ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | นราวดี โลหะจินดา, สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี |
เผยแพร่ |
“ภูมลำเนาของเมืองแขกทั้งเจ็ดซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ไปเห็นแลได้สืบสวนทราบความในคราวนี้ เห็นเปนเมืองที่บริบูรณ์อย่างปลาดจะหาเมืองมะลายูเมืองใดในแหลมมะลายูนี้เปรียบให้เสมอเหมือนเปนอันไม่มี คือ หัวเมืองที่อยู่ริมทะเลสี่เมือง เมืองหนองจิก เปนเมืองที่นาดีหาเมืองจะเปรียบมิได้ อาไศรย์เข้าเป็นสินค้าใหญ่ ในเมืองตานีมีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมะลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก…” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514 : 67)
เมืองหนองจิก เป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองมลายู (เมืองหนองจิก ปัตตานี ยะหริ่ง ยะลา สายบุรี ระแงะ และรามัน) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2357 มีเจ้าเมืองปกครองโดยระบบสืบสายตระกูลตามประเพณีเดิมของหัวเมืองเหล่านี้ เมืองหนองจิกนับเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในหัวเมืองมลายูมาช้านาน ดังปรากฏในรายงานเรื่อง On the Patani บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2424 ความว่า
“แม่น้ำปัตตานีมีที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมที่อุดมสมบูรณ์ ในจำนวนปากน้ำเหล่านี้ที่มีความสำคัญที่สุดคือกัวลาตุยง (Kuala Tujong) ซึ่งมีชื่อเรียกด้วยกัน 3 ชื่อ คือ ตุยง ตาวา และหนองจิก (Tujong, Tawar, Nuachi) แม่น้ำตุยงเคยเป็นแม่น้ำสายหลักมาก่อน…การเดินทางทางน้ำจากปัตตานีถึงกัวลาหนองจิกผ่านเส้นทางที่เป็นท้องนาทุ่งนาที่กว้างใหญ่มองเห็นรวงข้าวสีทองปลิวไสวเป็นทิวแถว” (ครองชัย หัตถา, 2541 : 209 อ้างถึงใน Cameron, 1883) และจากบันทึกชาวต่างประเทศที่เข้ามาสู่ปัตตานีบันทึกไว้ว่า “ปัตตานีดินอุดมสมบูรณ์ ปัตตานีไม่เพียงผลิตข้าวได้พอเลี้ยงประชากร แต่ยังสามารถส่งเป็นสินค้าออกได้ด้วย โดยพ่อค้าอาหรับจะมาซื้อทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารจำนวนมากไปจากปัตตานี” (อมรา ศรีสุชาติ, 2544 อ้างถึงใน จำรูญ เด่นอุดม, 2542)
หากนับย้อนกลับไป เหตุที่หัวเมืองมลายูได้รับความสนใจจากชนชาติต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งอดีตนานนับพันปี (ตามที่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าปัตตานีเดิมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเก่าแก่ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีน ชวา มลายู ในนามอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13) นั่นเป็นเพราะผู้แสวงหาผลประโยชน์ต่างทราบดีว่า แผ่นดินนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีค่ามากมาย และด้วยความเหมาะสมทั้งจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นอ่าว เหมาะแก่การแวะพักหลบมรสุมแล้ว ดินแดนตอนในยังอุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรมีค่าที่นักแสวงหาต้องการ
ดังนั้นบ้านเมืองในหัวเมืองมลายูหลายเมืองเจริญรุ่งเรืองได้ด้วยการตั้งตัวเป็นเมืองท่า มีสถานีการค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าจากนานาชาติ
มูลเหตุเหล่านี้ส่งผลให้เมืองมลายูหลายเมืองกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและท่าเรือในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองมลายูเหล่านี้มีเจ้าเมืองปกครอง หรือเรียกว่าเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดิน ปกครองเป็นรัฐอิสระ และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรอื่นเช่นอยุธยาเป็นบางระยะ
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์แห่งราชอาณาจักรสยาม (พุทธศตวรรษที่ 24) เมืองมลายูหลายเมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี (หมายรวมถึงเมืองหนองจิก) ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม และจากนั้นอำนาจรัฐจากส่วนกลางก็เข้ามามีบทบาทการบริหารบ้านเมือง
อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางก็ยังคงให้อิสระและอำนาจผู้ว่าราชการเมือง (เจ้าเมืองเดิม) ในการกำหนดอัตราภาษีอากร และการจัดเก็บภาษีภายในเมืองของตน “เมืองใดเก็บภาษีได้เท่าไร ก็เป็นผลประโยชน์ของเมืองนั้น” ภาษีที่ทำรายได้ให้กับเจ้าเมืองต่างๆ ได้แก่ ภาษีบ่อนเบี้ย ฝิ่น น้ำมันมะพร้าว สุรา หมาก ดีบุก สัตว์เลี้ยง ภาษีที่นา ภาษีปากเรือ และภาษีผ่านทาง (น้ำ) สำหรับภาษีผ่านทางนั้นได้มีการตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าจากพ่อค้าที่ล่องเรือสินค้ามาจากดินแดนตอนใน (เมืองยะลา)
กรณีตัวอย่างที่นำมาเสนอคือ กรณีการตั้งด่านเก็บภาษีของเมืองตานี (เมืองปัตตานี) กับ เมืองหนองจิก ด้วยภูมิประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันและใช้ทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างรวมกัน กรณีนี้มูลเหตุไม่ได้เกิดจากการแย่งชิงทรัพยากร แต่เกิดจากผลประโยชน์เรื่องการเก็บภาษีผ่านทาง
กล่าวคือ เส้นทางน้ำที่เมืองหนองจิกและเมืองตานีใช้ตั้งด่านเก็บภาษีเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ซึ่งมีต้นน้ำไหลมาจากเมืองยะลา แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านตอนบนของเมืองหนองจิกก่อนแล้วจึงวกกลับเข้าไปในเขตพื้นที่ของเมืองตานี ในช่วงที่แม่น้ำไหลมาทางตอนเหนือของเมืองหนองจิกนั้น ทางเมืองหนองจิกก็ตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าและภาษีปากเรือที่ด่านคอลอตันหยง โดยเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าชาวเมืองตานีที่ล่องเรือมาจากเมืองยะลาก่อนแล้ว
เมื่อพ่อค้าเหล่านี้ล่องเรือไปตามลำน้ำดังกล่าวเพื่อนำสินค้าไปยังเมืองตานี กลับถูกด่านภาษีที่เมืองตานีเรียกเก็บภาษีซ้ำอีก ทำให้บรรดาพ่อค้าไม่ยอมนำเรือผ่านเมืองตานี จึงพากันล่องเรือออกทางปากน้ำเมืองหนองจิก เพื่อเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีซ้ำสอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ รายได้จากการเก็บภาษีของเมืองตานีก็ลดน้อยลง เป็นเหตุให้พระยาวิชิตภักดี ศรีสุรวังษา รัตนาเขตประเทศราช (ตนกูสุไลมาน ซาฟุดดีน) ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี (เจ้าเมืองตานี) สั่งให้ขุดคลองลัดตรงโค้งแม่น้ำปัตตานี ในปี พ.ศ. 2435 (ที่ตำบลปรีกี อำเภอยะรัง ปัจจุบัน เดิมทีแม่น้ำนี้ไหลอ้อมเข้ามายังเขตตำบลคอลอตันหยง และตำบลยาบี ในเขตท้องที่เมืองหนองจิกแล้วจึงวกกลับมาเข้าเขตเมืองตานีที่อำเภอยะรัง)
คลองที่ขุดขึ้นมาใหม่นี้ลัดตัดตรงผ่านบ้านคลองใหม่เข้าสู่เขตเมืองตานี มีชื่อว่าคลองสุไหงบารู (สุไหง = คลอง, บารู = ใหม่) ดังปรากฏในบันทึกรายงานการเสด็จฯ ตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ความตอนหนึ่งว่า
“…ขากลับนี้จึงได้ลงเรือพายขึ้นตามลำน้ำเมืองตานีไปประจบล่องลงทางลำน้ำเมืองหนองจิก ระยะทางเรือพาย 5 ชั่วโมงเสศ ทางลำน้ำนี้มีบ้านช่องเปนระยะเนื่องกันตลอดไม่มีที่ป่า ที่ฝั่งทั้งสองข้างเปนทุ่งนาโดยมาก มีคลองลัดซึ่งพระยาตานีได้ขุดด้วยเหตุอันปลาดแห่งนี้ ด้วยแม่น้ำนี้ปลายน้ำมาแต่เมืองยะลาไหลไปในเขตรแดนหนองจิกก่อนแล้วจึงวงมาออกปากน้ำเมืองตานี สินค้าที่ล่องมาตามลำน้ำถึงพรมแดนเมืองหนองจิกๆ ตั้งเก็บภาษีผ่านเมืองตรงนั้น ครั้นเรือล่องเข้าพรมแดนเมืองตานีๆ เก็บอิกซ้ำ 1 เปนที่ย่อท้อของพ่อค้าภากันไปออกทางปากน้ำเมืองหนองจิกเปนอันมากเพื่อเหตุที่จะหนีภาษีสองซ้ำ พระยาตานีจึงคิดขุดคลองลัดขึ้นในพรมแดนเมืองตานีไปทะลุออกลำน้ำใหญ่เหนือพรมแดนเมืองหนองจิกกันไห้เรือหลีกลงมาทางนี้ได้” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514 : 67)
ผลปรากฏว่าด่านเก็บภาษี “เมืองหนองจิก” ที่ตำบลคอลอตันหยงต้องยุบเลิกไป นอกจากเมืองหนองจิกจะสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี ณ ด่านคอลอตันหยงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังและส่งผลระยะยาวต่อชาวเมืองหนองจิกคือ แม่น้ำปัตตานีสายเดิมที่ไหลเข้าสู่เมืองหนองจิกและลำน้ำสาขาที่เคยพัดพาตะกอนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ มาสู่พื้นที่ราบลุ่มเมืองหนองจิกในฤดูน้ำหลาก กลับเหือดแห้งลงกลายเป็นเพียงลำคลองสายเล็กๆ ผืนดินที่เคยใช้ในการเพาะปลูกข้าวซึ่งเคยเป็นนาดี กลับลดความอุดมสมบูรณ์ลง เหตุการณ์นี้กินระยะเวลาร่วม 100 ปี กว่าจะเห็นผลดังสภาพปัจจุบัน
เนื่องจากการเปลี่ยนสภาพของธรรมชาติที่ลำน้ำจืดค่อยๆ เล็กลง และน้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมเรื่อยๆ เป็นเวลานาน ถึงจะกลายสภาพเป็นนาร้างอย่างในปัจจุบัน
มูลเหตุเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน แต่ส่งผลกระทบชัดเจนเมื่อราว 20 ปีมานี่เอง ชาวบ้านบอกว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523 ยังพอทำนาได้ แต่ผลผลิตลดลงเรื่อยๆ เพราะดินไม่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับเมื่อฤดูแล้งมาถึง น้ำเค็มจากปากอ่าวบางตาวาก็รุกเข้ามายังพื้นที่นาในเมืองหนองจิก แผ่นดินกลายสภาพเป็นดินเปรี้ยว น้ำกร่อย ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้อีก
“นาดี” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเคยบันทึกไว้ กลับกลายเป็น “นาร้าง” กินบริเวณกว้าง หากหลายท่านมีโอกาสเดินทางโดยรถยนต์จากอำเภอหาดใหญ่ผ่านเขตอำเภอหนองจิก เพื่อเข้าสู่ตัวจังหวัดปัตตานี จะพบว่าสองข้างทางในเขตอำเภอหนองจิกเต็มไปด้วยที่นาร้างนับหมื่นไร่ที่ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมได้ ส่งผลให้ผู้คนต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่ทำกินใหม่
เหล่านี้คือมูลเหตุที่เกิดจากการหวังผลประโยชน์จากการเก็บภาษีเพียงบางส่วน ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่กลับส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้คนมากมายไปจนชั่วลูกชั่วหลาน เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนกรณีอื่นที่คล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนราษีไศลในภาคอีสาน ผลจากการสร้างเขื่อนก่อให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความล่มสลายของวิถีชีวิตชุมชน
การสร้างเขื่อนราษีไศลได้ก่อให้เกิดปัญหาดินเค็ม เนื่องจากใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลมีบริเวณชั้นหินเกลือรองรับอยู่…ทำให้เกิดการละลายของชั้นดินเกลือที่มีอยู่ใต้ผืนดิน ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำของโครงการฝายราษีไศล มีความเข้มข้นของเกลือใต้ดินที่ละลายขึ้นมา และการไหลมาเพิ่มทุกวันของลำน้ำสาขา จนมีความเสี่ยงต่อการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร (คณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ป่าทามลำน้ำมูน, 2548 : 1-2)
ที่เรียบเรียงเพื่อนำเสนอมาทั้งหมดนี้ ก็เพียงเพื่อยกเป็นกรณีตัวอย่าง ให้ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจจะดำเนินการใดๆ ที่คาดว่าจะเป็นผลประโยชน์แต่อาจกลับเป็นโทษมหันต์ เพราะบ้านเมืองมิใช่กิจการของใคร แต่เป็นของคนไทยทุกคน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ธุรกิจข้าว” พ่นพิษ ทำเจ้าภาษีนายอากรสมัยรัชกาลที่ 5-6 ล้มละลาย
- ความสำคัญของการพนันและการเล่นหวยในสังคมสยาม ที่มาของ “ภาษีบาป”
- “ภาษีเกลือ” ภาษีแห่งความ “แค้นใจ” ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
บรรณานุกรม :
กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2542.
คณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ป่าทามลำน้ำมูน. เขื่อนราษีไศล ความล่มสลายคน-ป่าทาม-แม่น้ำมูน. 2548. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.thai.to/munriver/comment200020422—2.htm (16 กุมภาพันธ์ 2548)
ครองชัย หัตถา. ปัตตานี การค้า และการเมืองการปกครองในอดีต. ปัตตานี : โรงพิมพ์มิตรภาพ, 2541.
จุรีรัตน์ บัวแก้ว. วังเจ็ดหัวเมือง (ปัตตานี). ปัตตานี : ภาควิชาประวัติศาสตร์และศิลปะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2540.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 14 เล่มที่ 5 (มกราคม 2514), หน้า 67.
เพ็ญนภา จันทร์หอม. เอกสารประกอบโครงการประวัติศาสตร์สัญจร วันที่ 15 สิงหาคม 2541. ณ ภาคประวัติศาสตร์และศิลปะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
อนันต์ วัฒนานิกร. “หนองจิก : เมือง,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้เล่ม 17. กรุงเทพฯ : สยามเพรสแมเนจเม้นท์ จำกัด, 2542.
อมรา ศรีสุชาติ. สายรากภาคใต้ ภูมิลักษณ์ รูปลักษณ์ จิตลักษณ์. กรุงเทพฯ : เอมีเทรดดิ้ง, 2544.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ (ยกเว้นภาพสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ถ่ายโดย ลัดดาวัลย์ ดำมณี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2560