังกล่าวนี้ได้มีอารัมภบทชี้แจงความมุ่งหมายของการจัดโต้วาทีและการให้รางวัล ความว่า

“ด้วยตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งกองแผนกในกรมศิลปากร บัญญัติให้มีแผนกวาทีขึ้นในกรมนี้ เพื่อทำหน้าที่บำรุงศิลปทางวาทีสุนทรพจน์ อนึ่ง โดยที่เห็นว่าประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้ว ย่อมจัดการบำรุงศิลปประเภทนี้คู่กันไปกับศิลปทางวรรณคดี เพราะศิลปทั้งสองนี้เป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน ประโยชน์อันจะพึงเกิดแก่ประชาชนเนื่องจากการบำรุงศิลปประเภทนี้นั้น นอกจากจะได้ฟังคารมโวหารให้ได้รับความรู้และปลูกปฏิภาณขึ้นแล้ว ยังเป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนหยั่งทราบว่า ผู้ใดมีฝีปากดีควรเลือกเข้าเป็นผู้แทนรักษาผลประโยชน์ของเขาในสภาหรือในที่ประชุมต่าง ๆ ทนายความคนใดมีโวหารและปฏิภาณ เฉียบแหลมที่ควรไว้วางใจให้ว่าคดี นักประพันธ์คนใดมีสำนวนดีแม้ในเชิงพูด ฯลฯ ส่วนผู้ที่เข้าแข่งขันนั้น แม้จะมิได้ชะนะจนถึงได้รับรางวัล ก็ยังได้มีโอกาสแสดงคุณสมบัติของตนให้ปรากฏ นับเป็นบันไดขั้นต้นที่จะก้าวขึ้นสู่ความมีชื่อเสียงในอนาคต

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ [ขณะนั้นคือคุณพระสารสาสน์ประพันธ์] จึงอนุมัติให้กรมศิลปากรจัดการแข่งขันโต้วาที โดยให้มีรางวัล 2 รางวัล รางวัลหนึ่งเป็นจํานวน 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) อีกรางวัลหนึ่งเป็นจำนวน 200 บาท (สองร้อยบาทถ้วน)” (เมื่อ พ.ศ. 2478 เงินจํานวน 1,500 บาท ซื้อรถยนต์ใหม่เอี่ยมได้คันหนึ่ง).

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าแข่งขันนั้น ไม่จำกัดเพศและวัย, พระภิกษุก็เข้าแข่งขันได้หากได้รับอนุญาต. บุคคลที่ไม่มีสิทธิมีประเภทเดียวคือราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งขณะนั้นคุณหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาธิการอยู่ด้วย.

ในแจ้งความฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า “การวินิจฉัยแพ้ชนะ จะได้ถือเอามติข้างมากของผู้เข้าฟังเป็นคะแนนวินิจฉัย”

อธิบดีกรมศิลปากรได้กล่าวแก่ผู้ที่เข้าฟังการโต้วาทีจำนวนประมาณ 400 คนว่ามีความยินดีที่การโต้วาทีซึ่งจัดขึ้นเป็นที่สนใจของมหาชนทั่วไป แต่เดิมก็กระทำกันเล่น ๆ แต่บัดนี้รัฐบาลได้เห็นความจำเป็นที่จะจัดให้เป็นการเป็นงานจริงจัง และได้ขออภัยที่เครื่องกระจายเสียงติดขัดในคราวนี้ ทำให้ไม่สะดวกสำหรับคนฟัง. คุณหลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวแนะนำผู้เข้าแข่งขันพอเป็นสังเขปว่า

“ผู้เสนอคือพระยาโอวาทฯ ซึ่งเป็นผู้ได้ปรากฏเกียรติในการโต้วาทีมาแล้ว (จากการโต้วาทีซึ่งมิได้จัดเป็นทางการที่ผ่าน ๆ มา) ฝ่ายค้านคือรองอำมาตย์โท วิเชียร ฉายจรรยา ท่านผู้นี้ถึงแม้จะยังไม่เคยปรากฏชื่อเสียงในการโต้วาที ก็เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่าในการที่หาญต่อสู้กับเจ้าคุณโอวาทฯ นั้น จะต้องมีความสามารถอยู่เป็นแน่นอน”.

ต่อจากนั้นการโต้วาทีก็เริ่มขึ้น โดยเจ้าคุณโอวาทฯ กล่าวว่าท่านมาวันนั้นตามคำเชิญของกรมศิลปากร ซึ่งการโต้วาทีได้เคยมีกันมาแล้ว มิใช่เพิ่งจะมีในครั้งนี้ แต่ว่าเพิ่งจะจัดเป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ ในครั้งนี้เท่านั้น

“การที่ผู้จะสมัครโต้วาทีตามที่กรมศิลปากรเชื้อเชิญนั้น มีผู้คิดกันไปหลายแง่หลายทาง คิดกันว่าถ้าไปโต้กันเกิดแพ้ขึ้นจะเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะหาคนโต้ยาก. แต่ส่วนข้าพเจ้าไม่เป็นไร ถึงจะแพ้จะชนะก็เหมือนควายแก่” และกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าได้เจตนาไว้แล้วว่าถ้าได้รางวัลด้วยความเหน็ดเหนื่อยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำการกุศล ไม่รับเป็นส่วนบุคคล” [เจ้าคุณโอวาทฯ ได้มอบเงินรางวัลที่ท่านได้รับทั้งหมดให้แก่กรมอากาศยาน หรือกองทัพอากาศในปัจจุบัน].

ในการเสนอญัตติ “ร้อนดีกว่าเย็น” ท่านเจ้าคุณฯ ได้ยกเหตุผลที่น่าฟังหลายประการมาสนับสนุน “ความร้อน” อาทิ “วิทยาศาสตร์อาศัยความร้อนทั้งนั้น ความร้อนทำให้เป็นความสำเร็จดีกว่าความเย็น”, “เราทำการใด ๆ ถ้าเราไม่มีความร้อนใจ ทำใจเย็นเฉื่อยชาไปแล้ว งานนั้นก็ต้องถูกตำหนิติเตียน, สมมุติง่าย ๆ ถ้าเราจะชอบผู้หญิงคนใดเข้า ถ้าเราไม่ร้อนใจกระตือรือร้น เขาก็แย่งเอาไปกินเสีย”, “มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน ท่านทั้งหลายที่มาฟัง [โต้วาที] จะชอบดูช้างมากหรือสาวมาก” และ “มารดาเราเมื่อเวลาคลอดเราออกมาต้องใช้ความร้อนอยู่ไฟชุดให้ร่างกายบริบูรณ์ แล้วเมื่อท่านแก่เฒ่าตายไปแล้ว เราจะเผาท่าน ต้องเอาไฟเผา” ฯลฯ

แล้วท่านเจ้าคุณฯ ก็กล่าวปิดท้ายอย่างคมคายว่า “ผู้ที่เป็นผู้บริหารที่เป็นใหญ่เป็นโตของเราไม่เป็นอันกินอันนอนทีเดียว เราจะเห็นเวลาท่านทำงาน 3 โมงเช้าเหล่านี้ ไปเลิกเอา 23 นาฬิกาก็มี หรือ 24 นาฬิกาก็มี ธุระของท่านมันยุ่งไปหมดด้วยเรื่องอะไร ด้วยเรื่องความร้อนใจอยากจะให้พวกเราหรือประเทศเราเจริญ รีบทำการเหล่านั้นให้ทันสมัย”.

รองอำมาตย์โทวิเชียร ฉายจรรยา ผู้นำฝ่ายค้าน ก็ได้โต้คารมกับเจ้าคุณโอวาทฯ อย่างสูสีทีเดียว โดยยกเอาคุณค่าของความเยือกเย็นมาเป็นเหตุผลในการค้าน อาทิ “หลวงวิเชียร [แพทยาคม-จิตแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปากคลองสาน] ปกครองคนในสถานของท่าน ซึ่งเป็นโรคเกิดด้วยความร้อน” “ประเทศชาติเดี๋ยวนี้มีความร้อน ก็ต้องหาหนทางปรองดองสามัคคีซึ่งกันและกัน”, “เจ้าคุณนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศของเรา [พระยาพหลพลพยุหเสนา] ท่านผู้นี้ไม่เคยเสียเลย ท่านจะทำอะไร ท่านไม่รีบทำ ท่านต้องได้รับคำรับรองจากสภาเสียก่อนแล้วจึงจะทำ”, “หลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นเครื่องบำบัดความทุกข์หมายความสุข คือความเย็น ท่านคงจะไม่ได้ยินว่าหนีร้อนมาพึ่งร้อน มีอยู่อย่างเดียวก็คงได้ยินว่า หนีร้อนไปพึ่งเย็น”.

ข้อความที่รองอำมาตย์โทวิเชียรได้ทิ้งท้ายเอาไว้ ก็เป็นตัวอย่างที่มีน้ำหนักเช่นกัน โดยกล่าวว่า “หลวงประดิษฐ์ฯ [มนูธรรม] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้ทำราชการงานเมืองให้ท่านมีความสุข ให้เทียมทันนานาประเทศ ก็ทำด้วยความเย็นสุขุม. ข้าพเจ้าขอกล่าวชมเชยท่าน เพราะท่านเองเป็นผู้นำประเทศโดยมีความใจเย็น เพื่อจะยังประเทศให้ถึงซึ่งความสุขความเจริญในภายหน้า”. แต่ความข้อนี้ได้ถูกนายกิมฮวย มลิทอง ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอแย้งทันทีว่าที่ฝ่ายค้านกล่าวว่าท่านรัฐมนตรีทำการด้วยความเยือกเย็นสุขุมนั้น “ข้าพเจ้าขอค้านเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากมีแต่ความเยือกเย็นใจแล้ว บัดนี้เราคงไม่ได้การปกครองแบบอารยประเทศเป็นแน่ นี่เพราะท่านทั้งหลาย [คณะราษฎร] เป็นผู้ก่อกำเนิดการปกครองในปัจจุบัน เป็นผู้มีความเร่าร้อนใจอยู่”.

ในการอภิปรายรอบ 2 เจ้าคุณโอวาทฯ ยังคงเน้นความดีต่าง ๆ ของความร้อน อาทิ อาหารจะรับประทานให้อร่อยก็ต้องร้อน ๆ แม้กระทั่งแกงจืดที่เย็นชืดแล้ว ก็ยังเรียกกันว่า “แกงร้อน” เมื่อแสงอาทิตย์ที่ให้ความร้อนแผดเข้ามา ผู้คนก็รีบออกจากบ้านไปประกอบกิจการงาน, และพอตกเย็นก็กลับเข้าบ้านนอน, และที่ว่า “นิพพานคือเย็นใจ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าใครได้เคยไปบ้าง จะเย็นใจหรือไม่เย็นใจไม่รู้ แต่ข้าพเจ้านึกว่าตามฮอลล์ที่ร้อน ๆ ยังเย็นใจดีกว่า ข้าพเจ้าจึงยังไม่อยากไปนิพพาน”.

ในที่สุด เจ้าคุณโอวาทฯ ก็ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 มายืนยันความจำเป็นที่คนเราจะต้องมีความ “ร้อนอกร้อนใจ” ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ พระราชนิพนธ์บทที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้อัญเชิญมาก็คือ

“เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา

ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย

แม้ใครตั้งจิตต์คิดรักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน

ควรจะร้อนอกร้อนใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมเพื่อตน”

ผลของการโต้วาทีในวันนั้นปรากฏว่า ฝ่ายเสนอเป็นผู้ชนะ โดยได้รับคะแนนถึง 349 จากบรรดาผู้ฟัง ขณะที่ฝ่ายค้านได้เพียง 10 คะแนน. สำหรับ “กรรมการกลาง” 9 ท่านนั้น ให้คะแนนฝ่ายเสนอชนะฝ่ายค้าน 6 ต่อ 3 และฝ่ายหนังสือพิมพ์ที่มาร่วมฟัง 5 คน ก็ให้เจ้าคุณโอวาทฯ ชนะไปถึง 5 คน. เมื่อผลของการวินิจฉัยของผู้ฟังการโต้วาที่ออกมาเช่นนี้ เจ้าคุณโอวาทวรกิจจึงเป็นฝ่ายที่ชนะการแข่งขันและได้รับ เงินรางวัลที่ท่านนำไปบริจาคให้แก่กรมอากาศยาน.

ความมีชื่อเสียงของพระยาโอวาทวรกิจในฐานะนักโต้วาทีที่มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำน้อยที่สุด เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น. ทุกคราวที่ท่านเจ้าคุณฯ โต้วาที ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสนอหรือฝ่ายค้านก็ตาม จะมีผู้มาฟังอย่างคับคั่ง เพราะมีความนิยมใน “ฝีปาก” ของท่าน อีกทั้งก็ยังสนุกสนานไปกับสำนวนโวหารที่ขบขัน ไม่เคร่งเครียด. แต่บางโอกาส ท่านเจ้า คุณฯ ก็เป็นฝ่ายที่ปราชัยได้เหมือนกัน จากการวินิจฉัยของผู้ฟัง,

คราวหนึ่ง ท่านดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำแก่ฝ่ายค้านซึ่งเป็นเด็กหนุ่มวัย 18 ปี นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในญัตติโต้วาที “ไฟฟ้าทำประโยชน์แก่มนุษย์” คือ “สนิท ธนะจันทร์” ผู้ซึ่งอีกหลายปีต่อมาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับ. ความจริงเรื่องแพ้ชนะมิใช่เรื่องสำคัญ ขอแต่เพียงว่าได้เคยโต้วาทีกับเจ้าคุณโอวาทฯ เท่านั้น ก็เป็นความภูมิใจอย่างยิ่งแล้ว. [2]

(ซ้าย) หลวงวิจิตรฯ เมื่อปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมศิลปากร, (ขวา) นอกจากเป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรกแล้ว หลวงวิจิตรฯ (ยืนซ้ายสุด) ยังเป็นรัฐมนตรีลอยในคณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2420 ที่บ้านหลังวัดราชนัดดา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นในสมัยรัชกาลที่ 5. บิดาของท่านคือคุณหลวงธรรมานุวัติจำนง (จัย) และมารดาคือนางธรรมานุวัติจำนง (เพิ้ง), สําหรับนามสกุล “ผลพันธิน” นั้นท่านเจ้าคุณฯ ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 (ขณะนี้เป็น พ.ศ. 2458) ขณะที่มีบรรดาศักดิ์เป็น พระโอวาทวรกิจ.

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2460 เจ้าคุณโอวาทฯ ทำการปลงศพมารดา และได้รับพระกรุณาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานพระนิพนธ์อันเกี่ยวกับประวัติของบุพการีของท่านเจ้าคุณฯ มีข้อความอันน่าสนใจดังนี้

“รู้จักกับ ‘เพิ้ง’ และได้คุ้นเคยกับสกุลนี้ [ผลพันธิน] มาช้านานตั้งแต่ครั้งข้าพเจ้าบวชเป็นภิกษุขึ้นไปจำพรรษาอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน [เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า ดิศวรกุมาร ใน พ.ศ. 2426]. ในสมัยนั้นหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย ผลพันธิน) สามีของเพิ้งยังเป็นหลวงธรรมวงษ์ประวัติ เป็นอาจารย์ปริยัติและเป็นผู้ดูการพระอารามอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ, ข้าพเจ้าได้เรียนหนังสือต่อหลวงธรรมานุวัติจำนง และได้รับความอุปการของเพิ้ง จึงได้คุ้นเคยชอบพอกับสกุลนี้มาแต่ครั้งนั้น

ตั้งแต่รู้จักกันมา ข้าพเจ้าได้รู้สึกว่าเพิ้งนี้เป็นอย่างที่โบราณบัณฑิตยเรียกว่า สขีภรรยา คือภรรยาอันเสมอด้วยสหายของสามี เห็นเอาใจใส่ต่อการงานช่วยหลวงธรรมานุวัติจำนงมาแต่อยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ และเป็นผู้ที่เคารพต่อธรรม รักษาศีลไม่ขาดวันอุโบสถ แต่ความดีอันเป็นข้อสำคัญของหลวงธรรมานุวัติจำนง และเพิ้งภรรยานั้น คือที่ตั้งใจเอาเป็นธุระดูแลการศึกษาของบุตรให้เล่าเรียนมาแต่เด็ก ๆ จนเติบใหญ่ ได้ทำราชการมีตำแหน่งยศศักดิ์ด้วยความสามารถของตนทุก ๆ คน คือ นายเพิ่ม บุตรใหญ่ ทำราชการในกระทรวงธรรมการ ได้เป็นที่หลวงอนุสาสนวินิจ, บุตรที่ 2 นายสด ทำราชการในกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นที่หลวงสังขวิทย์วิสุทธิ์ บุตร 2 คนนี้ถึงแก่กรรมก่อนบิดามารดา บุตรที่ 3 นายเหม ทำราชการในกระทรวงธรรมการ มียศบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นพระยาโอวาทวรกิจอยู่ในเวลานี้

บุตรที่ 4 นายทองสุก ทำราชการกระทรวงมหาดไทย เวลานี้ได้เป็นที่พระพัทลุงคบุรีศรีระหัทเชตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง, บุตรที่ 5 นายบุญศรี รับราชการกระทรวงมหาดไทย เวลานี้เป็นที่หลวงประชาภิบาล ตำแหน่งนายอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี”. [3]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับภายในห้องทรงงาน กระทรวงมหาดไทย ที่ศาลาลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง

การศึกษาของเจ้าคุณโอวาทฯ เริ่มที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง และสอบไล่ได้ประโยค 2 ซึ่งเป็นประโยคสูงสุดในสมัยนั้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2434 แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่โรงเรียนเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง.

โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกหัดครูในประเทศไทยเป็นพระดำริของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งที่ยังทรงบัญชาการกรมศึกษาธิการ หากทรงต้องย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสียก่อนที่โรงเรียนดังกล่าวจะเปิดสอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 โดยมีนาย เอช. กรีนรอด ชาวอังกฤษเป็นอาจารย์ใหญ่.

นักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์มีเพียง 3 คน คือ นายนกยูง วิเศษกุล (พระยาสุรินทราชา), นายบุญรอด เศรษฐบุตร (พระยาภิรมย์ภักดี), และนายสุ่ม ในปีนั้นเอง นายบุญรอดและนายสุ่มได้ลาออกไป จึงเหลือแต่นายนกยูงคนเดียวที่เรียนต่อไป. ต่อมาใน พ.ศ. 2436 ได้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นใหม่อีก 3 คน คือ นายสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ มนตรี), นายสด ผลพันธิน (หลวงสังขวิทย์วิสุทธิ์) และนายเหม ผลพันธิน (พระยาโอวาทวรกิจ),

ในปลายปี พ.ศ. 2437 นายสนั่นและนายสดสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรเป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ, ขณะที่นายเหมสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรเป็นครูสอนภาษาไทย, ส่วนนายนกยูงได้ลาออกไปรับราชการเป็นครูโรงเรียนราชกุมารตั้งแต่ พ.ศ. 2436. นอกจากนั้นก็ยังมีนายเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล (หลวงวิลาศปริวัตร) ซึ่งสำเร็จประโยค 2 จากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแผนกภาษาอังกฤษมาเข้าเรียนในปลายปี พ.ศ. 2436 (เข้าใจว่าพร้อม ๆ กับนายให้ กาฬดิษฐ์ พระยาเทพศาสตร์) สำเร็จได้ประกาศนียบัตรครูสอนภาษาอังกฤษไปเข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนราชกุมารใน พ.ศ. 2438.

ใน พ.ศ. 2438 นายเอช. กรีนรอด ได้ลาออกไป โดยมีนายอี. ยัง ชาวอังกฤษเช่นเดียวกันมารับหน้าที่แทน และมีนายสนั่นรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่, ในปลายปีนั้นเอง นายอี. ยัง ก็ลาออก โดยนายดับเบิลยู.ยี. ยอนสัน มาเป็นอาจารย์ใหญ่แทน. ต่อมา ใน พ.ศ. 2440 นายยอนสันได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นผู้ตรวจและจัดการโรงเรียน, ทางการจึงได้แต่งตั้งครูชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งคือนายเอฟ.ยี. เทรส มาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ จนกระทั่งลาออก รับบำนาญในอีก 20 ปีต่อมา. [4]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2439 กระทรวงธรรมการได้คัดเลือกครูผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ 4 คน คือ นายสนั่น, นายนกยูง, นายเหลี่ยม และนายโห้ ให้ไปศึกษาวิชาครู ณ ประเทศอังกฤษ โดยตามเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถฯ ซึ่งเสด็จไปศึกษาในยุโรป. สำหรับนายเหมไม่ได้ไปเมืองนอก โดยได้เป็นครูสอนภาษาไทยในตำแหน่งครูฝึกหัดจนกระทั่งเมื่ออายุครบปีบวช ก็ได้อุปสมบท ณ วัดเทพธิดารามเป็นเวลา 1 พรรษา พระอุบาลีฯ คุณูปมาจารย์ (ป่าน) เป็นอุปัชฌาย์, ขณะที่ได้เลื่อนตำแหน่งในราชการขึ้นไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคาร. นอกจากนั้นก็ยังเป็นครูภาษาไทยสอนพิเศษที่โรงเรียนกรมแผนที่ และที่โรงเรียนมหาดเล็ก.

ท่านเจ้าคุณโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) ได้แสดงความสามารถทั้งในด้านการสอนหนังสือและในด้านการปกครองมาตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นจึงได้เลื่อนตำแหน่งค่อนข้างรวดเร็ว. ใน พ.ศ. 2445 ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่ตึกแม้นนฤมิตร วัดเทพศิรินทราวาส เรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์, ต่อมาเมื่อกระทรวงธรรมการได้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก ณ โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, เจ้าคุณโอวาทฯ ก็ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น. จากนั้นอีก 3 ปี ท่านก็ย้ายไปเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนแขวงมัธยมของกรมศึกษาธิการ แล้วก็ไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแพทยาลัย ในบรรดาศักดิ์ หลวงบำเหน็จวรญาณ.

ในตอนต้นรัชกาลที่ 6 ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น, เจ้าคุณโอวาทฯ เมื่อครั้งยังเป็นอำมาตย์โท พระโอวาทวรกิจ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ถึงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2455 ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่.

ใน พ.ศ. 2457 เจ้าคุณโอวาทวรกิจได้ย้ายเข้ากระทรวงในตำแหน่งพนักงานสอบไล่ กรมศึกษาธิการ ซึ่งมีกรมย่อย 3 กรมอยู่ในสังกัด คือ กรมสามัญศึกษา, กรมวิสามัญศึกษา และกรมราชบัณฑิต และไม่นานภายหลังจากนั้นก็ได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคหนึ่ง. ครั้นถึง พ.ศ. 2460 ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้ากรมวิสามัญศึกษา ซึ่งดูแลการอาชีวศึกษาและโรงเรียนสตรี และยังควบตำแหน่งธรรมการมณฑลกรุงเทพฯ ด้วย. ก่อนที่เจ้าคุณโอวาทฯ จะลาออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญใน พ.ศ. 2468 ขณะที่มีการประหยัดงบประมาณแผ่นดินครั้งนั้น, ท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ มีอายุเพียง 48 ปีเท่านั้น. เจ้าคุณโอวาทฯ มียศเป็นมหาอำมาตย์ตรีและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) เมื่อพ.ศ. 2465 เป็น “พระยาพานทอง”.

เจ้าคุณโอวาทฯ ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้าน. ในด้านของความเป็นครู, ท่านสอนเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอนภาษาไทย และนอกจากนั้นก็ยังได้เรียบเรียงแบบเรียน และมีประสบการณ์สูงในการบริหารการศึกษา ในอีกด้านหนึ่ง ท่านเจ้าคุณฯ มีความรักและความสนใจในศิลปะ การแสดงละคร ซึ่งท่านได้ประพันธ์บทละครไว้หลายเรื่อง เช่นเรื่อง “เสียรอย” และเรื่อง “ใครผิด” เป็นต้น และยิ่งกว่านั้น ท่านก็ยังแสดงละครได้ดีอีกด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในสมัยรัชกาลที่ 6. [5]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 เจ้าคุณโอวาทฯ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เขต 1 จนกระทั่งมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481

แต่ความสามารถเฉพาะตัวที่ทำให้พระยาโอวาทวรกิจมีความโดดเด่น เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และอยู่ในความทรงจำของสาธารณชนคนไทยเป็นเวลาช้านานก็คือการโต้วาที ตามที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้น.

เจ้าคุณโอวาทฯ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2485 มีอายุ 65 ปี.

 


เชิงอรรถ :

[1] ข้อมูลในเรื่องการโต้วาทีเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478 ได้มาจากเอกสาร “แจ้งความกรมศิลปากร” ซึ่งจัดพิมพ์โดยนายจำรัส สรวิสูตร พิมพ์ที่โรงพิมพ์เดลิเมล์ ถนนสี่พระยา กรุงเทพฯ.

[2] หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายสนิท ธนะจันทร์ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2524 น. 65 และจากที่ท่านผู้วายชนม์ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง.

[3] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2527, น. 272-273.

[4] ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2435-2507, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2507, น. 101-103.

[5] “พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน),” รอง ศยามานนท์. ในหนังสือ ประวัติครู, 2501, กรุงเทพมหานคร, น. 61-67.


หมายเหตุ : บทความเดิมในนิตยสารชื่อ “พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) ครูเก่าและนักโต้วาทีที่ไร้เทียมทาน”

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2563