เบื้องหลังท่าทีมิตรที่ดีของ “พระเจ้าซาร์” ที่มีต่อสยาม

รัชกาลที่ 5 กับ พระเจ้าซาร์ แห่งรัสเซีย หรือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
รัชกาลที่ 5 กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

เอกสารชุดใหญ่ในรูปจดหมายเหตุต่อไปนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทอำพรางของ พระเจ้าซาร์ [พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2] ในราชสำนักไทย สมัย รัชกาลที่ 5 ข้อมูลเหล่านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการรายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือรัฐบาลไทยไปยังรัฐบาลรัสเซีย รายละเอียดมากมายมีคุณลักษณะพิเศษที่อธิบายพัฒนาการเชิงบวกของระดับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสที่ค่อย ๆ ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการแทรกแซงของรัสเซียภายใต้พระบรมราชวินิจฉัยของซาร์เป็นเกณฑ์ [1] และ [2]

รายงานของนาย อา.เย โอลารอฟสกี อัครราชทูตรัสเซียประจำบางกอกถึงกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

Advertisement

1 สิงหาคม ค.ศ. 1898

เรียน ท่านเคานท์มีฮาอิล นิโคลาเยวิช

อธิปไตยของสยามจะเป็นประโยชน์ต่อฝรั่งเศสโดยไม่ต้องสงสัย ถ้าอธิปไตยนี้จะมีรัสเซียและฝรั่งเศสคอยรับรอง ในกรณีเช่นนี้ อาจจะทำให้ฝรั่งเศสสบายใจขึ้นได้ว่าอังกฤษจะไม่ใช้ความอ่อนแอของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสยาม และไม่ทำกับรัฐบาลดังกล่าวเหมือนที่ทำกับพม่า นั่นคือการหาข้ออ้างว่าจะรวมสยามเข้าเป็นอาณานิคมของตน นอกจากนี้ถ้ามีเพื่อนบ้านที่อ่อนแออย่างสยาม อยู่ติดกับพรมแดนของจีนตอนใต้จะเพิ่มมากขึ้น และการสร้างทางรถไฟจากทะเลจีนไปยูนนาน ย่อมเป็นผลประโยชน์อันสำคัญที่สุดกว่าอย่างอื่นในสยาม อย่างไม่มีข้อสงสัย และข้าพเจ้ามั่นใจว่าเมื่อพิจารณาถึงเรื่องนี้ ฝรั่งเศสจะอ่อนข้อในเรื่องของปัญหากับสยามยิ่งขึ้น

ฝรั่งเศสทราบดีอย่างมิต้องสงสัยว่า ศัตรูของเราในอินโดจีนไม่ใช่สยามแต่คืออังกฤษซึ่งเป็นศัตรูตลอดกาลและทุกแห่ง และหากฝรั่งเศสมั่นใจว่าสยามจะมีบูรณภาพทางดินแดน ถ้ามีรัสเซียและฝรั่งเศสคอยรับรองแล้ว ฝรั่งเศสยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะกำจัดสยาม ผู้ซึ่งอาจจะมีประโยชน์สำหรับฝรั่งเศสในฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างดินแดนในครอบครองของตนและสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน

จากหลักการนี้ฝรั่งเศสสามารถประเมินความสำเร็จของโครงการขุดคลองกระ (คือคอคอดกระ-ผู้เขียน) ซึ่งเขาพอใจมากในเวลานี้ ฝรั่งเศสหมดโอกาสที่จะเริ่มปัญหาเกี่ยวกับคลองกระอีกครั้งเพราะอนุสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดเขตอิทธิพลของทั้งสองประเทศ ถึงแม้ว่าสยามจะยินยอมมอบสิทธินี้แก่ฝรั่งเศส เพื่อยุติปัญหาข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศส และเพื่อประโยชน์ของสยามเองก็ตาม การขุดคลองกระเพื่อไปยังสิงคโปร์นั้นจะส่งผลกระทบซึ่งจะทำลายความสำคัญของอังกฤษทางการค้า

รัสเซียจะนับเป็นผู้มีอำนาจอันแท้จริงในตะวันออกไกลได้ ต้องมีการยืนยันอิทธิพลอันแข็งแกร่งทั้งทางด้านการเมือง การค้า และการใช้ทรัพยากรในยูนนาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมต้องกระทบกระเทือนอังกฤษซึ่งการกระทบกระเทือนนี้ทำให้อังกฤษยากที่จะมีอิทธิพลดังเดิม และการยึดครองเวย์ไห่เวย์ (วุ่ยไห่วุ่ย) ของอังกฤษ จะไม่เกิดผลทั้งทางด้านการค้า และความสัมพันธ์ทางการเมือง

สยามซึ่งมีเอกราชจะให้ประโยชน์แก่เราไม่น้อยโดยเฉพาะทางใต้สุด ถ้าเรากล้าฉกฉวยประโยชน์จากความต้องการของสยาม ซึ่งต้องการสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเราทั้งด้านการเมือง และด้านอุตสาหกรรมการค้า

การมีความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมการค้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ หากแต่รัสเซียต้องรับรองเอกราชของสยาม ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นด้วย นอกจากนี้ ยังควรลบล้างอิทธิพลของอังกฤษที่มีอยู่เหนืออุตสาหกรรมการค้า และควรคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสยามด้วย

หลังจากที่เราช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยาม และช่วยทำให้อธิปไตยของสยามเข้มแข็งขึ้นนั้น เราำเป็นต้องสวมบทบาทของอังกฤษในสยามโดยการเปลี่ยนทั้งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากชาวอังกฤษเป็นชาวรัสเซีย เราสามารถมีอิทธิพลอย่างเต็มที่และไม่มีขอบเขตจำกัดในสยามได้ด้วยการช่วยระงับความเข้าใจผิดระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

ในขณะนี้สยามมองเราเหมือนกับเป็นชาติเดียวซึ่งสามารถช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอธิปไตยของเขา และสร้างความปลอดภัยจากการเข้ายึดครองของเพื่อนบ้านผู้ทรงอานุภาพได้ ในเวลานี้ ณ ที่นี้เรามีอิทธิพลเหนือชาติอื่น เนื่องจากชาวสยามรอคอยความช่วยเหลือจากเรา แต่ด้วยอารมณ์ของชาวสยามยกเว้นพระมหากษัตริย์ ชาวสยามอาจจะหันมาต่อต้านเราได้ ถ้าเราไม่จัดการเรื่องระหว่างสยามกับฝรั่งเศสให้ดี

ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า ข้าพเจ้ารู้สึกมั่นใจเป็นอย่างมาก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของเราในตะวันออกไกล เราไม่ควรวางเฉยต่อสยาม

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้ท่านด้วยความเคารพและภักดี

เอา เย. โอลารอฟสกี ออม

 

โทรเลขลับของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียถึงนาย อา.เย. โอลารอฟสกี อัครราชทูตรัสเซียประจำบางกอก

16 เมษายน ค.ศ. 1899

ซังค์ปีเตอร์บูร์ก

ในนามของสมเด็จพระจักรพรรดิ ขอให้ส่งโทรสารเพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ซึ่งมีข้อความดังนี้ :

“หม่อมฉันรับทราบเกี่ยวกับพระราชประสงค์ของพระองค์แล้ว หม่อมฉันมีบัญชาให้เอกอัครราชทูตของหม่อมฉันประจำกรุงสยามให้ความช่วยเหลือเท่าที่เป็นไปได้ ในการสนับสนุนสยามเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการให้ฝรั่งเศสออกจากจันทบูร”

เครื่องหมายของสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 ลงวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1899 เขียนว่า “ดีแล้ว” [1]

 

รายงานของนาย อา.เย. โอลารอฟสกี อัครราชทูตรัสเซียประจำบางกอก ถึงกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

15 กันยายน ค.ศ. 1899

บางกอก

เรียน ท่านเคานท์มีฮาอิล นิโคลาเยวิช

ข้าพเจ้าขอสรุปผลงานด้านการเมืองของสำนักงานทางการทูตของเราในระยะเวลาปีครึ่ง นับตั้งแต่ตั้งสำนักงานในสยาม

ตามคำสั่งของท่าน ข้าพเจ้าได้เริ่มต้นงานด้วยการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยาม อังกฤษ และฝรั่งเศส ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ และฝรั่งเศส ปรากฏว่าสยามค่อนข้างจะไม่พอใจกับความกดดันและการใช้อิทธิพลของอังกฤษ แต่สยามก็จำเป็นต้องยอมจำนนต่ออังกฤษ เพราะความเกรงกลัวฝรั่งเศส อีกทั้งยังไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษได้

เราอาจสรุปได้ไม่ยากนักว่า สยามเลือกรัสเซียให้เป็นประเทศที่จะถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษ และข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทำให้สยามผิดหวัง ตรงกันข้ามข้าพเจ้ากลับพยายามทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนความคิดนี้ โดยการไม่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ประเทศอังกฤษ ในเวลาเดียวกันข้าพเจ้าได้อาศัยโอกาสนี้เพื่อให้ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ข้าราชการในสำนักพระราชวัง ตลอดจนเสนาบดีทุกคนตามที่โอกาสจะอำนวย

ด้วยน้ำพระทัยเมตตากรุณาแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งทรงใส่พระทัยในพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ย่อมเปิดโอกาสอย่างแท้จริงให้พระมหากษัตริย์ทรงหาหนทางในการที่จะรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของสยามผ่านเรา ข้าพเจ้าคิดว่ารรักษาเอกราชของสยามจะเป็นประโยชน์ต่อเรา แม้จะไม่ใช่ในขณะนี้ก็คงจะในอนาคนอันใกล้ สำหรับพวกเราจะได้เปรียบกว่าเมื่อมีประเทศที่เป็นมิตรอยู่ทางตอนใต้ของจีน

ซึ่งถ้าจำเป็นในโอกาสอันเหมาะสมประเทศนี้อาจจะเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นเพราะจีนเองมากกว่าเป็นเพราะความเข้มแข็งของอังกฤษหรือฝรั่งเศสซึ่งพยายามแบ่งแยกราชอาณาจักรสยาม ถ้ามีโอกาสและการแบ่งแยกนี้จะทำให้ฐานะของเขาเหล่านี้ในตอนใต้ของจีนยิ่งเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ฉันมิตรของเราที่มีต่อฝรั่งเศสทำให้รัฐบาลสยามและชนชั้นปัญญาชนส่วนใหญ่ของสยามมองเราเหมือนเราเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถฉุดพวกเขาออกจาสถานการณ์อันลำบากเนื่องจากการกระทำโดยพลการของเจ้าหน้าที่ชายแดนฝรั่งเศส

ข้าพเจ้าขอสรุปทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้ ด้วยความที่ชาวสยามมีความนิยมชมชอบและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระจักรพรรดิของเรา คณะทูตของเราจึงประสบความสำเร็จในการทำงานถึงจะไม่มากนัก แต่ก็ล้วนมีความหมายใหญ่หลวงต่อประเทศสยาม ตั้งแต่มีการตั้งสำนักงานทางการทูตอขงเราที่นี่ มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดดังนี้

1. อิทธิพลที่ประเทศอังกฤษเคยมีเหนือชาติอื่นในทุกเรื่องลดลงอย่างมาก และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป เนื่องจากชาติอื่น ๆ เพิ่มจำนวนการค้าขายในสยามมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าฝรั่งเศสสามารถใช้สิ่งที่นายดูแมร์ทำไว้อย่างถูกจังหวะให้เป็นประโยชน์มากมาย

2. ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตรและเย็นชาระหว่างฝรั่งเศสกับสยามตั้งแต่ ค.ศ. 1893 ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ที่นายดูแมร์นำมาใช้ในการแก้ปัญหาชายแดน

3. มีการเซ็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิของชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งแก่กันและกันระหว่างรัสเซียกับสยาม นับเป็นการเซ็นสัญญาครั้งแรกระหว่างสองประเทศของเรา

หากสมเด็จพระจักรพรรดิของเราไม่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ชาวสยาม ก็คงจะไม่ได้รับผลสําเร็จดังที่กล่าวข้างต้นอย่างแน่นอนที่สุด และการที่สยามได้คืนความเป็นเอกราชเต็มที่อีกครั้งตลอดจนมีโอกาสพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องเกรงกลัวประเทศเพื่อนบ้านผู้ทรงอำนาจ (คือฝรั่งเศสที่ครอบครองอินโดจีน) ทั้งหมดที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะสมเด็จพระจักรพรรดิของเรา [1]

อา.เย. โอลารอฟสกี

 

หนังสือจากนาย แวแอ็น. ลัมซ์ดอร์ฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียถึงเจ้าชาย แอล.แป. อูรูซอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงปารีส

17 สิงหาคม ค.ศ. 1902

เรียน ปรินซ์เลฟ ปาฟโลวิช

พระมหากษัตริย์แห่งสยามมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระจักรพรรดิเพื่อแจ้งให้ทราบว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเจรจาเกี่ยวกับปัญหาข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศสและพระองค์ทรงหวังว่า สมเด็จพระจักรพรรดิคงจะไม่ปฏิเสธที่จะเป็นคนกลางในการสนับสนุนให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามดีขึ้น ซึ่งในพระราชหัตถเลขาตอบนั้น มีข้อความเพื่อกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรงทราบว่า สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการไปยังเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงปารีสแล้ว และพระองค์ทรงหวังว่าพระมหากษัตริย์จะทรงพยายามถึงที่สุดในการสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับฝรั่งเศสอีกทางหนึ่ง

ข้าพเจ้าจึงเรียนมาให้ท่านทราบ พร้อมกันนี้ยังได้แนบพระราชหัตถเลขาฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษของสมเด็จพระจักรพรรดิถึงพระมหากษัตริย์มาด้วย ข้าพเจ้าใคร่ขอร้องท่านได้โปรดเตือนรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยวิธีที่นิ่มนวลที่สุดว่า การมีความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับสยามในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกไกลนั้น เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้ท่านด้วยความเคารพและภักดี [1]

ป.ล. พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าได้แนบต้นฉบับพระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระจักรพรรดิมาด้วย ซึ่งตามพระบรมราชโองการของพระองค์พระราชหัตถเลขาฉบับนี้จะต้องถูกส่งไปยังปรินซ์จีระ เพื่อดำเนินการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] คำแปลเอกสารทางประวัติศาสตร์, 100 ปี ความสัมพันธ์สยาม-รัสเซีย. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2540

[2] ไกรฤกษ์ นานา. จะเกิดอะไรขึ้นกับรัสเซีย ถ้าเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน  2552


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ไกฤกษ์ นานา. “ค้นหารัตนโกสินทร์ พระเจ้าซาร์ เบื้องหลังนโยบายการเมืองไทย (2), ตอน วาทะทูตรัสเซีย-งานเลี้ยงก่อนสวรรคต” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565