“ของ” ที่พระเจ้าซาร์ ไม่ได้นำกลับรัสเซียเพราะเกิดปฏิวัติก่อน และตกค้างอยู่ปารีส

ภาพถ่าย พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 และ (จากซ้ายไปขวา) Olga และ Maria / Alexandra Fyodorovna, Anastasia, Alexei และ Tatiana ที่พระราชวัง Livadia เมื่อปี 1913 (ไฟล์ public domain)

…ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นลง พระราชกรณียกิจแรกของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย ก็คือการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลฝรั่งเศสถึงกรุงปารีส การเดินทางครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเปิดตัวพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ และเปิดเผยนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

พระองค์และพระมเหสีได้ทรงนำเงินติดกระเป๋ามาซื้อของตกแต่งพระราชวังแห่งใหม่ และสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อประดับพระเกียรติยศ ก่อนเสด็จฯ กลับทรงสั่งซื้อสิ่งของที่ทรงถูกพระทัย มีของอย่างหนึ่งที่ทรงสั่งทำไว้ แต่ทรงลืมไว้ที่นั่น จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ ของก็มิได้นำกลับไปรัสเซีย และยังตกค้างอยู่ในปารีสจนทุกวันนี้ (หมายถึง พ.ศ. 2552 – กองบรรณาธิการ)

…การสืบทอดราชบัลลังก์ของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ใน ค.ศ. 1894 เป็นจุดพลิกผันของการปรับนโยบายต่างๆ ของประเทศทั้งในและนอกยุโรป แม้แต่นโยบายภายในของรัสเซียเอง

ทั้งนี้เพราะพระเจ้าซาร์องค์ก่อนคือ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (ค.ศ. 1881-94) มีพระราชกิตติศัพท์ว่าเป็นนักการทูตและนักประนีประนอม ทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงถูกจับตามองว่าจะดำเนินนโยบายตามรอยของพระบรมราชชนกหรือไม่ และรัสเซียจะเดินไปในทิศทางใด [1]

เหตุการณ์เมื่อต้นรัชกาล

พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อพระชนมายุเพียง 26 พรรษา ทรงเป็นกษัตริย์หนุ่มที่กำลังมีอนาคตยาวไกล เป็นความหวังของชาวรัสเซียไม่น้อยไปกว่าชาวยุโรปทั่วไป รัชสมัยของพระองค์จึงเป็นเรื่องน่าติดตาม แต่ก็มักจะเป็นข่าวซุบซิบของสังคมอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเมื่อทรงตกหลุมรักกับเจ้าหญิงเยอรมันที่ชาวรัสเซียทั่วไปยังรับไม่ค่อยได้ ความเป็นไปในระยะนี้แยกแยะได้เป็นเหตุการณ์ภายในและเหตุการณ์ภายนอกประเทศ

เหตุการณ์ภายใน : บุคคลที่จะมีอิทธิพลในชีวิตของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 มากที่สุดคนหนึ่งก็คือพระมเหสีหรือเจ้าหญิงซารีนา ผู้มีพระนามเดิมว่าเจ้าหญิงอลิกซ์ (Princess Alix Victoria Helena Louise Beatrice, Princess of Hesse Darmstadt) เป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิดแต่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ เพราะพระชนนีคือเจ้าฟ้าหญิงอลิซเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ผู้ที่ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเยอรมัน ผู้เป็นเจ้าครองนครรัฐเฮสส์-ดาร์มสตัท (Hesse-Darmstadt) ความที่เป็นเจ้าหญิงจากต่างแดน เป็นสาวรุ่น ขี้อาย และชอบเก็บเนื้อเก็บตัว เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ทรงตัดขาดจากสังคมภายนอก โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหญิงจะต้องกลายมาเป็นราชินีของรัสเซีย

เมื่อทรงอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารนิโคลาส ย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในภายหลังของพระเจ้าซาร์องค์ใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนต้นรัชกาลเกิดจากการที่เจ้าหญิงอลิกซ์หรือซารีนาองค์ใหม่เป็นคนรักสันโดษ ส่วนสมเด็จพระพันปีหลวงมาเรีย (พระชนนีของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 – ผู้เขียน) กลับมีบุคลิกตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เป็นสมเด็จแม่ที่โปรดงานสังคม หวงพระโอรส เจ้ากี้เจ้าการ และทรงยึดติดกับอำนาจ

ปัญหาภายในราชสำนักนับจากนี้ จึงเป็นปัญหาสามัญของแม่สามีกับลูกสะใภ้ใหม่ที่เข้ากันไม่ค่อยจะได้ ความเจ้ายศเจ้าอย่างของสมเด็จพระพันปีหลวง ปรากฏให้เห็นตั้งแต่วันแรกที่เจ้าหญิงอลิกซ์เข้ามาพึ่งใบบุญของราชวงศ์โรมานอฟ

ก็เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงมีพระบัญชาว่างานวิวาห์มงคลของมกุฎราชกุมารรัสเซีย จะต้องจัดขึ้นในวันเดียวกันกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระนางเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติยศแก่คู่บ่าวสาว ความหวงแหนพระโอรสยังทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 และสะใภ้ใหม่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกับสมเด็จพระพันปีหลวงผู้เป็นเจ้าเรือน ณ พระราชวังอะนิชคอฟ (Anitchkov Palace) อันทำให้พระเจ้าซาร์และเจ้าหญิงซารีนาจำเป็นต้องร่วมโต๊ะเสวยทุกมื้อกับสมเด็จพระพันปีหลวงเสมือนลูกที่อยู่ในโอวาทตลอดเวลา ทั้งยังต้องเรียกสมเด็จพระพันปีหลวงแบบเด็กเล็กๆ ว่า “คุณแม่ที่รัก” หรือ “Mother Dear” ทุกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้าซาร์และเจ้าหญิงซารีนายังถูกบังคับจิตใจให้พำนักอยู่ภายในห้องนอนแคบๆ ที่พระเจ้าซาร์ทรงเคยบรรทมสมัยเป็นเด็ก เป็นเวลาเกือบ 1 ปีภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่พระเจ้าซาร์ก็ยังต้องติดสอยห้อยตามสมเด็จพระพันปีหลวงตลอดเวลาเพื่อเรียนรู้ราชการแผ่นดิน ในสายตาคนภายนอกพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ยังอ่อนแอ ขาดความมั่นใจ และไม่เป็นตัวของตัวเองเลย [3]

อิทธิพลของสมเด็จพระพันปีหลวงสร้างความอึดอัดคับแค้นให้เจ้าหญิงซารีนาไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าซาร์ ในความรู้สึกของสมเด้จพระพันปีหลวงนั้นสะใภ้หลวงของรัสเซียผู้มีอายุเพียง 22 ปี ยังอ่อนหัด และเด็กเกินไปที่จะรับตำแหน่งราชินีของประเทศอันยิ่งใหญ่ แม้ภาษารัสเซียก็ยังตรัสไม่ค่อยได้ สมเด็จพระพันปีหลวงจึงกลายเป็น “ผู้นำ” ในงานพระราชพิธีต่างๆ โดยมีพระเจ้าซาร์และเจ้าหญิงซารีนาเป็นผู้ติดตามอย่างไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งสิ้น

เจ้าหญิงซารีนายังถูกลิดรอนสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะประดับเครื่องเพชรประจำตำแหน่ง และมงกุฎราชินีที่คู่ควรกับพระองค์ ด้วยเหตุผลที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ความแตกหักทางความรู้สึก และปฏิวัติเงียบภายในราชสำนักเกิดขึ้นแทบจะทันทีที่สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จไปพักร้อนประจำปีที่ประเทศเดนมาร์ก (พระนางก็คือ อดีตเจ้าฟ้าหญิงดัคมาร์ เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก – ผู้เขียน) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในฤดูร้อนกลางปี ค.ศ. 1895 พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 และเจ้าหญิงซารีนา ทรงถือวิสาสะอพยพย้ายวังออกไปประทับชั่วคราวที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof Palace)

ต่อมาเมื่อหมอหลวงถวายรายงานว่า เจ้าหญิงซารีนาทรงพระครรภ์อ่อนๆ แล้ว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับพระเจ้าซาร์ที่จะใช้ข้ออ้างว่า ราชสำนักจำเป็นต้องย้ายออกไปพำนักนอกเมืองที่มีอากาศปลอดโปร่ง เงียบสงบ และสะดวกสบายมากกว่าในเมือง สำหรับการรักษาพระครรภ์ และเตรียมการต้อนรับองค์รัชทายาทน้อยที่กำลังจะประสูติขึ้นมา ราชสำนักรัสเซียจึงย้ายออกไปอย่างเป็นทางการสู่พระราชวังแห่งใหม่ ชื่ออเล็กซานเดอร์ (Alexander Palace) ตั้งอยู่อย่างสุขสงบภายในวนอุทยานซาร์สโคเย เซโล (Tsarskoye Selo) ห่างจากมหานครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ราว 26 กิโลเมตร

พระราชวังที่ซาร์สโคเย เซโลจึงกลายเป็นวิมานแห่งความรัก และราชสำนักถาวรสำหรับรัชกาลใหม่นับจากนี้ เจ้าหญิงซารีนาเองก็ทรงพบ “บ้าน” ที่ทรงรอคอยมานาน และพระเจ้าซาร์ก็จะได้ทรงตกแต่งพระราชวังของพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย เพื่อเป็นทั้งที่พำนักและที่ว่าราชการแผ่นดินไปในตัว ซาร์สโคเย เซโล จะได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังในอุดมคติของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ไปจนตลอดรัชกาล [3]

เหตุการณ์ภายนอก : ปัจจัยภายนอกที่มีผลทางการเมืองอย่างใหญ่หลวงต่ออนาคตของราชวงศ์โรมานอฟและกิตติศัพท์ของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็คือ การสืบทอดพระราชปณิธานของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ในการรวมตัวกันของรัสเซียและฝรั่งเศส ภายหลังสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. 1871 ฝรั่งเศสซึ่งพ่ายแพ้ต่อเยอรมนี และถูกบีบบังคับให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลาหลายปี

ฝรั่งเศสเล็งเห็นว่าการมีมิตรประเทศที่เป็นอภิมหาอำนาจจะสร้างความมั่นคงให้ตนเองอีกครั้งเพื่อแก้แค้นเยอรมนี จึงพยายามผูกสัมพันธ์กับพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ส่วนรัสเซียนั้นก็เพิ่งจะสิ้นสุดข้อผูกมัดกับออสเตรีย-เยอรมนี ในสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund) ใน ค.ศ. 1890 จึงหันมาสนใจที่จะคบหากับฝรั่งเศสแทน [1] พระองค์ทรงเริ่มต้นแสดงท่าทีด้วยการเชื้อเชิญให้เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาเยี่ยมกองทัพเรือของรัสเซียที่เมืองครอนสตัด (Cronstad) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1891

ในการนี้พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ทรงรับคารวะจากกองเรือฝรั่งเศสด้วยการยืนสดับฟังเพลงมาร์แซแยซ อันเป็นเพลงชาติของประเทศฝรั่งเศส แต่มีเนื้อหาปลุกระดมพลังประชาชนและต่อต้านระบอบอัตตาธิปไตย อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจักรพรรดิรัสเซีย ผู้ทรงยึดมั่นในระบอบอัตตาธิปไตยจะทรงกระทำได้ เพราะเพลงชาติฝรั่งเศสนั้น ทางการรัสเซียถือว่าเป็นเพลงแห่งการปฏิวัติ ซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นอาชญากรรมอย่างหนัก และก็ไม่มีใครจะคาดคิดว่าฝรั่งเศส ซึ่งล้มล้างระบอบกษัตริย์มาแล้ว จะกลับมายกย่องให้เกียรติองค์จักรพรรดิรัสเซีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างหน้าชื่นตาบาน

การผูกมิตรครั้งยิ่งใหญ่นับแต่นี้ เป็นเหตุการณ์ที่คนทั้งยุโรปจับตามอง โดยเฉพาะคู่ปรับเก่าของฝรั่งเศส คือเยอรมนี ซึ่งต้องการแต่จะทำให้ฝรั่งเศสอยู่อย่างโดดเดี่ยว บัดนี้ต้องหวาดผวาการที่ฝรั่งเศสจะลืมตาอ้าปากได้ ในที่สุดข่าวลือก็เป็นจริงขึ้นมา เมื่อรัสเซียกับฝรั่งเศสตกลงทำสนธิสัญญาทางทหารต่อกัน เรียก Franco-Russian Alliance ใน ค.ศ. 1894

ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ถ้าเยอรมนีหรืออิตาลีโจมตีฝรั่งเศส รัสเซียก็จะเข้าช่วยฝรั่งเศสทันที และถ้าออสเตรีย-ฮังการีโจมตีรัสเซีย ฝรั่งเศสก็จะเข้าช่วยรัสเซียทันทีในทำนองเดียวกัน การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ขั้วมหาอำนาจในยุโรปแบ่งค่ายและเลือกข้างกันชัดเจนยิ่งขึ้น แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1894 นั่นเอง

กล่าวคือคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอันได้แก่ฝรั่งเศสนั้น ประธานาธิบดีซาดี การ์โน (M. Sadi Carnot) ถูกลอบสังหารและเสียชีวิตในกรุงปารีส และในปีเดียวกันนั้นเองอีกฝ่ายหนึ่งคือพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Tsar Alexander III) แห่งรัสเซีย ทรงพระประชวรหนักและเสด็จสวรรคตลงโดยกะทันหันเช่นกัน การจากไปของผู้นำทั้งสองในเวลาไล่เลี่ยกันย่อมช็อคโลก และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปในยุโรป นักวิเคราะห์การเมืองพากันเป็นห่วงว่าพันธกรณีของทั้ง 2 ประเทศจะถูกสานต่อหรือไม่? [1]

ส่วนเหตุการณ์ในรัสเซียนั้น ภายหลังธรรมเนียมการไว้ทุกข์พระเจ้าซาร์องค์ก่อน ซึ่งกินเวลา 1 ปีสิ้นสุดลง พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พฤษภาคม 1896

รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งถือตนเป็น “พี่เลี้ยง” ของพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ หันมาประจบเอาใจราชสำนักรัสเซีย ด้วยการจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างยิ่งใหญ่ให้พระเจ้าซาร์ ณ สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงมอสโกทันที พร้อมกับจัดส่งของขวัญชั้นเลิศเข้ามากำนัลพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ เป็นเครื่องแก้วหรูชุดใหญ่สำหรับโต๊ะเสวยจากโรงงานแก้วเจียระไนที่มีชื่อเสียงที่สุดของปารีส พร้อมกันนี้ยังได้ส่งดอกกุหลาบสีแดงจำนวน 1 แสนดอกจากฝรั่งเศสทางตอนใต้เข้ามาเอาใจเจ้าหญิงซารีนา เพื่อใช้ตกแต่งในงานพระราชพิธีอย่างไม่เกรงใจใคร

ทั้งยังได้ทูลเชิญพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ให้เสด็จฯ ไปเยือนกรุงปารีส ในฐานะพระราชอาคันตุกะผู้ยิ่งใหญ่ และมิตรประเทศที่สนิทที่สุดของรัฐบาลฝรั่งเศส [3]

การเสด็จฯ เยือนกรุงปารีสของพระเจ้าซาร์

หมายกำหนดการเสด็จประพาสฝรั่งเศสถูกร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว การมาเยือนครั้งนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการเยี่ยมเยือนเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีในระดับธรรมดา เพราะประการแรกเป็นความเคลื่อนไหวเชิงบวก ที่เปรียบเสมือนคำยืนยันว่ารัสเซียยังยอมรับและรักษาท่าทีในการต่ออายุสนธิสัญญาระหว่างรัสเซีย-ฝรั่งเศสต่อไป

ประการที่ 2 เป็นภาพพจน์และเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาต่อทุกฝ่าย เป็นการประกาศว่ารัสเซียจะเป็นพันธมิตรสำคัญของฝรั่งเศสต่อไปอีกนาน เพราะพระเจ้าซาร์องค์ใหม่เป็นคนหนุ่ม เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ และมีอนาคตอีกยาวไกลบนเทวีการเมืองยุโรป

ประการที่ 3 การเสด็จฯ มาเยือนกรุงปารีส เปรียบได้กับการเดินทางมาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ หรือฮันนีมูนครั้งแรกของคู่รักผู้สูงศักดิ์และเป็นขวัญใจของยุโรปในเวลานั้น เป็นการฉลองงานมงคลสมรส และงานรื่นเริงครั้งแรก นับตั้งแต่พระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์

ภาพลักษณ์จากพระราชกรณียกิจดังกล่าวย่อมส่งผลทางอ้อมต่อภาวะเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอย งานรื่นเริง และการเลี้ยงฉลองของแวดวงสังคมทุกระดับชั้นทั้งในฝรั่งเศสและรัสเซียเอง บ่งบอกบรรยากาศของความสงบสุข และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาคมยุโรปโดยรวม

นายปวงกาเร (M. Raymond Poincare) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ ท่านกล่าวว่า

“สำหรับคนรุ่นเราที่เป็นผู้ใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1890 คงยังจำกันได้ดี และรำลึกถึงอย่างสุขใจถึงผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่อันเกิดจากมิตรภาพและไมตรีจิตของพระเจ้าซาร์ผู้ยิ่งใหญ่ถึง 2 พระองค์ที่มีต่อฝรั่งเศส” [3]

พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 เป็นพระเจ้าซาร์องค์แรกที่เสด็จฯ มาเยือนฝรั่งเศสตั้งแต่สนธิสัญญารัสเซีย-ฝรั่งเศสถูกลงนาม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดงานใหญ่โตไว้ต้อนรับพระเจ้าซาร์อย่างสมพระเกียรติ ว่ากันว่าไม่เคยมีงานต้อนรับกษัตริย์พระองค์ใดที่ชาวฝรั่งเศสจัดขึ้นจะยิ่งใหญ่และจริงใจเท่าคราวนี้

ชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศลืมความเกลียดชังระบอบกษัตริย์จนหมดสิ้น แต่กลับมายกย่องสรรเสริญพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียเปรียบประดุจกษัตริย์ของตนเอง ทุกหนแห่งที่พระเจ้าซาร์เสด็จฯ ผ่านไป ชาวฝรั่งเศสจะโค้งคำนับและพร้อมใจกันเปล่งเสียงสดุดีดังกึกก้องว่า “จักรพรรดิจงเจริญ” หรือ “Vive L Empereur!” [4]

พระเจ้าซาร์และเจ้าหญิงซารีนา อเล็กซานดรา ฟีโอโดรอฟนา เสด็จฯ มาถึงเมืองท่าแชร์บูร์ก (Cherbourg) บนชายฝั่งฝรั่งเศสโดยเรือพระที่นั่งลำมหึมา ในวันที่ 11 ตุลาคม 1896 ณ ที่นั้น นายเฟลิกซ์ โฟว์ (M. Felix Faure) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสรับเสด็จและนำเสด็จทั้ง 2 พระองค์เดินทางตรงสู่ปารีสทางรถไฟ

พระเจ้าซาร์ทรงตะลึงต่อเสียงไชโยโห่ร้องและเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกึกก้อง ตลอดจนการตกแต่งมหานครปารีสเพื่อต้อนรับพระองค์โดยเฉพาะ ทรงบันทึกภายหลังว่า “ฉันคงต้องเปรียบการต้อนรับที่ฉันได้รับที่นี่ ช่างคล้ายกับที่ประชากรของฉันให้เกียรติฉันในวันบรมราชาภิเษกที่มอสโก”

ที่ปารีส พระเจ้าซาร์เสด็จฯ ไปเยือนโบสถ์นอเทรอดาม และพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ประตูชัยและถนนชองเซลิเซย์ แล้วเสด็จไปคารวะที่ฝังพระศพของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 ที่สำคัญคือ เสด็จฯ ไปทรงทำพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ข้ามแม่น้ำเซนน์ เพื่อเป็นของขวัญจากพระองค์สำหรับชาวฝรั่งเศส

คืนแรกในปารีส พระเจ้าซาร์และเจ้าหญิงซารีนาได้รับการทูลเชิญให้ประทับที่พระราชวังแวร์ซายส์อันโออ่าอลังการของกษัตริย์ฝรั่งเศสในอดีตกาล ทางรัฐบาลจัดถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในบรรยากาศอันมโหฬารเพื่อให้เหมาะสมกับพระเกียรติยศ หลังอาหารมีการจัดให้ทอดพระเนตรการขับร้องแบบโซปราโนในห้องลีลาศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อันหรูหรา

รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ทูลเชิญเจ้าหญิงซารีนาให้ประทับพักผ่อนภายในห้องบรรทมของพระนางมารีอังตัวเนต ราชินีผู้โด่งดังในอดีตอีกด้วย พระเจ้าซาร์ดูจะทรงพอพระทัยกับพระราชวังแวร์ซายส์มาก และได้ทรงสั่งให้ทำเครื่องแต่งวังซึ่งทรงประทับใจไปจากสถานที่แห่งนี้ เพื่อนำกลับไปตกแต่งพระบรมมหาราชวังของพระองค์ที่รัสเซียเช่นกัน [5]

“ของ” ที่พระเจ้าซาร์ทรงลืมไว้ในปารีส

ผู้เขียนสนใจเรื่องการเสด็จฯ เยือนประเทศฝรั่งเศสของพระเจ้าซาร์เป็นพิเศษ ในตอนแรกก็ด้วยเหตุผลด้านพระราชไมตรีโดยเฉพาะกับทางฝรั่งเศส มีเรื่องราวมากมายที่เป็นผลพลอยได้มาจากการเสด็จฯ ในครั้งนั้น ข้อมูลบางเรื่องเป็นสิ่งที่พงศาวดารมิได้บันทึกไว้

ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 และเจ้าหญิงซารีนา ทรงถูกกดดันให้ย้ายสำมะโนครัวออกไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่นอกเมือง ก็เพื่ออิสรภาพและการสร้างครอบครัวของพระองค์เอง เพื่อจะได้มิต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการควบคุมของสมเด็จพระพันปีหลวงอีกต่อไป

วังแห่งใหม่นี้ก็คือ พระราชวังอเล็กซานเดอร์ (บางทีก็เรียกว่าพระราชวังซาร์สโคเย เซโล – ผู้เขียน) ซึ่งถึงแม้จะเป็นวังเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1792 ก็ตาม แต่พระเจ้าซาร์และเจ้าหญิงซารีนาก็ทรงเลือกที่จะประทับอยู่ที่นี่เป็นการถาวรตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 1895 เป็นต้นมา และจะเป็นบ้านใหม่ของพระองค์ต่อไปนานถึง 22 ปี จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. 1917

ตามประวัติกล่าวว่า พระราชวังอเล็กซานเดอร์ประกอบด้วยห้องใหญ่น้อยประมาณ 100 ห้อง สิ่งที่เด่นที่สุดภายในห้องเหล่านี้คือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเครื่องแก้วเจียระไน หรือ “คริสตัล” เช่น โคมไฟ กรอบรูป โต๊ะ ตั่ง และเครื่องใช้บนโต๊ะเสวย ของแต่งวังเป็นอันมากถูกเสริมเข้ามาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของที่พระเจ้าซาร์ทรงสั่งซื้อภายหลังการเสด็จฯ กลับจากปารีส ใน ค.ศ. 1896 [3]

เจ้าหญิงซารีนาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีส่วนตกแต่งพระราชวังแห่งใหม่นี้ เพราะพระนางได้ผันพระองค์เป็นแม่บ้านเจ้าของวังเต็มตัว ทรงปรับตกแต่งห้องแบบโบราณที่เทอะทะล้าสมัย…และเป็นครั้งแรกที่ศิลปะสมัยใหม่แบบ Art Nouveau ถูกนำมาตกแต่งพระตำหนักฝ่ายใน เทคโนโลยีที่ทันสมัยถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อความสุขสบาย เช่น ไฟฟ้า เครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์ ต่อมาใน ค.ศ. 1899 ลิฟต์ระบบไฮโดรลิกส์ก็ถูกนำเข้ามาติดตั้ง พร้อมกับห้องฉายภาพยนตร์ตามสมัยนิยม

เครื่องอำนวยความสะดวกและทัศนคติสมัยใหม่ล้วนมีที่มาจากภายนอกประเทศรัสเซีย และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังปี ค.ศ. 1896 หรือหลังจากเสด็จฯ กลับจากปารีสทั้งสิ้น พระราชกรณียกิจ 2-3 อย่างที่เกิดขึ้นในปารีส เป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์บันทึกไว้ นั่นคือการเสด็จฯ ไปเยือนโรงงานผลิตสินค้าและวัสดุที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส

ในจำนวนนี้มีโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ (Monnaie de Paris) โรงงานแก้วเจียระไน แซฟวร์ (Sevres) และโรงงานแก้วเจียระไนบักการา (Baccarat) โดยเฉพาะที่โรงงานของบักการา สิ่งที่โดนพระทัยเป็นอย่างมากคือ การออกแบบโคมไฟแก้วเจียระไนในรูปแบบต่างๆ และแบบที่สร้างชื่อให้ทางห้างมากที่สุดก็คือโคมไฟแบบมีขาตั้ง คล้ายกับที่พระเจ้าซาร์ได้ทอดพระเนตรเห็น ณ พระราชวังแวร์ซายส์ อันเป็นที่ประทับขณะเสด็จประพาสกรุงปารีส

พระเจ้าซาร์ทรงสั่งให้ทางห้างบักการาจัดสร้างโคมไฟแก้วเจียระไนแบบมีขาตั้ง สำหรับพระองค์ขึ้นเป็นพิเศษ เป็นจำนวนรวม 12 ชุด เพื่อนำกลับไปประดับพระราชวังของพระองค์ที่รัสเซีย

ความประดิดประดอยของสินค้า ทำให้ต้องใช้เวลาจัดทำด้วยความประณีตพิถีพิถัน เมื่อสำเร็จทางห้างก็ได้จัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าผู้สูงศักดิ์ทันที แต่จะเหลืออยู่ชุดหนึ่งอันเป็นชุดสุดท้าย เป็นชุดที่พระเจ้าซาร์ทรงลืมไว้ที่ห้าง ทำให้ของตกค้างอยู่ที่ปารีสเพราะเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัสเซียเสียก่อน ใน ค.ศ. 1917 ทางห้างจึงไม่มีโอกาสส่งของตามไปให้หลังจากนั้น [2]

กรุสมบัติพระเจ้าซาร์ ณ พิพิธภัณฑ์ “บักการา”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ผู้เขียนไปเยือนพิพิธภัณฑ์บักการา สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงสินค้าของทางห้างที่ทำจากคริสตัลแท้ อันเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของสังคมชั้นสูงมีชื่อเสียงไปทั่วโลก มีอาทิ ถ้วยแก้ว เหยือก ขวด จาน โถ ถาด อ่างน้ำล้างหน้า แจกัน โต๊ะ หิ้ง คันฉ่อง เก้าอี้ บานกระจก ขอบหน้าต่าง กรอบรูป รวมไปถึงโคมไฟห้อยระย้า

และ ณ ที่แห่งนี้ผู้เขียนพบโคมไฟชนิดมีขาตั้ง ซึ่งวันนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทางห้าง จากการที่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียทรงเป็นลูกค้ารายใหญ่ผู้เคยสั่งซื้อของจากที่นี่ สินค้าชิ้นหนึ่งของห้างกลายเป็นสัญลักษณ์ของทางพิพิธภัณฑ์ ถึงขนาดที่ต้องสร้างห้องพิเศษไว้จัดแสดงโดยเฉพาะ โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้บรรยายสรรพคุณของสินค้าชิ้นนี้ในแผ่นพับโฆษณา ความว่า

“ราชวงศ์ที่โด่งดังมักจะมีจินตนาการอันยิ่งใหญ่เสมอ พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 มีพระราชบัญชาให้ประดิษฐ์และขนส่งผลิตภัณฑ์คริสตัลคุณภาพจำนวนมหาศาลโดยขบวนราชรถข้ามทวีปยุโรปสู่ราชสำนักรัสเซีย ห้างบักการาสนองพระบรมราชโองการนั้นด้วยความซื่อสัตย์มาตลอดศตวรรษที่ 19

โคมไฟคริสตัลอันอลังการของพระเจ้าซาร์ที่เรียกว่า The Tsar’s Candelabra ประกอบด้วยหลอดไฟ 79 หลอด พร้อมขาตั้ง ทำขึ้นจากแก้วเจียระไนแกะลวดลายทั้งแท่ง มีความสูง 3.85 เมตร เป็นผลงานที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองมาแล้วในงานมหกรรมโลก ประจำปี ค.ศ. 1878 เป็นที่ถูกพระทัยพระเจ้าซาร์ โปรดให้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นกรณีพิเศษรวม 12 ชุด ในปี ค.ศ. 1896 ในจำนวนนี้ 10 ชุด ถูกจัดทำขึ้นด้วยความประณีต และถูกจัดส่งไปทูลถวายพระเจ้าซาร์ ก่อนการปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917

แต่มีอยู่ 2 ชุดที่ตกค้างอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ (พ.ศ. 2552 – กองบรรณาธิการ) ทางห้างสามารถเก็บรักษาไว้ได้เพียงชุดเดียวเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระเจ้าซาร์ผู้เรืองพระนาม” [2]

หมายเหตุ : ในรัชสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 พระองค์ทรงเป็นเจ้าของพระราชวังถึง 7 แห่ง ที่ตกทอดต่อกันมาภายในราชวงศ์โรมานอฟ ประกอบด้วย พระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace) พระราชวังอะนิชคอฟ (Anitchkov) ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พระราชวังอเล็กซานเดอร์ พระราชวังแคเธอรีน 2 แห่งนี้อยู่ใกล้กันภายในวนอุทยานซาร์สโคเย เซโล พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof) พระราชวังกัตชีนา (Gatchina) และพระราชวังลิวาเดีย (Livadia) บนคาบสมุทรไครเมีย มีเจ้าพนักงานผู้ดูแลรักษาและปฏิบัติหน้าที่ภายในวังทั้ง 7 แห่งนี้รวมทั้งสิ้น 15,000 คน

และเป็นที่สันนิษฐานว่าโคมไฟคริสตัลจากห้างบักการากรุงปารีส ถูกจัดส่งเข้าไปตกแต่งภายในพระราชวังอเล็กซานเดอร์เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นที่ประทับถาวรนานถึง 22 ปี ทรงใช้เวลาอยู่ที่นี่นานที่สุด เป็นทั้งวังในอุดมคติและสถานที่ออกว่าราชการทั่วไปและเป็นที่โปรดปรานจนตลอดรัชกาล [3]

ประวัติห้างบักการา : ห้างบักการาเป็นสถาบันเครื่องแก้วชั้นสูงของฝรั่งเศส ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1764 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงสนับสนุนให้ตั้งโรงงานขึ้นเพื่อผลิตเครื่องใช้สำหรับราชสำนัก ในสมัยต่อมา นายเอเม-กาบรีล ดาร์ตีก (M. Aime-Gabriel D’Artigues) นักธุรกิจจากภาคเอกชนได้ซื้อโรงงานนี้เพื่อสืบสานตำนานในเชิงธุรกิจ

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จฯ มาเยือนโรงงานแห่งนี้ ใน ค.ศ. 1816 และได้ทรงรื้อฟื้นพระราชนิยมในราชสำนักอีกครั้ง ผลิตภัณฑ์จากที่นี่ยังเป็นที่โปรดปรานสำหรับกษัตริย์ฝรั่งเศสในยุคต่อมา เช่น ในรัชกาลพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 (ค.ศ. 1828) และพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (ค.ศ. 1838) งานฝีมืออันเป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้ทางห้างได้รับรางวัลเหรียญทองในงานมหกรรมโลก ประจำปี ค.ศ. 1867 และ ค.ศ. 1878

เครื่องแก้วเจียระไนนับชุดไม่ถ้วน ถูกนำไปขึ้นโต๊ะเสวยของราชสำนักรัสเซีย อีกหลายชุดถูกสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษโดยจักรพรรดิเมจิ มหาราชาแห่งอินเดีย ชาร์แห่งอิหร่าน สุลต่านบรูไน และพระราชินีแห่งกรุงสยาม [2]

โคมไฟจักรพรรดิ เป็นภาพลักษณ์และพระราชนิยมอันเลื่องลือของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย เป็นชิ้นส่วนจากประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความมั่งคั่งของประเทศ และความร่ำรวยของท้องพระคลังก่อนที่มติมหาชนในอีกสมัยหนึ่งจะลงความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จนเกิดการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มราชบัลลังก์

มาบัดนี้สิ่งของที่เหลือรอดจากการถูกทำลาย กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของประเทศในอดีต เป็นจุดขายของระบอบสาธารณรัฐ ที่ยังโหยหาภาพลักษณ์ของระบอบราชวงศ์ที่ตนเคยภาคภูมิใจ

พิพิธภัณฑ์บักการา (Baccarat Gallery-Museum) ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 11 Place Des Etats – Unis, 75116 Paris ของที่พระเจ้าซาร์ทรงลืมไว้ในปารีส จัดแสดงอยู่ในห้องชื่อ “Folie des Grandeurs”

อ่านเพิ่มเติม :

“ภาพที่หายไป” ของซาร์นิโคลาสที่ 2 หลังราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียล่มสลาย


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] ไกรฤกษ์ นานา. ค้นหารัตนโกสินทร์ เรื่องการ์ตูนล้อการเมืองฝรั่ง ของดีที่นักประวัติศาสตร์เมิน. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, มติชน 2552.

[2] แผ่นพับแนะนำพิพิธภัณฑ์บักการา (Baccarat Gallery-Museum), Paris, 2009.

[3] Massie, Robert K. Nicholas and Alexandra. Dell Publishing Co., Inc, New York, 1967.

[4] L’ILLUSTRATION. Paris, 12 October 1896.

[5] L’ILLUSTRATION. Paris, 14, 16 October 1896.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘ของ’ ที่พระเจ้าซาร์ทรงลืมไว้ในปารีส” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2564